Skip to main content
มูฮำหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ บูหงารายานิวส์
แซมซู แยะแยง สื่อสันกาลาคีรี
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSW)
 
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 ที่ห้องประชุมวิทยอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี การประชุมสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies” ดำเนินมาเป็นวันที่ 3 โดยในช่วงเวลาประมาณ 13.30 น. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ 40 แห่ง จาก 16 ประเทศได้ร่วมกันประกาศปฏิญญาปัตตานี หลังจากที่ได้ใช้เวลาร่วมกันร่างเกือบ 4 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 09.00 น.
 
 
 

โดยปฏิญญาปัตตานีปัตตานีดังกล่าว รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีหมาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้อ่านปฏิญญาเป็นภาษาไทย และผู้บริหารมหาวิทยาลัยในประเทศจอร์แดนเป็นผู้อ่านคำประกาศเป็นภาษาอาหรับ เนื้อหาของปฏิญญาปัตตานี สรุปได้ดังนี้

สืบเนื่องจากการหารือในการประชุมนานาชาติ เรื่อง “Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies” ณ จังหวัดปัตตานี ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21 – 23 ธันวาคม 2553 พวกเราเห็นพ้องต้องกัน และรับหลักการสำคัญเพื่อการพัฒนาอิสลามศึกษา จึงขอประกาศปฏิญญาว่า

1. อิสลามศึกษาจะนำไปสู่สันติสุข และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เฉพาะระหว่างชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงมวลมนุษยชาติ

2. อิสลามศึกษาจะบูรณาการศาสนา การศึกษาด้านวัฒนธรรม การฝึกอบรมด้านวิชาชีพและทักษะที่สอดคล้องกันเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน และอนาคตของเยาวชนในรุ่นต่อๆไป

3. อิสลามศึกษาจะส่งเสริมและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งรวมถึงความมั่นคงและความยุติธรรมทางสังคมด้วย

4. อิสลามศึกษาจะส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมุสลิม ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างพลเมืองของโลก

5. อิสลามศึกษาจะส่งเสริมในเรื่องโอกาสในการพูดคุยระหว่างสมาชิกประชาคมมุสลิม และเสริมสร้างคุณค่าของมนุษย์ให้ตระหนักถึงสันติภาพของชาติ และป้องกันความคิดที่สุดโต่ง

ภายใต้หลักการสำคัญเหล่านี้ พวกเราในฐานะผู้แทนมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา ขอให้คำมั่นว่า

1. พวกเราจะตระหนักถึงเรื่องความสำคัญ ของคุณภาพ และความสมบูรณ์ของอิสลามศึกษา เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานอิสลามศึกษา (Islamic Studies Coordinating Committee : ISCCO) ภายในปี พ.ศ.2555 (ค.ศ.2012 / ฮ.ศ.1434)

2. พวกเราจะจัดตั้งเครือข่ายองค์กรการวิจัย (Research Organization Network : RON) เพื่อประสานและอำนวยความสะดวกในคุณภาพของงานวิจัยทางวิชาการ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจและการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่ออิสลามศึกษาและสังคมของเรา

3. ให้การงานวิชาการมีความง่ายดายและสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์การพัฒนา

4. การร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น ระหว่างนักวิชาการต่างๆ ในเรื่องของการทำวิจัย

5. มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจร่วม

6. การจัดหลักสูตรทางด้านการศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์

7. วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา เป็นจุดศูนย์รวมภาษาอาหรับในประเทศไทย

8. การประชุมลักษณะนี้จะจัดทุกๆ 2 ปี