เผยแพร่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553
แถลงการณ์
ปปช.และดีเอสไอ ล้มเหลว ล้าช้า ปกป้องเจ้าหน้าที่ฯ
กรณีคดีซ้อมผู้ต้องหา ซึ่งนำไปสู่การอุ้มหายทนายสมชาย คดี 7 ปี ไม่มีความคืบหน้า
ประชาชนไร้ที่พึ่ง คนผิดลอยนวล
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553 จากที่โฆษกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้แถลงถึงกรณีผลการพิจารณาชี้มูลความผิดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาพล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยากับพวก รวม 19 คน กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมกันกลั่นแกล้งผู้ต้องหาคดีปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นปฐมบทความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ลุกลามกว้างขวางทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องบาดเจ็บและล้มตายจนปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตกว่า 4000 คน
ผู้ต้องหาคดีปล้นปืนทั้งหมด 32 คนศาลตัดสินยกฟ้องไปทั้งหมดแล้ว โดยก่อนที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรจะหายตัวไป ทนายสมชายได้ร้องเรียนว่าผู้ต้องหาผู้เป็นลูกความ 5 คนถูกซ้อมทรมาน และต่อมาทนายสมชายก็ได้ถูกทำให้หายไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ริมถนนฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจหัวหมาก กรุงเทพมหานคร ซึ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีความผิดต่อเสรีภาพและปล้นทรัพย์นายสมชาย นีละไพจิตรได้มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษพ.ต.ต.เงิน ทองสุก ว่ามีความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวทนายสมชายฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2549 และศาลอุทธรณ์มีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553 แต่ศาลอุทธรณ์ได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปด้วยว่าพ.ต.ต.เงิน หนึ่งในผู้ต้องหาได้หายตัวไปปริศนาและทางญาติได้ดำเนินการขอให้ศาลรอการไต่สวนบุคคลสูญหาย ซึ่งสร้างความกังวลว่าเสมือนเป็นการปกปิดและพยายามใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อให้อ่านคำพิพากษาคดีอุทธรณ์ล่าช้าไปโดยไม่มีความจำเป็นและส่อพิรุธเนื่องจากผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บางส่วนยังปฏิบัติหน้าที่ราชการ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อาจมีส่วนเกี่ยวขัองกับข้อกล่าวหาดังกล่าวยังคงปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่
การยื่นคำร้องต่อปปช.พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยากับพวก รวม 19 คน กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นเป็นสำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2548 ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ยื่นสำนวนพร้อมหลักฐาน อีกทั้งได้มีการคุ้มครองพยานที่เป็นเหยื่อถูกซ้อมทรมานจำนวน 3 คน จนกระทั่งนายอับดุลเลาะห์ อาบูการี ได้หายตัวไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ข้อพิจารณาของปปช. โดยให้เหตุผลว่ารายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือผลการตรวจร่างกายของแพทย์หลายรายเป็นเพียงภาพถ่ายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดขณะที่มีการควบคุมตัว แต่ใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวนด้วยอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษกว่า 6 ปีและ ปปช. ใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อชี้มูลเป็นเวลากว่า 3 ปี ผลการพิจารณาเป็นแต่เพียงว่าการซ้อมทรมานไม่มีหลักฐาน การปฏิบัติหน้าที่ของ ปปช.และกรมสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวจึงเป็นไปโดยล่าช้าเกินสมควร และยังไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมและเป็นที่พึ่งของประชาชนในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขช่องโหว่ของการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานตำรวจที่มีแนวโน้มว่าจะใช้อำนาจเกินขอบเขตโดยปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุล ทำให้น่าสงสัยว่าทั้งสองหน่วยงานคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เที่ยงธรรม และเป็นที่พึงของประชาชนได้หรือไม่
จึงขอเสนอให้รัฐบาลโดยการนำของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะตั้งกรรมการตรวจสอบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปโดยสุจริต ถูกแทรกแซงโดยผู้มีอิทธิพลหรือไม่? แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบของปชชต่อญาติของผู้เสียหายและสาธารณะชนเพื่อนำความจริงให้ปรากฎต่อเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการประพฤติไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ให้คำนึงว่าข้อพิรุธในเรื่องความล้มเหลว ความล้าช้าขององค์กรอิสระในการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นอาจเกิดจากการแทรกแซงจากข้าราชการและผู้มีอิทธิพลนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในบทบาทในการสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทยที่มีความขัดแย้ง อีกทั้งคดีสำคัญดังกล่าวยังส่งผลกระทบภาพพจน์ของประเทศไทยต่อประชาคมโลก ซึ่งเป็นความล้มเหลวหากใช่เป็นผลงานของรัฐบาลนี้ไม่