นบีมุฮัมมัดท่ามกลางความขัดแย้ง
บรรจง บินกาซัน
ก่อนที่นบีมุฮัมมัดจะทำหน้าที่เป็นศาสนทูตนำสาสน์จากพระเจ้ามายังมนุษยชาติ หัวหน้าเผ่าชาวอาหรับในเมืองมักก๊ะฮฺได้ร่วมกันซ่อมแซมก๊ะอฺบ๊ะฮฺ จุดศูนย์กลางทางด้านศาสนาของชาวอาหรับซึ่งชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เมื่องานซ่อมแซมอาคารใกล้เสร็จ เหลือการนำเอาหินดำไปติดตั้งตรงที่เดิมของอาคารก๊ะอฺบ๊ะฮฺ หัวหน้าเผ่าชาวอาหรับก็เกิดความขัดแย้งกันในเรื่องใครจะเป็นผู้ได้รับเกียรติเอาหินดำไปติดตั้งไว้ตรงที่เดิมของมัน
งานติดตั้งหินดำเป็นงานที่ชาวอาหรับถือว่ามีเกียรติ หัวหน้าเผ่าต่างๆจึงอยากได้รับเกียรตินี้และต่างเผ่าต่างไม่ยอมกันจนถึงขั้นรวมตัวกันแบ่งข้างและพร้อมที่จะห้ำหั่นกันเพื่อให้ฝ่ายของตัวเองได้ทำหน้าที่อันมีเกียรตินี้
ในที่สุด ผู้อาวุโสจากทั้งสองฝ่ายเห็นว่าถ้ายังไม่ยอมกัน ทั้งสองฝ่ายอาจต้องสูญเสียเลือดเนื้อซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ฝ่ายใด จึงตกลงกันว่าถ้าใครเข้ามายังบริเวณนี้เป็นคนแรกในวันรุ่งขึ้น จะให้คนผู้นั้นเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะได้เป็นผู้ติดตั้งหินดำ
เช้าวันรุ่งขึ้น มุฮัมมัดเป็นคนแรกที่เข้ามายังสถานที่แห่งนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงขอให้เขาตัดสินเรื่องนี้ หลังจากฟังความทั้งสองฝ่ายแล้ว มุฮัมมัดได้ขอผ้าผืนหนึ่งมาปูลงบนพื้น หลังจากนั้น เขาได้เอาหินดำที่เป็นปัญหามาวางลงบนผ้าและเรียกหัวหน้าเผ่าต่างๆมาจับชายผ้าแล้วยกหินดำขึ้นพร้อมๆกัน หลังจากนั้น เขาได้เอาหินดำไปติดตั้งตรงที่เดิม ปัญหาความขัดแย้งจึงยุติลงและทุกเผ่าต่างได้รับเกียรติเท่าๆกัน
ปฏิภาณการแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนั้นทำให้หัวหน้าเผ่าอาหรับในเมืองมักก๊ะฮฺคาดหวังว่าในอนาคตมุฮัมมัดจะมีโอกาสได้เป็นหัวหน้าคนหนึ่งของชาวมักก๊ะฮฺ แต่เมื่อมุฮัมมัดได้รับการแต่งตั้งเป็นนบีของพระเจ้าเมื่ออายุ 40 ปี ผู้ที่ชื่นชอบเขาก็กลับกลายเป็นศัตรูราวีบีฑาเขาจนกระทั่งเขาและสาวกต้องอพยพไปยังเมืองยัษริบหรือเมืองมะดีนะฮฺในปัจจุบัน
ก่อนหน้านั้น ยัษริบเป็นเมืองที่มีความขัดแย้งมายาวนานระหว่างสองเผ่าใหญ่ที่แย่งชิงตำแหน่งผู้ปกครองและเป็นความขัดแย้งที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ในขณะเดียวกัน ชาวยิวสามเผ่าที่อาศัยอยู่ในยัษริบก็มีความขัดแย้งกันเองด้วย เมื่อความขัดแย้งถึงขั้นใช้กำลัง เผ่ายิวจะขอความช่วยเหลือจากเผ่าอาหรับมาช่วยรบ ในทำนองเดียวกัน เมื่อสองเผ่าอาหรับเกิดความขัดแย้งกันถึงขั้นต้องรบกัน ชาวอาหรับก็จะขอความช่วยเหลือจากเผ่ายิวมาช่วยพวกตน
ความขัดแย้งอันยาวนานของเผ่าอาหรับในเมืองยัษริบได้ยุติลงเมื่อคนจากสองเผ่าใหญ่ที่ขัดแย้งกันมาทำฮัจญ์ที่มักก๊ะฮฺและได้พบนบีมุฮัมมัด ด้วยความประทับใจในบุคลิกภาพและคำสอนของนบีมุฮัมมัด ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงเชิญนบีมุฮัมมัดไปเป็นผู้ปกครองพวกตนที่ยัษริบ หลังจากแน่ใจในความจริงใจของทั้งสองฝ่ายเป็นเวลาหนึ่งปี นบีมุฮัมมัดจึงตอบรับข้อเสนอของชาวอาหรับสองเผ่าและได้อพยพไปยังที่นั่น
เมื่อท่านนบีมุฮัมมัดไปถึงเมืองยัษริบ ท่านรู้ดีว่าชาวอาหรับในมักก๊ะฮฺต้องไม่พอใจท่านและจะต้องส่งกองทัพมากำจัดท่านอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเรียกชาวเมืองยัษริบทั้งหมดที่ประกอบด้วยชาวอาหรับที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิมและชาวยิวเผ่าต่างๆมาร่วมกันทำสัญญาประชาคม
สัญญานี้เป็นเสมือนรัฐธรรมนูญขั้นต้นของรัฐ เนื้อหาของสัญญาระบุว่า 1) ยัษริบเป็นเมืองของทุกเผ่าที่อาศัยอยู่ ดังนั้น ทุกเผ่าต้องช่วยกันป้องกันเมื่อถูกรุกราน 2) ทุกเผ่าจะเชื่อฟังนบีมุฮัมมัดในฐานะผู้ปกครอง 3) ทุกคนในเมืองยัษริบมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของตน 4) เมื่อเกิดกรณีพิพาทในหมู่ชาวยิว นบีมุฮัมมัดจะเป็นผู้ตัดสินตามคัมภีร์ของชาวยิว ถ้าเป็นกรณีของมุสลิม การตัดสินจะเป็นไปตามคำสอนของอิสลาม 5) หากเกิดการสู้รบกับศัตรูที่มารุกรานและคนในเผ่าใดได้รับบาดเจ็บล้มตายหรือถูกจับเป็นเชลย สมาชิกของแต่ละเผ่าจะต้องร่วมกันหาทางช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อน
ด้วยสัญญานี้เองที่ทำให้ยัษริบเริ่มเป็นปึกแผ่นมั่นคงและต่อมาได้กลายเป็นรัฐอิสลามแห่งแรกบนหน้าแผ่นดิน และยัษริบได้กลายเป็นเมืองหลวงของรัฐอิสลามโดยมีชื่อใหม่ว่ามะดีนะฮฺ และจากเมืองนี้เองที่แสงทองแห่งอิสลามได้ส่องสว่างไปถึงส่วนต่างๆของโลก