Skip to main content

ผู้หญิงภาคประชาสังคม เพื่อสันติภาพชายแดนใต้

สื่อกระแสหลักน่าจะนำเสนอเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ในขณะที่บางคนก็มองว่า หากคนในพื้นที่เองเราจะนำเสนอให้ได้รับความสนใจต่อสื่อกระแสหลักคงเป็นไปได้ยาก เพราะว่าต้องมีฝีมือหรือมีศักยภาพมากพอสมควร แต่สื่อกลับเห็นต่างกันว่า คนในพื้นที่ควรจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยตัวเอง เพราะมีความเข้าใจต่อบริบทของคนในพื้นที่มากกว่าคนภายนอก และปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย

“ที่ผ่านมาสื่อให้ความสนใจกับประเด็นผู้หญิงมากพอสมควรอย่างเช่น “รายการดีสลาตัน” แต่สื่อน่าจะมีพื้นที่สำหรับงานผู้หญิง หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คนทั้งประเทศมีความรู้สึกร่วมโดยนำเสนอหรือ รณรงค์ เหมือน ประเด็นอื่น ๆ อย่างประเด็นการต่อต้านการกระทำที่รุนแรงต่อผู้หญิงในครอบครัว เนื่องจากมีกลุ่มผู้หญิงที่เป็นเหยื่อจากการเสียชีวิตโดยใช้อาวุธ ทั้งจากฝ่ายขบวนการหรือเจ้าหน้าที่แล้วประมาณ 4,000 กว่าราย โดยแยกผู้หญิงที่สูญเสียคนรักประมาณ 2000 คน และ ผู้หญิงที่ถูกกระทำโดยตรงตายและบาดเจ็บเกือบ 1,000 คน รวมเป็น10% ของทั้งหมด ซึ่งมองว่าเป็นประเด็นที่ใหญ่ และเกิดต่อเนื่อง แต่ทำไมสื่อยังไม่ให้ความสนใจ หรือ นำเสนอ หรือถูกรณรงค์ ภาพรวมเหมือนความรุนแรงในครอบครัว หรือเป็นเพราะเราไม่รู้เทคนิค วิธีการขับเคลื่อน หรือ ช่องทาง หรือ ความสัมพันธ์กับสื่อหรือเปล่า”

โซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการกลุ่มเครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้เผยเป้าหมายที่จัดเสวนาพูดคุยกับสื่อมวลชน โดยได้เชิญ คุณสมเกียรติ จันทรสีมา ผอ.สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ส.ส.ท. และ รอมฎอน ปันจอร์ ผู้ปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังฯ ในหัวข้อเรื่อง “วาระผู้หญิง วาระสังคม วาระสื่อกระแสหลัก”
ทั้งนี้คุณ รอมฎอน ปันจอร์ กล่าวว่า สื่อกระแสหลักมีข้อจำกัดคือ นักข่าวที่ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่เป็นคนนอกพื้นที่ มุมมองก็จะมองในฐานะคนนอก และที่สำคัญการนำเสนอข่าวก็ต้องทำตามคำสั่งของกองบรรณาธิการ ในขณะที่คุณสมเกียรติ กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับก็จะเกิดการตีความและนำเสนอได้ไม่ทั้งหมดจาก 100% เหลือครึ่งหนึ่งไม่เป็นไปตามที่ผู้ให้ข้อมูลต้องการ เช่นเดียวกันกับ คุณสม โกไศยกานนท์ หญิงที่ได้รับผลกระทบที่ถูกสัมภาษณ์มาเกือบทุกช่องเว้นแต่ช่อง 3 เธอบอกว่า
“นักข่าวบางคนไม่ได้ตระหนักว่า เราคิดหรือรู้สึกอย่างไร เพียงแค่มาถ่าย พูด แล้วก็เสร็จ เรารู้สึกว่า เหมือนเราเป็นเหยื่อ ที่เขาจะทำอะไรก็ได้”
ทางด้าน นิเด๊าะ อิแตแล ก็มองว่า “บางครั้งคนนอกพื้นที่มาสัมภาษณ์ โดยไม่รู้ว่า เราต้องการนำเสนอเรื่องนั้นหรือเปล่า”

คุณสมเกียรติได้บอกว่า การสัมภาษณ์จากสื่อ อาจไม่ได้เป็นไปตามความต้องการที่เราจะสื่อสารทั้งหมด เพราะขึ้นอยู่กับนักข่าวที่จะตีความสารที่ได้รับว่าอย่างไร ฉะนั้นเป็นไปได้ไหมว่า เราจะสื่อสารเอง โดยไม่ผ่านคนกลาง และโดยที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเสนอ
ซึ่งการนำเสนอข่าว หลักสำคัญคือ ต้องรู้ว่า “เราจะพูดกับใคร” หรือ “กลุ่มที่เราอยากจะสื่อสารคือใคร” เพราะเราไม่สามารถสื่อสารให้คนทั้งสังคมเข้าใจได้ แต่ต้องเลือกว่าจะพูดให้ใครฟัง ซึ่งเชื่อว่าทุกคนสามารถสื่อสารได้ และเมื่อรู้ว่าจะพูดกับใครแล้ว จะทำให้ง่ายต่อการเลือกเครื่องมือ เช่น วิทยุ นิตยสาร หรือทีวี”

ทั้งนี้คุณสมเกียรติได้บอกอีกว่า เนื่องจากประเด็นสิทธิของคนในพื้นที่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะมีบริบทของประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา ในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่คนนอกอาจไม่เข้าใจได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นคนในพื้นที่ควรที่จะนำเสนอด้วยตัวเอง โดยไม่มีคนกลาง เพราะบางประเด็นไม่สามารถพูดอย่างตรงไปตรงมา

ซึ่งในที่ประชุมได้พูดถึงเรื่องคลิปฉาวที่มีผู้หญิงคลุมผ้ากับชายที่แต่งตัวชุดทหารกำลังทอดรักอยู่ โดยกลุ่มผู้หญิงมองแตกต่างกัน เช่น สื่อน่าจะเสนอเรื่องราวที่ไม่ดีบ้างไม่ใช่นำเสนอแต่สิ่งดี ๆ เพื่อสะท้อนเรื่องราวปัญหาที่ปรากฏอยู่ ในขณะที่บางคนมองว่าไม่ควรนำเสนอเพราะจะเสียภาพพจน์ของหญิงมุสลิมเพราะต้องดูวัตถุประสงค์ของคนที่ถ่ายหรือปล่อยคลิปนี้

คุณสมเกียรติก็ได้ชี้ว่า โจทย์นี้เป็นปัญหาของทุกสังคม แต่ในพื้นที่สามจังหวัดใต้ อาจมองว่าเป็นเรื่องแปลก แม้เรื่องการซ้อนท้ายชายหญิงก็ไม่ค่อยปรากฏให้เห็น ซึ่งถ้าเป็นสื่อกระแสหลักหากรู้ว่าเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจก็อาจนำเสนอเพราะมองแค่ว่า ขายได้ แต่ถ้าเรา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ เราควรจะนำเสนอข่าวลักษณะนี้อย่างไร หรือเพื่อให้สังคมเข้าใจอย่างไร

ในขณะที่คุณรอมฎอนได้วิเคราะห์ว่า เนื่องจากข่าวลักษณะนี้ คนนอกอาจมองต่างกัน เขาอาจมองว่า ก็เป็นความรักของคนสองคนไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลก อาจเป็น “รักระหว่างรบ” ฉะนั้นคนในพื้นที่เท่านั้นที่จะอธิบาย ความรู้สึกบางอย่างที่มันอ่อนไหว เพราะคนนอกไม่เข้าใจ

คุณสมเกียรติได้ชวนให้คิดต่อว่า ถ้ากล่าวถึงเรื่องผู้หญิงในพื้นที่นั้น มีเนื้อหาสาระมากมาย แต่บางเรื่องสื่อไม่กล้านำเสนอ อันที่สอง มีเนื้อหาที่ดีแล้วแต่ไม่มีพื้นที่ออกอากาศ ซึ่งจะทำอย่างไรให้มี ถ้ามีน่าจะมีหน้าตาอย่างไร และพื้นที่ไหนที่จะเหมาะสม กับกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการสื่อสาร เพื่อให้คนที่เราอยากให้รับรู้เข้าถึงมันได้ เช่น ประเด็นเรื่องชู้สาว เราต้องการให้แม่ ซึ่งมีลูกอยู่ หรือ สื่อเพื่อคนที่รับผิดชอบสังคมอยู่ ทั้งนี้คนนอกจะสนใจหรือไม่ เราไม่รู้ แต่สิ่งสำคัญถ้าเราเข้าใจประเด็น และกลุ่มเป้าหมายแล้ว เราจะออกแบบพื้นที่ได้ ซึ่งไม่ใช่ทีวี หรือวิทยุเท่านั้น

อีกประเด็นที่คุณสมเกียรติได้ฝากไว้คือ ต้องเป็นสื่อที่มองเหยื่อในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่น มองว่าหาก หญิงสาวนั้นเป็นญาติที่สนิท ซึ่งจะช่วยให้เราคิดในทางบวกมากขึ้น และไม่มองแค่ปรากฏการณ์เท่านั้น แต่ต้องนำเสนอเพื่อให้ร่วมกันตั้งข้อสังเกต หรือแลกเปลี่ยนพูดคุย คือให้สังคมได้วิเคราะห์ร่วมกัน เช่น การพูดคุยระหว่างองค์กรต่าง ๆว่ามีทางป้องกัน หรือแนวทางแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตามวิทยากรทั้งสองได้บอกว่า แม้ว่าสื่อกระแสหลักจะเปิดพื้นที่ให้กับข่าวสารชาวบ้านตลอด 24 ชั่วโมง แต่ประเทศไทยมีปัญหาร้อยแปด ทั้งการเมือง เสื้อแดง เหลือง หรือ ชนกลุ่มน้อย เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างสื่อเอง เพื่อบอกเล่าเรื่องราว และหากประเด็นของเราเป็นที่สนใจของสื่อกระแสหลักเขาก็อาจหยิบนำเสนอสักวัน

เมื่อได้คุยแลกเปลี่ยนก็เห็นว่า พื้นที่นี้ยังคงมีช่องทางในการนำเสนอเรื่องราว แต่คนในที่พื้นที่ต้องพยายามช่วยกันเล่าเรื่องราวของตัวเองให้มากกว่าที่จะให้คนนอกเล่า เพราะจะได้ถ่ายทอดข้อเท็จจริง หรือความรู้สึกนึกคิดที่มันอยู่ลึกข้างในให้สังคมทั้งภายในและภายนอกได้เข้าใจมากขึ้นแต่ต้องดูให้ดีว่า เราจะนำเสนอให้ใครฟัง คนใน หรือให้คนนอกฟัง และหากผู้หญิงร่วมกันเปิดเผยข้อเท็จจริงโดยใช้สื่อที่เหมาะสมแล้ว สักวันหนึ่งประเด็นผู้หญิงที่เผชิญกับความรุนแรงจะได้รับความสนใจกับสื่อกระแสหลักตามที่กลุ่มผู้หญิงและคนในพื้นที่คาดหวัง