ประเทศไทยแถลงได้ข้อยุติร่วมกำหนด 'พื้นที่ปลอดภัย' ชายแดนใต้
หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แจ้งให้สื่อมวลชนทราบในวันนี้ว่า คณะพูดคุยฯ สามารถกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกับผู้เห็นต่างจากรัฐแล้ว 1 อำเภอ ในขณะเดียวกัน ในวันนี้ ได้เกิดระเบิดใกล้ทางเข้าโรงเรียนประชาอุทิศ ในจังหวัดยะลา ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 10 ราย ในจำนวนนี้ เป็นนักเรียนหญิงสามคน
พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แจงข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวโดยผ่านทางสำนักเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ ภายหลังจากการรายงานผลการดำเนินงานของคณะพูดคุยฯ ให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ในขณะที่นายอาบู ฮาฟิซ โฆษกมาราปาตานี ได้แจ้งเรื่องนี้ผ่านบทความในเวบไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)
“ล่าสุดจากการประชุมที่ประเทศมาเลเซีย สามารถได้ข้อยุติร่วมกันในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง 1 อำเภอ และได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการจัดตั้ง safe house เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยกันให้ข้อคิดเห็นในเรื่องการรักษาความปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ safety zone” พล.อ.อักษรา กล่าว
เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อพลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุย และพลตรีสิทธิ์ ตระกูลวงศ์ เพื่อขอทราบชื่ออำเภอและรายละเอียดเพิ่มเติม
พล.อ.อักษรา ได้กล่าวในใบแจ้งข่าวอีกว่า จากนี้ไปคณะพูดคุยฯ จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ในการขับเคลื่อน safety zone พร้อมไปกับการประเมินผลว่า สามารถดำเนินการได้ตามความตั้งใจของทุกฝ่าย ที่จะใช้สันติวิธีดูแลพื้นที่ให้มีสันติสุขได้หรือไม่ และหากสามารถบรรลุเป้าหมายก็อาจขยายไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับผลการพูดคุยในระยะต่อไปด้วย
พลตรีสิทธิ์ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุย ได้กล่าวในก่อนหน้านี้ว่า จะใช้เวลาสามเดือนแรกในการดำเนินการเพื่อก่อตั้ง safe house และรณรงค์ให้ประชาชนได้รับทราบเรื่องพื้นที่ปลอดภัย พร้อมทั้งขอรับทราบความคิดเห็น หลังจากนั้น จะจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยให้เป็นรูปเป็นร่าง และทดลองประสิทธิผลเป็นเวลาอีกสามเดือน
ด้านนายอาบู ฮาฟิซ โฆษกมาราปาตานี กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยนอกรอบ เมื่อเดือนมกราคม ศกนี้ ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเจาะทะลุข้อขัดขวางออกไปได้ จนทุกฝ่ายสามารถตกลงในการดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติภาพต่อไปได้
“ในการพูดคุยนอกรอบในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนมกราคม ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ สามารถทะลุข้อขัดขวางออกไปได้ และตกลงจะพูดคุยกันต่อไป จากนั้นคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคได้การรับทราบในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2018 ซึ่งทั้งสองทีมยังได้สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัยส่วนอื่นๆ เป็นเพียงเรื่องเวลาที่สองฝ่ายยังต้องพูดคุยกันอีกสองสามครั้ง ก่อนที่จะสามารถเริ่มดำเนินการพื้นที่ปลอดภัยได้” นายอาบู กล่าวในบทความ The Peace Dialogue Third Year (2017)
นักเรียนเจ็บสามรายในเหตุระเบิดทางเข้าใกล้โรงเรียนในจังหวัดยะลา
ในวันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ สภ.เมือง ยะลา ได้กล่าวว่า ได้เกิดเหตุระเบิดที่ปากทางเข้าโรงเรียนประชาอุทิศ บ้านกูแบปุโรง ต.บันนังสาเร็ง อ.เมืองยะลา ในขณะที่เจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุดคุ้มครองตำบลบันนังสาเร็งจำนวน 7 นาย ได้มารักษาความปลอดภัยให้กับครูและนักเรียน ทำให้มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 10 ราย ในจำนวนนี้ เป็นเด็กนักเรียนหญิง 3 ราย ส่วนรายอื่นๆ เป็นอาสาสมัครสามราย และประชาชนอีก 4 ราย ซึ่งคนร้ายยังได้ยึดไปสองกระบอกอีกด้วย
“เมื่อเจ้าหน้าที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ 4 คัน มาถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายได้กดระเบิดชนิดแสวงเครื่อง ทำให้เกิดระเบิดขึ้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อมุ่งร้ายต่อชีวิตเจ้าหน้าที่” ร.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ นวลเอียดรอง สว.สอบสวน สภ.เมืองยะลากล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ผู้ได้รับบาดเจ็บถูกส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี อัญเชิญแจกันดอกไม้ และกระเช้าสิ่งของพระราชทาน เข้าเยี่ยมเจ้าหน้าที่ นักเรียน และประชาชน ผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว
"มีสองรายที่มีอาการสาหัส คือ อส. มูฮะมัดรอนี เลาะหะมะ เข้ารับการรักษาอยู่ห้องไอซียู และอส. วันชูรูวัน เจ๊ะมิง กำลังเข้ารับการผ่าตัด อยู่ห้องไอซียู" พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
สำหรับเด็กนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บจากแรงอัดระเบิดนั้น ประกอบด้วย ด.ญ.อัสวา มูลอ ชั้น ป.4 ด.ญ.อิบตีกัฟ มูลอ ชั้น ป.6 และ ด.ญ.อวาติฟ ลาเต๊ะ อยู่ชั้น ป.1 ทั้งสามคนมีอาการหูอื้อ
เหตุระเบิดในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ในปีใหม่ 2561 นี้ หลังจากที่ไม่ได้เกิดเหตรุนแรงแก่ครูและนักเรียนเลย แม้แต่น้อยในปี 2560ที่ผ่านมา เหตุโจมตีโรงเรียนทั้งสามเหตุก่อนหน้า คือ 1. เผากล้องวงจรปิด หน้า รร.บ้านสายหมอ ในวันที่ 10 ม.ค. 2. ระเบิดข้างโรงเรียนบ้านซีเยาะ วันที่ 6 ก.พ. 3. ระเบิดปากทางเข้าโรงเรียนยะหริ่ง วันอาทิตย์ที่ 11 ก.พ.ไร้คนเจ็บ และครั้งที่ 4 ล่าสุดวันนี้ ระเบิดปากทาง โรงเรียนประชาอุทิศ วันที่ 15 ก.พ.
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนกับต้องการทำลายบรรยากาศการสร้างสันติภาพ
“เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วขัดกับหลักทั่วไปที่ทุกฝ่ายกำลังสร้างพื้นที่ปลอดภัย เมื่อเกิดเช่นนี้ เหมือนต้องการทำลายบรรยากาศของการสร้างสันติภาพ โดยจะใช้เป้าอ่อนแอในการก่อเหตุ ชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุไม่ให้ความสำคัญกับสันติภาพ อาจเป็นปัญหาก็ได้หากไม่ระวังในเรื่องนี้” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ด้านนายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูชายแดนใต้ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงต่อกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อโรงเรียนต่าง ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดเหตุในสถานที่ที่ควรมีความปลอดภัย
“พื้นที่พิเศษ มัสยิด วัด โรงเรียน ตลาด ต้องเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ดูแลพิเศษดูแลมากขึ้น เข้มข้นขึ้น แต่ยังใช้วิธีการทำงานเดิมๆ คือตรวจเส้นทาง เป็นการป้องปรามมากกว่าที่จะให้เกิดปลอดภัย ขณะนี้ รัฐพยายามเจรจาเพื่อสันติภาพ แต่ยังเกิดเหตุการณ์ เมื่อเทียบปี 47 ดีขึ้นมาก แต่พื้นที่ปลอดภัยไม่ควรเกิดและปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์” นายบุญสม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายบุญสม ทองศรีพราย ผู้อำนวยการสำนักงานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ในห้วงเวลา 14 ปี ของความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ครูตกเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน ถูกทำร้ายเสียชีวิตแล้ว 184 ราย มีครูและบุคคลากรทางการศึกษาได้รับบาดเจ็บอีก 161 ราย ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ กล่าวว่า มีเด็กเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ 951 คน ในห้วงเวลานับตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา
ราซลาน ราชิด ในกัวลาลัมเปอร์ มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้
เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.benarnews.org