Skip to main content

รอมฎอน ปันจอร์   

"บ้านคอลอบาแล" ถูกทางการเชื่อว่าเป็น "หมู่บ้านจัดตั้ง" ที่สำคัญของ "ฝ่ายตรงกันข้าม" มีแกนนำคนสำคัญซึ่งเคยเป็นถึงโต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิด คือ "ซาการียา หะยีสาเมาะ" ผู้มีค่าหัวสูงถึง 1 แสนบาท นอกจากนั้นพื้นที่บริเวณนี้ยังเจือไปด้วยกลิ่นไอแห่งความรุนแรงมาโดยตลอด ทั้งกรณีสังหารและตัดศีรษะ ส.อ.สมจิตร หล่อแสง' ทหารชุดปฏิบัติงานรบพิเศษเมื่อต้นปี 2548 หรือการสังหาร มะรอพี มะลิแต' ลูกเขยของซาการียาเอง (กรณีการสังหารมะรอพี' ชาวบ้านพากันแห่ศพประท้วง โดยพวกเขาเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา)

          ถนนหนทางในหมู่บ้านแห่งนี้อาจจะดูเงียบเหงาตามประสาหมู่บ้านป่าสวนทั่วไป ดูเหมือนจะไม่แตกต่างกับสภาวะปกติมากนัก เพราะเมื่อถึงหน้าฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้เมืองร้อนอย่างทุเรียนและเงาะ ยังคงมีรถรับส่งผลไม้เหล่านี้วนเวียนอยู่บ้าง ไม่ขาดหาย แม้สถานการณ์ความไม่สงบจะยังปนเปื้อนอยู่เต็มพื้นที่ก็ตาม

          สะท้อนว่า อย่างน้อย ชีวิต ปากท้อง และการยังชีพยังคงดำรงอยู่

 


ร้านก๋วยเตี๋ยว-น้ำชากลางหมู่บ้านตกอยู่ในบรรยากาศเงียบเหงา
ขณะที่เสือพรานทหารชุดดำเข้าคุมพื้นที่ดูแลเต็มกำลัง

          บ้านคอลอบาแล เป็นส่วนหนึ่งของบ้านคอลอกาเอ ม.5 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา วางตัวแทรกอยู่ในระหว่างสวนผลไม้ ถนนสองข้างทางที่ผ่ากลางหมู่บ้านเต็มไปด้วยสีเขียวของแมกไม้ หากมองไกลๆ ก็เป็นเขาเขียวแกมน้ำเงินของเทือกสันกาลาคีรี ขณะที่สีแดงแจ่มชัดที่สุดเห็นจะได้แก่ผลเงาะห้อยโหนเกาะติดดงไม้ข้างทาง บ่งบอกว่า นี่คือฤดูเก็บเกี่ยวอันอุดมสมบูรณ์ของชาวสวนที่นี่

นอกจากนี้ หมู่บ้านคอลอบาแลยังถูกกำหนดเป็นพื้นที่  "สีแดง" จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อจำแนกแยกแยะและให้ความสำคัญเป็นพิเศษในทางยุทธวิธีต่อกรกับผู้ก่อความไม่สงบ

          คอลอบาแล จึงเป็นหนึ่งในหมู่บ้านสีแดง ที่แรงฤทธิ์ถึงขั้นเป็นหมู่บ้านแรกๆ ในยุทธการบุกค้น กวาดจับของเจ้าหน้าที่ในนาม "ยุทธการพิชิตบันนังสตา" เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นอย่างเงียบๆ และสามารถกวาดจับผู้ต้องสงสัยไปได้จำนวน 34 คนในช่วง 3 วันแรก (20 - 22 มิ.ย.) ต่อเนื่องจากนั้น แผนการยังเดินหน้าต่อเนื่องไปพร้อมๆ กับการสั่งปิดโรงเรียนในพื้นที่ 45 แห่งเป็นการชั่วคราวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติการได้อย่างสะดวก ในจำนวนนี้ ชาวบ้านคอลอบาแลถูกควบคุมตัวไปทั้งสิ้นหลายสิบคน

นับแต่นั้นเป็นต้นมา บรรยากาศภายในหมู่บ้านก็เงียบเหงาลงไปถนัดตา มัสยิดกลางหมู่บ้านที่เคยเป็นศูนย์รวมผู้คนและร่วมละหมาดก็บางตาลง แม้ทุกวันนี้จะยังมีละหมาดใหญ่ประจำสัปดาห์ในวันศุกร์ได้ แต่องค์ประกอบที่ต้องมีผู้ชายครบ 40 คนตามทัศนะของคนมุสลิมในพื้นที่ก็ต้องนับรวมกับเด็กผู้ชายเข้าไปด้วย

ในขณะที่โรงเรียนสอนศาสนาสำหรับเด็กเล็ก หรือ โรงเรียนตาดีกา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรั้วมัสยิดที่เปิดสอนในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จำต้องปิดตัวลงชั่วคราวหลังการกวาดจับใหญ่ครั้งนั้น เพราะไม่มีใครกล้าจะสอนอีก หมู่บ้านตกอยู่ภายใต้สายตาของเจ้าหน้าที่ทหารรบพิเศษชุดสันติสุข 509 และทหารพรานชุด ร.ทพ.4027 ที่เข้ามา "ดูแล" อย่างใกล้ชิด สถานการณ์โดยรวมจึงตึงเครียด

หญิงม่ายวัยกลางคนรายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า หลังจากผู้ชายถูกกวาดจับไปครั้งนั้น หมู่บ้านก็ดูเงียบเหงาลงไป การหาเลี้ยงชีพก็ดูจะยากลำบากขึ้น แม้จะถึงฤดูกาลไม้ผลประจำถิ่นอย่างลองกอง เงาะ และทุเรียน แต่เมื่อไร้แรงงานหลักของผู้ชาย ผลไม้บางส่วนจึงสุกคาต้น ส่วนผลผลิตยางพาราที่กรีดเก็บได้ตลอดปีก็เป็นการยากลำบากสำหรับครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวและแรงงานชายถูกกวาดจับไป

"ผู้หญิงก็ต้องออกไปกันเองน่ะแหละ กลัวก็กลัวอยู่เหมือนกัน แต่ก็ต้องไป มีลูกที่ต้องใช้เงิน" เธอเล่าให้ฟังด้วยว่า น้องชายของเธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกควบคุมตัวไป ปล่อยให้ภรรยาสาวและลูกอีกหนึ่งคนอยู่ที่บ้าน ซึ่งไม่ต่างกับอีกหลายครอบครัวที่อยู่ในลักษณะอย่างนี้ ตลอดกว่าเดือนที่ผ่านมา พวกเขายังต้องหาเลี้ยงชีพโดยที่ขาดพ่อ ขาดผัวไปอย่างนี้ แน่นอนว่า พวกเขาคงไม่คาดหวังให้อยู่ในภาวะนี้นานเกินไป

เธอบอกว่า ตลอดเวลาที่ผู้ชายของหมู่บ้านถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ญาติพี่น้องก็สลับวนเวียนไปเยี่ยมโดยตลอดและคาดหวังว่าจะสามีและพ่อเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัว กระทั่งจะครบ 1 เดือน หรือตามรอบของอำนาจการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พวกเขาเหมารถหลายคันไปรอรับบรรดาญาติที่ได้ข่าวว่าจะไม่มีการดำเนินคดีและถูกปล่อยตัว แต่การณ์กลับตรงกันข้าม

"เขาบอกว่ายังออกมาไม่ได้ แต่ต้องไปฝึกอาชีพที่สุราษฎร์ก่อนอีก 4 เดือน ได้เงินวันละร้อย เราก็ไม่รู้จะทำยังไง เขาบอกว่าถ้าไม่ไปก็สู้คดีเอาเองล่ะกัน"

พี่สาวของผู้ถูกควบคุมตัว บอกด้วยว่า การฝึกอาชีพเหล่านั้นดูจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านมากนัก เพราะพวกเขาประกอบอาชีพในสวนผลไม้และสวนยางมากกว่าที่จะไปขวนขวายวิชาช่างเครื่องช่างยนต์

          แต่กระนั้น พวกเขาก็มีทางเลือกไม่มาก 4 เดือนในค่ายฝึกอาชีพอาจจะเร็วกว่าการรอให้กระบวนการยุติธรรมทำงานของมัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปีจนกว่าคดีจะสิ้นสุด และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ศาลจะให้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี


ร่องรอยที่ทิ้งไว้หลังยุทธการพิชิตบันนังสตา "บ้าน BRN"

ชายชราวัยกว่า 60 ปีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นพ่อของโต๊ะอิหม่ามที่ทางการระบุว่าเป็นแกนนำคนสำคัญของขบวนการใต้ดิน บอกว่า คนที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปไม่ได้มีส่วนต่อการก่อเหตุร้ายๆ ใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องนี้ชาวบ้านรู้ดี เจ้าหน้าที่เองก็รู้ การกวาดจับไปอย่างนี้สร้างปัญหาให้กับคนข้างหลัง เมื่อหมู่บ้านขาดคนหนุ่มๆ ในการทำสวน ผลผลิตที่น่าจะได้เหมือนปีที่แล้วซึ่งปกติตกปีละ 7-8 หมื่นบาทก็อาจจะน้อยลง

"ปีนี้เสียหายมากทีเดียว" เขากล่าวทอดอาลัย

แม้ว่าการกวาดจับบุกค้นครั้งนั้นไม่สามารถรวบตัวลูกชายของเขาได้ ทว่าเขาเองได้ถูกควบคุมตัวไปพร้อมๆ กับเพื่อนบ้านเป็นเวลาหลายวันก่อนที่จะถูกปล่อยตัวมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทุกวันนี้เขายอมรับว่ายังอยู่ในอาการหวาดผวา ภาพของการบุกค้นถึงที่นอนของเจ้าหน้าที่และทำลายข้าวของในบ้านยังคงติดตาอยู่ และคาดหวังว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

"ไม่ต้องอะไรมาก แต่อย่าทำแบบนี้อีก" ชายแก่ตอบเมื่อถูกถามถึงความต้องการต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ถึงกระนั้น ในฐานะผู้ที่เกี่ยวพันกับคนที่ทางการจับตาบ้านของเขายังได้รับการเยี่ยมเยือนจากทหารชุดสันติสุขวันละ 2 ครั้ง และทุกคืนเขาต้องย้ายที่หลับที่นอนตลอดตั้งแต่ถูกปล่อยตัวออกมา ความหวาดระแวงยังแฝงเต็มแววตาของเขา อีกทั้งร่องรอยขีดเขียนด้วยถ่านดำป้ายไว้ที่ฝาผนังบ้านว่า "บ้าน BRN" หรือ "RKK" ที่ประตูไม้หน้าบ้านภายหลังการบุกจับกุม ก็สร้างความอึดอัดใจต่อเขาไม่น้อยทีเดียว

เดาได้ไม่ยากว่าความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านในห้วงเวลานี้จะเป็นอย่างไร "ร.ต.บำรุงวิทย์ สุพร" หัวหน้าชุดสันติสุข 509 จากกรมรบพิเศษที่ 5 จ.เชียงใหม่ ยอมรับว่า การทำงานมวลชนภายหลังการเปิดยุทธการยากมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่เลี่ยงที่จะคุยกับทหาร แต่โดยภาพรวมก็ถือว่าสถานการณ์ในหมู่บ้านดีขึ้น เพราะแกนนำและแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ถูกกวาดจับไปเป็นจำนวนมาก

"แต่เราก็ต้องระวังให้มาก เพราะยังคุมพื้นที่ไม่ได้ 100%" เขากล่าวถึงภาระหนักอึ้งของเขา

  
ต่อจากนี้ปฏิบัติงานจิตวิทยาของทหารรบพิเศษชุดสันติสุข 509 คงลำบากมากขึ้น

         สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายกว่านี้แน่ หากยังคงมีบรรยากาศแห่งความไม่ไว้วางใจอยู่เช่นนี้ ชาวบ้านตัดสินใจจะเปิดโรงเรียนตาดีกาให้อีกอาทิตย์ต่อไปด้วยความหวังว่าจะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดผ่อนคลายลง แต่โจทย์ของพวกเขาคือว่าเจ้าหน้าที่จะมองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไร

            สงครามนอกแบบที่ยังมีประชาชนเป็น "มวลชน" ที่ต้องช่วงชิงเช่นนี้ จะยังดำเนินอยู่อีกเป็นเวลานาน แม้ทางการจะมั่นใจว่า "แกนนำ" และ "แนวร่วม" ถูกถอนไปหมดสิ้นและสงครามจะสงบในเร็ววัน แต่การเอาชนะใจ "มวลชน" ซึ่งมีฐานะเป็นตัวชี้วัดชัยชนะที่สำคัญในสงครามครั้งนี้จะสำเร็จได้อย่างไร ในเมื่อยุทธการเชิงรุกของทางการซึ่งได้ทิ้งร่องรอยกรีดร้าวในสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนอยู่เบื้องหลัง โจทย์ใหญ่เหล่านี้ทางการควรตระหนักรู้และหาหนทางรับมือโดยเร็ว


ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ของ กอ.รมน.ภาค 4 เมื่อวันที่ 14 ส.ค.50 ระบุว่า มีผู้เข้ารับอบรมตามโครงการฝึกอาชีพของ กอ.รมน.ภาค 4 จำนวน 299 คน แบ่งเป็นที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี 100 คน ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร 101 คน และค่ายรัตนรังสรรค์ จ.ระนอง 98 คน   ขณะที่ข้อมูลผู้ที่ถูกควบคุมภายใต้อำนาจของกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวมทั้งสิ้น 211 คน ซึ่งกระจายอยู่ที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธ จ.ปัตตานี 69 คน ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์อบรมตำรวจภาค 9  จ.ยะลา 41 คน และศูนย์สันติสุข ค่ายรัตนพล จ.สงขลา 101 คน