แหล่งข่าวในตุรกีโต้แย้งว่า คำแถลงของทำเนียบขาวไม่ถูกต้อง ความจริงคือทรัมป์ไม่ได้แสดงความกังวลใดๆ และพูดถึงการที่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตุรกีเปิดยุทธการยกกำลังภาคพื้นดินเข้าโจมตี “อัฟริน” พื้นที่ในซีเรียภาคเหนือประชิดกับชายแดนตุรกี ที่กองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรีย (วายพีจี) ควบคุมอยู่ ในขอบเขตจำกัดเพียงแค่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเท่านั้น
แหล่งข่าวรายนี้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แอร์โดอันได้เรียกร้องให้อเมริกายุติการส่งอาวุธให้กลุ่มวายพีจี ซึ่งทรัมป์ตอบว่า อเมริกาไม่ได้ทำแบบนั้นแล้ว และให้คำมั่นที่จะไม่ทำเช่นนั้นอีกในอนาคต
ตุรกีเปิดการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินต่อเขตอัฟรินคราวนี้ เล็งเป้าหมายมุ่งผลักดันขับไล่วายพีจี ซึ่งอังการามองว่า เป็นพวกเดียวกับกับพรรคพีเคเค กลุ่มชาวเคิร์ดที่ทำการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว
แอร์โดอันยังลั่นวาจาว่า นอกจากอัฟรินแล้ว ตุรกีอาจขยายปฏิบัติการเข้าสู่เมืองมานบิจ ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองในซีเรียอีกแห่งของนักรบเคิร์ดวายพีจี อยู่ห่างจากทางตะวันออกของอัฟริน 100 กิโลเมตร เห็นกันว่าถ้าอังการาเปิดแนวรบอีกแนวหนึ่งจริงๆ จะทำให้ทหารอเมริกันซึ่งคอยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้วายพีจี ตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นอีก
ขณะที่ปฏิบัติการของตุรกียังทำให้เกิดแนวรบใหม่ในสงครามกลางเมืองซีเรียที่ดำเนินมา 7 ปีและมีผู้เล่นมากมายหลายฝ่าย ซึ่งทำให้ความพยายามของอเมริกาในซีเรียประสบความยุ่งยากยิ่งขึ้น
วอชิงตันนั้นหวังอาศัยการที่วายพีจีสามารถควบคุมพื้นที่ในซีเรีย มาทำให้สหรัฐฯมีอำนาจต่อรองทางการทูตในการเจรจาที่เจนีวา ซึ่งสหประชาชาชาติเป็นเจ้าภาพ เกี่ยวกับการทำข้อตกลงยุติสงครามกลางเมืองในซีเรีย โดยที่สหรัฐฯและฝ่ายตะวันตกวาดหวังด้วยว่าในขั้นต่อไปจะโค่นล้มประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด
แม้อเมริกาและตุรกีต่างเป็นชาติพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แต่กลับกำลังมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันในซีเรีย
โกนัล โทล ผู้อำนวยการศูนย์ตุรกีศึกษา ของกลุ่มคลังสมอง มิดเดิล อีสต์ อินสติติวท์ ในวอชิงตัน มองว่า ในระยะสั้นนั้นอเมริกามีทางเลือกน้อยมาก เนื่องจากต้องอาศัยฐานทัพตุรกีสำหรับการปฏิบัติการทางอากาศต่อพวกไอเอสในซีเรีย ขณะเดียวกัน ในซีเรียนั้น นอกจากกลุ่มชาวเคิร์ดแล้ว อเมริกาก็ไม่มีพันธมิตรทางทหารอื่นๆ ที่ไว้ใจได้
เจ้าหน้าที่อเมริกันคนหนึ่งบอกว่า ทรัมป์ให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพกับแอร์โดอัน แต่ยอมรับว่า อเมริกามีอำนาจกดดันจำกัด และไม่มีแนวโน้มว่า คณะบริหารของทรัมป์จะเพิ่มกำลังทหารหรือปฏิบัติการลับในซีเรีย แม้กระทั่งเมื่อตุรกีขยายแนวรบไปยังมานบิจก็ตาม
กระนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของตุรีอยู่ในลักษณะแผนการทางยุทธวิธีเท่านั้น และท้ายที่สุดแล้วตุรกีจะรับฟังความกังวลของอเมริกาเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของตนเอง เนื่องจากอังการายังต้องการค้าขายกับอียู และเป็นพันธมิตรกับนาโตในด้านความมั่นคง
แม็กซ์ ฮอฟฟ์แมน จากเซ็นเตอร์ ฟอร์ อเมริกัน โปรเกรสส์ เห็นด้วยว่า อเมริกายังมีอำนาจค่อนข้างมาก และอาจเล็งออกมาตรการแซงก์ชันในอนาคต หากตุรกีไม่ฟังคำเตือนเรื่องปฏิบัติการในมานบิจ
ที่มา : รอยเตอร์/เอเจนซีส์