Skip to main content

 

ดาวน์โหลดจดหมาย คลิ๊ก ที่นี่

 

จดหมายถึงโตซิลลี่ฟูล

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าผมในฐานะที่เป็นมุสลิมคนหนึ่งเหมือนกับคุณ มีความรู้สึกสะเทือนใจและหดหู่ใจอย่างยิ่งกับการบริภาษและวิจารณ์อย่างถึงพริกถึงขิงถึงการเคารพรูปปั้นของชนศาสนานิกอื่น จนเพื่อนต่าง ศาสนิกจำนวนมากออกมาตอบโต้อย่างรุนแรงทั้งต่อตัวคุณเอง และก้าวล่วงกร่นด่าศาสนาอิสลามด้วยถ้อยคำอันกักขฬะหยาบคายตามมา เพราะศาสนาอิสลามที่ผมเข้าใจนั้น ไม่เคยสอนให้เราไปด่าทอ ดูหมิ่น เหยียดหยาม ลบหลู่ ศาสนาอื่น ดังที่ อัล-กุรอาน ได้กล่าวว่า

وَلَا تَسُبُّوا الَّذِينَ يَدْعُونَ مِن دُونِ اللَّهِ فَيَسُبُّوا اللَّهَ عَدْوًا بِغَيْرِ عِلْمٍ ۗ كَذَٰلِكَ زَيَّنَّا لِكُلِّ أُمَّةٍ عَمَلَهُمْ ثُمَّ إِلَىٰ رَبِّهِم مَّرْجِعُهُمْ فَيُنَبِّئُهُم بِمَا كَانُوا يَعْمَلُونَ

“และพวกเจ้าจงอย่าด่าว่า บรรดาที่พวกเขาวิงวอนขออื่นจากอัลลอฮ์ แล้วพวกเขาก็จะด่าว่าอัลลอฮ์เป็นการละเมิด โดยปราศจากความรู้ ในทำนองนั้นแหละ เราได้ให้ความสวยงามแก่ทุกชาติ ซึ่งการงานของพวกเขา และยังพระเจ้าของพวกเขานั้น คือการกลับไปของพวกเขา แล้วพระองค์ก็จะทรงบอกแก่พวกเขาในสิ่งที่พวกเขากระทำกัน” (อัล-กุรอาน 6:108)

ในฐานะมุสลิม ผมคุ้นชินมาตลอดชีวิตกับการถูกดูถูกเหยียดหยาม ใส่ร้าย ป้ายสี ตลอดจนการบิดเบือนคำสอนจากคนต่างศาสนิกสุดโต่งบางกลุ่มในนามเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นกรณี การวาดภาพการ์ตูน 12 ช่องในประเทศเดนมาร์ก ที่ล้อเลียนท่านนบีมุฮัมหมัด (ศาสดาของศาสนาอิสลาม) อย่างหยาบคายเพื่อสื่อถึงความป่าเถื่อนรุนแรงและมักมากในกาม หรือกรณีการ์ตูนหน้าปกของนิตยสารชาลีเอปโด ในประเทศฝรั่งเศสที่เหยียดหยามนบีมุฮัมหมัดอย่างกักขฬะ หรือกรณีงานเขียนของซัลมาน รุชดี ที่เขียนเป็นหนังสือโดยใช้ชื่อว่า “โองการซาตาน” สิ่งที่ผมได้เห็นจากปฏิกิริยาในโลกมุสลิม รวมทั้งมุสลิมในประเทศไทยก็คือ การแสดงออกด้วยการประท้วงแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการที่อิสลามและท่านนบีถูกลบหลู่หยามเหยียด ซึ่งผมเข้าใจว่าคุณโตก็คงมีความรู้สึกไม่พอใจและได้แสดงออกบางอย่างเช่นกันยามเมื่ออิสลามและท่านนบีถูกลบหลู่ดูหมิ่นเช่นนั้น คำถามผมคือ แล้วทำไมเราต้องไปพูดเชิงดูหมิ่นด่าทอเหยียดหยามความเชื่อความศรัทธาของผู้อื่น สร้างความรู้สึกให้กับเพื่อนต่างศาสนิกที่ไม่ต่างจากเมื่อมุสลิมเราถูกด่าทอเหยียดหยามเฉกเช่นเดียวกัน คุณอาจพูดว่าในเมื่อคุณถูกถาม คุณก็จำเป็นต้องตอบและต้องอธิบาย แต่ผมเห็นว่า มุสลิมเรามีคำตอบ มีคำอธิบายในเรื่องนี้ที่สามารถทำให้เพื่อนต่างศาสนิกได้เข้าใจและยอมรับในจุดยืนของมุสลิมเราได้โดยไม่ต้องทำให้เขารู้สึกว่าถูกด่าทอ ถูกดูหมิ่น ถูกเหยียดหยาม ดังการใช้คำพูดและกิริยาของคุณ ดังนั้น สิ่งที่คุณได้ทำไปในความเห็นของผมจึงไม่ใช่การอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยใช้ปัญญาที่ชาญฉลาดและด้วยคำพูดที่สุภาพ (ฮิกมะฮ์) ดังที่ อัล-กุรอาน ได้สอนไว้ว่า

ادْعُ إِلَىٰ سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ ۖ وَجَادِلْهُم بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ ۚ إِنَّ رَبَّكَ هُوَ أَعْلَمُ بِمَن ضَلَّ عَن سَبِيلِهِ ۖ وَهُوَ أَعْلَمُ بِالْمُهْتَدِينَ

“จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยสุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า แท้จริงพระเจ้าของพระองค์และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาผู้ที่อยู่ในทางที่ถูกต้อง” (อัลกุรอาน 16:125)

ผมแม้จะมีความรู้น้อยทางด้านศาสนาเพราะไม่ได้ศึกษาเชี่ยวชาญมาทางนี้ แต่อิสลามเท่าที่ผมได้รู้จักเรียนรู้ ผมกลับเห็นว่าตลอดประวัติศาสตร์อิสลามและคำสอนวัตรปฏิบัติของท่านนบีมุฮัมหมัดที่มุสลิมเราเรียกว่าอัสซุนนะฮ์นั้น มันเต็มไปด้วยความสุภาพ งดงาม อ่อนน้อม อดทน-อดกลั้น และเคารพให้เกียรติชนทุกศาสนิกไม่ใช่หรือ ดังตัวอย่างในประวัติศาสตร์สมัยท่านนบีฯ ที่คุณเองก็คงทราบดี เช่น 
เมื่อครั้งหนึ่งมีขบวนศพผ่านท่านนบีและปวงอัครสาวก (ศ่อฮาบะฮ์) ปรากฏว่าท่านนบีฯ ได้ลุกขึ้นยืนเพื่อให้เกียรติกับศพที่เสียชีวิตไปนั้น แล้วมีสาวกท่านหนึ่งกล่าวแก่ท่านนบีว่า “ท่านลุกยืนขึ้นทำไม นั่นไม่ใช่ศพมุสลิม” ท่านนบีฯ จึงถามกลับไปว่า “แล้วเขาไม่ใช่มนุษย์เหมือนท่านดอกหรือ?”
หรือเรื่องที่มุสลิมเรามักเล่ากันอยู่เสมอๆ เกี่ยวกับผู้หญิงเพื่อนบ้านของท่านนบีฯ คนหนึ่ง ที่เกลียดท่าน แล้วจะนำขยะมาทิ้งไว้ที่หน้าบ้านท่านเป็นประจำ และท่านนบีฯ ไม่เคยไปด่าตอบโต้กลับหรือแสดงกิริยาเกรี้ยวกราดหยาบคายต่อหญิงผู้นั้น ท่านกลับเก็บขยะที่ถูกนำมาทิ้งไว้หน้าบ้านของท่านไปทิ้งทุกครั้ง ด้วยความอดทน จนกระทั่งวันหนึ่ง หน้าบ้านของท่านว่างเปล่าไม่มีขยะเจ้าประจำมาทิ้งไว้ ท่านจึงไปเยี่ยมหญิงผู้นั้นพร้อมอาหารด้วยความเป็นห่วงว่าเธอไม่สบายไปหรือเปล่าจึงไม่เห็นมาทิ้งขยะไว้หน้าบ้านของท่านในวันนั้น

และผมเห็นว่าเรื่องที่น่าจะเตือนใจคุณและผมรวมทั้งมุสลิมเราทั้งหลายได้ดีที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือ ในสมัยของท่านอุมัร อิบนิ ค๊อตต๊อบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งค่อลีฟะฮ์ (ผู้ปกครองสูงสุดของโลกอิสลามขณะนั้น) และเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็มที่มุสลิมสามารถยึดกลับคืนมาได้ และท่านเดินทางไปที่โบสถ์คริสต์ประจำเมืองเมื่อถึงเวลาละหมาด บาทหลวงชาวคริสต์เชิญท่านเข้าละหมาดในโบสถ์เพราะเห็นว่าได้ตกเป็นของชาวมุสลิมแล้ว แต่ท่านอุมัรกลับขอทำการละหมาดข้างนอกโบสถ์โดยให้เหตุผลแก่บาทหลวงผู้นั้นว่า “ฉันเห็นว่ามีรูปปั้นติดอยู่ในโบสถ์ของท่าน ดังนั้น หากฉันละหมาดข้างในโบสถ์นี้ฉันเกรงว่าคนของฉันในรุ่นต่อมาที่พวกเขาอาจไม่เข้าใจและจะมาทำลายรูปปั้นของท่านไปเสีย ฉันจึงขอละหมาดข้างนอกโบสถ์” และต่อมาในสมัยออตโตมัน เมื่อพิชิตกรุงสะแตนติโนเปิลได้ในปี ค.ศ.1453 ซึ่งคนในเมืองล้วนนับถือศาสนาคริสต์ และพวกเขาต่างร้องไห้ขณะทหารออตโตมันเดินทัพเข้าเมืองเพราะคิดว่าพวกมุสลิมคงกำจัดโบสถ์ศาสนสถานของพวกเขาเสียสิ้น แต่ผู้นำออตโตมันขณะนั้นตระหนักดีถึงหลักคำสอนและการปฏิบัติอันงดงามยิ่งใหญ่ของอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องราวของท่านอุมัรดังกล่าว พวกเขาจึงไม่ได้ทำลายรูปปั้นและรูปเคารพของชาวคริสต์จนเหลือให้เห็นร่องรอยมาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งผมคิดว่าคุณโตก็คงตระหนักดีในเรื่องนี้ไม่ใช่หรือ

ผมเชื่อว่าด้วยการปฏิบัติเช่นนี้ตลอดประวัติศาสตร์อิสลามจึงทำให้ศาสนาอิสลามยิ่งใหญ่และดำรงอยู่มายาวนานจนถึงพวกเราในวันนี้ แล้วทำไมคนรุ่นเรากลับมาลดทอนคุณค่าความงดงามเหล่านั้นไปเสียในการที่ จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน 
ครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่ถือว่ามีจำนวนประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกขณะนี้ ผมได้ฟังเรื่องราวที่อยากจะแบ่งปันกับคุณคือ ที่ชุมชนมุสลิมชื่อสุนันกุดดุส อิหม่ามในชุมชนได้เล่าให้ผมฟังอย่างน่าสนใจว่า เมื่อครั้งอิหม่ามที่เป็นผู้นำมุสลิมจำนวนหนึ่งมายังชุมชนนี้ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูซึ่งพวกเขาไม่ฆ่าวัวเพราะศรัทธาบูชาว่าวัวเป็นเทพของชาวฮินดู ท่านอิหม่ามจึงสั่งให้มุสลิมผู้ติดตามท่านว่าขออย่าได้เชือดวัวเพื่อเป็นอาหารเลย เพราะถึงแม้ว่าการเชือดวัวจะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของมุสลิมที่เชือดเพื่อเป็นอาหาร แต่หากสิทธินั้นมันไปกระทบกระเทือนจิตใจและความเชื่อความศรัทธาของเพื่อนต่างศาสนิกที่อยู่รายล้อมเรา เราก็ควรเลี่ยงที่จะยืนยันสิทธิ์นั้น และไปหาทางเลือกอื่นแทน พวกมุสลิมจึงเชือดควายเป็นอาหารแทนการฆ่าวัว ผมว่าเรื่องอย่างนี้ต่างหากที่เราสมควรพูดและบรรยายกันให้มากขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในท่ามกลางความหลากหลาย

ทำไมผมจำเป็นต้องเขียนจดมายถึงคุณโตหรือครับ? เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เฝ้าศึกษาติดตามสถานการณ์โรคเกลียดกลัวอิสลาม หรือที่เรียกกันว่าอิสลามโมโฟเบียที่แพร่กระจายไปตามโซชียลมีเดียอย่างรวดเร็วในสังคมไทยและเป็นไปอย่างน่ากลัวด้วยการให้ข้อมูลจับแพะชนแกะ ด่าทอบิดเบือนอิสลามจนทำให้คนจำนวนไม่น้อยเกลียดกลัวมุสลิมทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย และอาการของโรคเกลียดกลัวอิสลามทุกวันนี้ไม่ได้เป็นอาการแค่การใช้คำพูดด่าทอ จาบจ้วง แสดงความเกลียดชังที่เรียกว่าเฮทสปีช เท่านั้น หากยังพัฒนาไปถึงขั้นการละเมิดจงใจทำร้ายร่างกายชาวมุสลิมกันแล้วคุณรู้บ้างหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงมุสลิมที่คลุมผมมีอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมที่เด่นชัด มีผู้หญิงมุสลิมคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ขณะเธอขี่รถมอเตอร์ไซด์ได้ถูกรถยนต์จงใจขับเบียดลงข้างทาง แล้วหมุนกระจกด่าทอความเป็นมุสลิมของเธอทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน อีกตัวอย่างหนึง มีหมอที่คลินิกแห่งหนึ่ง พูดกับผู้หญิงมุสลิมที่เอาลูกน้อย 3 คนมาตรวจที่คลินิกด้วยว่า “คุณควรหยุดมีลูกได้แล้ว คุณไม่รู้หรือว่าสังคมไทยเขาไม่ชอบมุสลิม!” นอกจากนั้น เพื่อนผมที่ทำงานศึกษาวิเคราะห์ทางการเมืองเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าให้ฟังว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างศาสนาในสังคมไทยมีความน่าห่วงใยและเปราะบางอย่างยิ่ง โรคเกลียดกลัวอิสลามได้ระบาดไปทั่วอย่างน่ากลัวจนมีการฟันธงว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างศาสนาต่อจากประเทศเมียนมาร์ก็คือ ประเทศไทย!

ข้อคิดเห็นทั้งหมดข้างต้นของผมเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจที่มีความมุ่งมาดปรารถนาอยากจะเห็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของชนทุกศาสนิก และสื่อสารอิสลามที่ไม่ใช่การตอกย้ำสร้างความเกลียดชัง ดังนั้น การเข้าใจและเคารพให้เกียรติกันและกันจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติท่ามกลางความหลากหลายไม่ใช่หรือ อิสลามที่ผมเข้าใจ จึงไม่เคยที่จะสร้างกำแพงอันแน่นหนาเพื่อปิดโอกาสให้คนได้รู้จักเข้าใจในอิสลาม ในขณะเดียวกันอิสลามไม่เคยปิดโอกาสที่จะมีเมตตา น้ำใจต่อพี่น้องในทุก ศาสนิก ผมจำได้ดีถึงเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ที่เป็นคติเตือนใจให้กับมุสลิมในการมองเพื่อนต่างศาสนิก คือ ครั้งหนึ่งอัครสาวกท่านหนึ่งที่ชื่อ ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ อุมัร ได้บอกให้ครอบครัวที่บ้านเชือดแกะตัวหนึ่ง เมื่อท่านเดินทางกลับมายังบ้าน สิ่งแรกที่ท่านถามคนในบ้านคือ “พวกเจ้าได้เอาเนื้อแกะนี้ไปให้เพื่อนบ้านที่เป็นชาวยิวแล้วหรือยัง? เพราะฉันเคยได้ยินท่านนบีมุฮัมหมัดกล่าวว่า ครั้งหนึ่ง ญิบรีล (เทวฑูต) ได้มาย้ำกับฉัน ย้ำแล้วย้ำอีก ถึงสิทธิ์ของเพื่อนบ้านที่เป็นคนต่างศาสนิก จนกระทั่งฉันรู้สึกว่าเพื่อนบ้านคนนั้นมีสิทธิ์ในมรดกของฉันด้วยซ้ำไป!”

ผมไม่มีความสามารถที่จะทำให้คุณโตได้รู้สึกสำนึกแค่ไหนในสิ่งที่คุณได้ทำไปว่าได้ส่งผลกระทบในทางลบอย่างมากต่อมุมองต่ออิสลามและมุสลิมในสังคมไทย จึงได้แต่ขอพร (ดุอาอ์) ให้อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ในการนำทาง (ฮิดายะฮ์) ให้คุณได้ตระหนักและนำสารอิสลามที่แท้จริงสู่ผู้คนอย่างมีปัญญา (ฮิกมะฮ์) และชาญฉลาดกว่านี้…วั้ลลอฮ์ อะอ์ลัม (พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้)

วะบิ้ลลาฮิ เตาฟิก วั้ลฮิดายะฮ์
สุชาติ เศรษฐมาลินี
รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.เชียงใหม่
4 เมษายน 2561

 

ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี

File attachment