Skip to main content
ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
 
ไม่ว่าสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา จะดีขึ้นหรือเลวลง แต่การที่รัฐบาลเห็นชอบให้ 4 อำเภอ ของ จังหวัดสงขลา ใช้กฎหมายความมั่นคงเต็มรูปแบบ คือ การใช้กฎหมายมาตราที่ 21 บังคับใช้กับ “แนวร่วม” ผู้หลงผิด ถือว่า เป็นการ “พัฒนา” ที่ก้าวหน้าไปอีกขั้นตอนหนึ่งของสถานการณ์ “สงครามประชาชน” ที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
 
มาตรา 21 ใน พรบ.ความมั่นคง มีสาระที่สำคัญ ที่หลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “ถาวร เสนเนียม” มท.3 ผู้รับผิดชอบกับการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ภานุ อุทัยรัตน์” รักษาการเลขาธิการ ศอ.บต. หรือ “พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” แม่ทัพภาคที่ 4 ต่างมีมุมมองเดียวกันว่า จะเป็นช่องทางในการ “ลดความรุนแรง” และ สร้าง “ความสงบสุข” ให้กลับคืนมา นั่นคือ
 
การให้โอกาสผู้ทำความผิด หรือ สมาชิก หรือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนฯ ได้เลือกเส้นทางเดิน ด้วยการออกมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าสู่ขบวนการฟื้นฟูจิตใจ และฝึกอาชีพที่ต้องการ เป็นเวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือน ตามที่มีการกำหนดเอาไว้ โดยจะไม่เอาผิดกับการกระทำผิดกฎหมายที่ผ่านมา ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะง่าย แต่แท้จริงแล้ว การใช้ ม.21 ยังมีปัญหาในการปฏิบัติพอสมควร
 
เช่น ผู้ทำความผิดในข้อหาฆ่าคนตาย วางระเบิด วางเพลิง ซึ่งเป็นความผิด ป.วิอาญา สถานหนัก จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ระหว่าง ทหาร ตำรวจ อัยการ และ ฝ่ายปกครอง และผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม จะได้รับการพิจารณาย้อนหลังหรือไม่ สำหรับในส่วนของ “ผู้ต้องหา” ที่ปฏิบัติการ “ปลุกระดม” โค่นต้นไม้ขวางถนน โปรยตะปูเรือใบ โปรยใบปลิว เผาศาลาที่พัก เผาตู้โทรศัพท์ เผายางรถยนต์ และ ทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ นั้น การที่นำคนเหล่านี้สู่ขบวนการ เพื่อให้พ้นผิด เช่นเดียวกับการ “นิรโทษกรรม” นั้น เชื่อว่า ทุกภาคส่วนยอมรับได้
 
ในการใช้ ม.21 แก้ปัญหานั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบทุกฝ่าย ต้องแยกแยะให้ชัดเจน ก่อนอื่นจะต้องรับรู้ร่วมกันว่า “แนวร่วม” ที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่มีอยู่ 4 ระดับ ด้วยกัน 1.คือ แนวร่วมอุดมการณ์ 2.แนวร่วมจำยอม 3.แนวร่วมรับจ้าง และ 4.แนวร่วมที่ถูกใส่ร้าย
 
การใช้ ม.21 ใน 4 อำเภอ ของ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ “นำร่อง” ครั้งนี้ เชื่อว่า ผู้ที่จะออกมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ คือ
 
1.แนวร่วมจำยอม ซึ่งเป็นแค่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ “ขัดแย้ง” และไม่สามารถอพยพออกจากพื้นที่ได้ ต้องให้ความร่วมมือกับขบวนการฯ ในสภาพจำยอม โดยไม่มีความคิดในการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด
 
2.แนวร่วมรับจ้าง ซึ่งทำทุกอย่าง เพื่อ “เงินค่าจ้าง” และอาจะเป็นพวกติดยาเสพติด กลุ่มนี้คงจะชอบใจที่สุด ที่จะได้ไม่ต้องหลบหนีคดีอีกต่อไป
และ 3.คือ กลุ่มแนวร่วมที่ถูกใส่ร้ายจากคนของ “รัฐ” และ “ผู้นำท้องถิ่น” ที่มาจากเรื่อง “ส่วนตัว” แนวร่วมกลุ่มนี้ คือ แนวร่วมที่น่าสงสารที่สุด เพราะ ไม่มีความผิดใดๆ แต่ต้องถูก “ตีตรา” ว่า เป็น “แนวร่วม” และหลังจากรายงานตัวแล้ว ก็จะมีประวัติติดตัวว่า เคยเป็น อดีต “แนวร่วม” ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
 
ส่วน “แนวร่วม” ที่เป็นตัวการสำคัญ คือ แนวร่วม “อุดมการณ์” ซึ่งเป็น “ต้นเหตุ” ของการก่อการร้าย สร้างความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่มีใครออกมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก “แนวร่วม” ระดับ “แกนนำ” และ ระดับปฏิบัติการระดับ “คอมมานโด” และ “เปอมูดอ” รวมทั้ง “อุสตาส” เหล่านี้ ต่างเป็นผู้ที่ถูก “หล่อหลอม” จนยากที่จะใช้ “ม.21” เป็นหนทางในการแก้ปัญหา
 
และสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด และเกิดขึ้นแล้วในทางปฏิบัติ คือ การจัดทำ “บัญชีดำ” และเรียกรับ “เงิน” จากผู้มีชื่อเป็น “แนวร่วม” เพื่อนำออกมารายงานตัวกับทางราชการ ที่ยิ่งแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ยิ่งเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น รวมทั้งในขบวนการใช้ ม.21 ในการเป็น “เครื่องมือ” แก้ปัญหาความไม่สงบครั้งนี้ ทุกฝ่ายจะต้องรอบคอบ รัดกุม และต้องไม่เป็นไปเพื่อ “กระแส” และ “คะแนนเสียง” ของฝ่ายการเมือง
 
สุดท้ายแล้ว การใช้ “ม.21” เพื่อแก้ไขความไม่สงบในครั้งนี้ ใครได้ ใครเสีย และจะทำให้ “สถานการณ์” ดีขึ้นอย่างที่คาดหวังหรือไม่นั้น อีกไม่ช้า “เวลา” จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้ง