Skip to main content

 

 

เปิด Safe House ศูนย์ประสานงานกำหนดพื้นที่ปลอดภัย Safety Zone

ในขณะที่เหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังมีความพยายามในการพูดคุยกับกลุ่มผู้คิดต่างเพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี โดยเฉพาะการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่รัฐบาลได้พูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานี มากว่า 3 ปี ล่าสุดมีความคืบหน้าในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อลดเหตุรุนแรง ซึ่งจะมีการเปิดศูนย์ประสานงาน หรือ Safe House ให้คณะทั้งสองฝ่ายมาทำงานร่วมกันในต้นเดือนเมษายนนี้ ก่อนจะเริ่มทำงานกำหนดพื้นที่ปลอดภัยตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ธันวาคมนี้ โดยการเปิดเซฟเฮาส์ จะมีตัวแทนของกลุ่มมารา ปาตานี เข้ามาทำงานด้วย 7 คน บางคนอาจมีหมายจับ ทางสำนักงานเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจึงต้องอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้ามาทำงานตามเป้าหมาย จึงไม่ใช่การเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้คิดต่างเข้าประเทศได้ตามที่ถูกวิจารณ์ เพราะการดำเนินงานเป็นไปตามกรอบกฏหมายไทย ที่เชื่อว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพคือทางออกในการยุติความรุนแรง

นับตั้งแต่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำโดยพลเอกอักษรา เกิดผล เป็นประธานฝ่ายรัฐไทย หรือ ปาร์ตี้ เอ เริ่มพูดคุยกับกลุ่มมารา ปาตานี องค์กรร่มของกลุ่มผู้คิดต่าง ที่มีนายอาวัง จาบัท เป็นประธานมาราปาตานี หรือ ปาร์ตี้ บี และมีการเปิดตัวกับสื่อครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องโดยการประสานงานของดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮากิม ผู้อำนวยความสะดวกจากรัฐบาลมาเลเซีย ผ่านมา 3 ปีแม้จะใช้เวลานาน แต่ล่าสุดทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบข้อตกลงในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยหรือ Safety Zone เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อลดเหตุรุนแรง โดยขั้นตอนสำคัญในต้นเดือนเมษายนนี้ จะมีการเปิดศูนย์ประสานงาน หรือ Safe House ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงส์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข เปิดเผยถึงรูปแบบของ Safe House จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย โดยให้ตัวแทนของปาร์ตี้เอ หรือเจ้าหน้าที่รัฐไทย จำนวน 7 คน และตัวแทนปาร์ตี้ บี หรือกลุ่ม มาราปาตานี จำนวน 7 คน มาทำงานร่วมกัน ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เพื่อคัดเลือก คณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ปลอดภัย หรือ JAC จำนวน 19 คน โดยประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่จำนวน 15 คน มาจากกลุ่ม 4 เสาหลัก กลุ่มเยาวชน และสตรี ส่วนอีก 4 คนเป็นตัวแทนจากฝ่ายรัฐและมาราปาตานีฝ่ายละ 2 คน จากนั้นจะเริ่มทำงานในพื้นที่ปลอดภัย ที่จะกำหนดนำร่อง 1 อำเภอ เป็น Safety Zone โดยใช้เวลา 4 เดือนในการจัดเตรียมพื้นที่ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงกันยายน ก่อนจะเริ่มประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยเป็นเวลา 3 เดือนระหว่างเดือนตุลาคมถึง ธันวาคม โดยตัวชี้วัดสำคัญคือการลดเหตุรุนแรง และระหว่างนั้นหากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจะต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ หากพิสูจน์ไม่ได้จะยกเลิกเป็น Safety Zone

จากเป้าหมายของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยตามหลักการสันติวิธีถือเป็นความสำคัญเพื่อยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมากว่า 14 ปี การพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นแนวทางที่สองฝ่ายยอมรับ และกลุ่มมาราปาตานี ที่ถือเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จริง แม้จะไม่มีฝ่ายกองกำลังของขบวนการบีอาร์เอ็น แต่ทุกกลุ่มยืนยันว่าเป็นตัวจริง และการพิสูจน์ทราบที่สำคัญในขั้นตอนแรกคือความร่วมมือในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งต้องให้ฝ่ายมาราปาตานีได้เข้ามาทำงานร่วมกับฝ่ายไทยใน Safe House จึงจำเป็นที่ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน โดยจะมีการทำบัตรประจำตัวให้กับทุกคน และปฏิบัติตามมาตรการของฝ่ายไทย หากต้องออกนอกพื้นที่ Safe House ส่วนบางคนที่มีหมายจับ ยืนยันได้ว่าจะมีการช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมทางคดีตามหลักกฏหมายปกติ ไม่มีการพักโทษ อย่างที่มีการเข้าใจผิด

เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมสนับสุนนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นของการสร้างความไว้วางใจเดินหน้าสู่สันติสุขที่แท้จริง โดยฝ่ายไทยได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว และเตรียมเปิดตัว Safe House ในต้นเดือนเมษายนนี้

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

#ข่าว3มิติ 24 ก.พ.2561

https://www.youtube.com/watch?v=om4oh5s0D9E&feature=youtu.be