Skip to main content

 

                ทุกเซนติเมตร ทุกตารางเมตร ก่อตัวกันเพื่อเป็นบ้านหนึ่งหลัง โดยเมื่อบ้านหนึ่งหลังมีผู้คนอาศัยจึงกลายเป็นหนึ่งครัวเรือน สองครัวเรือน สามครัวเรือน  และ เมื่อประกอบกันหลายๆครัวเรือนกลายเป็นหมู่บ้าน ตำบล และกลายเป็นอำเภอ จนรวมตัวกันเป็นจังหวัดในที่สุด ซึ่งทุกส่วนที่รวมกันมันเป็นรวมกันของเรื่องราว เมื่อเรื่องราวเหล่านั้นกลายเป็นอดีต ย่อมทำให้คนในปัจจุบันต้องการที่จะศึกษาถึงประวัติศาสตร์เหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า ประวัติศาสตร์บางเรื่อง มีทั้งให้ข้อคิด คติสอนใจ หรือประวัติศาสตร์บางอย่างทิ้งบทเรียนให้คนรุ่นหลังได้จดจำ และใคร่ครวญเพื่อไม่ให้มันเกิดซ้ำรอยเดิมเหมือนในอดีต  

          เช่นเดียวกันประวัติศาสตร์ในชุมชนรามันห์ที่ทิ้งเรื่องราว ข้อคิด คติสอนใจ และ บทเรียนให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้ชีวิต หรือ ไม่ควรให้เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมในอดีต แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ในอดีตย่อมมีคุณค่าให้ได้เรียนรู้ นั้นแสดงว่าทุกเรื่องราวในอดีตนั้น ยังคงมีชีวิตโลดแล่นให้คนในปัจจุบันได้คำนึง และ ระลึกถึงเสมอ

          เยาวชน Hakam โรงเรียนรามันห์ศิริวิทย์ก็เช่นเดียวกัน ต้องการที่จะศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอำเภอรามันห์ของตนเอง ซึ่งในอำเภอรามันห์มีเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ในสมัยครั้นที่แบ่งเป็นเจ็ดหัวเมืองของไทย  อีกทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นจากคนในอดีตที่ฝากความรู้ให้อยู่คู่กับชุมชนเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็น การผลิตเครื่องประดับ ชุดแต่งกาย ชุดเครื่องครัว หรือแม้กระทั่งวิธีทำมหากิน เป็นต้น ล้วนมีคุณค่าให้กับคนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก รวมถึงวัฒนธรรม ประเพณีที่มาพร้อมกับความเชื่อในอดีต ซึ่งปัจจุบันอาจจะหลงเหลือให้เห็นได้ไม่กี่อย่างแล้ว  แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวของประเพณี หรือวัฒนธรรมในสมัยอดีตยังคงเป็นข้อมูลที่มีความหมายให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อไป

เยาวชนโรงเรียนรามันห์ศิริวิทย์ ได้ลงชุมชน ใช้ในระยะเวลา เพียง 2 วัน ในการศึกษาเฉพาะบางสถานที่ในอำเภอรามันห์ ซึ่งอันที่จริงแล้วสถานที่ประวัติศาสตร์ในอำเภอรามันห์มีอยู่หลายสถานที่ให้ได้ศึกษา แต่เนื่องด้วยระยะเวลาในการศึกษาสำหรับเยาวชนมีจำกัดเลยศึกษาเพียงบางสถานที่เท่านั้น  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นได้รวบรวมคำอธิบายประวัติศาสตร์ของแต่ละสถานที่ที่ได้ลงไปศึกษา โดยได้ข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ในการนำการเดินทางเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ถึงสถานที่จริงในครั้งนี้

        

 

 

หินสถาปนาช้างต้น

หินสถาปนาช้างต้น เป็นหินที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมในการสถาปนาเจ้าเมือง โดยวิธีการคือ นำช้างต้นไปอาบน้ำในลำคลอง เมื่ออาบน้ำช้างเสร็จ จะต้องแต่งองค์ทรงเครื่อง ให้กับช้างต้นเพื่อให้มีความสวยงามและสง่างาม หลังจากนั้นให้ ลากช้างไปเหยียบบนหินที่เตรียมไว้พร้อมยกงวงขึ้นหนึ่งครั้งพร้อมมีเจ้าเมืองนั่งบนช้างต้นตัวนั้น

หินธรณีใช้ในการสถาปนาเจ้าเมือง

หลังจากที่เจ้าเมืองลงจากช้างต้น เจ้าเมืองจะขึ้นเหยียบบนแท่นหินธรณีและสาบานตนในการเป็นเจ้าเมือง แล้วชักกริชออกมาจูบหนึ่งครั้งเป็นอันเสร็จพิธี

สุสานเจ้าเมืองอาเตะห์

บริเวณกุโบร์ในปัจจุบัน เคยเป็นพื้นที่ของเจ้าเมืองอาเตะห์ในสมัยก่อน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องห้าม โดยจะมีสัญลักษณ์ของต้นไผ่หนาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเขตนั้นเป็นเขตพื้นที่ของเจ้าเมือง  อีกทั้งในบริเวณสุสานจะมีเพียงหลุมฝั่งศพของเชื้อพระวงศ์  รวมถึงเชื้อพระวงศ์ที่เป็นชาวเตอเกีย หรือ ชาวตุรกี

สุสานเจ้าเมืองดารุลรามันห์ หรือ ต่วนมาโซ

ต่วนมาโซได้ปกครองเป็นเจ้าเมืองโดยการเสนอชื่อจากชาวบ้าน ในสมัยแบ่ง 7 หัวเมือง ซึ่งในสมัยที่ต่วนมาโซปกครอง ต่วนมาโซนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งขณะที่ต่วนมาโซสถาปนาเป็นเจ้าเมือง ท่านจะใช้กริซที่เป็นหัวของนก แทน การใช้กริชที่เป็นหัวของยักษ์ โดยหัวกริซหัวนกมีความหมายโดยนัยว่า เน้นการปกครองเพื่อส่วนร่วม แทนการปกครองที่ให้เจ้าเมืองเป็นสมมุติเทพ

 

สุสาน โตะปาแย

สุสานใดที่มีคำว่า โตะปาแย หมายถึง ประวัติการเสียชีวิตของผู้ตายนั้นมีเรื่องราวเล่าขานยาวนาน (Cerita dia sangat panjang) จึงตั้งเป็น สุสานโตะปาแย และในส่วนของสุสานโตะปาแยที่รามันห์คือ สุสานโตะปาแนบือซี หรือ ช่างตีเหล็ก มีเรื่องเล่าว่า การเสียชีวิตของโตะปาแนบือซี เกิดจากความเข้าใจผิด และถูกการใส่ร้ายป้ายสี แล้วโดนประหาร โดยการประหารโตะปาแนบือซีจะประหารออกเป็นสองท่อน คือ ช่วงล่าง กับ ช่วงบนให้ขาดแยกออกจากกัน ปัจจุบันหลุมฝั่งศพของโตะปาแนบือซี มีสองหลุมฝั่งศพ ช่วงบนจะฝังไว้ที่ ดินแดนประหารคืออยู่ในตำบลอาติห์ในปัจจุบัน และ ช่วงล่างได้ฝังไว้ที่ หลังมัสยิดตักวาละแอ  ซึ่งการประหารชีวิตของโตะปาแนบือซี เป็นการประหารที่ตัวเขาเองเป็นผู้เสนอ

บ้านดาโต๊ะมูลียอ

บ้านดาโต๊ะมูลียอและบ้านเครือญาติอีก 2 หลังบริเวณเดียวกัน เป็นบ้านรุ่นแรกที่สร้างขึ้น บนถนนบายพาส หมู่2 ตำบลโกตาบารู จากการที่ได้เวนคืนบ้านที่อยู่เดิมและที่ดินต้นทางให้กับกรมทางหลวง เพื่อตัดถนนสายโกตาบารู –รามัน ทางหลวงหมายเลข 4066 เมื่อปี พ.ศ.2545 สมัยที่ ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

บ้านหลังนี้ได้ปักเสาเอก (Tiang seri) เมื่อปี 2547 เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ใหม่ๆ ในเนื้อที่ 2 ไร่เศษ เดิมเป็นดินแปลงนาของต่วนจรือนิห์ ธิดาต่วนลือเบะห์ เจ้าเมืองรามันห์ยุค 7 หัวเมืองลาบู (พ.ศ. 2442-2445) และเป็นภรรยาของหลวงศรีราชบดินทร์(ต่วนหมัด ลงซัน) ผู้ช่วยราชการเมืองรามันห์ อำเภอโกตาบารู(พ.ศ. 2474-2479) ซึ่งเป็นบุตรชายของพระยารัตนภักดี(ต่วนบาลาแลยาวอ ลงซัน) เจ้าเมืองโกตาบารู-รามันห์คนสุดท้าย ต่อมาที่ดินนี้ได้ตกทอดยัง นางประมุข ลงซัน มารดาท่านต่วนอับดุลเลาะ ดาโต๊ะมูลียอ อดีตวุฒิสมาชิกจังหวัดยะลา (พ.ศ.2549 และ 2551-2557) เจ้าของบ้านปัจจุบัน

ตัวบ้านเป็นอาคารชั้นเดียวรูปแบบเรือนมลายูปัตตานีประยุกต์ หลังคาทรงจั่วมนิลา หรือทรงบลานอที่ลดหลั่นกัน โดยส่วนกลางซ้อนกัน 2 ระดับมุงกระเบื้องซีแพคโมเนีย ก่ออิฐฉาบปูนทั้งหลัง พื้นปูกระเบื้องเคลือบด้านหน้าทางทิศเหนือมีมุขบันได และเฉียงขึ้นตัวเรือน เดิมมี 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ มีพื้นที่ใช้สอย 450 ตรม. ต่อมาได้ขยายพื้นที่ชั้นใต้ถุน และส่วนหลังบ้าน เพื่อเป็นที่รับรองแขกและห้องครัว

สถาปนิกนายอับดุลรอซะ วรรณอาลี บริษัท W&M Design จำกัด โดยมีมะสดี หะยีปิ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2550 และพิธีขึ้นบ้านใหม่ในวันจันทร์ ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยมี ฯพณฯ วันมูหะวัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาพและฯพณฯ ศจ.ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ร่วมเป็นประชาชนในพิธี ในวันขึ้นบ้านใหม่ มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย เพื่อจำลองบรรยากาศงานฉลองในวังเก่าโกตาบารู หรือ โกตาบารูรามัย(โกตาบารูแม) ที่หมายถึง เมืองที่มีความสนุกสนาน รื่นเริง และเป็นเมือง “อัญมณีแห่งวัฒนธรรม” ที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต

 

กอตอตือร่ะ

               กอตอตือร๊ะ เป็นวังเมืองเก่า ในสมัยที่แบ่งเป็น 7 หัวเมือง ซึ่งในสมัยนั้น รัชกาลที่ 5มาเยี่ยมเจ้าเมือง เมืองกอตอตือร๊ะ เพื่อต้องการทำรางรถไฟในคมนาคมเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เดินทางด้วยความสะดวก ทำให้บริเวณรอบนอกของวังเป็นพื้นที่ของรถไฟบริเวณกอตอตือร๊ะในปัจจุบัน

              เมืองกอตอตือร๊ะมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรโดยมีแม่น้ำไหลผ่านที่ปลาหลากหลายชนิดที่อยู่ในแม่น้ำเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้จับปลามาเลี้ยงชีพ รวมถึงความเจริญด้าน การคมนาคม ได้แก่ เรือ ช้าง จักรยาน และ รถม้า ในการสัญจรในเมือง เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายให้กับประชาชนในเมืองกอตอตือร๊ะ