Skip to main content

 

ปรากฏการณ์ "พี่โต" สังคมมุสลิมได้บทเรียนอะไร

 

ผมได้รับข้อความจากมิตรสหายของผมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ “พี่โต” ซึ่งเขาเป็นมุสลิม และออกมาตั้งคำถามเพื่อให้ผมได้ขบคิดในนาม “มารดาของตนเอง” เป็น “คนต่างศาสนิกและเลือกที่จะเข้ารับอิสลาม”

คำพูดดังกล่าวของพี่โต ทำร้ายความรู้สึกของตนเอง เป็นอย่างยิ่ง

มิตรสหายของผม บอกว่า เมื่อดูคลิปดังกล่าวรู้สึกเหมือนตัวเองและมารดาโดนกระแทรกอย่างรุนแรงใต้นิยามของการ “เผยแพร่ศาสนาแบบสุดโต่ง”

คำพูดไม่กี่ประโยคของอดีตนักร้องชื่อดังที่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็น “ดารานักการ” ที่ใช้อิสลามและสถานะของการเป็น “ดารา” พาตนเองไปสู่เวที บรรยาย ครั้งแล้ว ครั้งเล่า

เอาเข้าจริง “การเดินสายของพี่โต” ในนาม “นักบรรยาย” ในงานต่าง ๆ นั้น ไม่ได้ถูกเชิญเพราะ “คำบรรยายที่สวยหรู” หรือ “คำปราศรัยที่เลอเลิศ”

ทว่า ถูกรับเชิญด้วย “ภาพตัวแทนแห่งการเป็นดารา” มาก่อน

แน่นอน ผู้ที่ติดตาม ส่วนมาก ก็ติดตามเพราะพี่โตในฐานะ “จิ๊กโก๋กลับใจ” ไม่ใช่ “นักการศาสนา”ที่ดึงศรัทธาตามวิถีแห่งท่านศาสดา ละหลอมรวมผู้คนให้เป็นประชาชาติเดียวกัน

หากมองอย่างไม่เลือกข้างก็จะรับทราบเป็นเบื้องต้นว่า

“การเชิญพี่โต” มาร่วมงานเสวนาและงานมัสยิดต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตภูธรนั้น เกิดจาก “ระบอบสังคมที่มักเสพภาพตัวแทน”และ “การดึงมวลชนมานั่งฟัง” มากกว่า “การเอาสาระจากคำพูดขององค์ปาถก”

ง่าย ๆ คือ ไม่เน้นคุณภาพของผู้พูด ทว่า เน้นให้มี “คนฟังมาก” เข้าไว้และ “ดีดยอดเงินบริจาคให้สูง” เท่านั้นเอง

สรุปแบบดื้อ ๆ นั่นก็คือ “กระแสความนิยมดารา” ลามเลียสังคมความเชื่อ กอปรกับ งานการกุศลต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ต้องการเงินบริจาค จึงเน้น การบริโภคกระแส มากกว่าข้อคิดและคำตักเตือนที่ผู้เข่ารวมจะได้รับกลับบ้านไป

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ของ “พี่โต” สังคมมุสลิมเราสามารถเรียนรู้ได้อย่างน้อยคือ

1. สังคมมุสลิมเรียนรู้ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งนั่นก็คือ “การทำงานศาสนาในฐานะนักเผยแผ่” ในสังคมพหุวัฒนธรรม จะต้องมีความรอบคอบและความเข้าใจองค์รวมของสังคม เน้นการใช้มารยาทและหลักคิดที่เปิดกว้าง “ไม่สุดโต่ง” ไม่ใช่เพื่ออื่น ๆ ใด ทว่า มีเป้าหมายอย่างเดียวนั่นก็คือ “รักษาปึกแผ่นของสังคม” ให้อยู่ด้วยกันอย่างสันติ เพราะศาสดาถูกส่งมาเพื่อ “สันติแก่มนุษยชาติ”

2. สังคมไทยเริ่มเบื่อกับความ “สุดโต่ง” และแน่นอนรังวัดและพื้นที่ของผู้แนวคิดสุดโต่งเริ่มถูกเบียดขับออกจากสังคมไทย เห็นได้จากการออกมาตำนิและไม่เห็นด้วยกับคำพูดของ “พี่โต” โดยเฉพาะ “นักเผยแผ่มุสลิม” เอง นั่นก็เพราะว่า “ความสุดโต่ง” ไม่เคยสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม นอกจจากจะเป็นบ่อนทำลายแล้ว ยังทำให้สังคมเห็นว่า “แนวคิดสุดโต่งนั้น” ล้าหลังเป็นอย่างมาก

3. จำเป็นในการเรียกร้องสังคมพหุวัฒนธรรมให้เข้าใจความเชื่อและรับรู้แนวคิดที่ต่าง จะต้องดำเนินไปด้วยความรอบคอบและการตระหนักรู้ หนำซ้ำ จะต้อง “ไม่วิพากษ์แบบหลับหูหลับตา” และ “บั่นทอนทำร้ายความรู้สึกของผู้เห็นต่าง” ให้ไร้ตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง

4. หน้าที่เรียกร้อง นอกจากกระทำด้วย “ความชอบ” ที่มีอยู่ในตัวของนักเผยแผ่แล้ว “องค์ความรู้และวิทยะปัญญา” ถือเป็นสาระสำคัญ เพราะคำพูดนั้นมีโอกาสสร้างความรักและความชังในเวลาเดียวกัน

5. ผู้ทำหน้าที่เผยแพร่หรือเป็น “กระบอกเสียงของท่านศาสดา” ที่ใช้ศาสนาเป็นสื่อในการเผยแพร่ จะต้องถอดความเป็น “อัตตา” และ “ความเป็นตัวตน” ออก นอกจากบุคลิกภาพที่ก้าวร้าวและความมีทิฐิส่วนตนแล้ว จะต้องเรียนรู้มารยามอันดีงานของศาสดาและบรรดาสาวกในการทำหน้าที่เผยแพร่ “บริษัทของท่านศาสดา” นั้น เป็นหน่วยงานที่ใหญ่ เมื่อ “พนักงาน” เลือกจะมาทำงานในบริษัท จำเป็นจะต้องทำตามกฎระเบียบของบริษัท เพราะกฎระเบียบของบริษัท จะดำรงตัวตนและสถานะของพนักงานไว้ เมื่อพนักงานไม่ได้ปฏิบัติตามนั้น “ความวุ่นวาย” ก็จะเกิดขึ้นอย่างปรากฏการณ์ที่เห็นในขณะนี้

6. สื่อที่ใช้ในปัจจุบันในประเทศไทย จะต้องตระหนักถึง “การสร้างภูมิปัญญาและภูมิคุ้มกัน” เกี่ยวกับ “การเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม” ไม่ใช่มุ่งเน้น การชี้ขาดข้อพิพาทความต่างของสายความเชื่อ นิกาย ลัทธิและกลุ่มอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน “ส่วนมากของสื่อมุสลิม” จะมุ่งเน้น “การโจมตีกันระหว่างกลุ่ม”อย่างที่เราเห็นกันอย่างต่อเนื่อง ทว่าปรากฏการณ์นี้สอนให้เรารับทราบว่า “ทีวีมุสลิม” เองจะต้องปรับตัว ไม่ใช่ยืนยันความเชื่อของกลุ่ม จนสร้างความแตกแยกให้กับสังคม หนำซ้ำ ลามเลียไปสู่สังคมไทยโดยภาพรวม โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีองค์ประกอบไปด้วยศาสนิกต่าง ๆ ซึ่งจะต้องระวัง “การปะทะและการสร้างความชัดแย้ง”

7. ผู้ทำการเผยแผ่จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “ตนเอง” เป็นเพียง คนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ “เทพ” หรือ “เทวดา” ด้วยเหตุนี้ การสื่อสารจึงเป็นไปด้วยความระมัดระวังและมีสติ

8. การสื่อสารกับสังคม โดยเฉพาะสังคมใหญ่ มีข้อจำกัดมากมาย และจะต้องไม่สร้างประเด็นความต่าง ทว่า สิ่งที่สามารถทำได้คือ “สร้างให้ผู้ฟังรำลึกถึงความตายให้มากขึ้น” รักพระเจ้าให้มากขึ้น อยากทำตามแบบฉบับของท่านศาสดาให้มากขึ้น ประเด็นอื่นนอกจากนี้ สมควรขบคิดให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความบาดหมางซึ่งกันและกัน

9. คำพูดเล็กน้อย ในสื่อ อาจส่งผลกระทบต่อสังคมมุสลิมโดยรวม หนำซ้ำ ผู้พูดมีสถานะที่พอจะรักษาและเอาตัวรอดได้จากปมขัดแย้ง ทว่าประชาชนมุสลิมในพื้นที่ต่าง ๆ อาจได้รับผลร้ายและอันตรายจากการ “ปรากฏการณ์สื่อสารสุดโต่ง” ดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ผู้เผยแผ่จะต้องระวังและตระหนักเป็นพิเศษ

เพราะความจริงของชีวิตในพื้นที่ความต่างคือ สนามที่จะต้องเสี่ยงในการปะทะ โดยเฉพาะพื้นที่ชายของของความเชื่อและความศรัทธา คำพูดดังกล่าวที่สุดโต่งอาจเผาพลเมืองของตนเองโดยไม่รู้ตัว

“อย่าสุดโต่งจนอยู่กับใครไม่ได้ อย่าหย่อนยานจนไร้แกน อิสลามคือ หลักคำสอนของแนวทางสายกลาง เมื่อหาแนวทางนั้นไม่เจอ สังคมมุสลิมอาจตกอยู่ในสภาวะเสี่ยง”

บทเรียนราคาแพง

อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม