Skip to main content

 

กองทัพภาคสี่รีเซ็ต “โครงการพาคนกลับบ้าน” ท่ามกลางความกังขา

 

มารียัม อัฮหมัด
ปัตตานี
2018-02-09
180209-TH-surrender-620.jpg
พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสารท ผบ.ทบ.รับมอบอาวุธปืนจากผู้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ที่ กอ.รมน.ภาคสี่ ส่วนหน้า ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561
 อารยา โพธิ์จา/เบนาร์นิวส์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่สี่ ได้ประกาศรีเซ็ต “โครงการพาคนกลับบ้าน” โดยทำการคัดกรองอดีตผู้ต่อสู้กับรัฐด้วยการใช้อาวุธและแนวร่วมใหม่ จากรายชื่อที่มีอยู่เดิมกว่าสี่พันคน ลงเหลือ 288 คน โดยให้ได้กำหนดขั้นตอนการปรับตัวคืนสู่สังคมอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีประชาชนจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิผลของโครงการมาโดยตลอด

เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หลังเหตุระเบิดบิ๊กซี สาขาปัตตานีราวหนึ่งสัปดาห์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะนั้น ได้สั่งให้ปรับแก้เงื่อนไขรับผู้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างเข้มงวด เมื่อเข้าโครงการแล้ว จะต้องเข้าร่วมปรับทัศนคติ และให้สร้างระบบกลั่นกรองครูศาสนาอิสลามที่จะทำหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ทั้งนี้ กองทัพภาคสี่ ได้จัดกิจกรรม “คืนรักสู่ครอบครัว ในโครงการพาคนกลับบ้าน” ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า จังหวัดปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยมี พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในการต้อนรับผู้ร่วมโครงการฯ ประจำปี 2560 และ 2561 รวม 288 คน โดยมีญาติ และครูสอนศาสนาในพื้นที่กว่าพันคนร่วมกิจกรรม ที่ผู้ร่วมโครงการได้ปฏิญานตนว่าจะร่วมสร้างสันติสุขในสังคม และมอบอาวุธให้ ผบ.ทบ. และเจ้าหน้าที่รัฐ

“เรานับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วม โครงการพาคนกลับบ้าน จากปี 2560 และปีนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 288 คน แยกเป็นปี 60 จำนวน 127 คน ปี 61 จำนวน 161 คน ทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ที่มีหมาย พรก. หมาย ป.วิอาญา และกลุ่มคนหน้าขาวหรือแนวร่วมรุ่นใหม่ ส่วนที่บอกว่าสี่พันคน ที่เคยเข้าร่วมโครงการ ตรวจสอบแล้วไม่ใช่... จะเอาเฉพาะคนที่มีหมายที่หลงผิดเพื่อให้กับมาช่วยพัฒนา” พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

“และโครงการอันใหม่ที่เราใช้คำว่า เซ็ตซีโร่ เพราะเราโล้ะของเก่าหมดแล้วเอาใหม่ ใช้วิธีใหม่ ซึ่งของใหม่มันต่างกับอันเก่าชัดเจน" พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าว และยังเปิดเผยว่า กลุ่มมีบุคคลที่ต้องการเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในและต่างประเทศ

กองทัพภาคที่สี่ เปิดโอกาสให้ฝ่ายขบวนการมอบตัวกับทางรัฐบาล ในชื่อ “โครงการพาคนกลับบ้าน” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ซึ่งพันเอกพรรษิษฐ์ สุพรรณชนะบุรี ผู้ดูแลโครงการคนปัจจุบัน ได้บรรยายให้ผู้สื่อข่าวรับทราบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า โครงการฯ มีเป้าหมายในการแยกแนวร่วมและมวลชน ออกมาจากขบวนการก่อความไม่สงบ

“...ต้องเร่งดำเนินการ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อต่อการลดจำนวนเหตุรุนแรงแล้ว ยังส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อการปลุกระดมบ่มเพาะแนวร่วมรุ่นใหม่อีกด้วย” พันเอกพรรษิษฐ์ กล่าวเมื่อวันที่พฤหัสบดีที่ผ่านมา

พันเอกพรรษิษฐ์ บรรยายเพิ่มเติมว่า โครงการฯ เป็นโครงการตามแนวสันติวิธี เพื่อชักชวนให้บุคคลที่มีปัญหาให้กลับใจและเลิกยุ่งเกี่ยวกับกับขบวนการ บุคคลเหล่านี้ ได้แก่ กลุ่มที่มีชื่อตามระบบฐานข้อมูล 3 กลุ่ม (กลุ่มหมาย ป.วิอาญา  กลุ่มหมายพรก. และกลุ่มไม่มีหมายแต่มีชื่อในระบบฐานข้อมูล) และกลุ่มนอกระบบฐานข้อมูล (กลุ่มที่มีหลักฐานกล่าวพาดพิงจากการซักถาม และกลุ่มที่หน่วยให้การเพ่งเล็งหรือให้ความสำคัญ) ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ส่วนใหญ่ได้หนีออกไปจากภูมิลำเนาเดิม

ขั้นตอนโครงการพาคนกลับบ้าน

พล.ท.ปิยวัฒน์ ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดการดำเนินโครงการว่า มี 6 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การรณรงค์สร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องของทุกส่วนราชการที่ต้องรับไปดำเนินการ ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงระดับอำเภอ ขณะเดียวกัน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา ต้องมีส่วนร่วม ขั้นตอนที่ 2 รับรายงานตัวและปรับทัศนคติ ซึ่งกรอบในการดำเนินงานกลุ่มนี้ จะให้ความสำคัญต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีชื่อในระบบฐานข้อมูลหมาย พรก.  หมายป.วิอาญา ขณะเดียวกันระหว่างการอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติ ได้พาไปดูงานหมู่บ้านปิยะมิตรของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ขั้นตอนที่ 3 การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมายและอำนวยความสะดวกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนที่ 4 การขับเคลื่อนชมรมพาคนกลับบ้าน โดยได้จัดตั้งไว้แล้ว 37 ชมรม อำเภอละ 1 ชมรม  ขั้นตอนที่ 5 การส่งเสริมอาชีพและการฝึกอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถดำรงชีวิตได้อยู่อย่างปกติสุข และขั้นตอนที่ 6 เมื่อกลับสู่ภูมิลำเนา จะมีการควบคุมและดึงมาช่วยกันสร้างสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในจำนวนผู้ร่วมโครงการ ยังที่ต้องปลดเปลื้องพันธะกฎหมายอีกจำนวน 29 รายการ

“คนไหนมีคดีก็จะหาทนายให้ ถ้าหากยังไม่มีทนาย ช่วยทุกอย่างภายใต้กฎหมาย จากนั้นก็ฝึกอาชีพให้ดูแลความปลอดภัยให้เขา และครอบครัวจากกำลังเจ้าหน้าที่ 5-6 หมื่นนาย พลเรือนอีกที่แปรสภาพมาดูแล” พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าว

รอยยิ้มของทุกคน

นายฮารง แมเร้าะ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสที่ผ่านมาว่า พี่ชายถูกจับในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จากนั้นเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวมาไม่นาน ก็ถูกยิงตาย ทำให้ตนรู้สึกกลัวจนต้องหนีไปมาเลเซียในปี 2550

“มีคนแปลกหน้ามาวนเวียนแถวบ้าน ก็เลยรู้สึกกลัว ประกอบกับเศรษฐกิจไม่ดี จึงเข้าไปกรีดยางที่รัฐกลันตัน จากนั้นน้องสาวก็โทรบอกแฟนว่า ผมมีหมายศาล ก็ตกใจ แฟนจึงพาลูกมาอยู่ที่มาเลเซียด้วยประมาณ 10 ปี ก็กลับเข้ามาร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ตอนนี้ คดีศาลยกฟ้องแล้ว” นายฮารงกล่าว

พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า “เราจะใช้ใจ ทำให้เขาเห็นว่าเรามีความจริงใจ เมื่อเขาเห็นว่าเจ้าหน้าที่มีความจริงใจ เขาจะเข้าใจ เราให้ความยุติธรรมกับเขา และที่สำคัญเขาจะได้ใช้ชีวิตปกติ ได้เห็นรอยยิ้มของทุกคนในครอบครัว ได้ไปไหนมาไหนเป็นปกติ และให้ความปลอดภัยกับเขา เขาก็จะเห็นเอง”

“ส่วนใครจะกลับไปอีกนั้น ก็ยากที่จะแก้ กลับไปเราก็ใช้กฏหมาย อยู่เราก็พาเข้าขบวนการยุติธรรม ปัจจุบันก็มีผู้ที่จะกลับมาอีกเยอะ แต่กำลังรอดูว่าคนที่กลับมาเขาจะได้ผลยังไง” พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ทรรศนะว่า หากจะให้โครงการประสบผลสำเร็จ รัฐจะต้องแน่ใจว่าคนที่เข้าโครงการทุกคนเป็น “ตัวจริง”

"โครงการนี้ มีปัญหาอยู่ คือคนที่อยากกลับบ้านเป็นคนอยู่ในลิสต์ของคนที่มีความคิดเห็นต่างหรือเป็นขบวนการ หรือเปล่า น่าจะเป็นปัญหามาตั้งแต่อดีตแล้ว และทุกวันนี้ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ พูดง่ายๆ คือตัวจริงหรือเปล่า" ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ และยังระบุเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ก็ด้วยการใช้การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นหลัก ไม่ใช่การบังคับให้ยอมแพ้

เมื่อปีที่ผ่านมา พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ผู้รับผิดชอบงานปราบปรามการก่อความไม่สงบ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปรับตัว นายอาหะมะ ดือเระ ผู้ต้องสงสัยที่มีหมายจับอย่างน้อยสี่หมาย หลังจากหลบซ่อนตัวมาเป็นเวลาแปดปี ได้ตัดสินใจเข้ามอบตัวเพื่อขอลดโทษ

ดอน ปาทาน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยกล่าวว่า โครงการพาคนกลับบ้านประสบความสำเร็จอย่างดี แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้ เป็นครั้งคราวที่ทางการทำการจัดฉากสร้างภาพ โดยให้อดีตผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่สวมกอดและจับมือกันต่อหน้าสื่อมวลชนและชาวบ้าน เพื่อแสดงพลังและความเป็นเอกภาพ

“แต่ในบรรดาหมู่บ้านที่ห่างไกล ผู้ก่อความไม่สงบยังดำเนินการอย่างเสรีต่อไป เหตุผลหลักเป็นเพราะ ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากราษฎรในพื้นที่ที่สลับกันส่งเสบียงอาหารให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบ และบางครั้งก็ให้ที่พักอาศัย หากหน่วยของคนเหล่านั้นถูกย้ายมาจากอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม” ดอน ปาทาน กล่าวในบทวิเคราะห์

มาตาฮารี อิสมาแอ และ อารยา โพธิ์จา ร่วมสนับสนุนข้อมูลในรายงานฉบับนี้

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.benarnews.org