Skip to main content

เหมืองลาบู ชุมชนในม่านหมอก

 

             รถบรรทุก 6 ล้อ จำนวนสองคันที่มีพลขับมากความสามารถในการขับรถเพื่อพาพาพวกเรา ชาว Hakam โรงเรียนยะหาศิรยานุกูลไปยังเหมืองลาบูหมู่บ้านในม่านหมอก เส้นทางที่ชันและคดเคี้ยวทำให้พวกเราตื่นเต้น ไม่กล้าแม้แต่จะกรีดร้องในความหวาดเสียวนั้นได้ ทำได้เพียงแต่ได้ขอพรให้พี่คนขับพาพวกเราไปยังจุดหมายโดยปลอดภัย

                ถึงเส้นทางจะน่ากลัวและคดเคี้ยวเพียงใดแต่เพราะสองข้างทางที่ล้อมด้วยภูเขาและป่าไม้เขียวขจีสามารถเป็นยาวิเศษขจัดความกลัวของพวกเราไปได้และยังทำให้พวกเราได้ชื่นชมและถ่ายรูปกับธรรมชาติอันสวยงามจนลืมไปเลยว่าเส้นทางนั้นน่ากลัวเพียงใด

                "เหมืองลาบู" สมบูรณ์ด้วยสีเขียวขจีที่ธรรมชาติรังสรรค์ให้ดวงตาได้สัมผัส มีทั้งต้นไม้ใหญ่น้อยเรียงรายหลากหลายชนิดเห็นเป็นภาพสีเขียวทับซ้อนกันไปมา เป็นคำนิยามของคำว่า “สมบูรณ์และบริสุทธิ์” ธรรมชาติ ณ ที่แห่งนี้สมบูรณ์แบบจนอดที่จะเกิดคำถามในใจว่า ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่นี้ มีวิธีการรักษาและจัดการกับธรรมชาติอย่างไรโดยที่ธรรมชาติยังสมบูรณ์และสวยงามถึงเพียงนี้ และหมายมั่นว่าจะต้องถามให้ได้เมื่อเจอเจ้าถิ่น

              รถ 6 ล้อ ได้พาพวกเรามาถึงจุดแรก คือ จุดชมวิวเหมืองลาบู ซึ่งสวยสมคำล่ำรือ จนลืมไปเลยว่าก่อนหน้านี้พวกเรากลัวเพียงใจ เราสามารถสูดออกซิเจนเข้าปอดให้เต็มที่เพื่อให้ปอด หัวใจ สมองได้รับความบริสุทธ์จากสิ่งที่ธรรมชาติมอให้และทอดสายตาให้ยาวไกลเพื่อสัมผัสถึงความสมบูรณ์ของป่าไม้ที่มีความเขียวปกคลุมทุกตารางเมตรที่ไม่มีดินว่างเปล่าให้เห็นแม้แต่บริเวณเดียว

               หมู่บ้านเหมืองแร่ลาบูในสมัยก่อนนั้นขึ้นชื่อในเรื่องของการทำเหมืองแร่เป็นอย่างมาก โดยยุคแรกเป็นชาวมลายูและจีนที่เข้ามาทำเหมืองแร่ หลังจากที่ชาวมลายูกับคนจีนเลิกสัมปนาทานเหมืองแร่แล้วจะยุคที่นายทุนชาวออสเตรเลียมารับช่วงของการทำสัมปทานเหมืองแร่แทนจนถึงปี พ.ศ.2535 หลังจากที่เลิกการทำเหมืองแร่แล้วนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านเผชิญกับความยากลำบากในการทำมาหากินอย่างมากเนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ในสมัยนั้นประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่เพียงอย่างเดียว เมื่อหมดหนทางทำมาหากินชาวบ้านต่างก็ออกจากหมู่บ้านเพื่อไปประกอบอาชีพในตัวเมืองยะลามากขึ้นทำให้ขณะนั้นประชากรในหมู่บ้านเหลือเพียง 30 ครัวเรือน กลายเป็นหมู่บ้านที่แทบจะร้างอีกทั้งเป็นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีเพียงพลังงานจากแสงอาทิตย์และตะเกียนไฟที่คอยให้ความสว่างเพียงเท่านั้น

               แต่ในปี 2540 ความเจริญได้กลับเข้ามาสู่หมู่บ้านอีกครั้งเพราะมีการทำสวนยางซึ่งในปีนั้นนั่นเองราคายางที่มีราคาสูงขึ้นทำให้ประชากรที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้านกลับมาทำงานในหมู่บ้านอีกครั้ง และยึดหลักอาชีพกรีดยางให้กับครอบครัวนับแต่นั้นมาแต่อย่างไรก็ตามขณะนั้นชาวบ้านก็ยังคงใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และตะเกียงไฟในการให้ความสว่างจนถึงเมื่อปี พศ.2557 นี้เองที่หมู่บ้านเริ่มมีไฟฟ้าใช้ทำให้หมู่บ้านที่เคยมืดมิดกลับมามีความสว่างจากหลอดไฟนีออนเหมือนหมู่บ้านอื่นๆ ในจังหวัดยะลาในที่สุด  

              ชุมชนเหมืองลาบูมีสถานที่สำคัญให้ศึกษามากมายไม่ว่าจะเป็น ถ้ำประวัติศาสตร์ 100 ปี , จุดชมตราประจำจังหวัดยะลา, บ้าน 100 ปี , น้ำตกนกน้อย รวมถึงจุดชมวิวเหมืองลาบู ล้วนเป็นสถานที่ที่น่าไปเยี่ยมชมและสัมผัสถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ยังคงมีให้ได้สัมผัส

ถ้ำประวัติศาสตร์ 100 ปี นั้นมีประวัติความเป็นมา คือ ในสมัยที่ออสเตรเลียได้รับสัมปาทานการทำเหมืองแร่ในพื้นที่นั้น พวกเขาจะใช้วิธีการระเบิดและเจาะถ้ำเพื่อบรรทุกดินในถ้ำออกมาและใช้รถรางสองหัวในการนำดินออกมาจากถ้ำและจะขุดแร่ตามเส้นทางแร่ในถ้ำ ซึ่งการระเบิดถ้ำครั้งนั้นทำให้ คนงานที่ชื่อ โรเบิรต์ แฮรี่ หนึ่งในทีมขุดเจาะได้เสียชีวิตในถ้ำด้วยการระเบิด

              สมัยที่ออสเตเรียเข้ามาทำเหมืองแร่ได้นำความเจริญเข้ามาด้วย มีทั้งถนน ไฟฟ้า และมีรถจี้ป ซึ่งการบรรทุกแร่สมัยนั้นจะใช้รถจี้ปเพื่ออกจากหมู่บ้าน ต่างจากสมัยที่คนมลายูและจีนที่จะบรรทุกแร่ด้วย ช้าง เพราะความสะดวกของการเดินทางยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร

               จุดชมตราประจำจังหวัดยะลา เป็นภาพที่อยู่ในตราประจำจังหวัดยะลาที่มี ถ้ำ  คนขนแร่ ลำธารหน้าถ้ำ และ ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่บริเวณถ้ำ สามารถบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางธรรมชาติและอาชีพของคนสมัยก่อนที่ยึดอาชีพการทำเหมืองแร่ในการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ 

                บ้าน 100 ปี  เดิมทีบ้าน 100 ปีเป็นของนายทุนออสเตรเลียที่เข้ามาทำเหมืองแร่ แต่ต่อมาเมื่อ นายทุนออสเตรเลียได้เลิกทำกิจการ จึงได้ขายให้กับ ท่านขุนปัตตานี ซึ่งท่านขุนได้ยกให้กับชุมชนได้ดูแลเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา

              ปัจจุบันผู้นำชุมชน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชนต่างฟื้นฟูและอนุรักษ์ร่องรอยที่ยังเหลือจากการทำเหมืองแร่ให้เป็นสถานที่ศึกษาเชิงประวัติและพยายามที่จะฟื้นฟูให้เป็นสถานที่ศึกษาเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ