Skip to main content

“ISLAM ≠ TERRORIST islamophobia กับการยัดเยียดความรุนแรงทางความคิด”

 

            วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ชมรมมุสลิม ร่วมกับ สถาบันฮาลาล และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดงานสวัสดีอิสลาม ครั้งที่ 6 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคาร Sport Complex  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการที่ให้ความรู้ด้านอิสลามในมิติต่างๆ มีงานแสดงภาพถ่ายจากผู้ส่งประกวดภายใต้หัวข้อ "ฉัน...ที่เธอรู้จัก" ที่สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
 
           และมีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง ISLAM ≠ TERRORIST islamophobia การยัดเยียดความรุนแรงทางความคิด” โดย อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต  และ ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยฟาฏอนี โดยมีคุณอุสมาน วาจิ ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
ในภาพอาจจะมี 3 คน, ผู้คนกำลังนั่ง
 
 
Islamophobia หรือ ความหวาดกลัวอิสลาม
 
            อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ กล่าวว่า  Islamophobia เกิดจากคำ 2 คำ คือคำว่า Phobia ที่แปลว่า กลัว กับ Islam ที่แปลว่า ศาสนาอิสลาม ฉะนั้น Islamophobia จึงแปลว่าความหวาดกลัวอิสลาม ซึ่งคำว่าPhobia ต่างจากคำว่า Afraid หรือ Fear ตรงที่ว่าเป็นความกลัวที่มีลักษณะวิตกจริตและไร้เหตุผล  เป็นสภาวะความกลัวทางจิตที่มีต่อคนหรือต่อสังคมนั้น ๆ  ตัวอย่างเช่น ในโลกตะวันตก โดยเฉพาะเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐอเมริกา หรือเหตุการณ์สงครามปากีสถาน สงครามอิรัค ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้คนผิวขาวมีความเกลียดชังอิสลาม และในขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ไม่มีศาสนาในสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการศึกษาและทำความเข้าใจศาสนาอิสลามจนเข้ารับอิสลามมากขึ้น
 
         เมื่อเราพยายามทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าว เราจะพบว่าการเข้าถึงความจริงของคริสตชนนั้นมีญาณวิทยา (Epiststemology) ที่เป็นไปในแนวเดียวกันกับอิสลามมากกว่าพุทธ จึงไม่แปลกที่คริสตชนจะเข้ารับอิสลามมากว่า ซึ่งในมุมมองสังคมศาสตร์มันสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาอิสลามโมโฟเบีย หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกนั้น  ไม่ได้เกิดจากเทววิทยา หลักธรรมคำสอน หรือพระคัมภีร์  แต่ในขณะเดียวกันถ้าดูในเรื่องของปรากฏการณ์ก็จะเกี่ยวข้องกับความเป็นอัตลักษณ์เสียมากกว่า เช่น ข่าวประท้วงต่อต้านการสร้างมัสยิดในจังหวัดขอนแก่น หรือการห้ามเสียงอาซาน ซึ่งเป็นความกลัวว่าชุมชนพุทธจะกลายเป็นชุมชนมุสลิมไปเสียหมด เป็นความกลัวที่ไม่ได้มีการกล่าวว่าเนื้อหาในอัลกุรอ่านเลย แม้ในวงพูดคุยของชาวพุทธเองก็ไม่ได้มีการต่อต้านเรื่องหลักธรรมสอน ซึ่งตรงนี้มันอาจจะสะท้อนให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วความหวาดกลัวที่แท้จริง มันพันอยู่กับความหวาดกลัวอัตลักษณ์ของมุสลิมมากกว่าหรือเปล่า ซึ่งถ้าเช่นนั้นแล้วเราอาจจะเรียกได้ว่ามันเป็น “มุสลิมโมโฟเบีย” มากกว่าที่จะเป็น “อิสลามโมโฟเบีย” หรือไม่
           
 
            องค์ความรู้ในมุมมองทางสังคมศาสตร์ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องดังกล่าวได้ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 
1) มุมมองทางสังคมจิตวิทยา โดยแต่ละที่ก็จะมีรากของความหวาดกลัวมุสลิมแตกต่างออกไป แต่ในโลกตะวันตก เราอาจจะศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือชาติมหาอำนาจอื่นๆ ซึ่งจะพบว่ามีแนวคิดที่คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก ศูนย์กลางของอารยธรรม หรือศูนย์กลางของความเจริญ เป็นแนวคิดที่คิดว่าเผ่าพันธุ์ของตัวเองนั้นมีความสูงส่งกว่าเผ่าพันธุ์อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ภาพเขียนที่มีชื่อว่า “American Progress” เป็นภาพที่เขียนขึ้นในช่วงหลังจากที่อเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษแล้ว และได้ขยายดินแดนไปทางทิศตะวันตกไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ในภาพมีผู้หญิงที่ใส่ชุดสีขาวเหมือนนางฟ้า มีชื่อว่า โคลัมเบีย มีที่มาจากคำว่า โคลัมบัส ซึ่งเป็นชื่อผู้ที่ค้นพบทวีปอเมริกา เป็นนางฟ้าที่ชาวยุโรปเชื่อว่าเป็นเทพีที่คอยปกปักษ์รักษาพวกเขา
 
 
ภาพเขียน American Progress โดย John Gast (1872)
 
 
จากในรูปจะเห็นได้ว่า ทางฝั่งตะวันออกจะเป็นแสงสว่างที่ค่อยๆสว่างไปเรื่อยๆ จนถึงฝั่งตะวันตก โดยฝั่งตะวันตกประกอบไปด้วยรูปฝูงสัตว์ มีกระทิง มีวัวป่า รวมไปถึงบรรดาคนพื้นเมือง ในขณะที่ฝั่งตะวันออกมีผู้ที่วิ่งไล่กวดคนตะวันตกจนพวกเขาต้องวิ่งหนี ทางฝั่งตะวันตกมีรถไฟ มีเสาโทรเลข มีเรือ มีความเจริญ และในมือของนางฟ้าก็จะถือตำราเรียนของพวกสหรัฐอเมริกาในวันที่ก่อตั้งประเทศ ตำราเรียนเป็นสัญลักษณ์ของการศึกษาที่สูงกว่า สายโทรเลข คือสัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์มากกว่า ซึ่งภาพเขียน American Progress เป็นภาพที่สะท้อนถึงความเชื่อหรือคอนเซ็ปตั้งแต่การก่อตั้งประเทศ โดยที่พวกเขาเชื่อว่ามันเป็นโชคชะตาฟ้าลิขิตที่ทำให้พวกเขามีความสูงส่งที่สุดในทวีปและได้เป็นผู้ที่ครอบครองดินแดนอเมริกาเหนือทั้งหมดและปลดปล่อยความเป็นอนารยชนที่มืดดำให้เป็นความสว่างไสวตามการชี้นำของพวกเขา
 
          เมื่อย้อนดูสมัยที่อเมริกาได้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ที่เราเรียกว่า Hamburger Crisis  วิกฤตินี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับเขาอย่างแนบแน่น นั้นก็คือยุโรปตะวันตก ถ้าพูดในทางจิตวิทยาสังคมเมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ ธรรมชาติของมนุษย์ก็พยายามที่จะหาคำตอบจากปัญหาที่มีความซับซ้อน และการหาคำตอบที่ง่ายที่สุด ก็คือการโยนความผิดบาปให้กับคนที่ไม่เหมือนตัวเองและคนที่มาจากที่อื่น กลุ่มคนที่มาแย่งงานทำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศตุรกี แอลจีเรีย อินเดีย และแถบประเทศตะวันออกกลาง มันจึงเกิดกระแสการต่อต้านจากคนในประเทศ และโจมตีรัฐบาลที่เอางบที่พวกเขาคิดว่าสมควรเป็นเงินสวัสดิการ หรือเงินจ้างให้กับคนในประเทศแต่กลับต้องเอาเงินไปให้กลุ่มคนเหล่านั้น
 
  2) มุมมองการเมืองภายในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะแถบทวีปยุโรปตะวันตกและอเมริกา ซึ่งเป็นการเมืองที่เป็น Popular Politics ที่เน้นความนิยมชมชอบของผู้คนโดยไม่นึกถึงเรื่องอื่น เพื่อที่จะชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาล เช่น เหตุการณ์ Paris Attacks ที่ฝรั่งเศส เกิดจากกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่ไร้ที่นั่งในสภาและไร้เสียงข้างมากมายาวนาน ได้ปลุกระดมให้เกิดกระแสต่อต้านอิสลามหรือมุสลิม และกล่าวว่ากลุ่มคนเหล่านี้แหละคือตัวปัญหา ซึ่งกลายเป็นว่าพวกเขาได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น มีที่นั่งในสภาท้องถิ่นมากขึ้น จนกระทั่งผลักดันผู้นำตนเองให้เป็นผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิปดี แต่เขากลับไม่ได้รับการเลือกตั้ง ผิดกับทางฝั่งอเมริกาก็มีการรณรงค์แบบนี้เช่นเดียวกันแต่ก็ได้ผล และโดนัล ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้ง 
 
  สิ่งเหล่านี้เป็นกระแสที่เกี่ยวพันอยู่กับความหวาดกลัวมุสลิมไม่ใช่ความเป็นอิสลาม จากจุดตรงนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีแรงผลักดันในทางบวก จากกรณีที่เกิดกระแสกลุ่มต่อต้านชาวอพยพหรือมุสลิมนั้น ก็ปรากฏว่ามีกลุ่มคนผิวขาวที่เป็นชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งมาเคลื่อนไหว โดยมีความเข้าใจในประเด็นมากขึ้น เกิดการต่อต้านกลุ่มที่มาขับไล่ผู้อพยพหรือชาวมุสลิม และมีแคมเปญรณรงค์ว่า มุสลิมคือเพื่อนของเขา 
 
  จะเห็นได้ว่ากระแสความหวาดกลัวอิสลามที่ผมมองว่าเป็นความหวาดกลัวมุสลิมมากกว่านั้น มันได้เบ่งบานขึ้นในตะวันตกค่อนข้างมาก แต่มันก็เป็นวิกฤติในโอกาส เป็นโอกาสในวิกฤติ อย่างเช่น กรณีที่อิสราเอลได้ประกาศว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง อเมริกาเองก็ถกเถียงเรื่องนี้มานานและเลื่อนการพิจารณาไปเรื่อย ๆ เพราะไม่มีใครกล้าฟันธง จนมาถึงยุคโดนัล ทรัมป์ เขาคิดว่าเขาจะเป็นประธานาธิปดีคนแรกที่คิดจะทำตามคำพูดที่เขาได้ให้เอาไว้ตอนหาเสียง โดยการประกาศว่าจะรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง และจะย้ายสถานทูตอเมริกาไปอยู่ที่นั้น เพื่อเอาใจนายทุนธนาคารและกลุ่มยิวไซออนิสต์ที่เป็นฐานเสียงทางการเมืองของเขา และปรากฏว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ทั่วโลกให้ความสนใจและเห็นใจปาเลสไตน์มากขึ้น เราจะเห็นว่าสหประชาชาติเองก็ไม่ได้รับรองสิ่งที่สหรัฐอเมริกาประกาศ ในขณะที่โลกตะวันตก ประเทศไทยหรือแทบทั้งหมดในเอเชียแปซิฟิกก็มีความเข้าใจที่มาที่ไปมากขึ้น จากที่สงสัยว่าทำไมโลกมุสลิมถึงมีแต่ปัญหา ก็ทำให้พวกเขาได้เข้าถึงเรื่องราวดังกล่าวด้วยความรู้ กลายเป็นความเข้าใจที่เป็นกลาง และเปลี่ยนเป็นแรงสนับสนุนต่อชาวมุสลิมมากยิ่งขึ้น เรื่องราวเหล่านี้ก็ได้สะท้อนถึงแนวทางข้างหน้าว่า อะไรคือภารกิจที่เราควรจะทำร่วมกันต่อไป
 
 
ทำไมเมื่อพูดถึงการก่อการร้าย คนส่วนใหญ่จะนึกถึงมุสลิม ?
 
           อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ กล่าวว่า หากพูดถึงประเด็นนี้ค่อนข้างเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ามันเป็นมายาคติ แต่เราจะต้องมาดูว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเลือกที่จะเชื่อเช่นนั้น ผมไม่มีคำตอบที่ตกผลึกขนาดนั้น แต่หากพูดถึงสาเหตุก็จะมีประเด็นที่ช่วยให้เราเห็นถึงหน้าตาของปัญหานี้มากยิ่งขึ้น ดังนี้
 
1) การก่อการร้ายกระทำแบบฉายเดี่ยว หรือที่เรียกว่า "โลนวูล์ฟ" (lone wolf) การกระทำแบบหมาป่าเดียวดายหรือการกระทำแบบฉายเดี่ยว  ซึ่งเกิดขึ้นมากในโลกตะวัน เมื่อเราย้อนไปดูอดีตในยุคศตวรรษที่ 19 ผู้ก่อการร้ายไม่ใช่มุสลิม แต่เป็นพวกอาณาธิปไตย พวกฝ่ายซ้ายและที่เยอะสุดก็คือ พวก“White Supremacy” ผู้ที่ความเชื่อในความความสูงส่งกว่าของคนผิวขาว และมันไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากความเชื่อ อุดมการณ์หรือศาสนาที่บิดเบือน คนสำคัญที่เขียนเรื่อง LEADERLESS RESISTANCE : การต่อต้านโดยไร้ผู้นำ คือ Joseph Tommasi และก็ถูกเอามาเขียนต่อเป็นตำราที่เรียกว่า Laws for the Lone Wolf : กฎของโลนวูล์ฟ เขียนโดย Tom Metzger จากตรงนี้เราก็จะเห็นว่า ไม่ได้มีแค่มุสลิมที่ลงมือทำแบบนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนอื่นมากกว่า      
 
 2) ประชากรมุสลิม ทั่วโลกมีมุสลิมอยู่ประมาณ 1400 ล้านคน ฉะนั้นถ้าก่อการร้ายเกิดขึ้น 1 % ของ 1400 ล้านคนก็ถือว่าเยอะ ถ้าเทียบศาสนาอื่น ๆ เช่น พุทธ ที่มีอยู่ 100 หรือ 200 ล้านคน มันก็ยังดูน้อยกว่า ฉะนั้นในแง่จำนวนประชากรก็ดูไม่แปลก เช่น ถ้าเราสัญจรไปมาระหว่างประเทศ โอกาสที่จะเจอมุสลิมมากกว่าก็เป็นเรื่องปกติ  
 
3) คำจำกัดความเกี่ยวกับการก่อการร้าย เรามักจะมองว่าการก่อการร้ายเป็นเสมือนลัทธิ เป็นอุดมการณ์ที่สร้างความหวาดกลัวให้คนอื่นอยู่ตลอดเวลา จริง ๆ แล้วการก่อการร้ายก็คือยุทธวิธี เป็นเทคนิคการต่อสู้ทางการเมืองเช่นเดียวกันกับการลอบสังหาร การเลือกตั้ง การชุมนุมประท้วง หรือการต่อสู้ในระบบรัฐสภา ฉะนั้นกลุ่มก่อการร้าย ก็คือกลุ่มทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นกลุ่มทางการเมืองที่เลือกจะต่อสู้ด้วยกลยุทธ์การก่อการร้าย ที่สำคัญเขาไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายบัดสบ หรือน่ากลัวขนาดนั้น โจทย์สำคัญของเราก็คือ ต้องดูว่าทำไมเขาถึงเลือกกลยุทธ์แบบนั้น  
 

Tom Metzger
 
        และอย่างในกรณีที่มีคำกล่าวที่ว่า "มุสลิม" ทุกคน "ไม่ใช่" ผู้ก่อการร้าย แต่ผู้ก่อการร้าย "ทุกคน" เป็นมุสลิม ? นั่นก็เพราะว่าเราไปดูข่าวที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เราไปดูกลุ่มตอลีบัน ไปดูในปากีสถาน อัฟกานิสถาน อีรัค ลิเบีย อียิปต์ คาบสมุทรไซนาย แล้วเราก็มีมายาคติที่ว่า ทำไมโลกมุสลิมถึงเต็มไปด้วยการก่อการร้าย ฉะนั้น เงื่อนไขที่คนเลือกที่จะต่อสู้  มันมีโจทย์บางอย่างที่มีความคับข้องใจทางการเมือง มันมีความอยุติธรรมบางอย่างที่พวกเขาอยากปลีกออกมา หรืออยากกำจัดออกไป ซึ่งเราต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกสถานการณ์ที่เราจะต่อสู้ด้วยวิธีการทางสันติวิธีได้ เช่น เราเจอกับรัฐบาลบางประเทศที่มาขูดรีดกอบโกยทรัพยากรด้วยอำนาจปืนหรือด้วยอำนาจทหาร ถ้าเราเจอคู่ต่อสู้ทางการเมืองแบบนี้ คุณจะต่อสู้ด้วยการใช้วิธีการอดอาหารก็คงจะไม่ได้ อาจจะดูไม่เวิร์คสำหรับความเป็นปุถุชนโดยทั่วไป แต่ในเมื่อมันต้องสู้ก็ต้องเลือกที่จะใช้วิธีอื่น ผมขอหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่ากลุ่มก่อการร้าย แต่ขอเรียกตามที่เขาทำจริงๆคือ “กลุ่มติดอาวุธ” 
         
             กลุ่มติดอาวุธในสายตาคนกลุ่มหนึ่งอาจจะเรียกกว่า กลุ่มก่อการร้าย แต่ในสายตาอีกฝ่ายอาจจะเรียกว่า “กลุ่มผู้ปลดแอก” หรือ “กลุ่มนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ” ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่ม YPG หรือกลุ่มของชาวเคิร์ดในซีเรีย ตุรกีก็มองพวกเขาคือกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังของการก่อเหตุในประเทศเขาหลายต่อหลายครั้ง ตุรกีก็จะเรียกกลุ่ม YPG ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่รวมหัวกับพวกเคิร์ดที่เป็นกลุ่มการเมืองกระทำการก่อการร้าย แต่อเมริกาที่สนับสนุนอาวุธให้กับกลุ่ม YPG สู้กับกลุ่มไอซิส ก็บอกว่า YPG ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้าย ดังนั้นคำนี้เป็นคำที่มีปัญหามาก แต่ถ้าดูจากลักษณะของกลุ่มแล้วเราอาจจะเรียกว่ากลุ่มติดอาวุธ ซึ่งมันเป็นคำเรียกที่ชัดเจนมากกว่า 
 
               สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนอะไร? มันสะท้อนให้เห็นว่าในโลกที่มันมีความอยุติธรรมอยู่เยอะ แล้วคุณต้องต่อสู้หรือจำเป็นต้องมีการต่อสู้ ในหลายๆ ครั้งมันก็หลีกเลี่ยงเรื่องการติดอาวุธไม่ได้ แม้มันจะไม่ถูกต้องก็ตาม หรือแม้แต่การที่อเมริกาเปลี่ยนยุทธศาสตร์เลือกใช้การโจมตีทางอากาศ ซึ่งมันมีข้อเสียที่ว่าไม่สามารถจำกัดพื้นที่ในการทำลายเฉพาะจุดไม่ได้ มันจึงเป็นลักษณะการโจมตีที่กระจาย พอเป็นเช่นนั้นแล้ว เมื่ออเมริกามีการโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มตอลีบันก็จะโดนพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย 
 
----------------------------------------
“สมมุติหนึ่งหลังคาเรือนออกไปเลี้ยงแพะ 
แต่พอกลับมาบ้านก็พบสภาพลูกเมียเสียชีวิตหมดเพราะโดนระเบิด ความโกรธคุณจะไม่มีเชียวหรือ? 
แล้วคุณเองก็ทำอะไรไม่ได้ จะออกมาประท้วงกองทัพอเมริกาก็คงไม่สำเร็จ 
ประเด็นแบบนี้แหละที่ผลักคนไปสู่การก่อการร้ายเสียเยอะ"
----------------------------------------
 
  ผมจะพูดถึงการออกจากปัญหาด้วยความรู้ มีงานวิจัยของ UNDP ได้ไปศึกษา โดยการสัมภาษณ์อดีตกลุ่มผู้ก่อการร้ายในแอฟริกาจำนวน 500 คน ก็มีมาจากหลากหลายกลุ่ม และถามว่าทำไมถึงได้เข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มกระบวนการติดอาวุธ ส่วนใหญ่แล้วตอบว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกทำร้ายจากรัฐบาล และเป็นการตอบโต้การกระทำรัฐบาล 
 
         และมีงานวิจัยที่สัมภาษณ์กลุ่มก่อการร้าย อัล-ซาบับ ที่เคนย่า ก็ได้ผลข้อมูลคล้าย ๆ กันคือ เลือกที่จะเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย ก็เพราะต้องการที่จะต่อต้านนโยบายยุทธศาสตร์การต่อต้านกลุ่มผู้ก่อการร้ายของรัฐบาลเคนย่า โดยรัฐบาลเคนย่าเลือกที่ต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายโดยการวางยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้าย และปรากฏว่าตัวยุทธศาสตร์นี้เองที่ผลักคนให้ก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น เหตุผลต่อมาคือพวกเขามองว่ารัฐบาลนี่แหละที่เป็นศัตรู ซึ่งเหตุผลดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นอิสลามหรือมุสลิมเลย แต่อาศัยการอ้างอิงความชอบธรรมในทางศาสนา เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเสียใจมากเกินไปในการที่จะต้องทำการดังกล่าว และที่น่าสนใจคือ มีคำตอบทางด้านศาสนาเพียง 19-20 % เท่านั้นที่ตอบว่าศาสนาอื่นเป็นปัญหา    นั่นแปลว่าศาสนาเป็นเรื่องรอง และผมคิดว่าโลกที่ไม่ใช่มุสลิมควรนำมาคุยกันด้วยเหตุผลมากยิ่งขึ้น เพราะมันเป็นข้อเท็จจริง
-------------------------------------------------
“เหตุผลส่วนใหญ่ที่คนลุกมาต่อสู้ มันเป็นเรื่องของการถูกกระทำ
และมันรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อการกระทำมาจากสิ่งที่เป็นอื่น เป็นอัตลักษณ์อื่น ศาสนาอื่น
ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ เป็นเรื่องทางการเมือง เป็นเรื่องของความยุติธรรม
และเป็นทางเลือกของคนที่จะต่อสู้อย่างสันติถูกปิดตาย”
------------------------------------------------
 
 
อิสลามโมโฟเบีย กับการก่อการร้าย
 
  ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ กล่าวว่า การก่อการร้ายส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกโยงด้วยศาสนาเลยด้วยลักษณะกิจกรรมที่ทำ แต่ศาสนากลับถูกนำมาอ้างเพื่อเป็นความชอบธรรม แม้กระทั่งผู้ถูกกระทำและลุกมาเพื่อต่อสู้ก็นำศาสนามาอ้างเพื่อความชอบธรรมในการกระทำ สำหรับอิสลามโมโฟเบียที่เกิดขึ้นเราไม่จำเป็นต้องใช้คำว่ารับมือ มันเหมือนกับว่าเราเป็นผู้ถูกกระทำ แต่อยากให้เป็นการรับมือแบบ Proactive คือไม่ว่าเขาจะว่าอย่างไรก็ช่างแต่เราต้องทำต่อไป จงมองโลกในด้านบวกแม้จะดูเหมือนว่าเป็นการมองโลกสวยเกินไป แต่ผมก็ชอบที่จะให้คนมองโลกบวกมากกว่ามองด้านลบ 
 
  หากพูดถึงการก่อการร้าย ในแง่ของรัฐศาสตร์สามารถมองและเข้าใจได้ดังนี้คือ มันจะมี State actor ตัวแสดงที่เป็นรัฐ กับ Non- State actor ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ถ้าเราดู State actor ณ ตอนนี้พูดได้เลยว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศที่เป็นประเทศมุสลิม  และการก่อการร้ายตามคำนิยามของมันก็คือ ผู้ที่สร้างความบั่นทอนความมั่นคงของชาติ ตัวอย่างเช่น คำนิยามของรัฐบาลตุรกีก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า กลุ่มกุเลนเป็นผู้ก่อการร้าย รัฐบาลตุรกีได้นิยามผู้ก่อการร้ายว่า ใครก็ตามเป็นผู้ที่ทำลายความเสถียร ทำลายภาพความมั่นคงของประเทศก็ถือว่าเป็นก่อการร้าย ดังนั้นมันขึ้นอยู่กับว่าประเทศใดจะอธิบายคำว่าก่อการร้ายไว้อย่างไร 
 
  ดังนั้น State actor ที่ทำการสู้รบหรือก่อการร้ายกับผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มของตัวเองก็ไม่ต่างไปจากนาซีล้างเผ่าพันธุ์ยิวในเยอรมนี ซึ่งในมิตินี้เราไม่จำเป็นต้องไปแก้ตัวว่า มุสลิมไม่ได้ฆ่านะ มุสลิมไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายนะ หากผู้กระทำเป็นมุสลิมจริง มันก็คือมุสลิม นรกที่อัลลอฮฺสร้างไว้ก็เพื่อที่จะเก็บคนที่ไม่ดี พระองค์ไม่ได้บอกว่าใครที่เป็นมุสลิมจะไม่เข้านรก ส่วนใครที่ทำดีก็จะมีเงื่อนไขที่จะได้เข้าสวรรค์ ดังนั้นมุสลิมไม่จำเป็นต้องไปปฏิเสธว่าไม่มีมุสลิมคนใดที่ก่อการร้าย บอกไปเลยครับว่ามี แต่ถ้ามีก็มีลักษณะดังนี้ คือ กลุ่มแรกจะมีลักษณะผู้ที่ตั้งใจจะมาเป็นผู้ก่อการร้าย เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง เช่น เพื่อก่อตั้งรัฐแล้วบอกว่าใครก็แล้วแต่ที่ไม่ได้เอาของกฎของอัลลอฮฺมาใช้ เขาผู้นั้นคือข้าศึก อย่างนี้มันก็หนักละครับ เพราะเรามีกฎหมายอิสลามที่ใช้ในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็จริง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นเพียงกฎหมายเรื่องมรดก และกฎหมายเรื่องครอบครัวเท่านั้น ยังไม่มีกฎหมายตัดมือในเมืองไทย ฉะนั้น ผมมองว่าเราไม่จำเป็นต้องไปปฏิเสธว่าไม่มีมุสลิมที่เป็นผู้ก่อการร้าย โดยที่บางคนเป็นผู้ก่อการร้ายโดยการเอาหลักฐานทางศาสนามาอ้างเพื่อหาความชอบธรรม เช่น จะต้องไปตั้งรัฐอิสลามขึ้นมาและเขาก็จะมีฝ่ายตรงข้ามที่เขาไปปฏิบัติการ บางครั้งฝ่ายตรงข้ามกับเขาก็มีทั้งไม่ใช่มุสลิมและเป็นมุสลิม และผู้ที่ถูกกระทำบางทีก็คือมุสลิม คนที่มีความคิดก่อการร้ายในมาเลเซียก็มีที่เข้าร่วมกับกลุ่มไอซิส ฉะนั้น ถ้าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ไปปฏิบัติการกับกลุ่มไอซิส เขาก็อาจจะมาปฏิบัติการในมาเลเซีย เขาก็อาจจะฆ่ามุสลิมในมาเลเซีย เขาคงไม่ไปฆ่าจีนหรือฆ่าอินเดียในมาเลเซีย เขาคงจะต้องฆ่ามหาเธร์ นาจิบ บาดาวี เพราะเขาต้องการสร้างรัฐอิสลามในมาเลเซีย ถามว่ามีไหมครับ มันมีจริง รัฐบาลมาเลเซียเองก็ประกาศชัดเจนว่ามี เด็กหนุ่มสาวที่เรียนในมหาวิทยาลัยที่ไปเข้าร่วมกลุ่มกับไอซิส 
 
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มาจากการถูกกระทำ ยกตัวอย่างเช่น อยุธยากับหงสาวดีก็ยังไม่ยอมกันเลย มีการไปเผาวัดเขา เขาก็เผาวัดคืน ทั้งที่เป็นพุทธด้วยกันในอดีต หากเรานิยามการตีเมืองในอดีตคือการก่อการร้าย เช่น ในอดีตรัฐโยโฮร์มาตีรัฐปาหัง รัฐปาหังก็มาตีปาตานีในอดีต ปาตานีก็เคยมาตีสงขลาในอดีต รัฐเหล่านี้ก็เป็นมุสลิมหมดเลย แล้วก่อนที่จะมาโจมตีกัน ต่างก็ขอพรกับพระเจ้าว่า โอ้ เอกองค์อัลลอฮฺ ขอให้ข้าชนะสงครามด้วยเถิด สงครามกับใครละครับ ก็สงครามกับมุสลิมด้วยกันเองนั้นแหละ พอชนะสงครามก็ขอพรว่า โอ้ อัลลอฮฺ ขอขอบคุณที่ทำให้เราชนะสงคราม สุดท้ายก็ฆ่าแม่ทัพ แม่ทัพที่เป็นมุสลิมด้วยกันเอง 
 
  ผมก็เลยอยากให้มองปรากฏการณ์เหล่านี้ในทางรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การทำสงครามในอดีต สำหรับผมสงครามคืออุบัติเหตุทางการเมืองในอดีตซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเพราะ 1) มีความคิดที่จะมาเป็นใหญ่เป็นโต โดยใช้ศาสนาหรือไม่ใช้ศาสนาก็แล้วแต่ 2) เนื่องจากถูกกระทำ 3) เป็นเอเจนท์ที่รับคำสั่งมาจากข้างนอก ว่าต้องการทำนั้นต้องการทำนี่ ถ้าสมมุติว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศมุสลิมหรือโลกมุสลิม ก็คงเป็นมุสลิมที่ออกข่าวว่าฆ่ามุสลิม หรือฆ่าคนที่ไม่ใช่มุสลิมเพราะพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์เป็นพื้นที่ของมุสลิม หรือเป็นประเทศที่มีมุสลิมอยู่ ผมเคยถูกตั้งคำถามว่าทำไมคุกในสามจังหวัดถึงมีมุสลิมทั้งนั้นเลย ผมก็บอกว่าประชากรที่นี้ 80 % เป็นมุสลิม ผมเลยย้อนให้เขาไปดูคุกแถวชัยภูมิ หรือชัยนาทจะมีมุสลิมสักกี่เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ผมมองว่าอิสลามโมโฟเบียหรือโฟเบียอะไรบางอย่าง มันไม่ได้มีเหตุมีผล ยิ่งถ้าเราเป็นคนวิตกจริตไปด้วยก็กลายเป็นคนมองโลกลบแล้วมันก็จะเครียดมาก 
 
  ยกตัวอย่างเรื่องความรุนแรงของกระแสอิสลามโมโฟเบีย ครั้งก่อนทางมหาวิทยาลัยฟาฏอนีได้จัดงานเกี่ยวกับบทบาทของมหาลัยต่อการสร้างสันติภาพ มีการเสวนาระหว่างสามศาสนาคือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ผมก็ส่งข่าวให้สำนักข่าวที่เป็นภาษาอังกฤษ บอกว่าช่วยลงข่าวนี้หน่อย มันสุดยอดมากเลยที่มหาวิทยาลัยที่เป็นทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ได้มาทำงานร่วมกัน แต่สิ่งที่สำนักข่าวตอบผมมาคือ Sukree, I’m sorry your news isn’t sexy แต่เมื่อตกเย็นของวันเดียวกันประมาณ 4 โมงเย็นก็มีเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้น กลับกลายเป็นว่าข่าวร้ายหรือข่าวระเบิดมัน sexy กว่าข่าวเรื่องดีๆ ผมก็เห็นสำนักข่าวนั้นลงข่าวเรื่องนี้เลย  และข่าวที่จะไปโหมโรงเรื่องอิสลามโมโฟเบียก็คือ การนำอัตลักษณ์ ทางศาสนามาตั้งเป็นหัวข่าว เช่น มุสลิมฆ่าตัดคอ คนพุทธโดนระเบิด เป็นการเอาศาสนามาชูโรง มันไม่ใช่การตั้งหัวข่าวในลักษณะ นาย ก ตัดคอ นาย ข  ตรงนี้มันเลยเพิ่มดีกรีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
 
การก่อการร้ายมันมีทั้งที่เป็น Structural Terrorism หรือการก่อการร้ายโดยโครงสร้าง และบางพื้นที่ก็เป็น Cultural Terrorism การก่อการร้ายที่กลายเป็นวัฒนธรรมของการฆ่าแกงกันไปแล้ว และที่เห็นในข่าวก็จะเป็นการก่อการร้ายแบบ Direct Terrorism ที่คนยิงกัน วางระเบิดกัน โดยปกติแล้วข่าวเหล่านี้ก็จะหมดไป แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ Structural Terrorism ที่มันเป็นการก่อการร้ายโดยโครงสร้าง ที่มีมติให้มีการโจมตีเมืองเมืองหนึ่งผ่านคนในสภา และการโจมตีที่ว่าก็คือกระสุนที่จะไปฆ่าคน ระเบิดที่ทำให้คนตาย แล้วมันยังเป็นมติโดยสภาของประเทศที่เป็นประเทศอารยะ 
 
  แต่สิ่งที่เราทำได้และควรให้ความสำคัญก็คือ การกำหนดตัวเองว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร เราจะต้องสร้างนักศึกษา ต้องสร้างองค์กรหรือหน่วยงาน หรือสร้างเครือข่ายของคนที่คิดดีและคนที่สามารถให้ภาพลักษณ์ที่ดีกว่า และผมก็เชื่อว่าแม้บางครั้งคนที่เคยคิดผิด เขาก็อยากเป็นคนดีสักครั้งหนึ่ง บางครั้ง Terrorism มันก็คือปรากฏการณ์ ไม่ใช่เรื่องหลักการ หลักการจริง ๆ มันจะต้องเป็นสิ่งที่นำพาคนไปสู่ความจริง ความดี และสิ่งที่ถูกต้อง  สำหรับมุสลิมแล้วการไปฆ่าคนโดยเจตนา ผู้นั้นจะไม่ได้เข้าสวรรค์ แม้แต่กลิ่นของสวรรค์ก็จะไม่ได้กลิ่น พวกเขาจึงอาศัยข้ออ้างที่สร้างความชอบขึ้นมา ผมไม่ได้บอกว่ามันถูกหรือผิดแต่มันคือปรากฏการณ์ที่ถูกสร้างขึ้น และผมก็ยังเชื่อมั่นว่าศาสนายังคงเป็นสิ่งที่ถูกส่งมาเพื่อทางออกเพื่อสังคมมนุษยชาติ 
 
 
 
Islamophobia ในประเทศไทย
 
  ผศ.ดร.สุกรี กล่าวว่า ในสามจังหวัด ในภาคใต้หรือในประเทศไทย มันมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายพุทธและมุสลิม คุณเคยได้ยินไหมเวลาที่พระเดินมาแล้วให้ถุยน้ำลาย แล้วเชื่อว่ามันไม่บาป สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่โฟเบียแต่เป็น reaction จากโฟเบีย มันเป็นความรู้สึกกลัวและถูกพัฒนามาเป็น reaction  ในอดีตเราจะแยกหน้าตากันไม่ออกว่าใครเป็นพุทธใครเป็นมุสลิม แต่สิ่งที่แยกออกคือการแสดงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นพุทธกับมุสลิม ใครเข้าวัดก็คือพุทธ ใครเข้ามัสยิดก็คือมุสลิม 
 
  ไม่ใช่มีแค่พุทธเท่านั้นที่ขยาดมุสลิม แต่มุสลิมเองก็ขยาดพุทธ เพราะต่างคนต่างอยู่บนพื้นฐานของความไม่รู้ ถามว่ามัสยิดกรือเซะปัจจุบันมีอายุเท่าไร บางคนบอกว่ามีอายุ 400 – 500 ปีแล้ว ซึ่งมันผ่านมาไม่รู้กี่ชั่วอายุคน หากเราย้อนกลับไปในอดีต เราอาจจะพบว่าทวดเราชื่อแมเราะห์ ฮียา บีรู เพราะตอนนั้นทวดของทวดเราอาจไม่ใช่มุสลิม ตอนนั้นอาจจะนั่งกินหมูด้วยกันมาก่อน พอเวลาผ่านไปบางส่วนก็กลายเป็นมุสลิม จากที่เคยกินหมูก็ไม่กินหมูแล้ว และบางครอบครัวก็มีพี่เป็นพุทธ น้องเป็นมุสลิม ต่อมาก็แยกบ้านกันไปจนกลายเป็นชุมชนมุสลิม ชุมชนพุทธ 
 
  มุสลิมเองก็มีสภาวะหวาดกลัวเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การสร้างพุทธมณฑลปัตตานี ชุมชนมุสลิมในปัตตานีก็ไม่เห็นด้วย ปรากฏการณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้นมาเพื่อให้เราต้องมาคุยเพื่อหาทางออกกัน ถ้าเกิดปัญหาแล้วเราไม่คุยกัน ต่อให้ผ่านไปอีก 10 ปี หรือ 20 ปี ข้างหน้า มันก็จะเป็นปมที่ถูกขุดขึ้นมาให้ทะเลาะกันอีก บางทีเราอาจนำเคสที่ตำบลทรายขาวที่เป็นชุมชนพุทธมุสลิมมาคุยกัน  เอาเจ้าอาวาสและโต๊ะอีหม่ามมาคุยกัน ถ้าจะสร้างวัด สร้างมัสยิด ก็มาคุยร่วมกันว่าจะสร้างได้ไหมในชุมชน ถ้าสร้างมัสยิดในจังหวัดที่ไม่มีมุสลิมเลยมันจะเหมาะไหม ถ้าสร้างวัดในชุมชนที่ไม่มีพุทธเลยมันจะเหมาะไหม ให้มีกระบวนการพูดคุยก่อนการก่อสร้างวัดหรือมัสยิด หากจะให้ชาวบ้านคุยกันมันอาจจะยาก เราก็ให้บรรดาอาจารย์มาชวนคุยเพราะมีเนื้อหา มีทักษะ มีภาษาที่จะมาคุยกัน ผมเชื่อว่ามันจะต้องมีเรื่องสองเรื่องที่เราสามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้
 
     และเมื่อใดก็แล้วแต่ที่เราอยากเป็น Agent of Change ระหว่างคนเห็นต่าง เราจะต้องฝึกทักษะและอาศัยประสบการณ์พอสมควร ทุกอย่างล้วนต้องใช้วิธีการ แม้ว่าจะเป็นการเริ่มประโยคพูดคุย เราก็จะต้องรู้ว่าจะคุยอย่างไร จะต้องทักทายแบบไหนหากต้องมาคุยกับคนที่ไม่เคยคุยกันเลย ซึ่งตรงนี้เราจะต้องมีกิจกรรมที่พัฒนาทักษะของการการเผชิญหน้ากับคนที่เห็นต่างไปจากเรา เพื่อที่จะหาทางออกในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย และเมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะต้องสร้างคนคิดบวก และสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ คือ 1) เรื่องขององค์ความรู้ ส่งเสริมเรื่องพุทธิพิสัย จิตพิสัย ทักษะพิสัยให้มากขึ้น เปิดให้มีการเรียนรู้เรื่องอิสลามโมโฟเบีย ควรให้นักศึกษาในมหาลัยเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ โดยการเอานักศึกษาไปเรียนกับอาจารย์ที่ไม่ใช่มุสลิมข้างนอกมหาวิทยาลัย และเอาอาจารย์ข้างนอกไปสอนข้างใน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสเป็นศิษย์ของครูที่ไม่ใช่มุสลิม และให้โอกาสครูที่ไม่ใช่มุสลิมได้มีโอกาสสอนศิษย์ที่เป็นมุสลิม 2) เรื่องของทักษะในการเป็น Agent of Change และ 3) เรื่องของหัวใจ ความรู้สึกที่ดี และเชื่อมั่นว่ายังไงก็แล้วแต่มันจะต้องมีทางออก
 
 
 
เราจะก้าวข้ามความโฟเบียได้อย่างไร
 
  อาจารย์อาทิตย์ กล่าวว่า  ในสังคมไทยอาจจะดูเหมือนว่ากระแสความหวาดกลัวมี 2 ระดับชั้นด้วยกัน หรือมันอาจจะมีมากกว่านั้น ระดับแรก คือ ระดับชั้นผิว ระดับนี้มีความผูกพันอย่างมากในความขัดแย้งที่ปาตานี ประเด็นแรก คือ เรื่องข่าวและสื่อที่นำเสนออกไป เราจะเห็นในเรื่องการใช้คำ คำที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์คน ที่ไม่ใช่แค่อัตลักษณ์คนๆเดียวแต่เป็นของทั้งชุมชน ทั้งจังหวัดหรือหลายจังหวัด ยกตัวอย่างเช่น เวลาผมมาปัตตานีคนก็จะถามว่าไม่กลัวหรอ มันมีคำถามมาตลอด คนนอกพื้นที่ก็จะมองว่าสามจังหวัดเป็นดินแดนลึกลับ ดินแดนอาถรรพ์ เป็นภาพที่น่ากลัวในสายตาของพวกเขา ประเด็นที่สอง ทหารจากนอกพื้นที่ที่มาปฏิบัติภารกิจที่ปัตตานี เวลาที่ทหารโดนระเบิด ศพก็ถูกพากลับไปที่บ้าน เรื่องราวความหวาดกลัวก็ถูกขยายให้ยิ่งน่ากลัวยิ่งขึ้น เพราะคนเป็นแม่หรือภรรยาของนายทหารก็ไม่ได้รู้เรื่องราวต่าง ๆ ในพื้นที่ รับรู้แต่เพียงจากข่าว มันจึงกลายเป็นภาพความน่ากลัว ความเกลียดกลัวอิสลามก็ถูกจับต้องได้มากยิ่งขึ้น  
ระดับที่ 2 ระดับที่ลึกลงไป ในสังคมไทยไม่ได้กลัวแค่มุสลิมหรืออิสลามแต่กลัวในสิ่งที่ไม่เหมือนเขา เหมือนเป็นความวิตกจริต จริง ๆ แล้วคนไทยเข้ารับศาสนาคริสต์มากกว่าอิสลาม แต่ชาวคริสต์มีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทยมากกว่าทางฝั่งของมุสลิม เพราะมุสลิมมีระเบียบกติกาในการใช้ชีวิตที่ชัดเจนในตัวของมัน สิ่งนี่ไม่ใช่ความผิดของสังคม แต่สังคมไทยถูกหลอมมาแบบนี้ทั้งจากตำรา จากละครหลังข่าว ทำให้เกิดความเป็นชาตินิยมอย่างปกป้องอัตลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์ของไทยแท้ๆ ไทยตามตำราที่แม้แต่คนไทยเองก็เป็นไม่ได้  
 
  สมัยก่อนความหวาดกลัวแบบนี้ใช่ว่าจะไม่มี แม้แต่คนจีนก็เคยถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม โรงเรียนสอนภาษาจีนก็เคยถูกสั่งปิด มันก็เป็นเช่นนั้นจนกระทั่งคนจีนปรับตัวเข้ากับคนไทยมากที่สุด เมื่อทุนนิยมศักดินาเข้าสู่อำนาจรัฐ ความเป็นจีนก็ถูกกลืนไป มันจึงไม่ใช่สิ่งที่แปลกปลอมไปแล้วสำหรับคนไทย ทั้งๆที่ความเป็นจีนไม่ได้มีอัตลักษณ์น้อยไปกว่าชาวมุสลิมในประเทศไทยเลย ในทางจิตวิทยาสังคมคนไทยจะหวาดกลัวต่อสิ่งที่ไม่เป็นไทย ทั้ง ๆ ที่เราเองก็ยังไม่เป็นไทย สิ่งที่รับประกันความเป็นไทยวิธีการที่ง่ายที่สุด ก็คือการไปสำรวจว่าอะไรที่ต่างไปจากเรา ไปตัดสิน ไปตรวจสอบเขา ไปเป็นตำรวจศีลธรรม
 
  ผมคิดว่าตรงนี้แหละที่ควรหาทางแก้ไขให้มากที่สุดผ่านการศึกษาแบบใหม่ ประวัติศาสตร์ที่เราเคยเรียนจากตำราประวัติศาสตร์ไทยเหมือนเป็นอะไรที่ไท้ไทย เหมือนกับว่าเราเป็นชาติเดียวที่มีความเป็นอัตลักษณ์ที่เด่นชัดจับต้องได้เพียงชาติเดียว ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วมีเมืองโบราณหลาย ๆ อาณาจักร รวมถึงปาตานี อยุธยา ล้วนถูกสร้างให้มีความมั่งคั่ง เข้มแข็งและมีความเติบโตได้จากผู้คนหลากชาติพันธุ์ หลากศาสนามาร่วมมือกัน  ล้านนาก็เช่นกัน ที่เกิดขึ้นบนเส้นทางการค้าฝั่งพม่าถึงอ่าวเบงกองอินเดียไปจนถึงประเทศจีน แต่ประวัติศาสตร์ไทยกลับพูดแค่เรื่องการปกป้องบ้านเมือง การรบราฆ่าฟัน 
แม้กระทั้งตำราประวัติศาสตร์ก็ควรที่จะต้องเขียนใหม่ และสะท้อนให้คนเรียนเห็นว่ามีคนตัวเล็กตัวน้อยอีกมากที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้บ้านเมืองมีความเจริญ มั่งคั่งหรือสะท้อนการอยู่ร่วมกันโดยไม่มีความเป็นศัตรู เพราะที่ผ่านมาในอดีตเป็นการสู้รบระหว่างศูนย์กลางหรือรัฐบาลในสมัยนั้น แต่ในชีวิตผู้คนปกติก็มีการทำมาค้าขายระหว่างกัน แต่สินค้าอาจแพงขึ้นเพราะอยู่ในภาวะสงคราม ผมคิดว่ามันคือสิ่งที่ต้องวางรากฐานใหม่ของการศึกษาในสังคม ขยับขยายความเป็นไทยความเป็นชาติให้มันสมจริงมากขึ้น 
 

 
 
พลังบวกของคนรุ่นใหม่ จะช่วยเปลี่ยนแปลงความหวาดกลัวได้
 
  ผศ.ดร.สุกรี กล่าวว่า ผมเชื่อในพลังบวกของคนรุ่นใหม่ ช่วงที่เป็นวัยรุ่นคือช่วงอายุ 25 ปี มันเป็นช่วงเที่ยงวันของอายุ  หากเราไปดูการออกแบบของพระเจ้าต่อการสร้างศาสดาหนึ่งคน 40 ปี ที่พระเจ้าได้เตรียมศาสดาให้มีความเข้มแข็ง จากเวลา 40 ปี แบ่งเป็น 13 ปี ที่เป็นปีแห่งการเผชิญหน้ากับอิสลามโมโพเบียในเมกกะห์ จนต้องอพยพไปอยู่มาดีนะห์เป็นเวลา 10 ปี การเกิดขึ้นของเรื่องราวในช่วงศาสดาเป็นบทเรียนที่ดีมาก และให้เราลองมาดูว่าสิ่งที่เราเผชิญหน้าในปัจจุบัน ในสังคมที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยว Islamic Terrorism หรือมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องที่บางครั้งเราเองไม่ใช่ผู้กระทำ แต่กลับถูกมองว่าเป็นผู้กระทำหรือกลายเป็นจำเลยในสังคม เราลองย้อนไปดูท่านนบีก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ไอดอลของท่านคือคัมภีร์อัลกุรอ่าน ท่านเกิดได้ไม่นานแม่ของท่านก็เสียชีวิต และท่านก็ได้ไปอยู่กับคุณปู่แต่พระเจ้าไม่ให้อยู่กับคุณปู่นาน เพราะคุณปู่เป็นผู้นำเผ่า กลัวว่าจะมีความเป็นอาหรับจ๋า แต่วิธีคิดของศาสดาทั้งหมดก็คืออัลกุรอ่าน ฉะนั้น ให้เราไปศึกษาคัมภีร์อัลกุรอ่านว่า อัลลออฮฺได้สร้างนบีไว้อย่างไรบ้าง เพราะอัคล้าคของท่านนบีทั้งหมดก็คือสิ่งที่ได้จากอัลกุรอ่าน แม้แต่โมเดลของเมืองมาดีนะห์ เขตเมืองที่ท่านนบีเคยบริหารเคยปกครองก็ใช้คำสั่งคำสอนจากอัลกุรอ่าน มีสนธิสัญญา มีชาวยิว ชาวคริสต์ เลือกที่จะอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ทั้ง ๆ สามารถเลือกที่จะอยู่ที่อื่นได้ เป็นเพราะโมเดลที่ท่านนบีได้สร้างขึ้นมา 
 
  เราทุกคนสามารถช่วยเหลือประเทศไทยได้ โดยการพัฒนาจุดแข็งในเรื่องของภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษามลายูหรือภาษาอาหรับเพื่อทำธุรกิจระหว่างประเทศ ถ้าเราสื่อสารกับคนในอาเซียนที่มีอยู่ประมาณ 300 กว่าล้านคนได้ และเราก็ผลิตอะไรก็แล้วแต่ที่สามารถทำมาค้าขายร่วมกันได้ เราก็จะนำมาซึ่งโอกาสให้กับประเทศไทยได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือจุดแข็งที่จะทำให้คนไทยทั่วประเทศมองว่า การมีมุสลิมอยู่ในประเทศไทยนั้นทำให้สังคมไทยสูงขึ้น และการมีมุสลิมอยู่ในประเทศไทยนั้นไม่ได้ทำให้สังคมไทยตกต่ำลง เป้าหมายของมันก็คือสังคมที่มีความฏอยยีบัน คือ การทำให้บ้านเมืองที่เราอาศัยอยู่มีความดีในด้านต่างๆ ด้านอาหารการกินที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี หากมุสลิมเราเป็นคนที่ดีสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศชาติได้ นั่นก็ถือว่าคนคนนั้นได้ปฏิบัติตามภารกิจของความเป็นมุสลิมที่ระบุไว้ในอัลกุรอ่านแล้ว
 

 
ถอดการเสวนาโดย : มุลยานา ดะอุแม สถาบันสันติศึกษา