Skip to main content

 

วันนักข่าว: ประชาชนหวังสื่อพูดและค้นหาความจริงแทนชาวบ้าน

 

นนทรัฐ ไผ่เจริญ 
กรุงเทพฯ
 
    180305-TH-media-620.jpg
    สื่อมวลชนรายงานข่าวจากหน้าวัดพระธรรมกาย ขณะเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นำหมายค้นจากศาลอาญา มาปฏิบัติการตรวจค้นวัด เพื่อหาตัวพระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี วันที่ 16 มิถุนายน 2559
    วิลาวรรณ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    เนื่องในวันนักข่าว หรือวันสถาปนาสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ในวันนี้ ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านเบนาร์นิวส์ว่า พวกเขาคาดหวังให้สื่อมวลชนในไทยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนชาวบ้าน และเป็นตัวแทนของการค้นหาความจริงเรื่องต่างๆ ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ในขณะที่องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อ กล่าวว่า เสรีภาพการแสดงออกถูกจำกัด และสื่อมวลชนบางส่วนถูกนายทุนใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

    เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2498 นักข่าวไทย 15 คน ร่วมกันก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยขึ้น และกำหนดให้วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ เพื่อนัดพบปะสังสรรค์กันระหว่างนักข่าว และในยุคเริ่มต้นทุกวันที่ 6 มีนาคม จะไม่มีหนังสือพิมพ์ออกวางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดนักข่าว อย่างไรก็ตามประเพณีดังกล่าวถูกยกเลิก เนื่องจากความต้องการเสพสื่อของประชาชนที่มากขึ้น ภายหลังแม้ว่าสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” แต่ยังคงให้วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี เป็นวันนักข่าวเช่นเดิม

    นางกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ จากองค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน สถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทยยังคงย่ำแย่ โดยเฉพาะการถูกควบคุมจากรัฐ อย่างไรก็ตาม ตัวสื่อมวลชนเองก็จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่

    “เท่าที่ประเมินสถานการณ์สื่อมวลชนในประเทศไทยรอบปีที่ผ่านมา ถือว่า สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารถือว่าตกต่ำ และถดถอยมาก เกิดบรรยากาศความกลัว ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของสาธารณะ ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ คสช. เข้ามามีการใช้กฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ เพื่อควบคุมเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน โดยอ้างความสงบเรียบร้อย” นางกุลชาดากล่าว

    “สภาพธุรกิจสื่อเกิดการขาดทุน จากเทคโนโลยี ทำให้เกิดวิธีการรับข้อมูลข่าวสารแบบใหม่ เกิดความหลากหลายในการแข่งขันทางช่องทางการนำเสนอข่าว แต่ไม่ได้แข่งขันเรื่องคุณภาพเนื้อหา เกิดกลุ่มทุนที่ใช้สื่อไปสนับสนุนตัวเอง ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง มองว่า สื่อต้องปรับตัวเพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชน ในการทำหน้าที่ สื่อต้องรวมตัวกันให้ได้ และยึดโยงเอาผลประโยชน์ร่วม และลดผลประโยชน์ขององค์กร” นางกุลชาดากล่าวเพิ่มเติม

    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ ในเดือนพฤษภาคม 2560 ว่า แม้รัฐบาล และคสช. จะถูกสื่อมวลชนกล่าวหาว่า จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่ยืนยันว่า รัฐบาลเพียงต้องการที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศ

    “ที่ผ่านมา มีสื่อมวลชนบางสำนักตีความผลงาน คสช. ไปในแง่ลบ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีรัฐบาล ต้องชี้แจงว่า คสช. และรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และวางแผนให้รัฐบาลที่จะเข้ามาในอนาคตปกครองด้วยหลักธรรมาภิบาล รักษากติกาทางการคลัง และป้องกันให้เกิดการทุจริตได้ยาก” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

    “ต้องการให้สื่อเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน ตามข่าวสำคัญๆ แบบเกาะติด กัดไม่ปล่อยในประเด็นที่สังคมสนใจ เช่น กรณีล่าเสือดำ เมื่อประชาชนสนใจ นักข่าวทำหน้าที่ต่อเนื่องกัดไม่ปล่อย ก็ทำให้กระบวนการทางกฎหมายยังคงดำเนินไป ซึ่งถ้าหากนักข่าวเลิกนำเสนอข่าว กรณีนี้อาจจะเงียบไป และคนทำผิดอาจลอยนวลก็ได้” น.ส.ขวัญข้าว พลเพชร เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ชาวกรุงเทพฯ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    ด้าน นายนววิช นวชีวินมัย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มองว่า สื่อมวลชนควรแข่งขันกันที่คุณภาพของเนื้อหาข่าว มากกว่าที่จะเน้นเรื่องความรวดเร็วในการนำเสนอข่าว

    “ในยุคอินเทอร์เน็ต สื่อบางสำนักใช้ความรวดเร็ว และความตื่นเต้นเข้ามาแข่งขันกัน ทำให้บางครั้งข้อมูลผิดพลาด หรือบางครั้ง พยายามพาดหัวข่าวให้คนสนใจ แต่พาดหัวกลับไม่สอดคล้องกับเนื้อหา สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่สื่อยุคใหม่ต้องปรับปรุงตัว ให้มีทั้งความรวดเร็วและถูกต้อง เป็นที่พึ่งพิงทางข้อมูลให้กับประชาชน” นายนววิชกล่าว

    “สังคมยังต้องการสื่อที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน เพราะบางครั้งภาครัฐทำงานช้าและซับซ้อน ประชาชนอาจเข้าไม่ถึงบริการ หรือไม่ได้รับความสะดวกจากรัฐ การที่สื่อนำเสนอข่าวก็ทำให้ปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไข หรือปรับปรุงไปในทิศทางที่ดี” นายนววิชกล่าวเพิ่มเติม

    น.ส.ขวัญข้าวกล่าวอีกว่า สิ่งที่สื่อควรคำนึงถึงเป็นสำคัญในการนำเสนอข่าวคือ การไม่นำเสนอหรือทำข่าวที่ละเมิดสิทธิ์ หรือล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชน และแหล่งข่าว

    “อยากให้สื่อพัฒนาเรื่องสิทธิ์ การละเมิดความเป็นส่วนตัว คำนึงถึงสิ่งนี้เป็นสำคัญ เพราะเห็นว่า บางกรณีที่ผ่านมา สื่อพยายามทำข่าว แต่ในอีกมุมหนึ่งก็กลายเป็นละเมิดประชาชน การนำเสนอภาพผู้เสียหายอาจต้องมีการเบลอหน้า หรือการล่วงล้ำเข้าไปทำข่าวในที่ส่วนบุคคลอาจต้องขออนุญาต หรือเลือกที่จะไม่ทำ” น.ส.ขวัญข้าวกล่าว

    ในวันเดียวกัน นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวในวันครบรอบ 63 ปี การสถาปนาสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยว่า แม้สภาพภูมิทัศน์ของธุรกิจสื่อในยุคปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงจากในอดีต แต่ยังยืนยันว่า สื่อมวลชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำหน้าที่บนความถูกต้อง และเป็นที่พึ่งของประชาชน

    “แม้สภาพภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และผู้ประกอบการสื่อมวลชนได้รับผลกระทบทุกแขนง ... แต่สื่อมืออาชีพในภูมิทัศน์ใหม่ ต้องเป็นหลักในยุคข้อมูลข่าวสารที่ไหลทะลัก เพื่อให้ประชาชน สังคม ได้รับข่าวสารอย่างถูกต้อง รอบด้าน” นายปราเมศกล่าว

    “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่เคยหยุดนิ่ง ยังยืนหยัดต่อสู้ปกป้องเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชน ให้ความสำคัญ ดำเนินการการปฏิรูปมาโดยตลอดในมิติต่างๆ ไม่เคยหยุดนิ่งในการสร้าง นักข่าวมืออาชีพ และมีความมุ่งมั่นในการสร้างมาตรฐานของวิชาชีพสื่อมวลชนจริยธรรมของสื่อมวลชนไม่เคยเปลี่ยนแปลง” นายปราเมศกล่าวเพิ่มเติม

    โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่า มีผู้ถูกเรียกรายงานตัว หรือมีเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 1,319 ราย ถูกจับกุมอย่างน้อย 597 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 82 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น อย่างน้อย 64 คน และมีกิจกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง ซึ่งสถิตินี้ เป็นการรวบรวมถึงวันที่ 30 กันยายน 2560

     

    เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.benarnews.org