Skip to main content

 

ญาติและผู้เสียหายเหตุตากใบ-บ้านภักดี 10 ราย พบป.ป.ช.เยียวยาไม่ครบ

 

มารียัม อัฮหมัด
ยะลา
 
 
    180213-TH-compensation-1000.jpg
    ผู้ได้รับผลกระทบจากการจ่ายเงินเยียวยาล่าช้า เดินทางมาขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. ยะลา ณ ที่ว่าการอำเภอบันนังสตา วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560

     มารียัม อัฮหมัด/เบนนาร์นิวส์)
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    นายพายัพ คชพลายุกต์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ผอ.ป.ป.ช.) จังหวัดยะลา เปิดเผยในวันอังคารนี้ว่า ได้เรียกเหยื่อและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ กรณีตากใบ ปี 2547 และกรณีเจ้าหน้าที่ยิงชาวประชาชนที่บ้านภักดี ปี 2550 มาให้ข้อมูลเพื่อหาสาเหตุการจ่ายเงินล่าช้า หรือเอาผิดเจ้าหน้าที่หากมีการทุจริต

    นายพายัพ คชพลายุกต์ ผอ.ป.ป.ช. ยะลา ดำเนินการซักถามและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการจ่ายเงินเยียวยาล่าช้าครั้งนี้ที่ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอบันนังสตา จ.ยะลา โดยระบุว่า รัฐจะดำเนินการตรวจสอบความล่าช้าที่เกิดขึ้น และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

    “ป.ป.ช. ยะลา เรากำลังตรวจสอบว่า ติดขัดตรงไหนที่ยังไม่ได้จ่ายเงินเยียวยาที่ค้างอยู่ และเราต้องปิดหน่วยงานนั้นก่อน เพื่อความปลอดภัย และหาความจริงต่อไป ส่วนมากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ และเหตุการณ์อื่นๆ มีจำนวนหลายราย ต้องดำเนินการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน และมีความเป็นธรรม” นายพายัพกล่าว

    เหตุการณ์สลายชุมนุมตากใบ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เกิดขึ้นที่สนามเด็กเล่น ตรงข้ามสถานีตำรวจตากใบหลังเก่า จ.นราธิวาส โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ เข้าสลายผู้ชุมนุมกว่าหนึ่งพันคนที่หน้าสถานีตำรวจ ที่รวมตัวเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดียักยอกทรัพย์สินทางราชการ และแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป

    หลังจากการสลายการชุมนุม ได้จับกุมผู้ชุมนุมกว่าหนึ่งพันคน ด้วยวิธีการถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง เรียงซ้อนทับกันในรถบรรทุกจีเอ็มซี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ ระหว่างการเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งห่างจาก อ.ตากใบ กว่า 150 กิโลเมตร หลังเหตุการณ์มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย และที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.ตากใบ อีก 58 ราย ต่อมา ในปี 2556 ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีการจ่ายเงินเยียวยาเป็นยอดรวม 641,451,200 บาท

    ด้าน นายอาลีม อาลีมามะ อายุ 30 ปี ผู้ได้รับผลกระทบจากการซุ่มยิงของเจ้าหน้าที่ ขณะกลับจากการละหมาดผู้เสียชีวิต ที่บ้านภักดี ต.บาเจา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 เป็นเหตุให้สูญเสียดวงตา จึงมาขอความเป็นธรรมเนื่องจาก ได้รับการเยียวยาจากกรณีที่เกิดขึ้นไม่ครบ

    “นำเพื่อนรวมทั้งญาติที่ประสบชะตาเดียวกันมาร้องเรียนความเป็นธรรม เพราะเคสที่เกิดจากการกระทำของฝ่ายรัฐจะต้องเยียวยาคนละ 7 ล้านบาท จนถึงวันนี้ ผมกับเพื่อนที่ได้รับผลกระทบ ได้เงินเยียวยาคนละ 3-5 ล้านบาทเอง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เยียวยา ยังบอกว่า เหตุยิงที่บ้านภักดี ไม่เข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐกระทำ เนื่องจากไม่ชี้ตัวผู้ยิงในที่เกิดเหตุ” นายอาลีมกล่าว

    เหตุการณ์ดักยิงรถรับ-ส่งนักเรียน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 ที่บ้านภักดี ม.5 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา โดยคนร้ายดักซุ่มยิงรถกระบะที่มีเด็กนักเรียนโรงเรียนบาเจาะอิสลามวิทยา และเด็กนักเรียนตาดีกามัสยิดกลางบันนังสตาอยู่เต็มคันรถ และมีการยิงตอบโต้จากเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บ 5 คน

    ด้าน นายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยืนยันว่า การจ่ายเงินเยียวยาเป็นไปตามระเบียบทั้งหมด แต่ที่มีปัญหาเป็นกรณีที่มีการแจ้งขอรับการเยียวยาใหม่ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลเพื่อความถูกต้อง ก่อนจ่ายเงินเยียวยาจริง

    “การจ่ายเยียวยาเป็นไปตามมติ อย่างกรณีตากใบรับ 7.5 ล้านบาท กรือเซะ 4 ล้านบาท กรณีบ้านภักดี 7.5 ล้านบาท ไม่มีตกค้าง จะตกค้างเฉพาะกรณีใหม่ๆ ที่เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ยังไม่ได้รับรอง และเจ้าหน้าที่ก็จะมีการจ่ายเบื้องต้นไปก่อน หลังจากนั้น ก็จะมีการตรวจสอบ เพื่อให้สามฝ่ายรับรอง ถ้ามีการรับรองจากสามฝ่ายจะมีการจ่ายเงินเยียวยา” นายกิตติกล่าว

    ต่อประเด็นนี้ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องรายหนึ่ง (สงวนชื่อ-นามสกุล) ระบุว่า ปัญหาการร้องเรียนเรื่องการจ่ายเงินเยียวยานี้ สะท้อนให้เห็นว่า ระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงแรกที่บังคับใช้ ขาดความชัดเจน ทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวถึงปัจจุบัน

    “ระเบียบ กฎหมาย มติครม. เกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีความไม่ชัดเจน ในหลายประเด็น เขียนที่มา และเหตุผลในการเยียวยา 7.5 ล้าน ไม่สมเหตุสมผล มี ศอ.บต. เป็นผู้มีอำนาจในการจ่ายเยียวยา ซึ่งจ่ายตามผลมติ ที่ประชุม กพต. ทำให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ แสวงหาโอกาสจากความไม่รัดกุมของกระบวนการหรือขั้นตอนการจ่ายเยียวยา” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวระบุ

    “ต่อมารัฐบาล คสช.ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม แก้ไขปรับปรุงระเบียบเยียวยาให้ชัดเจน ไม่เกิน 1 ล้านบาท และใช้การช่วยเหลือระยะยาวมาทดแทน เช่น ดูแลฟื้นฟูคุณภาพชีวิตสร้างอาชีพ ทุนการศึกษาบุตรเป็นต้น และรัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขกฎหมายเยียวยา ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ” เจ้าหน้าที่รายเดิมกล่าวเพิ่มเติม

     

    เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.benarnews.org