Skip to main content

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

นับจากวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดคดีบุกเข้าโจมตีปล้นปืนทหารกว่า 400 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส หลังจากนั้น "ความไม่สงบ" ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งการลอบยิง การวางระเบิด การวางเพลิง การโจมตี และการก่อกวนด้วยวิธีการต่างๆ ความรุนแรงดังกล่าวนำมาซึ่งการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต ตามมาด้วยความแตกแยกและหวาดระแวงของผู้คนในชุมชนเดียวกัน ไม่รู้ใครเป็นใคร ความมืดเข้าครอบงำ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่เห็นวี่แววของการคลี่คลายของสถานการณ์

จากการเก็บข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ Violence-related Injury Surveillance (VIS) ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เริ่มจัดตั้งระบบและเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลให้เอื้อต่อการนำไปใช้พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กำหนดนโยบายและวางแผน จัดสรรทรัพยากร ควบคุมป้องกันการบาดเจ็บ และช่วยเหลือเยียวยาผู้สูญเสียจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยกลุ่มประชากรที่เฝ้าระวัง ได้แก่ ผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการบาดเจ็บจากสาเหตุภายนอกแบบตั้งใจ (Intentional injury) ทุกราย ที่มารับการรักษาหรือชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลของรัฐจำนวน 47 แห่งของจังหวัดสงขลา, จังหวัดสตูล, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส โดยนำข้อมูลระบบเฝ้าระวังฯ เฉพาะเหตุการณ์ที่มีสาเหตุจากความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาวิเคราะห์

เหตุการณ์วันนี้ ดีขึ้นหรือแย่ลง

          เหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมดที่เก็บข้อมูลได้ทั้งจากระบบเฝ้าระวังฯ (VIS) จากโรงพยาบาล และจากฐานข้อมูลศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังแสดงในแผนภูมิข้างล่างนี้

แผนภูมิที่ 1. จำนวนเหตุการณ์สะสมรายเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2547

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์โดยภาพรวมยังไม่ดีขึ้น จำนวนเหตุการณ์ที่เกิดเหตุความไม่สงบยังเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง  และเป็นทิศทางขาขึ้นที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะลดลง

จากวลีแห่งปี 2547 ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ว่า "โจรกระจอก" ในวันนี้ถือเป็นบทสรุปที่ชัดเจนจากทั้งฝ่ายความมั่นคง รัฐบาล และนักวิชาการ ที่ต่างมีข้อสรุปตรงกันแล้วว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีองค์ประกอบหลักมาจาก "กลุ่มขบวนการ" ที่มีวัตถุประสงค์และอุดมการณ์ที่ชัดเจนในการแบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐปัตตานี และมีกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มค้าของเถื่อน ยาเสพติด หรือ อาชญากรรม เป็นองค์ประกอบรองลงมา

ในระยะครึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงได้ใช้ยุทธวิธีในการปฏิบัติการในลักษณะการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และเชิญตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบถามข้อมูล โดยเรียกปฏิบัติการในแต่ละครั้งว่า "ยุทธการ..."  หมายความว่าหากปฏิบัติการในตำบลใดก็จะใช้ชื่อตำบลนั้นต่อท้าย เช่น ยุทธการปะแต เป็นต้น

ฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้นั้นควบคุมได้และมีสภาพดีขึ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงคำประกาศที่หวังผลจากจิตวิทยามวลชนที่ขัดแย้งกับข้อมูลความเป็นจริงและขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าทุกหนแห่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอชายแดนของจังหวัดสงขลาจะมีสถานการณ์รุนแรงทุกพื้นที่ แต่ละพื้นที่มีลักษณะความรุนแรงที่มากน้อยแตกต่างกันไป

ตามดูความรุนแรงรายอำเภอ

จากการเฝ้าระวังฯ ในโรงพยาบาลต่างๆ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน 2550) สามารถแจกแจงจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแยกตามอำเภอที่เกิดเหตุได้ดังแสดงในแผนภูมิข้างล่างนี้

แผนภูมิที่ 2. จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ตามอำเภอที่เกิดเหตุ

จะเห็นได้ว่าศูนย์กลางความรุนแรงนั้นมีอำเภอเมืองจังหวัดยะลาเป็นศูนย์กลาง และขยายตัวออกไปตามแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี คือ อำเภอบันนังสตา, อำเภอยะหา, อำเภอธารโต (จังหวัดยะลา) และอำเภอสะบ้าย้อย (จังหวัดสงขลา) ซึ่งทั้ง 4 อำเภอนี้มีพื้นที่ติดต่อกันและเป็นแนวป่าเขาชายแดนไทยมาเลเซีย 

นอกจากนี้ความรุนแรงก็ขยายออกไปทางทิศใต้ของอำเภอเมืองยะลา โดยในส่วนที่ติดต่อกับจังหวัดนราธิวาส เช่น อำเภอรามัน (จังหวัดยะลา) อำเภอรือเสาะ อำเภอบาเจาะ อำเภอระแงะ อำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงปาดี (จังหวัดนราธิวาส)

ส่วนอีกหนึ่งวงของความรุนแรงมีอำเภอเมืองปัตตานีเป็นศูนย์กลาง โดยมีเหตุรุนแรงหนาแน่นทั้งในเขตอำเภอเมืองและอำเภอรอบๆ เช่น อำเภอหนองจิก, อำเภอยะรัง, อำเภอยะหริ่ง, อำเภอสายบุรี และอำเภอโคกโพธิ์

เป็นที่น่าสังเกตว่า การก่อความไม่สงบของกลุ่มขบวนการในตัวจังหวัดนั้น มีการก่อเหตุจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในอำเภอเมืองจังหวัดยะลาเป็น 2 เท่า มากกว่าอำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี และอำเภอเมืองจังหวัดนราธิวาส

          ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ในบางอำเภอมีสัดส่วนการเสียชีวิตของผู้ประสบเหตุสูงกว่าอำเภออื่น เช่น อำเภอสุคิริน, อำเภอยี่งอ, อำเภอจะแนะ, อำเภอระแงะ, อ.ศรีสาคร (จังหวัดนราธิวาส) อำเภอหนองจิก, อำเภอปะนาเระ (จังหวัดปัตตานี) อำเภอสะบ้าย้อย, อำเภอหาดใหญ่ (จังหวัดสงขลา) ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีกองกำลังที่มีความเชี่ยวชาญระดับแกนนำในการก่อเหตุมากกว่าในพื้นที่อื่น ซึ่งหมายความว่าต้องมีเครือข่ายการข่าว การหลบซ่อน หรือการทำงานเป็นทีมที่ดี จึงสามารถก่อเหตุได้ผลกว่าพื้นที่อื่นๆ

เจาะลึกพื้นที่เสี่ยงสูง 5 อำเภอแรก

          จากข้อมูลในระบบการเฝ้าระวัง VIS พบด้วยว่า อำเภอที่มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุด 5 ลำดับแรกคือ อำเภอเมืองยะลา, อำเภอยะหา, อำเภอบันนังสตา (จังหวัดยะลา) อำเภอบาเจาะ และอำเภอระแงะ (จังหวัดนราธิวาส) ตามลำดับ

          เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลของความสูญเสียทั้งจากการบาดเจ็บและการเสียชีวิตแยกเป็นรายเดือนในแต่ละอำเภอ จะพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง ดังแสดงในแผนภูมิข้างล่างนี้

แผนภูมิที่ 3. จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 10 อันดับแรกตามที่เกิดเหตุ
จำแนกตามเดือนและอำเภอที่เกิดเหตุ

ปรากฏการณ์ของสถานการณ์ใน 5 อำเภอนั้น จะเห็นว่า สถานการณ์ความสูญเสียในอำเภอเมืองยะลานั้นทรงๆ อยู่ในระดับสูง  ส่วนอำเภอยะหาดูเหมือนจะลดลงเล็กน้อยในเดือนมิถุนายน ขณะที่อำเภอบันนังสตาและอำเภอรือเสาะนั้นสถานการณ์รุนแรงขึ้นอย่างชัดเจน จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเดือนมิถุนายนมากกว่าเดือนมกราคม 3-5 เท่า และยังมีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงขึ้น ซึ่งต่างกับที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสนั้นสถานการณ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากข้อมูลยังเห็นด้วยว่า การประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2550 ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอยะหา และอำเภอบันนังสตา ไม่ได้ทำให้ภาพรวมของการก่อความไม่สงบอันนำไปสู่การสูญเสียที่ลดน้อยลง แต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอำเภอยะหา แม้ความสูญเสียดูเหมือนจะมีแนวโน้มลดลงในเดือนมิถุนายน แต่ในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนแรกๆ ของการประกาศเคอร์ฟิว สถานการณ์กลับมีความสูญเสียมากขึ้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่า การประกาศเคอร์ฟิวนั้นทำให้สถานการณ์ในอำเภอยะหาดีขึ้น ที่สถานการณ์ดีขึ้นในเดือนหลังอาจเนื่องมาจากปัจจัยหรือยุทธวิธีอื่นๆ มากกว่า

ดังนั้น โจทย์ที่น่าสนใจ คือ การประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่อำเภอยะหาและอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ยังเป็นประโยชน์หรือไม่ในการลดการสูญเสีย หรือจะกลับกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนทั้งในการประกอบอาชีพและการประกอบศาสนกิจมากกว่า อันจะไม่เป็นผลดีในแง่จิตวิทยามวลชน แต่หากยกเลิกไป สถานการณ์จะแย่ลงกว่านี้อีกหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวยังรอการวิเคราะห์เพิ่มเติม

อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ เหตุใดเหตุการณ์ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสจึงดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา หากสามารถถอดบทเรียนจากพื้นที่อำเภอบาเจาะได้ อาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการควบคุมสถานการณ์ในบางพื้นที่ที่มีบริบทใกล้เคียงกันได้เช่นกัน

วัน เวลา สถานที่ แห่งความเสี่ยง

          จากการเฝ้าระวังการบาดเจ็บอันเนื่องมาจากความรุนแรงในสถานการณ์ไฟใต้ ได้มีการรวบรวมข้อมูลวัน เวลา สถานที่ที่เกิดเหตุไว้ด้วย ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์โดยภาพรวมทุกพื้นที่จะเห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะการเกิดเหตุดังนี้

          เมื่อพิจารณาวันที่เกิดเหตุการณ์ จะพบว่ามีการกระจายของวันที่เกิดเหตุทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ อย่างไรก็ตามวันจันทร์มีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์มากที่สุด ขณะที่วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เกิดเหตุการณ์น้อยกว่าวันจันทร์ถึงพฤหัส ซึ่งอาจจะอธิบายได้ว่า เนื่องจากในวันหยุด ความเคลื่อนไหวของกลุ่มข้าราชการหรือฝ่ายรัฐนั้นมีน้อยกว่า จึงเกิดเหตุน้อยกว่า

ข้อมูลการกระจายของวันเกิดเหตุได้แสดงดังในแผนภูมิข้างล่างนี้

แผนภูมิที่ 4. จำนวนเหตุการณ์จำแนกตามจังหวัดและวันใน 1 สัปดาห์ที่เกิดเหตุการณ์

เมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง พบว่าช่วงเวลาเดินทางของประชาชนไป-กลับจากการทำงาน คือประมาณ 08.00 นาฬิกา และช่วงประมาณ 17.00 นาฬิกา เป็นช่วงเวลาที่มีการก่อเหตุสูง แต่ก็จะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลากลางวันนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน

ส่วนช่วงเวลาที่มีการก่อเหตุน้อยที่สุด คือช่วงดึกหลังจาก 22.00 นาฬิกาทุ่มขึ้นไปจนถึงตี 5 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นเวลาที่ผู้คนยังคงอยู่ในบ้านเพื่อพักผ่อน การก่อเหตุหรือการสัญจรอาจเป็นที่ต้องสงสัยและถูกจับตามองได้ง่ายกว่าในช่วงกลางวันที่สามารถปะปนกับผู้คนหลังเกิดเหตุการณ์ได้ อย่างไรก็ตามในช่วงหัวค่ำจนถึง 21.00 นาฬิกาจะเป็นช่วงเวลาแห่งความหวาดหวั่นของประชาชนในพื้นที่เพราะการเกิดเหตุการณ์มีความถี่สูง โดยมีช่วงเวลาประมาณ 20.00 นาฬิกาเป็นช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สูงสุดของวัน

          ข้อมูลการกระจายของเวลาที่เกิดเหตุการณ์ได้แสดงดังในแผนภูมิข้างล่างนี้

แผนภูมิที่ 5. จำนวนเหตุการณ์จำแนกตามจังหวัดและเวลาที่เกิดเหตุการณ์ (1 จุดแทน 1 เหตุการณ์)

สำหรับสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งเกิดเหตุบนท้องถนน ส่วนที่เกิดเหตุในร้านค้า ตลาด หรือบ้านพักรวมกันประมาณ 1 ใน 6 ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาเกิดเหตุที่มักเกิดในช่วงที่ผู้คนเดินทางไปและกลับจากการทำงานในช่วงเช้าและช่วงเย็น อย่างไรก็ตามจากข้อมูลพอจะสังเกตได้ว่า มีแนวโน้มของการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สาธารณะเช่นสนามกีฬาเพิ่มมากขึ้น

          ข้อมูลจำแนกสถานที่เกิดเหตุได้แสดงดังในแผนภูมิข้างล่างนี้

แผนภูมิที่ 6. จำนวนเหตุการณ์จำแนกตามเดือนและลักษณะสถานที่เกิดเหตุ

ความสูญเสียแยกตามลักษณะกลุ่มอายุ ศาสนา เพศ และอาชีพ

เมื่อแจกแจงกลุ่มอายุ ศาสนา เพศ และอาชีพของผู้ที่เข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2550 นั้น สามารถแจกแจงรายละเอียดดังแสดงในแผนภูมิข้างล่างนี้

แผนภูมิที่ 7. ลักษณะของผู้บาดเจ็บจำแนกตามกลุ่มอายุ ศาสนา และเพศ

แผนภูมิที่ 8. อาชีพของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

จะเห็นได้ว่า ชายหนุ่มไทยพุทธช่วงอายุ 20-29 ปีเป็นกลุ่มที่ประสบเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุด โดยอาชีพทหารเป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด ในกลุ่มตำรวจเองก็มีความสูญเสียมากเช่นกันประมาณ 60% ของกลุ่มทหาร ส่วนข้าราชการอื่นๆ ที่มีความสูญเสียรองๆ ลงมา คือกลุ่มข้าราชการสายมหาดไทยและข้าราชการครู 

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า มีกลุ่มผู้หญิง คนชรา เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และนักเรียนนักศึกษาที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบเป็นจำนวนไม่น้อย และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น

จากข้อจำกัดในการเก็บข้อมูลโดยการสอบถามจากผู้ป่วยหรือญาติที่โรงพยาบาล ที่ในหลายกรณีผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บรุนแรงจำเป็นต้องรีบส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอื่น หรือเป็นผู้เสียชีวิตซึ่งไม่สามารถถามข้อมูลจากใคร ทำให้เก็บข้อมูลอาชีพได้ไม่ครบถ้วน มีกลุ่มที่ไม่สามารถระบุอาชีพจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในกลุ่มของข้าราชการส่วนใหญ่น่าจะสามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วน ดังนั้นกลุ่มที่ไม่ระบุอาชีพหรืออาชีพอื่นๆ นั้นสันนิษฐานได้ว่า ส่วนใหญ่ก็คือชาวบ้านในพื้นที่เกิดเหตุ ดังนั้นหากรวมยอดความสูญเสียของกลุ่มเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน นักเรียน ค้าขาย และกลุ่มที่ไม่ระบุอาชีพหรืออาชีพอื่นๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าประชาชนทั่วไปตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากกว่าข้าราชการกว่า 2 เท่า และมีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงกว่ามาก

          เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า สำหรับกลุ่มกำนัน อบต. และผู้ใหญ่บ้านนั้น จะได้ผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิตเป็นส่วนมาก ในขณะที่กลุ่มอาชีพอื่นจะได้รับบาดเจ็บมากกว่าการเสียชีวิต ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เป็นการจัดการกับคู่อริทางการเมืองมากกว่าจากสถานการณ์ความไม่สงบ

หรือหากเกิดจากสถานการณ์ไม่สงบ ก็อาจเป็นการลงมือโดยทีมงานมืออาชีพ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่รับใช้รัฐไทยหรือเป็นคนฝ่ายรัฐไทยที่มีพฤติกรรมเข้าข้างฝ่ายขบวนการ อย่างไรก็ดีควรต้องมีการศึกษาถึงเหตุผลที่แท้จริงในประเด็นนี้ให้ลึกซึ้งต่อไป

แบ่งอำเภอสีแดง สีชมพู สีเขียว ด้วยข้อมูลและแนวโน้มของความรุนแรง

          จากการประมวลข้อมูลจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแจกแจงรายเดือนตามรายอำเภอตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2550 ทำให้สามารถเห็นภาพแนวโน้มของความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้นว่า "พื้นที่ใดสถานการณ์แย่ลง พื้นที่ใดสถานการณ์ดีขึ้น"

แต่เนื่องจากในแต่ละอำเภอมีจำนวนประชากรที่ไม่เท่ากัน การเปรียบเทียบการบาดเจ็บระหว่างอำเภออย่างเหมาะสมจึงต้องเปรียบเทียบโดยการคำนวณอัตราการบาดเจ็บ โดยการหารจำนวนผู้บาดเจ็บด้วยจำนวนประชากรของอำเภอนั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น อำเภอบันนังสตา ซึ่งมีประชากรเพียง 60,000 คน แต่เกิดเหตุการณ์จนนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายถึง 96 คน ความรุนแรงของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ย่อมรุนแรงกว่าอำเภอเมืองยะลาที่แม้จะมีจำนวนผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตมากกว่า คือ 120 คน แต่ด้วยประชากรของอำเภอเมืองยะลาที่มีมากกว่าอำเภอบันนังสตาถึง 3 เท่า ทำให้เมื่อเปรียบเทียบโดยคำนวณอัตราการบาดเจ็บเทียบต่อประชากรแสนคนแล้ว ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเสียชีวิตจากสถานการณ์ของคนในอำเภอบันนังสตาจึงรุนแรงกว่าอำเภอเมืองยะลามาก

อัตราการบาดเจ็บของอำเภอเทียบต่อแสนประชากรของแต่ละอำเภอดูได้จากสีที่ระบายเป็นสีพื้นของอำเภอนั้น ส่วนแนวโน้มของสถานการณ์จากจำนวนผู้บาดเจ็บเสียชีวิตแยกรายเดือนในแต่ละอำเภอจะเห็นได้จากกราฟแท่ง 6 สี ดังได้แสดงในแผนภูมิข้างล่างนี้

แผนภูมิที่ 9. Area map แสดงอัตราการบาดเจ็บรายตำบลตามพื้นที่เกิดเหตุการณ์ (GIS Area map)

         จากแผนภูมิแสดงอัตราการบาดเจ็บต่อแสนประชากรจะพบว่า

- พื้นที่ที่มีความหนาแน่นของความสูญเสียต่อประชากรสูงมาก ได้แก่ อำเภอยะหและอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา อำเภอบาเจาะและอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส 
        
- พื้นที่ที่มีความหนาแน่นของความสูญเสียต่อแสนประชากรในระดับที่สูงรองลงมาคือ อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี และอำเภอสุไหงปาดี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส 
        
- พื้นที่ที่มีความหนาแน่นของความสูญเสียต่อแสนประชากรในระดับปานกลางคือ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส อำเภอธารโต จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี
         - พื้นที่ที่มีความหนาแน่นของความสูญเสียต่อแสนประชากรในระดับปานกลางรองลงมาคือ อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง อำเภอสายบุรี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี อำเภอกาบัง อำเภอรามัน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
        
- ส่วนอำเภอที่เหลือคือพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของความสูญเสียต่อแสนประชากรในระดับต่ำ

จากแผนภูมิแจกแจงจำนวนผู้บาดเจ็บเสียชีวิตรายเดือน จะเห็นได้ว่า คลื่นความรุนแรงที่กำลังขยายตัวนั้นกระจุกอยู่ตอนกลางของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่

- อำเภอเมืองยะลา อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา 
         
- อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
        
- อำเภอยะหริ่ง อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอไม้แก่น อำเภอกะพ้อ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
        
- อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการขยายตัวของความรุนแรงที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบนั้นเป็นสิ่งที่มีความอ่อนไหว แม้ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มของความรุนแรงน้อยลง สถานการณ์ดีขึ้น หรือเหตุการณ์สงบมานาน ก็มีความเปราะบาง พร้อมที่จะพลิกผันสู่สถานการณ์ความรุนแรงได้โดยง่าย ทั้งจากความผิดพลาดของรัฐบาลเอง หรือจากการปรับตัว จัดทัพ เสริมกำลัง ขยายแนวร่วมใหม่ได้สำเร็จของฝ่ายขบวนการ

สถานการณ์แย่ลง มุมมองภาคประชาสังคม

จากข้อมูลที่ปรากฏ สถานการณ์ในวันนี้ยังไม่ดีขึ้น การเหมารวมว่า "สถานการณ์โดยภาพรวมดีขึ้นหรือไม่ได้แย่ลง" นั้น เป็นเพียงวาทะของการประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่การบอกกล่าวความจริงแก่สาธารณชน  อีกทั้งคำว่า "ภาพรวมของสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้" ก็เป็นคำที่กว้างเกินกว่าที่จะบอกสาระความจริงแก่สาธารณะได้อย่างเหมาะสม

เมื่อไม่นานมานี้ ฝ่ายความมั่นคงประกาศว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีพื้นที่สีแดงแล้ว มีแต่พื้นที่สีชมพู การประกาศแบ่งสีของพื้นที่โดยฝ่ายความมั่นคงบ่อยครั้งมักมีวาระซ่อนเร้นหรือมีวาระที่รัฐบาลขอมามากกว่าที่จะเป็นการประกาศบนพื้นฐานข้อมูลจริง การนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยการเปิดเผยข้อมูลความเป็นจริงในพื้นที่ที่มีการวิเคราะห์ให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย จะสร้างความตระหนักของประชาชนในพื้นที่และจะนำไปสู่การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม

หากคนในพื้นที่คือผู้ที่เข้าใจสถานการณ์มากที่สุดแล้ว เขาเหล่านั้นจะเป็นผู้เลือกระบายสีให้แก่ท้องถิ่นที่ตนเองและบรรพบุรุษถือกำเนิด พำนักอาศัย และทำมาหาเลี้ยงชีวิต ทั้งของตนและลูกหลานต่อไปเอง โดยไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีชมพู หรือสีเขียว

หมายเหตุ
ข้อมูลและแผนภูมิของบทความนี้ นำมาจาก "รายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Violence-related Injury Surveillance - VIS) ประจำเดือน มกราคม-มิถุนายน 2550"  ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลของรัฐและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.), สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา, สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) และหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้ร่วมจัดเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ

หากต้องการศึกษาข้อมูลในรายละเอียดสามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่
  
- Violence-related Injury Surveillance (VIS)
   
- บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้