Skip to main content

 

แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น: ล็อคเป้าเจ้าหน้าที่ ต้านโครงการพาคนกลับบ้าน

 

มารียัม อัฮหมัด
ปัตตานี
 
180221-TH-BRN-1000.jpg
พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสารท ผบ.ทบ. (หมวกเบเรต์ดำ) พูดคุยกับผู้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ที่ กอ.รมน.ภาคสี่ ส่วนหน้า ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561
 อารยา โพธิ์จา/เบนาร์นิวส์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นระดับจังหวัดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันพุธนี้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มระดับความถี่มากขึ้นในเดือนนี้ เนื่องจากขบวนการจงใจทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแสดงการต่อต้านโครงการพาคนกลับบ้าน และสร้างความหวาดกลัวในหมู่สมาชิกขบวนการที่อาจจะคิดออกมาเข้าร่วมโครงการเพื่อขอคืนชีวิตสู่สังคมปกติ

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่สี่ ได้ประกาศรีเซ็ต “โครงการพาคนกลับบ้าน” โดยทำการคัดกรองอดีตผู้ต่อสู้กับรัฐด้วยการใช้อาวุธและแนวร่วมใหม่ จากรายชื่อที่มีอยู่เดิมกว่าสี่พันคน ลงเหลือ 288 คน และยังได้กำหนดขั้นตอนการปรับตัวคืนสู่สังคมอย่างชัดเจน หลังจากนั้น ได้มีกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกขบวนการพูโล รวมทั้งสมาชิกครอบครัวรวม 103 คน ได้มาร่วมโครงการอีกด้วย

นับจากนั้นมามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 34 ราย จากเหตุระเบิด โดยเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจำนวน 22 นาย เป็นประชาชน 7 ราย รวมทั้งเด็กนักเรียนอีก 5 คน อีกส่วนหนึ่ง เป็นการเสียชีวิตจากการถูกยิงเป็นเจ้าหน้าที่ 5 นาย และประชาชน 8 ราย ซึ่งส่วนนี้ ยังไม่ได้สรุปสาเหตุแน่ชัดได้ในทันที

"สมาชิกบีอาร์เอ็นที่ยังมีอยู่ ก็ต้องออกมาอาละวาดก่อเหตุทุกครั้งที่มีโอกาส ทำอะไรได้ก็จะทำ จะเห็นชัดว่าคนของรัฐถูกยิงเยอะขึ้น ทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ทหาร และลูกจ้างในโครงการ พวกนี้ต้องการทำเพื่อให้คนที่อยู่เกิดความกลัวไม่ออกมา" นายอุสมัย (นามสมมุติ) แกนนำขบวนการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

"พวกเขายอมรับว่าเหตุการณ์ตอนนี้ พวกเขาเป็นคนทำ เพราะต้องการตอบโต้เจ้าหน้าที่ ต้องการข่มขู่สมาชิกที่ออกมา ต้องการส่งสัญญานว่ายังมีตัวตน จึงทำให้เหตุการณ์เยอะขึ้น แรงขึ้น" นายอุสมัย กล่าว

นายอุสมัย บอกว่า มีสมาชิกบีอาร์เอ็นระดับล่างบางส่วนมีความไม่พอใจที่แกนนำขบวนการมีสภาพความเป็นอยู่ที่หรูหราในต่างแดน ส่วนกลุ่มตนเองและครอบครัวนั้น ต้องหลบหนีออกจากบ้านหรือประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิต จึงทำให้สมาชิกในขบวนการหลายคนออกมา เพื่อที่ต้องการใช้ชีวิตปกติกับครอบครัว

“ข่าวที่ว่าสมาชิกในขบวนการมีปัญหาเกิดความแตกแยกเป็นเรื่องจริง ไม่ปฏิเสธ เพราะตลอด 10 ปีมานี้ สมาชิกกลุ่มขบวนการในพื้นที่ที่ได้ออกมาใช้ความรุนแรงจนไม่สามารถอยู่บ้านได้ ทำให้ครอบครัวลำบาก เกิดปัญหามากมายสำหรับตัวเขาเองและครอบครัวของพวกเขา ในขณะที่แกนนำอยู่ดีมีความสุข แถมมีเงินใช้ยิ่งกว่าคนรวยคนหนึ่ง” นายอุสมัย กล่าวเพิ่มเติม

นายอุสมัย ยังบอกว่า ในบางครั้งรัฐสามารถตอบโจทย์ชาวบ้านได้และพยายามไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มขึ้น จะมีเพียงการพยายามกดสมาชิกขบวนการพร้อมๆ กัน หลายๆ ทาง รวมทั้งจับกุมตัวสมาชิก เพราะถ้าเป็นสมาชิกจริง ชาวบ้านไม่รู้สึกต่อต้านรัฐ ยกเว้นในกรณีที่มีการทำร้ายร่างกาย ทำให้ขบวนการเสียดุลไปมากในขณะนี้

ด้านพลโทปิยะวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวว่า ทางฝ่ายขบวนการ ย่อมก่อเหตุรุนแรงจนเรื่องเป็นปกติ แต่ฝ่ายรัฐบาลจะใช้มาตรการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหา

"เขาก็ทำไปเรื่อยของเขา เราก็เอากฎหมายมาใช้ ผมอยากอยู่ต่อ เพราอยากทำให้จบภารกิจ... ผมอยากดูแลให้พื้นที่ 14 จังหวัด และ 3 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่เซฟตี้โซนให้ได้ จะมากน้อยอยู่ที่ประชาชนช่วยกัน และโครงการพาคนกลับบ้าน อยากให้พี่น้องกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย เหมือนกับพี่น้องเก่าๆ" พลโทปิยะวัฒน์ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาที่จะดีขึ้นในไม่ช้า

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ผู้ก่อเหตุต้องการแสดงศักยภาพ และต้องการตอบโต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหา เชื่อว่าไม่นานจะดีขึ้น" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.benarnews.org