Skip to main content

Exclusive: หัวหน้าทีมมารา ปาตานี หมดหวังรัฐบาล หวังพึ่งพระบารมี ร. 10

 

หัวหน้าทีมมารา ปาตานี หมดหวังรัฐบาล หวังพึ่งพระบารมี ร.10

เป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน ที่กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินการมาเกินกว่า "ครึ่งเทอม" ของอายุรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทว่าโรดแมป "คืนความสุขให้พื้นที่ปลายด้ามขวาน" ยังก้าวไปไม่ถึงครึ่ง โดยมีย่างก้าวที่สำคัญอย่างการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" (Safety Zone) รออยู่

แม้คณะทำงานพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทย ที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ ระบุว่า เตรียมเปิดเผยชื่ออำเภอนำร่องที่ถูกเลือกให้เป็น "พื้นที่ปลอดภัย" ในเดือน เม.ย. นี้ หลังได้ข้อสรุปร่วมกับฝ่ายผู้เห็นต่างที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "มารา ปาตานี" (MARA Patani) ที่มี สุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะ โดยชัดเจนทั้ง "นิยาม-เงื่อนไข-ตัวชี้วัด" ลงตัว ถึงขั้นกางปฏิทิน-แผนงานออกมาโชว์สื่อ

แต่ระหว่างนี้ได้เกิด "คิวแทรก" ขึ้นจากบทบาทของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งการชิงกำหนดพื้นที่ปลอดภัย 14 เขต และการประกาศ "รีเซ็ต" รูปแบบโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ที่เปิดให้แนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบเข้ามอบตัวกับทางการไทย

นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ สุกรี ฮารี กับสมาชิกกลุ่มมารา ปาตานี อีก 2 คน ต้องออกมาตั้งโต๊ะอ่านแถลงการณ์ 4 ข้อถึงรัฐไทย เมื่อเช้าวานนี้ (23 มี.ค.)

มาราฯ ไม่วิเคราะห์ปมทหารไทยเล่น 2 บท

สุกรีชี้ว่า บทบาทของแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ "ก่อให้เกิดความระส่ำระสายในพื้นที่" และ "เกิดการสวนทางของกระบวนการสร้างสันติภาพ"

ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักเลขาธิการคณะกรรมการพูดคุยสันติสุขฯImage copyrightสำนักเลขาธิการคณะกรรมการพูดคุยสันติสุขฯ
คำบรรยายภาพ(ซ้ายมือ) พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะทำงานพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทย เคยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดตั้งคำถามเรื่องการเป็น "ตัวจริง" ของมาราฯ

อย่างไรก็ตามเขาขอสงวนข้อวิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์ "แบ่ง 2 ขั้ว-เล่น 2 บท" ของ "ทหารไทย" อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ใด แต่ได้ตั้งคำถามเรื่องความไม่เป็นเอกภาพของฝ่ายรัฐไทยกลับไปยังผู้นำสูงสุดของรัฐบาล คสช. ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งที่คำถามข้อนี้เคยเป็น "คำถามหลัก" ถึงฝ่ายมารา ปาตานี เนื่องจาก 3 จาก 7 สมาชิกกลุ่มมารา ปาตานี ที่แสดงตนว่าเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ ในฐานะตัวแทนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ถูกเพื่อนร่วมองค์กรปฏิเสธความเป็น "ตัวแทน" และเรียกร้องให้รัฐไทยเปิดเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น "ตัวจริง" โดยตรง

ยืนยันความเป็น "ตัวจริง" และ "เป็นหนึ่งเดียว"

นี่เป็นครั้งแรกที่สุกรี ฮารี ยอมเปิดหน้าให้สัมภาษณ์พิเศษแก่สื่อมวลชน และเป็นครั้งแรกที่เขายอมเปิดปากตอบข้อซักถามด้วยภาษาไทยผ่านบีบีซีไทย แม้พูดช้า ๆ กว่าปกติเล็กน้อย แต่ชัดเจนในคำตอบ

สุกรี ฮารี หารือกับ อาหามัด ชูโว ซึ่งทั้งคู่เป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐไทยImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
คำบรรยายภาพสุกรี ฮารี หารือกับ อาหามัด ชูโว ซึ่งทั้งคู่เป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐไทย

เขาเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการอธิบายสาเหตุที่ทำให้ข้อสงสัยเรื่อง "ตัวจริง-ตัวปลอม" ไม่เคยจางหายไปจากกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

"องค์กรบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรหลัก องค์กรอยู่ใต้ดิน ส่วนมากคนจะรู้จักบีอาร์เอ็นหลังเกิดเหตุการณ์ปิเหล็ง (เหตุปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547) และไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นตัวบีอาร์เอ็น คนนี้หรือคนไหน เพิ่งจะรู้ในระยะหลัง ๆ นี้เอง" สุกรีกล่าว

ก่อนขยายรายละเอียดว่า สมาชิกบีอาร์เอ็นจะถือหลักเรื่อง "ความเป็นหนึ่ง" ไม่แตกแยก มาเป็นอันดับแรก และยังต้องปฏิบัติตาม "บัญญัติ 10 ประการ" ซึ่งหนึ่งในนั้นระบุว่าใครจะทำอะไรเพื่อให้ประโยชน์แก่บีอาร์เอ็น หรือมีผลประโยชน์ตอบแทนบีอาร์เอ็น ก็ทำได้เลย แม้จะเป็นสมาชิกระดับข้างล่าง

เหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอด แม้จะมีการพยายามเจรจาความสงบImage copyrightAFP
คำบรรยายภาพเหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอด แม้จะมีการพยายามเจรจาความสงบ

"ผมไม่มีความแปลกใจที่หลาย ๆ คนมาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ ผมว่าคนที่ออกมาพูดไม่รู้จักบีอาร์เอ็นที่แท้จริง เพราะความลับของบีอาร์เอ็นมีอีกมากมายที่คนไม่รู้ ขนาดผมเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่รู้" สุกรี ผู้เป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันกว่า 40 ปี กล่าว

"ฉันทานุมัติของบีอาร์เอ็น ไม่มีใครรู้"

ความเป็นองค์กรใหญ่ มีสมาชิกที่มีพื้นเพด้านการศึกษาหลากหลาย คือปัจจัยที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายมารา ปาตานี เห็นว่าทำให้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกันของสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ

จึงไม่แปลกหากตัวแทนบีอาร์เอ็นใต้ร่มมารา ปาตานี จะถูกตั้งคำถามเนือง ๆ ว่าได้รับฉันทานุมัติจากขบวนการต้นสังกัดหรือยัง ก่อนร่วมโต๊ะเจรจากับรัฐไทย

มารา ปาตานี ออกแถลงการณ์ 4 ข้อถึงรัฐไทย โดยเปิดแถลงข่าว ณ บ้านหลังหนึ่งในเมืองโกตาบาลู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
คำบรรยายภาพมารา ปาตานี ออกแถลงการณ์ 4 ข้อถึงรัฐไทย โดยเปิดแถลงข่าว ณ บ้านหลังหนึ่งในเมืองโกตาบาลู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

"คำว่า 'ฉันทานุมัติ' ของบีอาร์เอ็น ไม่มีใครรู้ เพราะบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรหลัก ใครจะไปรู้ว่าคนนี้มีฉันทานุมัติของบีอาร์เอ็น คนที่พูดออกมาว่าไม่มีฉันทานุมัติของบีอาร์เอ็น ผมว่าคนที่พูดออกมา พูดลอย ๆ ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน บีอาร์เอ็นไม่ใช่องค์กรเปิดเผย บีอาร์เอ็นทำอะไรไม่มีหลักฐานที่จะปรากฏให้สาธารณะรู้ บีอาร์เอ็นได้ดำเนินการมาเป็นสิบ ๆ ปี รัฐบาลถึงได้รู้ เพราะสมาชิกของบีอาร์เอ็นแต่ละระดับก็จะไม่รู้เรื่องของระดับบน ๆ ขึ้นไป" สุกรีระบุ

น่าสนใจว่าแล้วสมาชิกบีอาร์เอ็นรายนี้นิยามตัวเองว่าอยู่ "ปีกการเมือง" หรือ "ปีกทหาร" เพราะนั่นอาจหมายถึงศักยภาพในการควบคุมกองกำลังในพื้นที่ สุกรีปฏิเสธจะตอบคำถามนี้ โดยให้เหตุผลว่า "นี่เป็นความลับของบีอาร์เอ็น"

"บีอาร์เอ็นมาราฯ บีอาร์เอ็นนอกมาราฯ เป็นหนึ่งเดียว"

ในขณะที่สุกรีกำลังสวมบทบาทหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายมารา ปาตานี ได้มีกระแสข่าวปรากฏเป็นระยะ ๆ ว่า อับดุลเลาะ หรือ ดูลเลาะ แวมะนอ บุคคลที่เชื่อกันว่าเป็นผู้นำสูงสุดคนใหม่ของขบวนการบีอาร์เอ็น ได้รับการติดต่อให้ร่วมวงพูดคุยกับรัฐไทยด้วย ทว่าสุกรีบอกเพียงว่า "ยังไม่มีข้อมูล"

ทหารImage copyrightAFP
คำบรรยายภาพภาพทหารยืนรักษาความปลอดภัยเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชินตาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

สำหรับเขา "แม้คนจะเรียกบีอาร์เอ็นมาราฯ บีอาร์เอ็นนอกมาราฯ ก็เป็นหนึ่งเดียว เพียงแต่เป็นความคิดต่างเท่านั้นเอง เพราะบีอาร์เอ็นคือประสบการณ์การแตกแยกสมาชิกในสมัยก่อน แต่กลับมาเป็นหนึ่งอีกครั้งหนึ่งเพื่อรวมพลังกันต่อสู้กับรัฐไทยให้สำเร็จ"

คำถามเรื่องความเป็น "ตัวจริง" ของมารา ปาตานี ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ผู้เห็นต่างเท่านั้น แต่ยังดังขึ้นจากบรรดาผู้สังเกตการณ์กระบวนการสันติสุขชายแดนภาคใต้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เคยออกมาระบุถึงการใช้พื้นที่ปลอดภัยเป็นเครื่อง "แสดงศักยภาพของผู้ที่มาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ" และเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็น "ตัวจริง" ของบรรดาแกนนำขบวนการทั้ง 6 กลุ่มที่อยู่ใต้ร่มมารา ปาตานี ว่าอยู่ในสถานะ "กดปุ่ม-สั่งการ" กองกำลังได้จริงหรือไม่ แต่สุกรีเห็นว่าการทำให้ประชาชนทั้งหลายเชื่อมั่นในมารา ปาตานี จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลไทยยินยอมลงนามความตกลงร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยประชาชนจะเป็นผู้ประเมินความจริงใจและจริงจังจากการตกลงร่วมกัน

มีความหวัง ร. 10 พระองค์เดียวแก้ปัญหาชายแดนใต้

ในฐานะผู้ร่วมวงพูดคุยสันติสุข 2 ครั้ง ทั้งในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เริ่มต้นปี 2556 และยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เริ่มต้นปี 2558 แสดงความเชื่อมั่นต่อกระบวนการรอบหลังมากกว่า

ฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับทางการไทยเมื่อปี 2013Image copyrightAFP
คำบรรยายภาพฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับทางการไทยเมื่อปี 2013

"ผมมั่นใจในรัฐบาลทหารมากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย เพราะว่าเราคุยในรัฐบาลประชาธิปไตย การจะผ่านเรื่องใด ๆ เป็นเรื่องยาก ต้องมีขั้นตอน ต้องผ่านสภา แต่รัฐบาลทหาร ถ้าเขาจะให้ ก็ให้เลย อะไรทำได้ ทำเลย"

นี่คล้ายเป็นเรื่องย้อนแย้ง เพราะโดยทั่วไปสันติภาพมักเกิดขึ้นในบรรยากาศประชาธิปไตย แต่ในความคิดของสุกรีคือถ้ารัฐบาลทหารชุดนี้มีความจริงใจจริง ๆ เขาทำได้ทุกอย่าง ทว่าสิ่งที่เขาพบในวันนี้คือ "รัฐบาลไม่นิ่ง" นโยบายจากส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคไม่ประสานงานกันเพื่อแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง

"บางทีผมคิดไปคิดมา เป็นความหวัง... รัชกาลที่ 10 ทรงนี้มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ถ้ารัฐบาลเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้ นอกจากรัชกาลที่ 10 พระองค์เดียวที่จะแก้ปัญหาให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด" สุกรีกล่าวทิ้งท้าย บทสนทนากับบีบีซีไทย