ก้าวย่างตะวันออกกลางหลังวิกฤตกาตาร์ (2)
ผลกระทบทางตรงจากมาตรการปิดล้อมกาตาร์
ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หากวัดจากรายได้ประชาชาติ ค.ศ. 2015 กาตาร์ถือเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก รายได้ประชากรต่อหัวต่อปีของประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากร 2.1 ล้านคนนี้ อยู่ที่ 143,532 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ 4,736,000 บาท
ทั้งนี้กาตาร์เป็นประเทศที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่ส่งออกทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติป้อนตลาดพลังงานของโลก ความร่ำรวยของกาตาร์เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้นำประเทศไม่ค่อยหวั่นไหวต่อมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะคงไม่กระทบต่อแรงสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อการปกครองของราชวงศ์อัล-ษานีของกาตาร์แต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน โอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติโค่นสถาบันกษัตริย์ทั้งจากกลุ่มก้อนภายในหรือตัวแสดงจากภายนอกก็ดูจะเป็นไปได้น้อยมาก
ยิ่งกว่านั้น การส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของกาตาร์ก็ใช้เส้นทางทางทะเลเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านชายฝั่งประเทศอิหร่านและโอมาน ซึ่งมิได้มีปัญหาความสัมพันธ์กับกาตาร์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ประเด็นความท้าทายของกาตาร์อยู่ที่การหาท่าเรือแห่งใหม่ที่จะใช้เติมเชื้อเพลิงให้แก่เรือขนส่งสินค้า เพราะที่ผ่านมากาตาร์ได้ใช้ท่าเรือในเมืองฟูไจราห์ (Fujairah) ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหลัก เพราะท่าเรือแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง
มาบัดนี้กาตาร์คงไม่สามารถใช้ท่าเรือแห่งนี้เพื่อเติมเชื้อเพลิงได้อีกต่อไป ทางออกของกาตาร์จึงต้องหาท่าเรือแห่งใหม่ ๆ ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและนอกภูมิภาค ขณะเดียวกัน ตราบใดที่คลองสุเอซยังเปิดให้กาตาร์เดินเรือ ผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจกาตาร์ก็คงจะมีไม่มากนัก
ในอีกด้านหนึ่ง กาตาร์ก็เป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งก๊าซจำนวน 3.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันป้อนให้ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน หากว่ากาตาร์ตัดสินใจปิดท่อส่งก๊าซดังกล่าวตอบโต้มาตรการปิดล้อม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็อาจตกอยู่ในภาวะขาดแคลนพลังงานที่จะนำมาผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ขณะที่โอมานซึ่งเป็นประเทศที่ไม่พอใจการครอบงำของซาอุดิอาระเบียเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจกล่าวโทษซาอุดิอาระเบียว่าเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะขาดแคลนไฟฟ้าใช้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาท้าทายหลักของกาตาร์คือการนำเข้าสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน ที่ผ่านมากาตาร์นำเข้าสินค้าอาหารจากชายแดนประเทศซาอุดิอาระเบียคิดเป็นร้อยละ 40 ของสินค้าอาหารทั้งหมด หลังการตัดความสัมพันธ์ไม่นาน ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศยกเลิกส่งออกน้ำตาลให้กาตาร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการบริโภคสูงมากในช่วงเดือนรอมฏอน หรือเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม
ยิ่งกว่านั้นสินค้านำเข้าทางทะเลของกาตาร์จำนวนมากก็ต้องแวะเปลี่ยนถ่ายสินค้าลงเรือที่ท่าเรือ ญะบัล อาลี (Jebel Ali Port) ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างไรก็ตาม อิหร่านได้ยื่นข้อเสนอให้กาตาร์ใช้ท่าเรือของอิหร่านในการขนส่งสินค้าแทน แต่การทำข้อตกลงกับอิหร่านก็อาจทำให้ฝ่ายซาอุดิอาระเบียมีมาตรการลงโทษที่เข้มข้นขึ้นต่อกาตาร์
ในอีกด้านหนึ่ง การประกาศตัดความสัมพันธ์ต่อกาตาร์ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ผลกระทบจากการตัดความสัมพันธ์ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่กระทบต่อสายการบินแห่งชาติของกาตาร์เท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อสายการบินเอมิเรตส์ สายการบินฟลายดูไบ และสายการบินเอทิฮัด ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบระยะยาวจากวิกฤตความสัมพันธ์บนคาบสมุทรอาหรับยังคงไม่สามารถประเมินได้ แต่ที่แน่ ๆ คือ สายบินกาตาร์แอร์เวย์ ต้องเปลี่ยนเส้นทางบินเพื่อหลีกเลี่ยงการบินผ่านน่านฟ้าของซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งการเปลี่ยนเส้นทางบิน ทำให้แต่ละเที่ยวบินต้องบินในระยะทางที่ไกลขึ้น และต้องใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการบินต่อเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ก้าวย่างตะวันออกกลางหลังวิกฤตกาตาร์ (1)