แถลงการณ์ การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญกรรม ขอให้ถอนแจ้งความสำนักข่าวผู้จัดการออน์ไลน์ กรณีรายงานข่าวชาวบ้านแฉถูกซ้อมทรมาน
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ตามที่ทางพลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค4 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ (กอ.รมน. 4) ได้มอบอำนาจผู้แทนพันเอกหาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43และทนายความเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อบรรณาธิการผู้จัดการออนไลน์ที่ได้เปิดเผยข่าว “แฉ อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตาย ระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 องค์กรที่มีชื่อข้างท้ายแถลงการณ์นี้ เห็นว่า
1. ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นสิทธิอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่
2. สื่อมวลชนมีหน้าที่เปิดพื้นที่ หรือสะท้อนข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดจากการกรทำของเจ้าหน้าที่ ในกรณีนี้ การรายงานข่าวโดยนักข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้สท้อนข้อเท็จจริงจากประชาชนที่อ้างว่าตนป็นเหยื่อของการทรมานหรือการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบโดยเจ้าหน้าที่ต่อสาธารณะเป็นหน้าที่อันชอบธรรมของนักข่าวที่ทำหน้าที่ของตน
3. รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน ดังนั้น เมื่อปรากฎเป็นข่าว หรือมีกรณีร้องเรียน ว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการซ้อมทรมานประชาชนที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบแล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องย่อมมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนว่าอาจมีผู้กระทำความผิดตามข่าวหรือข้อร้องเรียนหรือไม่ หากพบว่ารายงานข่าวหรือการร้องเรียนมีมูล หน่วยงานรัฐย่อมมีหน้าที่ในการแก้ไข หากไม่มีมูล ก็ชอบที่จะชี้แจงต่อสื่อดังกล่าวและต่อสาธารณะชนได้
4. การที่ หน่วยงานของรัฐที่ถูกกล่าวหา คือ หน่วยทหารพราน ฉก.ที่ 43 หรือ กอ.รมน. 4 ได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อบรรณาธิการผู้จัดการออนไลน์ที่ได้เผยแพร่ข่าว “แฉ อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตาย ระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” นั้น นอกจากจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและลิดรอนสิทธิของประชาทชนและสื่อในการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณที่เข้าข่ายการดำเนินคดีปิดปาก (Strategic Litigation against Public Participation)
5. การตอบโต้ของ กอ.รมน. 4 ย่อมมีผลให้ ประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ไม่กล้าที่จะเปิดเผย เรื่องร้องดังกล่าวต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะมีผลให้รัฐสูญเสียโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคน ใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่ชอบต่อไป และทำให้เกิดช่องว่าง ความห่างเหิน และความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐในที่สุด อันจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสังคมอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์กรที่มีชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอเรียกร้องให้ กอ.รมน. 4 หรือ หน่วยทหารพรานที่ ฉก.43 ได้โปรดถอนแจ้งความร้องทุกข์ หรือยุติการกระทำดังกล่าวด้วย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
กลุ่มด้วยใจ
เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี