คู่มือการมีส่วนร่วมของพลเมือง:
บทเรียนจากยูเครนถึงไทย[1] ในกระแสตรวจจับคอรัปชั่น
พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์[2]
“รัฐไม่เคยเห็นหัวเราเลย”
“รัฐไม่เคยมาถามเราสักคำว่า เราต้องการอะไร”
“โครงการต่างๆ มีแต่รัฐลงมาจะเอานั่น เอานี่ เอาแต่เป้าหมาย ตัวเลขเป็นที่ตั้ง เอางบลงมาไม่เคยถามเราสักคำว่าเราต้องการให้ทำอะไรบ้าง”
“โครงการรัฐนะหรือ ให้งบมาเสร็จก็บอกว่า ต้องเบิกจ่ายให้เสร็จในวันนั้นวันนี้ ไม่เคยถามสักคำว่า ชาวบ้านจะทำอะไร ที่ชาวบ้านอยากทำก็ไม่ให้งบ ที่ให้มาก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่ได้อยากได้”
“งบประมาณลงมา บอกว่าให้จัดโน่นนี่นั่น แต่ไม่เคยมีการตรวจสอบ ไม่ต้องอะไร คนร่วมครบไหมก็ไม่รู้หรอก เซ็นชื่อมือซ้ายบ้าง มือขวาบ้าง ก็เซ็นๆ กันไป ทำให้ครบเข้าไว้แค่นั้น เราจะทำกับเขาได้ไง มันผิด มันเป็นเงินภาษีของประเทศชาติ เราก็ไม่ได้งบ ไม่มีใครอยากคบเรา”
“ที่ร้ายกว่านั้นคือ ให้งบจัดงานพหุวัฒนธรรม แต่ต้องหาคนมาร่วมให้ได้อย่างน้อย 100 คน ถ่ายภาพส่งรายงานด้วยนะ แต่ชาวบ้านจะอยู่ยังไง จะพหุวัฒนธรรมไหม ไม่ได้สนใจ เขาสนใจแต่ภาพ จำนวน และเอกสารเบิกจ่าย”
ปัญหาคอรัปชั่นที่ฝังลึกในโครงสร้างสังคมไทยจะแก้ได้อย่างไร หากพลเมืองไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยช่วยกันทั้งระบบ |
ข้อความข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้ยินมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ทำงานภาคสนามในชุมชนหลายแห่ง และโดยเฉพาะในรอบปี 2560 ที่ได้มาอยู่ในหลักสูตรการศึกษาระดับสูงของสถาบันพระปกเกล้าและได้ทำงานค้นคว้าภาคสนามเกี่ยวกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี กรุงเทพฯ และสงขลา ด้วยสนใจว่าโครงการเหล่านั้นตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและตอบโจทย์ความต้องการของพลเมืองหรือไม่ อย่างไร ทว่าเสียงที่ได้ยินส่วนใหญ่ทำให้ได้สนใจว่า “การมีส่วนร่วมของพลเมือง” หายไปอย่างน่าใจหาย ยิ่งกว่านั้นยังเห็นร่องรอยของการคอรัปชั่นที่อยู่เบื้องหลังเสียงบอกเล่าเหล่านั้นอย่างน่าตกใจหลังจากที่ลงสัมภาษณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงวันที่ 11-14 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมาครั้นเมื่อหันกลับมาติดตามข่าวสารบ้านเมืองในเวลานี้ที่มีการเปิดโปงทุจริตในหลายกรณี ตัวอย่างที่ดีมากคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามที่กล้าลุกขึ้นมาเปิดหน้าการทุจริตในวงราชการของไทย และยังมีกรณีอื่นๆ ตามมา ที่น่าเศร้าคือ การทุจริตในโครงการที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ตกทุกข์ได้ยากมีความลำบากในการดำเนินชีวิตในฐานะที่เป็นคนชายขอบของสังคมอยู่แล้วไม่ว่าจะด้วยการขาดโอกาส การกดทับเชิงโครงสร้าง หรือการที่รัฐไม่เคยมองเห็นก็ตาม และมีคำถามว่าสังคมไทยจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร หากพลเมืองไม่มีสิทธิไม่มีเสียงไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของประเทศ ปัญหาคอรัปชั่นที่ฝังลึกในโครงสร้างสังคมไทยจะแก้ได้อย่างไร หากพลเมืองไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยช่วยกันทั้งระบบ และความฝันที่จะเห็นประเทศไทยก้าวไปถึง 4.0 จะยังมีหรือไม่ ยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นจริงได้อย่างไร และยิ่งสะท้อนใจเมื่อกวาดตาไปยังประเทศที่เขาพัฒนามาทีหลังแต่กำลังแซงหน้าไทยไปหลายขุม
อันที่จริง การตื่นตัวมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองหรือการตัดสินใจในเรื่องนโยบายสาธารณะใดๆ ของไทยไม่ใช่ไม่มีเอาเสียเลย ตรงข้ามตลอดประวัติศาสตร์การเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงปี 2475 พลเมืองไทยกลุ่มหนึ่งพยายามลุกขึ้นมาปลุกจิตสำนึกการมีส่วนร่วมมาโดยตลอด ในยุคแรกๆ อาจจะจะประสบความยากลำบากอยู่ไม่น้อยทำให้ต้องหลบหนี พลัดพรากจากบ้านเมืองไปไกล บางคนที่หนีไม่ได้หนีไม่ทันก็ถูกจองจำทำโทษกันไป กล่าวอย่างย่นย่อ การลุกขึ้นมามีส่วนร่วมของพลเมืองไม่ว่าจะทางใด ผลประการสำคัญที่เราได้เห็นคือ การเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองที่ดีขึ้นในหลายทาง เช่น การตรวจสอบพฤติกรรมของนักการเมืองที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ การปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติ การตรวจสอบอำนาจรัฐในเรื่องต่างๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีส่วนร่วมของพลเมืองอย่างมีคุณภาพบนฐานการรู้เท่าทันและการยึดประโยชน์ร่วมกันของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้งนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนกว่าและรอบคอบกว่าที่จะปล่อยให้ตัวแทนหรือใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจทางการเมืองแทนพลเมืองทั้งประเทศในหลายกรณี
เป็นที่น่าเสียดายว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองไทยถูกสกัดกั้นจนล้มคว่ำจากการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า และล่าสุดเมื่อ พ.ค. 2557 และหลังจากนั้นมา การมีส่วนร่วมของพลเมืองไทยก็ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอดสามปีกว่าที่ผ่านมา แต่กระนั้น หากไม่มีปัญหาอื่นมาแทรกซ้อน เช่น การคอรัปชั่น การพัฒนาที่ไม่รอบคอบรอบด้านก็คงไม่ซ้ำเติมให้เสียโอกาสในการพัฒนาประเทศชาติเท่าใดนัก หากว่าคณะรัฐประหารจะใช้เวลาและโอกาสที่อยู่ในอำนาจทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและพลเมืองอย่างตรงไปตรงมาดังที่หว่านวาจาว่า จะปฏิรูปการเมือง จะเอาจริงเอาจังกับคอรัปชั่นของนักการเมือง ฯลฯ หากแต่ผลงานที่ประจักษ์ก็คงเห็นแล้วว่า การปกครองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่เปิดให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในช่วงสามปีกว่าที่ผ่านมาก่อผลร้ายต่อสังคมไทยอย่างไร
กล่าวให้ถึงที่สุด ผู้เขียนปรารถนาจะชี้ให้เห็นตัวอย่างของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคพลเมืองในการพัฒนามีเงื่อนไขแห่งความสำเร็จที่ต้องมาจากความร่วมมือกันอย่างน้อยจากทั้งสองฝ่ายคือ ทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายพลเมือง และบนเงื่อนไขสำคัญคือ การมีสิทธิ เสรีภาพ ความรับผิดชอบ และความเป็นธรรมในผลประโยชน์โดยรวมของชาติร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญอีกหลายประการโดยในที่นี้ ผู้เขียนจะขอใช้ตัวอย่างจากประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อมิให้รู้สึกว่าประเทศไทยเสียเปรียบเกินไปนัก โดยจะนำเสนอให้เห็นกระบวนการและวิธีคิดจากยูเครนในเรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการร่วมพัฒนาประเทศของเขา
ยูเครนเป็นประเทศที่เคยปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เหมือนกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกที่เคยอยู่ในค่ายสหภาพโซเวียตรัสเซียด้วยกัน ทว่ายุโรปตะวันออกภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ภูมิภาคแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายประการ การแยกตัวเป็นอิสระอาจเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่ง ทว่าการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจยิ่งกว่าและเห็นได้ยากกว่าคือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบการปกครองสังคมนิยมมาเป็นประชาธิปไตย เราอาจจะไม่สามารถจินตนาการได้ว่า พลเมืองที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองแบบที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองการปกครองมาก่อนแต่เมื่อถึงวันที่พวกเขาจะมีสิทธิ เสรีภาพ ในการกำหนดชะตากรรมของประเทศตนตามใจปรารถนาแล้ว พลเมืองเหล่านั้นจะมีทักษะในการแสดงออกซึ่งการมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองอย่างไร?
กล่าวให้ถึงที่สุด หากผู้ปกครองจะตัดสินใจดำเนินการใดๆ ก็ตาม พลเมืองก็คงไม่มีสิทธิที่จะไปตรวจสอบ ซักถามใดๆ ได้ และต่อให้มีการทุจริตคอรัปชั่นกันขนานใหญ่กระทั่งถึงขั้นประเทศล้มละลายก็คงไม่อาจทำได้เช่นกัน
ทว่าบทเรียนที่น่าศึกษาของประเทศที่เพิ่งละทิ้งแนวทางสังคมนิยมมาเป็นวิถีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของยูเครนและประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกปรากฏโฉมหน้าเพียงแค่หนึ่งทศวรรษของการเปลี่ยนผ่านเท่านั้น กล่าวคือ ในปลายปี 2001 ระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน มีการประชุมวิชาการนานาชาติในประเทศยูเครน โดย International Centre for Policy Studies ภายใต้ชื่อที่น่าสนใจยิ่งว่า “People's Voice Project” หรืออาจแปลเป็นไทยว่า “โครงการเสียงของประชาชน” โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก และหน่วยงานต่างๆ อีกหลายหน่วยงาน งานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมราว 90 คน มาจาก 17 ประเทศซึ่งมีทั้งนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักปฏิบัติการ นักเคลื่อนไหว (NGOs) และรวมถึงบรรดาผู้บริจาค (Donors) โดยมีเป้าหมายของการจัดการประชุมวิชาการเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการการตัดสินใจเชิงนโยบายตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นขึ้นไปผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรอบคิด ทฤษฎี และการปฏิบัติ ดังนั้น เนื้อหาสาระของการประชุมดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้แน่ใจว่าระบอบการปกครองใหม่นี้จะคำนึงถึงการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้พลเมือง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้และสอดคล้องกับความต้องการของพลเมืองโดยเฉพาะในระดับรากหญ้าซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ด้วยพลเมืองของประเทศในยุโรปตะวันออกตระหนักดีกว่าการที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองใดๆ นำมาสู่การทุจริตคอรัปชั่นและปัญหาอื่นๆ ตามมาดังที่เป็นฝันร้ายตลอดช่วงการปกครองในระบอบสังคมนิยมในอดีต
หลังจากสิ้นสุดการประชุมแล้วก็มีการรวบรวมบทความที่สำคัญออกมาเป็นหนังสือ “คู่มือการมีส่วนร่วมของพลเมือง” (Citizen Participation Handbook, 2002)[3] ซึ่งเป็นการสังเคราะห์ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนหลักการและแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการปลุกพลังการมีส่วนร่วมของพลเมืองอย่างมีคุณภาพในกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองและติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของกระบวนการปฏิรูปอย่างสร้างสรรค์
ในคู่มือดังกล่าวให้ความสำคัญกับองค์ประกอบหลักๆ ที่จำเป็นสำหรับการปลุกพลังพลเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพซึ่งอาจถอดความอย่างกระชับได้ดังนี้
- ทรัพยากรต้นทุนที่สำคัญและจำเป็น
1.1 ที่ต้องเวลา (Time) แน่นอนว่าในที่นี้มิใช่การขอเวลาอีกไม่นาน ทว่าเป็นเวลาทุ่มเทให้อย่างต่อเนื่องและยาวนานและตลอดไปสำหรับกระบวนการการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการตัดสินใจในประเด็นสาธารณะ ในบางประเด็นรัฐต้องมีใจอดทนที่จะรอคอยและไม่ลดละการกระตุ้นให้พลเมืองเกิดความตระหนักและสำนึกการมีส่วนร่วมในกิจการต่างๆ ของรัฐจนกว่าจะได้เห็นข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม และเพื่อจะประสบความสำเร็จพลเมืองเองก็ต้องให้เวลาในการเข้ามามีส่วนร่วม หรือแม้จะกระทั่งลุกขึ้นมาจัดกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยตนเองไม่ต้องรอให้รัฐเป็นผู้จัดกระบวนการ เพราะมิเช่นนั้น เราท่านก็อาจจะได้เห็นกระบวนการในทำนองที่ว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผ่านความเห็นชอบของประชาชนแล้วโดยที่ประชาชนไม่ทันได้รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ
1.2 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เป็นความจริงที่ว่าในสังคมการเมืองหนึ่งๆ มีมิติของการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่หลากหลาย การพัฒนาทางการเมืองการปกครองของรัฐนั้นก็เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก หากรัฐประสงค์จะชื่นชมกับความสำเร็จในการดึงความร่วมมือของพลเมืองเข้ามาสู่การพัฒนาประเทศชาติไปด้วยกันอย่างมีคุณภาพ รัฐจำต้องเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าจะในระดับปัจเจก สถาบัน องค์กร เข้ามาทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อที่จะอำนาจต่อรองในกระบวนการตัดสินใจในประเด็นสาธารณะ ดังนั้น จำนวนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้ามามีส่วนร่วมจึงสำคัญ และรูปแบบของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็สามารถทำได้หลายแบบ เช่น ในการประชามติ การปราศรัยสาธารณะ การพบกับทีมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้นเพื่อให้ได้ข้อสรุปจากการร่วมคิดร่วมตัดสินใจที่ดีที่สุด
1.3 ข้อมูลข่าวสาร (Information) เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้พลเมืองมีการเรียนรู้ที่จะเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ ซึ่งต้องทำทั้งสองทาง กล่าวคือ ฝ่ายรัฐเองก็ต้องเปิดเผยและส่งข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะลงมาให้ภาคพลเมืองได้รับรู้รับทราบในฐานะที่เป็นความรับผิดชอบโดยตรงต่อพลเมือง ซึ่งอาจจะกระทำผ่านช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในขณะเดียวกันฝ่ายพลเมืองเองก็ต้องตื่นรู้ที่จะทวงถาม ตั้งคำถาม และแสดงความคิดเห็นของตนต่อประเด็นที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย
1.4 ความสนใจของสื่อ (Media attention) ต้องยอมรับว่า บทบาทของสื่อนั้นสำคัญยิ่งต่อกระบวนการปลุกพลังการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองโดยเฉพาะในยุคที่การสื่อสารไร้ขอบเขตเช่นปัจจุบัน สื่อท้องถิ่นควรจะต้องลุกขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียงสำคัญในกระบวนการภาคพลเมือง ในทางกลับกัน พลเมืองเองก็ควรที่จะรู้เท่าทันและใช้สื่อต่างๆ อย่างสร้างสรรค์เพื่อการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ
พลเมืองของประเทศในยุโรปตะวันออกตระหนักดีกว่าการที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองใดๆ นำมาสู่การทุจริตคอรัปชั่นและปัญหาอื่นๆ ตามมา |
2. การเสริมพลังให้พลเมืองเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ
2.1 ทุกคนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็อาจจะริเริ่มโดยการมองไปที่การอยู่ ใกล้ชิดกับปัญหาที่มีผลโดยตรงต่อชีวิตของพลเมือง
2.2 พลเมืองต้องยืนยันหรือมีข้อผูกพันหนักแน่นเพียงพอ อย่าเพิ่งถอดใจ หรือถอนตัวออกจากกระบวนการมีส่วนร่วมแม้จะพบกับความล้มเหลวในครั้งแรกๆ
2.3 องค์ความรู้ว่าด้วย “กระบวนวิธีการ” การมีส่วนร่วมของพลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องให้ความระแวดระวังในเรื่องนี้ ต้องมีความรู้ด้วยว่ากระบวนการมีส่วนร่วมทำงานอย่างไร และต้องรู้ข้อจำกัดของการมีส่วนร่วมด้วยว่าในแต่ละบริบทพื้นที่อาจจะไม่สามารถใช้ได้ จำต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือทำใจว่าอาจต้องใช้เวลานาน อาจต้องมีเทคนิควิธีการที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ อาจมีอุปสรรคที่ชวนให้ท้อถอย เป็นต้น
2.4 สิ่งแรกสุดที่พลเมืองจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพในกระบวนการได้ คือ ต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดชอบในการเข้าไปสัมพันธ์กับรัฐเพื่อที่จะเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจร่วมกันกับรัฐ หรือ กล่าวอีกทางหนึ่งคือ พลเมืองเองจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องสิทธิของพลเมืองว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ด้วยวิธีการและช่องทางใด เช่น ช่องทางกฎหมาย ช่องทางในการแสดงความคิดเห็นอย่างรู้เท่าทันบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และต้องเรียนรู้ด้วยว่ารัฐเองก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อพลเมืองในเรื่องใด และอย่างไร
2.5 รัฐหรือผู้ที่อยู่ในอำนาจเองก็ต้องเปิดใจกว้างที่จะสื่อสารกับพลเมือง เพื่อให้กระบวนการมีส่วนร่วมบังเกิดผล ในที่นี้ คงต้องกล่าวด้วยว่าสิทธิและการเปิดกว้างของรัฐเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะเอื้อให้กระบวนการมีส่วนร่วมมีคุณภาพและนำไปสู่การรังสรรค์สิ่งดีมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติร่วมกัน
2.6 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละภาคส่วนควรต้องได้รับประโยชน์จากกระบวนการมีส่วนร่วมด้วย หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เป้าหมายปลายทางของการมีส่วนร่วมควรต้องเฉลี่ยผลประโยชน์ให้ทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์และปล่อยให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์ แต่ควรจะเป็น win-win
2.7 การวางแผนต่างๆ และการนำไปสู่การปฏิบัตินั้นต้องเป็นกระบวนการที่ทำด้วยกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างราบรื่น ไม่ใช้ความรุนแรง
2.8 ความโปร่งใส เป็นหัวใจสำคัญอีกประการที่จะทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นไปได้จริง ซึ่งเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนต้องเข้าร่วมอย่างตรงไปตรงมา
2.9 ในระหว่างกระบวนการมีส่วนร่วม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนควรต้องมีความสามารถในการเจรจาต่อรองและมีความร่วมมือกับอีกฝ่ายได้ด้วย ในที่นี้อาจหมายถึงอำนาจที่เท่าเทียมกันและเป็นอิสระในการตัดสินใจที่จะเจรจาต่อรองได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันไม่ตกอยู่ใต้อำนาจหรือความได้เปรียบเสียเปรียบ
2.10 การมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ในเรื่องการศึกษาประเด็นสาธารณะ การรับฟังความคิดเห็น และประเด็นเกี่ยวกับการคลังการงบประมาณ ซึ่งในกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อตัดสินใจบางกรณีโดยเฉพาะที่จำเป็นต้องมีเรื่องงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ช่วยตอบคำถามทางเทคนิคที่จำเป็น ให้คำแนะนำทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าในบรรดาความรู้ที่ถูกสังเคราะห์และอันที่จริงก็ได้ถูกนำไปปฏิบัติในสังคมยูเครนและในหลายประเทศที่เป็นสมาชิกในภูมิภาคยุโรปตะวันออกนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่พิสดารที่ไม่เคยมีอยู่ก่อนในโลกใบนี้ และก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการไทยหลายคนเคยนำเสนอไว้เช่นกัน ทว่าอาจจะยังไม่สามารถจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจังโดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เราอยู่ในบรรยากาศของรัฐประหาร แม้ว่ารัฐบาลรัฐประหารจะแสดงให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม แต่กระนั้น กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ที่ดูจะเปิดช่องให้พลเมืองมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพลเมืองในระดับรากหญ้าก็ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะเป็นเช่นไร
แต่ที่แน่ๆ เสียงสะท้อนจากประชาชนระดับรากหญ้าที่ผู้เขียนได้ไปรับฟังความคิดเห็นมาก็สะท้อนให้เห็นว่ายังมีความอึดอัดคับข้องใจเพราะไม่ได้รับการฟังเสียงจากรัฐและผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง สิ่งที่ตามมาจึงอาจจะไม่เพียงแค่การคอรัปชั่นเท่านั้น แต่อาจจะเป็นการพัฒนาที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของพลเมือง มิหนำซ้ำ อาจจะตอกย้ำซ้ำรอยเดิมดังเช่นที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐหลายโครงการในอดีตที่ไม่สร้างการพัฒนาที่เป็นธรรมสำหรับพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน หากแต่ยังบีบบังคับผลักดันให้วิถีชีวิตประจำวันของพลเมืองบางฝ่ายต้องเสียประโยชน์และไม่ได้รับการพัฒนา หากแต่ได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น การต้องย้ายที่อยู่ ที่ทำกิน บางครอบครัวต้องบ้านแตกสาแหรกขาด พลัดพรากไปอยู่กันคนละทิศทาง เช่น โครงการถนนที่ตัดผ่านกลางหมู่บ้าน รัฐอ้างว่าชดเชยเยียวยาให้ด้วยการจัดที่อยู่ให้ใหม่แต่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้เหมือนเดิม นานวันเข้าความสัมพันธ์เชิงเครือญาติก็ห่างเหิน หรือบางโครงการที่ต้องรับฟังความคิดเห็นผ่านการทำประชาพิจารณ์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ได้แสดงความคิดเห็นแต่ว่าผลประชาพิจารณ์ผ่านไปอย่างไม่รู้ตัวก ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ การประท้วงคัดค้านจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง การรณรงค์ไม่เห็นด้วยจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ แล้วแต่ว่าโครงการนั้นๆ จะกระทบถึงใคร อย่างไร ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น
ย้อนไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากยูเครน ยิ่งทำให้ต้องย้อนทบทวนและตั้งคำถามกับประเทศไทยที่ประชาธิปไตยได้เข้ามาแนะนำตัวให้สังคมได้รู้จักมาถึง 85 ปีแล้ว สังคมไทยน่าจะก้าวเข้าสู่สังคมที่มีวิถีวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพร่วมกันทุกภาคส่วน แต่ไฉนกระบวนการมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองตามวิถีประชาธิปไตยไทยจึงยังเป็นสภาพ “ลัก ปิด ลัก เปิด” คือ รัฐก็พยายามจะลักปิด พลเมืองก็พยายามจะลักเปิด ในขณะที่ประเทศที่เพิ่งหลุดจากสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไม่นาน หลายๆ ประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงตนเองและปรับวิถีชีวิตให้อยู่ในวิถีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพทั้งรัฐและพลเมืองแล้ว
[1] แรงจูงใจแรกในการเขียนงานชิ้นนี้ผู้เขียนได้มาในระหว่างที่ค้นคว้าหารูปแบบกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการกำหนด หรือ ดำเนินนโยบายสาธารณะใดๆ ของรัฐ โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (megaproject) ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างรอบคอบ รอบด้าน และยั่งยืนยิ่งขึ้นและเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้เขียนและคณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 8 (สสสส.8) สถาบันพระปกเกล้า ได้ร่วมกันศึกษาค้นคว้า ผู้เขียนขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว และอาจารย์ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ที่พยายามตั้งคำถามและชวนให้ผู้เขียนคาดคั้นค้นหาคำตอบว่า การมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร แรงจูงใจที่สองมาจากกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยภายใต้รัฐบาล คสช.ที่มักกล่าวอ้างว่าต้องยึดอำนาจไว้เพื่อให้การปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยเสียก่อน ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอว่าควรเรียนรู้จากยูเครนประเทศที่เคยอยู่ในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมทว่าต้องเปลี่ยนใจมาเรียนรู้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันด้วยการเปิดพื้นที่ให้ภาคพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพและดูเหมือนว่าจะมีความเป็นมืออาชีพมากด้วย ผู้เขียนตระหนักดีกว่า บทความชิ้นนี้ยังไม่อาจจะตอบคำถามการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพได้ดีเพียงพอ นั่นก็เพราะความอ่อนด้อยของผู้เขียนเอง ทว่าหากบทความนี้จะมีประโยชน์อยู่บ้างผู้เขียนขออุทิศให้กับการเติบโตขึ้นของกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองและการพัฒนาประเทศของภาคพลเมืองอย่างมีคุณภาพและด้วยสันติวิธี
[2] อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ติดต่อผู้เขียนได้ที่ [email protected]
[3] ในเอกสารนี้กล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมืองอย่างมีคุณภาพในหลายประเทศ แต่ทั้งหมดเป็นประเทศที่เคยปกครองแบบสังคมนิยมมาก่อน ทว่ามีพัฒนาการอย่างน่าจับตาในเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองตั้งแต่ระดับหน่วยการปกครองท้องถิ่นระดับเล็กๆ ขึ้นมาทีเดียว