Skip to main content

 

ตะวันออกกลางในยุคอาณานิคมและการก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ (3)

รูปแบบและระบบการปกครองภายใต้อาณัติ

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ชาติมหาอำนาจที่ปกครองดินแดนใต้อาณัติส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์ของ “การแบ่งแยกและปกครอง” (divide-and-rule strategy) ประชากรชาวอาหรับและชนกลุ่มน้อยๆอื่นในดินแดนอาณัติ ไม่ว่าจะเป็นอิรัก ซีเรียหรือเลบานอน แม้ว่ารูปแบบการปกครองเช่นนี้จะสะท้อนความแตกต่างของประชากรในตะวันออกกลาง ในขณะเดียวกันก็ไปตอกย้ำความแตกต่างเพื่อให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาหรือเชื้อชาติ

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าอังกฤษและฝรั่งเศสจะได้รับสิทธิในการปกครองดินแดนในตะวันออกกลางอย่างเต็มรูปแบบ การบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่กลับประสบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย เนื่องจากการลุกฮือต่อต้านเจ้าอาณานิคมของผู้นำขบวนการชาตินิยมอาหรับที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (self-determination) ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาวูดโรล์ วิลสัน

รูปแบบการปกครองของระบบอาณัติ จึงไม่เพียงแต่เปลี่ยนระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของดินแดนในตะวันออกกลางอย่างลึกซึ้ง แต่ยังทำให้ชาวอาหรับเคียดแค้นและไม่พอใจอำนาจและอิทธิพลของต่างชาติที่เข้ามารุกรานดินแดนตะวันออกกลางของตน

ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการรุกรานของต่างชาติในรัฐตะวันออกกลางได้กลายเป็นสาเหตุของการจัดตั้งขบวนการต่อต้านมหาอำนาจต่างชาติต่างๆ เช่น ขบวนการชาตินิยม (nationalist movement) และอิสลามนิยม (Islamist movement) ซึ่งแต่ละขบวนการล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของโลกอาหรับที่มองว่าตนเองถูกครอบงำโดยชาติมหาอำนาจตะวันตก

เมโสโปเตเมียหรืออิรักในอาณัติอังกฤษ (British Mandate of Mesopotamia/ Iraq)

การมอบดินแดนอิรักให้อยู่ภายใต้อาณัติอังกฤษขัดกับคำมั่นสัญญาที่อังกฤษให้ไว้กับ ชารีฟ ฮุสเซน (Sharif Hussein of Mecca) ผู้นำเมืองมักกะฮ์ เรื่องการมอบดินแดนอาหรับที่เคยเป็นของออตโตมันแลกกับการช่วยอังกฤษรบกับฝ่ายเยอรมัน ดินแดนอิรักภายใต้อาณัติอังกฤษจึงถูกต่อต้านอย่างมากจากประชากรชาวอิรัก

กลุ่มผู้พิทักษ์เอกราชอิรัก (The Guardians of Iraqi Independence) ระดมกำลังขึ้นต่อต้านอาณัติอังกฤษครั้งแรกในปี ค.ศ. 1919 ต่อมาชาวอิรักก็ได้ประท้วงใหญ่อีกครั้งซึ่งเรียกกันว่าการปฏิวัติอิรัก ค.ศ. 1920 (The Iraqi Revolt 1920) นำโดยผู้นำทางศาสนาชาวชีอะฮ์จากเมืองนาญัฟ (Najaf) และกัรบาลา (Karbala)

การประท้วงดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากเป็นความร่วมมือของประชากรมุสลิมชาวอิรักจากทั้งซุนนีย์และชีอะฮ์ต่อต้านผู้ครอบครองต่างชาติครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการชาตินิยมที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองของอาหรับในสมัยต่อมา

ในขณะเดียวกัน การมอบดินแดนซีเรียให้อยู่ภายใต้อาณัติฝรั่งเศส (Mandate of Syria) ในปี ค.ศ. 1920 ก็ทำให้เจ้าชายไฟซอล (Prince Faisal) ซึ่งเป็นลูกชายของชารีฟ ฮุสเซนและเป็นผู้ปกครองดินแดนซีเรียในขณะนั้น ทำสงครามรบกับฝรั่งเศส เมื่อเจ้าชายไฟซอลแพ้สงครามและโดนฝรั่งเศสขับไล่ออกจากดินแดนซีเรีย อังกฤษจึงแก้ไขปัญหานี้ด้วยการแต่งตั้งเจ้าชายไฟซอลให้เป็นกษัตริย์ปกครองอิรักภายใต้อาณัติอังกฤษแทน และแต่งตั้งเจ้าชายอับดุลลอฮ์ (Abdullah I bin al-Hussein) น้องชายของเจ้าชายไฟซอล ให้เป็นกษัตริย์ปกครองทรานส์จอร์แดน (Transjordan) ซึ่งแยกมาจากดินแดนปาเลสไตน์ในปี ค.ศ. 1921

ถึงแม้ว่าอังกฤษจะแก้ไขปัญหาด้วยการล้มเลิกระบบอาณัติ และแต่งตั้งเจ้าชายไฟซอลให้เป็นกษัตริย์ปกครองราชอาณาจักรอิรัก (Kingdom of Iraq) ในปี ค.ศ. 1921 การรวบเอา 3 จังหวัดจากดินแดนในออตโตมัน แล้วก่อตั้งรัฐอิรัก ปกครองโดยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางชนชาติและศาสนาของประชากร ทำให้การปกครองดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น ประชากรภายในอิรักมองกษัตริย์ไฟซอลเป็นเพียงตัวแทนของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ

ความแตกแยกความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาของประชากรในชุมชนต่างๆ จึงยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีของการจัดตั้งกองทัพอิรักที่ล้มเหลวเนื่องจากกลุ่มชาวชีอะฮ์และเคิร์ดไม่พอใจกลุ่มชาวซุนนีย์ที่มีประชากรมากกว่า ความไม่ลงรอยกันของแต่ละกลุ่มศาสนา นิกายและชนชาติภายในอิรักจึงเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการปกครองราชอาณาจักรอิรัก

ในขณะเดียวกัน ชาวเคิร์ด (Kurds) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของอิรักก็ได้เริ่มก่อกบฏต่อต้านการปกครองของอังกฤษเพื่อประกาศอิสรภาพ ในยุคนี้ ปัญหาชาวเคิร์ดเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่เริ่มปรากฏให้เห็นหลังการแบ่งแยกดินแดนตะวันออกกลางให้อยู่ภายใต้อาณัติอังกฤษ เนื่องจากชาวเคิร์ดไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นชาวอาหรับ

ด้วยเหตุนี้ ความพยายามของมหาอำนาจในการจัดตั้งรัฐอาหรับจึงผลักดันให้ชาวเคิร์ดลุกฮือขึ้นต่อต้านเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (1)

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (2) : ที่มาของระบบดินแดนใต้อาณัติ