ข้ามขีดจำกัด
หลายต่อหลายคนมักจะให้คำนิยายของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ว่า “การยอมเปิดใจ พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นใบเบิกทางที่จะนำตนเองไปสู่ความสำเร็จ” เพราะการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เท่ากับการก้าวขั้นบันไดขั้นแรกเพื่อไต่เต้าไปยังบันไดขั้นที่สอง สาม สี่ ตามลำดับ อีกทั้งการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สามารถทำให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างและ มีทัศนคติที่ดีในการดำเนินชีวิต พร้อมที่จะปรับและเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างสม่ำเสมอ
เช่นเดียวกันกับเด็กหญิง สากูยะห์ หะยีบือราเฮง นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนกาบังพิททยาคม หนึ่งในเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม เด็กสาวที่มีรูปร่างค่อนข้างสูง ผิวขาว ดวงตาโต ใบหน้าที่สดใส เปื้อนรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลาพร้อมที่จะแจกความสดใสให้กับคนที่ทักทายอยู่เสมอ รวมถึงเธอจะมีฮีญาบเป็นเครื่องกายอีกชิ้นหนึ่งที่สามารถบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของตัวเธอ
เมื่อเปรียบแล้วเธอก็เหมือนเด็กน้อยทั่วไปที่มีความตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลาเมื่อได้เจอสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาทักทายทุกช่วงเวลาชีวิต ซึ่งหากนับเป็นบันไดขั้นแรกสำหรับเธอก็คือระดับประถมศึกษา เป็นระดับการศึกษาที่ปูพื้นฐานทั้งวิชาการและปูพื้นฐานขั้นต้นในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ซึ่งมีความแปลกใหม่ให้ได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
เมื่อพ้นในบันไดขั้นแรก เริ่มสู่บันไดขั้นที่สอง ที่เพิ่มความแปลกใหม่ทั้งทักษะวิชาการ ทักษะการทำกิจกรรม ทักษะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงทักษะอื่นๆที่ทั้งในห้องเรียน และ นอกห้องเรียน ซึ่งเธอเองก็ได้รับทักษะการทำกิจกรรมกับชุมชนอย่างเต็มที่ในการทำดำเนินโครงการ “ไม้กวาดดอกหญ้า เลอค่ากาบัง” เป็นหนึ่งโครงการย่อยที่อยู่ภายใต้โครงการ เยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม เป็นโครงการที่ต้องเรียนรู้ทักษะการทำกิจกรรมในห้องเรียน และทักษะการทำงานกับชุมชนโดยมีเธอและเพื่อนๆที่เป็นสมาชิกที่คอยเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนสองวัย สองศาสนา สองวัฒนธรรมเข้ามาเรียนรู้กิจกรรมเดียวกัน
ก่อนที่เธอจะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเธอมีความสับสน และ ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เธอกำลังจะทำกิจกรรมกับชุมชน เธอจะทำได้หรือไม่ เธอจะกล้ามากพอหรือไม่ที่จะทำมันลงไป แต่สุดท้ายเธอก็ลองเข้ามาเรียนรู้เพราะ” ชื่อว่าโครงการ Hakam หรือโครงการเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม เป็นชื่อที่ไม่คุ้นหู ไม่เคยได้ยิน แต่คิดว่าน่าจะเป็นโครงการใหม่ สามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากโครงการนี้ได้ จึงตัดสินใจเข้ามาเรียนรู้ แม้หนูรู้ตัวดีว่า หนูยังไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูดคุยหน้าชั้น แต่หนูคิดว่าการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ อย่างน้อยสามารถพัฒนาตัวหนูให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ เมื่อเข้ามาเรียนรู้แล้วหนูได้ทั้งทักษะในห้องเรียนไม่ว่าจะเป็นทักษะการนำเสนอ ทักษะการลงชุมชน ทักษะการวางตัวเมื่อลงชุมชน และอื่นๆ ซึ่งทักษะเหล่านั้นทำให้หนูคลายความเครียด และ ความกลัวลงได้ จนปัจจุบันนี้หนูสามารถที่จะเป็นตัวแทนของห้องเรียน โรงเรียนในการนำเสนอข้อมูลหน้าชั้นเรียน และสามารถที่จะเข้าไปพูดคุยกับคนอื่นๆที่ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อนในชั้นเรียนเดียวกัน“
แน่นอนว่า การทำกิจกรรมไปด้วย และเรียนไปด้วยต้องอาศัยการจัดการเวลาให้ดีเพื่อที่จะได้เรียนรู้ให้ทั้งวิชาการและกิจกรรม เธอและเพื่อนๆในโครงการเลือกที่จะนัดปราชญ์ชาวบ้านและเพื่อนๆมาทำกิจกรรมนอกห้องเรียนในวันเสาร์ เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์สำหรับเธอและเพื่อนๆ
ครั้งแรกของการทำกิจกรรมภาคสนามที่ต้องเผชิญกับความตื่นเต้น และความกล้าๆ กลัวๆ ย่อมเป็นเรื่องปกติสำหรับเธอ เธอได้เล่าว่า “การทำกิจกรรมภาคสนามสำหรับพวกหนูถือเป็นกิจกรรมที่มีความตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย เพราะปราชญ์ชาวบ้านที่เข้ามาสอนถือว่ามีส่วนต่างของอายุค่อนข้างมาก รวมถึง ผู้ปกครองที่เข้ามาเรียนรู้ด้วยกันก็มีศักดิ์เป็นของแม่เพื่อน มันเกร็งพอสมควรเมื่อจะเข้าไปเรียนรู้ในการทำไม้กวาดด้วยกัน แต่หนูลองเข้าไปพูดคุย แนะนำการทำไม้กวาดอย่างนั้น อย่างนี้ สุดท้าย เราก็กลายเป็นมิตรสัมพันธ์ได้ สามารถเข้ากันได้ ระหว่างปราชญ์ชาวบ้าน และ ผู้ปกครองที่เข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน มันทลายความกลัวตรงนั้นลงไป แม้จะมีความต่างระหว่างอายุ ระหว่างศาสนา หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม แต่หนูเชื่อเสมอว่า การทำสิ่งที่ดีบางอย่างสามารถทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ หลังจากวันนั้นที่ได้เรียนการทำไม้กวาด หนูได้นำเรื่องราวเหล่านี้ ไปบอกแม่ถึงวิธีการทำไม้กวาด และเชิญชวนแม่ว่า “ต้องการทำไม้กวาดไหม หากต้องการทำ หนูพอจะมีช่องทางในการติดต่อประสานงานกับปราชญ์ชาวบ้านที่มาสอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะต้องรวมกลุ่มเพื่อไปเรียนกับปราชญ์ชาวบ้าน “
การเชิญชวนคนใกล้ชิดอย่างแม่ของเธอ เหมือนเป็นจุดประกายให้กับแม่และเพื่อนบ้านเธอ เพราะหลังจากคำเชิญชวนนั้น ชาวบ้านเกิดสนใจ ที่จะรวมกลุ่มเพื่อไปเรียนการทำไม้กวาด
“ตอนนี้แม่และชาวบ้านต่างให้ความสนใจในกิจกรรมการฝึกการทำไม้กวาดเป็นอย่างมาก ตอนนี้รอเพียงเวลาในการรวมกลุ่ม แล้วหลังจากนั้นหนูจะประสานไปยัง ป้าเลื่อน ปราชญ์ชาวบ้านที่สอนการทำไม้กวาดดอกหญ้าให้คะ “ เธอได้เล่าต่ออีกว่า “ การทำกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในห้องเรียน กิจกรรมลงชุมชน กิจกรรมฝึกการทำไม้กวาด เป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ทำให้เกิดความกล้าแสดงออก มีทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น และเป็นคนที่มีอัธยาศัยดีมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย”
ไม้กวาดเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่สามารถทำให้คนสองวัยเข้ามาพูดคุยกัน และทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้คนสองวัยนี้มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยมองข้ามเรื่องของอายุ เพศ ความเชื่อ วัฒนธรรม และ ศาสนา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อไปให้ถึงวัตถุประสงค์ที่วางไว้ร่วมกัน