ห่างหายไปนานสำหรับการจรดมุมคิดผ่านบันทึก วันนี้หยิบงานที่เรียงเรียงไว้นานแล้วมาปัดฝุ่น แล้วสานต่อมุมคิด เพียงเพื่ออยากเห็นรูปธรรมบางอย่าง เพราะบางครั้งคนเรามองข้ามวิถีคิดของใครบางคนไป เรามองข้ามผ่านกาลเวลาอย่างน่าคิด เรื่องราวต่างๆมากมายถึงยังหาคำตอบที่สิ้นสุดไม่ได้ วันนี้จึงอยากนำเสนอมุมคิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชวนคิด จากบทความมุมคิดเล็กๆนี้
เพราะสงสัยในโลกทัศน์จากคนสองวัย เพราะหลักการสมานฉันท์ในอิสลาม
เพราะสันติภาพอาจเกิดขึ้นจริง[1]
ฟูอ๊าด (สุรชัย) ไวยวรรณจิตร[2]
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องเรื้อรัง และประทุเป็นความรุนแรงหลายครั้งเรื่อยมา ถ้าแก้ไม่ตรงสาเหตุก็อาจบานปลายและเป็นชนวนให้เป็นเรื่องใหญ่ต่อไป[3] เพราะว่า สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้น ได้ขยายตัวในวงกว้างและส่งผลกระทบทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จนต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และระยะเวลาที่ยาวนานในการแก้ไข จึงจะนำสันติสุขกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน และเชื่อว่าการสร้างความสมานฉันท์ด้วยหลักการที่ถูกต้องจะเป็นแนวทางสำคัญ ที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า[4] เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพราะเราขาดความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้อง ถิ่นหรือประวัติศาสตร์สังคมจึงทำให้ไม่เข้าใจคนในท้องถิ่น ขณะนี้เรามองปัตตานีในรูปของ ๓-๔ จังหวัดภาคใต้เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงความเป็นอยู่ของคนไม่ได้แบ่งออกเป็นจังหวัดแต่แบ่งออก เป็นกลุ่มท้องถิ่น แต่ละท้องถิ่นต่างมีวัฒนธรรมของตัวเองที่ไม่เหมือนกันและหลายกลุ่มก็อาจไม่ ได้เชื่อมโยงกัน คนรุ่นเก่ารุนใหม่ต่างกัน ข้อมูลจาการจับกุมทุกครั้งพบว่าผู้ที่ก่อการร้ายเป็นเด็กหนุ่มสาวอายุ ระหว่าง ๑๘-๒๕ ปี ดังปรากฏในสถิติผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่พบว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สูงสุดตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๐ - มีนาคม ๒๕๕๒ คือ กลุ่มอายุระหว่าง ๑๕-๒๙ ปี คือ มีจำนวน ๑๖๓๑ ราย[5] แต่คนเฒ่าคนแก่จะไม่รู้เลยว่าคนหนุ่มสาวนั้นมาจากไหน มีวิถีคิดและพฤติกรรมอย่างไร และไปทำอะไรกัน นี่จึงกลายเป็นคำถามและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวว่า[6] ปัจจัยที่สำคัญมากต่อการนำชุมชนไปสู่ชีวิตสาธารณะที่มีสุขภาพดีหรือไม่ดี ก็คือกรอบแนวคิด โดยเฉพาะกรอบแนวคิดในการแก้ปัญหาและการมองความเป็นไปของสรรพสิ่ง วอน กรีสแฮม เรียกกรอบแนวคิดนี้ว่า “หลักนำการปฏิบัติ” (guiding principles) ในชุมชนที่อุดมด้วยชีวิตสาธารณะนั้น เป็นกรอบแนวคิดที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคสาธารณะและการทำงานเพื่อส่วนรวม และจอห์น แมคไนท์ ผู้ศึกษาองค์กรชุมชน อธิบายว่า หลักนำการปฏิบัติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ “จงถือว่ามนุษย์ทุกคน คือ ทรัพยากรที่ล้ำค่า” เป็นหลักนำที่มองชุมชนในฐานะองค์รวมของศักยภาพของปัจเจกบุคคลในชุมชน และมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคม เพราะเมื่อชุมชนให้ความสำคัญต่อศักยภาพของคนในชุมชน ชุมชนนั้นย่อมตระหนักถึงความเป็นไปได้ของการริเริ่มดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ใน เรื่องแนวคิดต่อพลังในชุมชน ชุมชนที่มีชีวิตสาธารณะที่ดี จะมีกรอบแนวคิดว่าพลังที่แท้จริง เป็นพลังที่มาจาก ประชาชน “ประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น”และวิถีทางเดียว ที่จะทำให้ชุมชน เป็นชุมชนที่น่าอยู่ก็คือ ประชาชนในชุมชน ต้องเข้าใจและยอมรับความรับผิดชอบ ของตนต่อทุกๆเรื่อง ที่เกิดขึ้นกับชุมชน
จะเห็นว่า การที่เรามียุทธศาสตร์การสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” จริงๆแล้วในส่วนของโลกมุสลิมก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย เพราะแนวทางการสร้างความสมานฉันท์นี้ก็สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของศาสนาอิสลาม ที่มีคัมภีร์อัลกุรอานเป็นคัมภีร์แห่งสันติภาพที่สอนให้มวลมนุษยชาติอยู่ ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทร สมานฉันท์ มีความกลมเกลียว และยอมรับความหลากหลายของชาติพันธุ์[7] หลักการสมานฉันท์ในอิสลามมี ๓ ขั้นตอนที่สอดคล้องกับแนวทางพระราชดำรัสอย่างชัดเจน กล่าวคือ[8] ขั้นตอนที่ ๑ คือคำว่า “ตะอารุฟ” ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การรู้จักซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เป็นการรู้จักคนเดียว คนข้างบนต้องไปรู้จักคนข้างล่าง คนข้างล่างต้องรู้จักคนข้างบน นั่นก็คือ “การเข้าถึง” ขั้นตอนที่ ๒ “ตะฟาฮุม” คือ ความเข้าใจซึ่งกันและกันไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้าใจแต่เพียงฝ่าย เดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องทำความเข้าใจในอีกฝ่ายหนึ่งด้วย นั่นก็คือ “การเข้าใจ” ขั้นตอนที่ ๓ “ตะอาวุน” คือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันซึ่งเป้าของมันก็คือ “การพัฒนา” เรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหลักการอิสลามพูดชัดเจนว่า “ท่านจงช่วยเหลือในความดีและความยำเกรงต่อพระเจ้า และอย่าช่วยเหลือในสิ่งที่เป็นบาปและสิ่งที่สร้างศัตรู”
เพราะฉะนั้น การที่จะพัฒนาชุมชนจะต้องเริ่มจากฐานวัฒนธรรมชุมชนซึ่งเป็นปราการที่แข็ง แกร่ง ที่สุดของชาวบ้าน เป็นพลังผลักดันการพัฒนาชุมชนที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนสร้าง ขึ้นมาเอง และในแง่วิธีการพัฒนา จะต้องทำให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกที่แจ่มชัดในวัฒนธรรมของเขา ปัญญาชนของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านตื่นและรับรู้ รู้เอกลักษณ์และคุณค่าของตัวเอง ค้นพบจิตสำนึกอิสระของชุมชน เห็นคุณค่าของการรวมตัวเป็นชุมชน และซาบซึ้งในประวัติการต่อสู้ร่วมกันตลอดมา เห็นภัยของการครอบงำของวัฒนธรรมแปลกปลอมจากภายนอก[9]
ดังนั้นการศึกษาโลกทัศน์หลักการสมานฉันท์ในอิสลามกระบวนการการอยู่ร่วมกันใน ชุมชนชายแดนใต้อย่างยั่งยืนจากคนสองวัย โดยผสมผสานความคิดจากคนสองช่วงวัยในการก่อเกิดชุมชนสันติภาพในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความคิดที่ว่า “ชุมชน จะพัฒนาได้อย่างไรถ้าเรารู้จักความจริงในหมู่บ้านเพียงครึ่งเดียว ขณะที่ด้านความขัดแย้งและจัดการความขัดแย้งที่หายไปนั้นเป็นจุดสำคัญของ ชุมชน”จึงเป็นประเด็นที่ผู้ เขียนอย่างผมสนใจและหวังที่จะหาคำตอบต่อไป เพราะมันอาจเป็นคำตอบหนึ่งที่จะร่วมสร้างสันติภาพภายในชุมชนก็เป็นได้...
วัลลอฮฺอะลัม
ทุกวันนี้...หากเธอยังทุกข์แล้วฉันจะสุขได้อย่างไร ?
[1] บทความเรียบเรียงมุมคิดกับวันฟ้าหม่นที่ปัตตานี ของผู้เขียน (๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๓)
[2] อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา / ที่ปรึกษาคณะทำงานเสียงเล็กๆเพื่อสันติภาพ
[3] ประเวศ วะสี. (๒๕๔๗). เกริ่นนำ : “การแก้ปัญหาชายแดนใต้”, บทความ. ๒๐ มกราคม. หน้า ๑.
[4] ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๔๙). “ประวัติศาสตร์สังคมจากคนในท้องถิ่น-ความขัดแย้งที่สำคัญคือความขัดแย้ง ระหว่างวัย”, ใน คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้รวบรวม), ความรู้และความไม่รู้ ๓ จังหวัดชายแดนใต้. หน้า ๒๔-๒๕.
[5] ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้. (๒๕๕๒). “รายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความ
รุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เดือนมกราคม๒๕๕๐– มีนาคม๒๕๕๒.”, จดหมายข่าว ศบ.สต. หน้า ๑๔.
[6] ประเวศ วะสี. (๒๕๕๓). กรอบแนวคิดหรือโลกทรรศน์ของคนในชุมชน (ออนไลน์). สืบค้นจากhttp://www.wutthi.com/forum/index.php?PHPSESSID=3e023741677a49f4c9d6047ff979baa9&topic=1296.msg2721. [เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๓].
[7] มัสลัน มาหามะ. (๒๕๔๘๘). ความนำ :“สันติภาพและสงครามในบทบัญญัติแห่งอัลกุรอาน” ”, บทความ. หน้า ๑.
[8] สุกรี หลังปูเตะ. (๒๕๔๙). “๓ ขั้นตอนหลักการความสมานฉันท์ของอิสลาม”, ใน คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้รวบรวม), ความรู้และความไม่รู้ ๓ จังหวัดชายแดนใต้. หน้า ๑๔๔-๑๔๕.
[9] วัฒนธรรมชุมชน. (๒๕๕๓). วัฒนธรรมชุมชน (ออนไลน์). สืบค้นจากhttp://www.oknation.net/blog/jukkajun/2009/03/06/entry-1 [เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๓].