Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร, วัสยศ งามขำ

เหตุการณ์บุกยิงเจ้าหน้าที่และนักวิชาการสาธารณะสุขเสียชีวิตถึงในสถานีอนามัย ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าประหวั่นพรั่นพรึ่ง แม้ว่าก่อนหน้านี้ หน่วยงานด้านการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยไข้ของชาวบ้านในพื้นที่อย่างสถานีอนามัยเหล่านี้จะเคยถูกคุกคามโดยการ "เผา" ทำลายมาแล้วกว่า 12 แห่ง แต่นี่เป็นโจทย์ใหม่ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันที่น่าหนักใจกว่า ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะผลพวงแรงกดดันจากฝ่ายความมั่นคงที่ทำให้ "สูญเสียความเป็นกลางของสาธารณสุข" ไป

น.พ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ 1 ใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ที่ถูกจัดกลุ่มอยู่ในขอบเขตปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าให้ฟังว่า โจทย์ใหญ่ที่กำลังท้าทายบุคลากรทางสาธารณสุขอยู่ในปัจจุบัน คือความเป็นกลางของสถานีอนามัยและโรงพยาบาลในพื้นที่ เพราะเมื่อใดที่บุคลากรเหล่านี้เอนเอียงหรือแม้แต่ถูกมองว่าเอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่งแม้เพียงนิดเดียว อันตรายก็จะมาเยือนทันที

"ปัจจุบันมีเพียงครูกับหมอเท่านั้นที่เป็นข้าราชการที่สามารถอยู่ในพื้นที่ระดับตำบลได้ แต่ความต่างก็คือหมออนามัยตำบลตกเป็นเป้าน้อยกว่าครูมาก เนื่องมาจากกลุ่มขบวนการไม่ชอบครู เพราะคิดว่าครูสอนลูกของพวกเขาให้เป็นไทย ในขณะที่เขาอยากให้ลูกเป็นมลายู ส่วนแพทย์นั้นรักษาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ จึงทำให้พออยู่ได้อย่างปลอดภัย แต่วันนี้กำลังมีปัจจัยที่ทำให้ความเป็นกลางสูญเสียไป"

น.พ.สุภัทร อธิบายว่า ปัจจัยที่กระทบต่อความเป็นกลางของสาธารณสุข จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี น.พ.ธาดา ยิบอินซอย เป็นประธาน และมีเขาร่วมเป็นกรรมการนั้น ประกอบด้วย

1.กรณีทหารชอบเข้าไปตั้งค่ายในสถานีอนามัย เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องน้ำ-ไฟ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ก็พยายามคัดค้านมาตลอด แต่ทหารบางหน่วยจะใช้วิธีแอบเข้าไปตั้งแคมป์ช่วงเย็นวันศุกร์ซึ่งเจ้าหน้าที่กลับบ้าน พอถึงเช้าวันจันทร์ เจ้าหน้าที่กลับมา ก็ไม่สามารถห้ามปรามอะไรได้แล้ว

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวทำให้เกิดภาพที่ไม่ดี และเมื่อทหารถอนกำลังออกไป ก็มีความเสี่ยงที่อนามัยจะถูกเผา หรืออาจจะถูกยิงเข้ามาในอนามัยเพื่อหวังทำร้ายทหารได้

จากข้อมูลที่คณะกรรมการรวบรวมได้ระหว่างลงพื้นที่ พบว่าที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส มีสถานีอนามัยอย่างน้อย 2 แห่งที่ทหารเข้าไปตั้งค่ายอยู่ภายใน คือ สถานีอนามัยกาลีซา และบองอ

2.กรณีที่ทหารหรือตำรวจชอบเดินคุยกับเจ้าหน้าที่อนามัย ซึ่งแม้จะเข้าใจว่าหลายๆ ครั้งเป็นการทักทายกันธรรมดา แต่ภาพที่ออกมาทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่อนามัยแอบให้ข้อมูลกับทหารหรือไม่

3.กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงชอบขอข้อมูลประชากรในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลและสถานีอนามัย เพราะสถานพยาบาลทุกแห่งจะมี "แผนที่" ในพื้นที่รับผิดชอบของตน ไม่ว่าจะเป็นระดับตำบล อำเภอ หรือจังหวัด มีเลขที่บ้าน สถานที่ตั้ง และบุคคลในบ้านทุกคน

กรณีนี้หน่วยสาธารณสุขในพื้นที่มีแนวปฏิบัติชัดเจนว่า ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยไหนมาขอ ก็จะไม่ให้ข้อมูล แต่เมื่อไม่ให้ ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่พอใจ และมีคำถามประชดประชันในลักษณะว่า "เป็นข้าราชการหรือเปล่า" หรือไม่ก็กล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของฝ่ายขบวนการไปเลย

4.กรณีเจ้าหน้าที่รัฐปะทะกับกลุ่มก่อความไม่สงบ และฝ่ายคนร้ายถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ก็เข้ามารักษาตัวที่อนามัย แต่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะให้เจ้าหน้าที่อนามัย หรือแพทย์ พยาบาล แจ้งความกับตำรวจ ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขตกอยู่ในสภาวะไม่ปลอดภัย

เรื่องนี้ที่ผ่านมาเคยมีกรณีตัวอย่างมาแล้ว คือมีแนวร่วมก่อความไม่สงบถูกยิงที่ข้อเท้า กระสุนฝังใน จึงเข้ามารักษาที่สถานีอนามัย แต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าอาการหนัก ก็แนะนำว่าจะส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ผู้บาดเจ็บก็ถามทันทีว่า ถ้าส่งตัวไปจะถูกจับหรือไม่ เจ้าหน้าที่อนามัยตอบว่าหมอคงไม่แจ้งตำรวจ ทว่าเมื่อส่งตัวไปจริงๆ ผู้บาดเจ็บรายนี้กลับถูกตำรวจมารอจับกุมถึงหน้าห้องรับยา วันรุ่งขึ้นญาติของเขาจึงบุกไปที่สถานีอนามัย และข่มขู่ว่า ถ้าช่วยให้ผู้บาดเจ็บออกมาจากคุกไม่ได้ จะต้องตาย เพราะไปรับรองว่าจะไม่ถูกจับ

5.กรณีผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบถูกกระสุนปืนเสียชีวิต และกระสุนฝังอยู่ในศพ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามเร่งให้แพทย์ผ่าศพเพื่อนำหัวกระสุนออกมาตรวจพิสูจน์ ขณะที่ฝ่ายญาติผู้ตายก็จะไม่ยินยอม เพราะตามหลักศาสนาอิสลามจะต้องนำศพไปฝังทันที และไม่ต้องการให้ใครทำอะไรกับศพอีก

ปัจจุบันจุดยืนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคือ ถ้าเป็นผู้ป่วย ก็จะให้ผู้ป่วยตัดสินใจเอง แต่ถ้าเป็นคนตาย ก็จะให้ญาติตัดสินใจ แต่นั่นก็ทำให้ฝ่ายตำรวจไม่ค่อยจะพอใจเช่นเดียวกัน

          "นี่คือความยากลำบากของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และพยาบาลว่าจะอยู่ในพื้นที่อย่างไรให้ปลอดภัย แต่หลายครั้งที่เรารักษาความเป็นกลาง กลับถูกตีความจากหน่วยงานรัฐด้วยกันว่าเราอยู่ฝ่ายโจร อยู่ฝ่ายขบวนการ เหล่านี้คือความเจ็บปวด" น.พ.สุภัทร กล่าว

ล่าสุด ได้มีการปิดสถานีอนามัยในอำเภอยะรังทั้งหมด 15 แห่งเป็นการชั่วคราวแล้ว ส่วนพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ กำลังอยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาแต่ละแห่งว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้บุคลากรของตนปลอดภัยที่สุด ... นับเป็นโจทย์ที่ฝ่ายความมั่นคงต้องเร่งหาคำตอบโดยด่วน !