Skip to main content

 

                                                "ชีวิตใหม่ของสาวน้อยอิลฮามและผองเพื่อน"

                                                                                                                               อิมรอน   โสะสัน

                                                                                                                               นักศึกษาปริญญาเอก สถาบันนโยบายสาธารณะ AUT, NZ

 

Image may contain: 13 people, people smiling, people sitting and outdoor

 

วันนี้ คริสต์ (Mr. Chris  Hawley) อดีตหัวหน้าสำนักงานการต่างประเทศและการพัฒนา แห่งมหาวิทยาลัย AUT นิวซีแลนด์ ชวนผมและมีทู (Myto Silva) เพื่อนชาวติมอร์ เลสเต นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว ช่วยเป็นอาสาสมัคร (volunteer) และเป็นพี่เลี้ยงกลายๆให้กับการอบรมเตรียมความพร้อมผู้ลี้ภัย (refugees) ที่เข้ามาอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ผ่านโครงการที่ชื่อว่า “MIXIT” เป็นความคิดริเริ่มของ The Fledgling Trust (ผมแปลว่า กองทุน ลูกนกหัดบิน) ตั้งแต่ปี 2005 ต่อมาในปี 2012 กองทุน The Mixit Charitable Trust ได้เกิดขึ้นเพื่อดำเนินโครงการนี้โดยเฉพาะ

 

                                          

                                                                                      (ภาพอ้างอิงจาก http://mixit.co.nz/buy-book/)

พวกเขาทำงานกับเยาวชนผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆทั่วโลก พยายามดึง “ความคิดสร้างสรรค์” (celebrating diversity through creativity) ของเยาชนผู้ลี้ภัยผ่านรูปแบบการละคร (drama) การแสดง (performance) และ ศิลปกรรม (arts) เพื่อต้องการเพิ่มพลัง สนับสนุน (empower) ช่วยสร้างความมั่นใจ (confidence) ทักษะการแสดงออกและการสื่อสาร (self-expression and communication skills) ให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อส่งต่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตในโลกใบใหม่ของพวกเขาได้อย่างเหมาะสม ผมได้พบกับเยาวชนที่ต้องลี้ภัยจากประเทศบ้านเกิดหลายคน เช่น ซะฮ์รอ อัสมา อาลี อิลฮาม จากอัฟกานิสถาน น้องมู สาวน้อยจากชาวกะเหรี่ยง เขาเกิดที่แม่สอด จ. ตาก แต่ต้องลี้ภัยตามครอบครัวมาที่นี่ ผมพบกับศิษย์เก่าในโครงการหลายคน จากคองโก ซูดาน ซีเรีย ฯ ตอนนี้พวกเขามีงานทำแล้ว มีการศึกษาที่ดี พวกเขามาให้กำลังใจน้องๆ วันนี้มีการซ้อมละครเวทีเพื่อเตรียมเข้าร่วมมหกรรมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเมือง Auckland

 

Image may contain: 6 people, including Imron Sohsan, people smiling, people sitting and indoor

                                                                                         (น้องมู เธอเกิดที่แม่สอด จ.ตาก ประเทศไทย)

 

ข้อมูลจาก NZ Immigration ระบุว่า นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งใน 26 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการหาที่อยู่ถาวรให้กับผู้ลี้ภัยของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยมีโควต้ารับผู้ลี้ภัยจำนวน 750 คนต่อปี (ปัจจุบันได้พิจารณารับเพิ่มอีกเท่าตัว) และหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มีผู้ลี้ภัยเข้าร่วมโครงการหาถิ่นฐานใหม่ (resettlement) กว่า 33,000 คนแล้ว ตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบันนิวซีแลนด์รับผู้อพยพเป็นกรณีพิเศษจากซีเรียเพิ่มขึ้น

 

“ผู้ลี้ภัยภายใต้โครงการหาถิ่นฐานใหม่” จะต้องเข้ารับการอบรมเป็นเวลาหกสัปดาห์ ณ ศูนย์ฝึกอบรมที่เตรียมไว้ the Mangere Refugee Resettlement Centre (MRRC) (ผมเองก็เคยผ่านโครงการนี้มาด้วยในฐานะผู้มาอยู่ใหม่) โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนิวซีแลนด์ต่อไป ประเด็นอบรมมีตั้งแต่เรื่อง การวางแผนการตั้งถิ่นฐาน การให้บริการทางการแพทย์ การหางาน การศึกษาและภาษาอังกฤษ เป็นต้น หลังจากผ่านการอบรมแล้ว ผู้ลี้ภัยจะได้รับการแนะนำเข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ ได้แก่ Auckland Waikato Manawatu Wellington Nelson และ Dunedin โดยรัฐบาลมีการเตรียมบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ

                                       Refugees

                            (ภาพอ้างอิง จาก http://www.stuff.co.nz/stuff-nation/assignments/13148756/Refugees-starti...)

 

สำหรับสถานการณ์ในระดับโลก จากข้อมูล UNHCR ในปี 2017 ได้สรุปสถิติผู้ที่ต้องทิ้งบ้านทิ้งเมืองตัวเอง (forcibly displaced persons worldwide) ด้วยภัยสงครามและความรุนแรงออกมาอย่างน่าตกใจว่ามีถึง 65.6 ล้านคน น้องๆประชากรของไทยทีเดียว ( วันละ 28,300 คน) ในจำนวนมหาศาลนั้น มีผู้ลี้ภัยถึง 22.5 ล้านคน มากกว่าครึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ร้อยละ 55 ของผู้ลี้ภัยมาจากซูดานใต้ อัฟกานิสถานและซีเรีย ในปี 2016 มีผู้ลี้ภัย แค่ 189,300 คน เท่านั้นที่ได้รับการต้อนรับให้เริ่มชีวิตใหม่ นอกจากนั้น มีผู้ที่ไร้รัฐ (stateless people) อีก 10 ล้านคน พวกเขาถูกปฏิเสธสัญชาติและสิทธิพื้นฐานต่างๆที่พึงมี และถ้าวิเคราะห์ตัวเลขเหล่านี้และความจริงที่ว่า UNHCR มีเจ้าหน้าที่แค่เพียง 10,966 คนที่ต้องทำงานอยู่ทั่วโลก คงหวังการแก้ไขปัญหาจากองค์กรนี้เพียงองค์กรเดียวเห็นจะเลือนลางเต็มที

 

“หนูมาอยู่ที่นี่ มีความสุข ครอบครัวได้รับการต้อนรับ ตอนนี้หนูกำลังจะเข้ามหาวิยาลัยแล้ว ” ผมนั่งฟัง“อิลฮาม” สาวน้อยอัฟกัน เธอพูดได้ทั้งภาษาฟาร์ซี หรือดารี และภาษาอังกฤษที่ฉะฉาน เล่าถึงอนาคตของเธอด้วยแววตาแห่งความหวังและรอยยิ้มที่เธอได้บอกเล่าชีวิตใหม่ของเธอบนแผ่นดิน Aotearoa "ดินแดนแห่งเมฆยาวสีขาว" จนผมเลิกล้มความคิดที่อยากรู้เกี่ยวกับอดีตของเธอในที่สุด...

 

 

                          

                                                                                        (ภาพอ้างอิงจาก https://marrc.org.nz/contact/)