Skip to main content
จรัญ มะลูลีม
 
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เดิมทีแบ่งเป็น 4 ตอนจบ และเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "มุมมุสลิม" ใน มติชนสุดสัปดาห์ ติดต่อกัน 4 ฉบับ ตั้งแต่ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 53 – 6 มกราคม 54 จนถึงฉบับวันที่ 21 – 27 มกราคม 54
         
ความนำ: ไทยในฐานะผู้สังเกตการณ์
 
          ปัจจุบันผู้มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ OIC แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
 
          1) ประเทศผู้สังเกตการณ์ (Observer State)เช่น ไทย บอสเนียเฮอร์เซโกวินา และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ฯลฯ
 
          2) ชุมชนมุสลิมและชนกลุ่มน้อยมุสลิม(Muslim Communities and Minorities) ซึ่งขณะนี้มีแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร(Moro National Liberation Front-MNLF)และชุมชนชาวตุรกีมุสลิมแห่งกีบรีส (Turkish Muslim Community of Kibris) ได้รับสถานะดังกล่าว
 
          3) องค์การระหว่างประเทศและองค์การภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันองค์การ เช่น UN, NAM, Arab League และ African Union เป็นผู้สังเกตการณ์
 
          หลักการของ OIC เกี่ยวกับชุมชนและชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศที่มิได้เป็นสมาชิก OIC และข้อเสนอว่าด้วยการเป็นสมาชิก OIC ของไทย
 
          OIC มีหลักการและแนวนโยบายเกี่ยวกับชุมชนมุสลิมและชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก OIC สรุปได้ ดังนี้
 
          1) ประเทศสมาชิกจะต้องร่วมกันสนับสนุนการดำรงเอกลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของชุมชนและชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศที่มิได้เป็นสมาชิก OIC เพื่อให้ได้รับสิทธิ รวมทั้งสิทธิทางศาสนาและการปฏิบัติที่เสมอภาคกับชนส่วนใหญ่ของประเทศ
 
          2) ถือว่าการคุ้มครองสิทธิชนกลุ่มน้อยมุสลิมเป็นหน้าที่ของรัฐของประเทศนั้นๆ (Host State) โดยต้องเป็นไปตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ
 
          3) ประเทศสมาชิก กลไกและองค์กรต่างๆของ OIC จะต้องติดตามสถานการณ์ปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศที่มิใช่สมาชิก OIC และเสนอข้อมูล ความเห็นและข้อพิจารณาแก่สำนักเลขาธิการ
 
          4) ให้ความสนใจและความสำคัญเป็นพิเศษแก่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมที่ถูกกดขี่และถูกปราบปราม (oppression and repression) อันเนื่องมาจากการเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และหาทางช่วยเหลือทางการเงิน มนุษยธรรม การศึกษาและอื่นๆ
 
          5) ดำรงการติดต่อกับรัฐบาลประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยมุสลิมเพื่อร่วมกันพิจารณาปัญหาและแสวงหาแนวทางความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยมุสลิม โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งชาวมุสลิมต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน
 
          6) หากมีการละเมิดสิทธิของชนกลุ่มน้อยมุสลิม OIC จะต้องผลักดันรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ให้หาทางยุติปัญหา
 
          7) ส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิม โดยเฉพาะเยาวชนรักษาเอกลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมและโดยให้ทุนการศึกษาสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศที่ตนอาศัยอยู่รวมทั้งให้ความเคารพต่อกฎหมายและธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่ตนอาศัยอยู่ด้วย
 
          8) ร่วมมือกับสหประชาชาติ โดยเฉพาะกับอนุกรรมาธิการเพื่อการปกป้องและการเลือกปฏิบัติ และการปกป้องชนกลุ่มน้อย (Sub-committee for the Prevention and Discrimination and the Protection of Minorities)และกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน (Commiss ion on Human Rights) เพื่อการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยมุสลิม
 
          9) พิจารณาประเด็นปัญหาชุมชนมุสลิม/ชนกลุ่มน้อยมุสลิมเป็นกรณีๆ ไป (Case by Case Basis) โดยเฉพาะต่ออธิปไตยของประเทศที่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมอาศัยอยู่
 
          การเข้าสู่ OIC ในฐานะผู้สังเกตการณ์นั้นกล่าวกันว่ามีส่วนช่วยต่อความสำเร็จของอดีตรองนายกฯ ศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งอยู่พรรคประชาธิปัตย์เช่นเดียวกับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในความพยายามสำหรับตำแหน่งเลขาธิการขององค์การการค้าโลก (WTO)
 
          ต่อมาการแข่งขันเพื่อตำแหน่งสูงสุดของสหประชาชาติที่กำลังร้อนแรงขึ้น และความจำเป็นสำหรับการสนับสนุนจากประเทศมุสลิมสำหรับคู่แข่งจากประเทศไทยคือรองนายกรัฐมนตรี สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และความรุนแรงที่ดูเหมือนจะไม่ยุติลงในภาคใต้ของไทยเป็นแรงกระตุ้นสำคัญต่อรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้มุ่งจุดสนใจไปที่ OIC
 
          รัฐมนตรีต่างประเทศในเวลานั้นคือ ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล ได้ปรากฏตัวที่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของ OIC 2 ปีซ้อน ในขณะที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี วันมูหะมัดนอร์มะทา ซึ่งเป็นชาวมุสลิมได้เข้าร่วมประชุมพิเศษที่นครมักกะฮ์เมื่อเดือนพฤศจิกายนค.ศ.2005
 
          ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้ใคร่ครวญถึงข้อเสนอของนักวิชาการมุสลิมบางคนที่ว่าประเทศไทยควรสมัครเป็นสมาชิกในองค์การที่มีอายุ 37 ปีนี้
 
          "ผมจะเสนอความคิดนี้ต่อรัฐบาลใหม่" ดร.กันตธีร์กล่าวที่เมืองหลวงของอาเซอร์บัยญาณ ซึ่งการประชุมประจำปีจัดขึ้นที่นั่น ในฐานะที่มีชนกลุ่มน้อยมุสลิมอยู่ในประเทศไทยประเทศไทยจึงสามารถจะเสนอตัวเป็นสมาชิกของ OIC ได้เช่นกัน ในเวลานั้นหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ได้นำเอาข้อเสนอของผู้เขียนมากล่าวถึงดังนี้
 
"จรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยจะได้มากกว่าเสียในการสมัครเป็นสมาชิกของOIC เขาได้ยกตัวอย่างถึงการเข้าถึงตลาดได้ง่ายกว่าสำหรับผลิตภัณฑ์ของไทย รวมไปถึงความเข้าใจในตำแหน่งของไทยรวมไปถึงปัญหาในภาคใต้
 
ด้วยจำนวนมุสลิมหกล้านคน (สถิติในเรื่องจำนวนมุสลิมยังไม่คงที่นักวิชาการมุสลิมส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่น่าจะน้อยกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ) ในประเทศไทยซึ่งมากกว่าชาวมุสลิมในบางประเทศของ OIC ที่มิได้เป็นประเทศมุสลิม เช่น กายานา (Guyana) และสุรินาเม ประเทศไทยจึงเหมาะสมที่จะเข้าสู่องค์การ OIC จรัญกล่าว"
 
          OIC อาจดูเหมือนเสือกระดาษ เพราะว่ามากกว่า 40 ประเทศที่เป็นสมาชิกนั้นยากจนและนอกจากนั้นตัวขององค์การก็จะต้องแสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการจัดการกับประเด็นที่กดดันอยู่อย่างเช่นโรคกลัวอิสลาม(Islamophobia) และปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างความขัดแย้งปาเลสไตน์อิสราเอล แต่เสียงของ OIC ได้รับการรับฟังมากขึ้นในสหประชาชาติและในสหภาพยุโรป
 
"จรัญกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงบางคนมีความห่วงใยว่าการที่ประเทศไทยเข้าสู่ OIC จะทำให้ OIC เข้ามาก้าวก่ายปัญหาภาคใต้เหมือนในกรณีของโซมาเลียและฟิลิปปินส์ เขากล่าวว่าปัญหาการเข้ามาแทรกแซงจากต่างชาติจะไม่เป็นปัญหาตราบใดที่ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาภาคใต้อย่างชาญฉลาด เขากล่าวว่าความรุนแรงในภาคใต้เกิดขึ้นเพราะชาวมุสลิมส่วนใหญ่ไม่วางใจรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ปัญหานั้นมีรากมาจากชุดความคิดของชาวมุสลิมที่ว่าพวกเขาไม่ได้รับการดูแลอย่างยุติธรรมในฐานะพลเรือนไทยจากรัฐบาลที่สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน"
 
          (Achara Ashayagachat, “New panIslamic party is not a panacea” , Bangkok Post, July 1, 2006)
 
ความพยายามในการใช้เวที OIC ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน :กรณีของไทย
 
          ไทยมีความสัมพันธ์กับ OIC มาตั้งแต่ก่อนเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์เมื่อ ค.ศ.1997 โดยไทยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการให้ OIC ได้เข้าใจท่าทีนโยบายและการปฏิบัติต่อชาวไทยมุสลิม การขยายการติดต่อสัมพันธ์กับโลกมุสลิม การแสวงหาความร่วมมือกับ OIC และประเทศสมาชิก
 
          และการป้องกันมิให้ขบวนการแยกดินแดนหรือผู้ก่อความไม่สงบ ใช้ประเด็นปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลายมาเป็นปัญหาระหว่างประเทศ
 
          ด้วยความพยายามครุ่นคำนึงที่จะเป็นสมาชิกในองค์การมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดคือองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ประเทศไทยควรมีความสามารถในการปรับปรุงภาพพจน์ระหว่างประเทศไทยในสายตาของชุมชนมุสลิม
 
          อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยคือดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นผู้ที่ทำให้เป็นประเทศไทย ได้รับสถานะสังเกตการณ์ (observer status) ใน ค.ศ.1988 ใน OIC ซึ่งแต่เดิมขบวนการเอกภาพเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี (Pattani United Liberation Organization) หรือ PULO ซึ่งเป็นขบวนการที่มุ่งสู่การแยกดินแดนยึดครองเอาไว้
 
          ขบวนการเอกภาพเพื่อการปลดปล่อยรัฐปัตตานี (Pattani United Liberation Organization) หรือที่รู้จักกันในนามของ PULO และขบวนการที่มีชื่อว่าแนวหน้าเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี (National Liberation Front of Pattani) หรือ NIFP นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นขบวนการที่ให้ความสำคัญแก่บทบาทของOIC เป็นอย่างมาก
 
          ส่วนขบวนการอื่นๆ นอกจากนี้ ก็ได้พยายามเคลื่อนไหวผ่าน OIC เช่นกันแต่มีอัตราน้อยกว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้มีมาตั้งแต่ ค.ศ.1974 แล้ว
 
          จุดมุ่งหมายสำคัญของขบวนการเหล่านี้คือความพยายามในการผลักดันให้ที่ประชุมประจำปีในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของ OIC (ICFM) บรรจุสถานการณ์ของชาวมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ของไทยให้อยู่ในวาระการประชุม
 
          โดยวาระสำคัญคือการให้ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันและประณามว่ารัฐบาลไทย ไม่ให้ความเป็นธรรม กดขี่ข่มเหงชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม จนถึงการประชุมที่เยเมน เมื่อวัน 28-30 มิถุนายน ค.ศ.2005 ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
 
          แต่ความพยายามดังกล่าวก็มิได้หมดไป(เริ่มจากการประชุม ICFM ใน ค.ศ.1974 ที่ขบวนการ NIFP ใช้จดหมายเวียนไปยังสมาชิกของ OIC เรียกร้องให้ประเทศมุสลิมงดการขายน้ำมันดิบและงดการช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศไทย)
 
          ค.ศ.1975 ขบวนการ NIFP ขอรับการสนับสนุนด้วยอาวุธจาก OIC พร้อมกับขอจัดตั้งสำนักงานของ NIFP ในประเทศสมาชิก ใช้เอกสารโจมตีประเทศไทย
 
          และที่สำคัญคือขอให้ OIC จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นพิจารณาสภาพความเป็นจริงของชาวมุสลิมในประเทศไทย
 
          ค.ศ.1988 ขบวนการ PULO ได้ส่งผู้แทนเพื่อขอเข้าร่วมประชุม ICFM ที่กรุงอัมมาน แต่จอร์แดนได้ยับยั้งขบวนการ PULO ไว้เสียก่อน
 
          หลังจากนั้น จนถึง ค.ศ.1995 แม้ว่าขบวนการแยกดินแดนต่างๆ จะใช้ความพยายามที่จะเข้าร่วมประชุมแต่ก็ถูกยับยั้งเอาไว้โดยประเทศ อย่างเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซียอียิปต์ ปากีสถาน
 
          กระนั้นก็ตาม ใน ค.ศ.1996 ได้ปรากฏว่ามีรายงานการพิจารณาเกี่ยวกับชาวไทยมุสลิมและปัญหาภาคใต้ของไทยในการประชุมผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลว่าด้วยสิทธิขั้นมูลฐานของชนกลุ่มน้อยมุสลิมและชุมชนมุสลิมในประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกของ OIC (Government Expert on Fundamental Right of Muslim Minoritiy and Muslim Communities in non-OIC Member State) ที่นครญิดดะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1996
 
          โดยที่ประชุมได้พิจารณาถึงข้อเรียกร้องของขบวนการที่เรียกร้องดินแดนและการปกครองตนเอง
 
          ทั้งนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการปัตตานี
 
          โดยที่ผ่านมา OIC ได้เคยช่วยไกล่เกลี่ยให้แนวหน้าเพื่อการปลดปล่อยโมโรแห่งชาติ(Moro National Liberation Front) หรือMNLF ลงนามในข้อตกลงที่เรียกว่าข้อตกลงตรีโปลี (Tripoli Agreement) กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ใน ค.ศ.1976 และลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างกันใน ค.ศ.1996 มาแล้ว
 
          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นให้นำเอาข้อเสนอเกี่ยวกับชาวไทยมุสลิมเข้าที่ประชุมICFM ของ OIC ที่จะจัดที่กรุงจาการ์ตาในเดือนธันวาคม ค.ศ.1996 ขึ้นพิจารณา แต่ไทยและมิตรประเทศก็ยับยั้งมิให้มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ICFM แต่อย่างใด
 
          แม้ว่าความพยายามของขบวนการแยกดินแดนที่จะใช้เวที OIC มิได้เคยยุติลงเลยก็ตามหากแต่เมื่อไทยได้รับสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในการประชุมประสานงานรัฐมนตรีต่างประเทศ OIC ที่สหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1998 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันการกล่าวถึงประเด็นชาวมุสลิมในภาคใต้ในกรอบของ OIC ของขบวนการแยกดินแดนยังไม่ประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด
 
          ความพยายามล่าสุดของขบวนการแยกดินแดนในการใช้เวที OIC มีขึ้นในการประชุมสุดยอดสมัยสามัญ (OIC Summit) ครั้งที่ 10 ที่เมืองใหม่ปุตราจายา โดย นายอะห์มัด อะพาลาโอ และ นายมุฮัมมัด นะพาลัน (Ahmad Apalao และ Muhammad Napalan) ได้ไปลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมในนามผู้แทนไทย แต่ได้รับการยับยั้งจากฝ่ายไทยและมาเลเซีย
 
          ในการประชุม ICFM ที่อิสตันบูล ประเทศตุรกีเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2003 ได้มีการลักลอบวางใบปลิวโจมตีประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่าสำนักงานข่าวสารของ PULO แห่งยุโรป(PULO Information Bureau Europe)
 
          อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ICFM ที่ประเทศเยเมนเมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายนค.ศ.2005 และอาเซอร์บัยญาณ เมื่อวันที่ 19-21 มิถุนายน ค.ศ.2006 ไม่มีการเคลื่อนไหวจากขบวนการแยกดินแดนแต่อย่างใด
 
          กระนั้นก็ตามพอประมวลได้ว่าขบวนการแยกดินแดนได้ใช้ความพยายามที่จะใช้เวทีของ OIC มาตลอด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับความสำเร็จก็ตาม
 
เลขาธิการ OIC กับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
                                                     
          จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มัสญิดกรือเซะและตากใบ ใน ค.ศ. 2004 ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากโลกมุสลิมเป็นอย่างมาก
 
          เหตุการณ์ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือเหตุการณ์ที่ตากใบ ที่ผู้ประท้วงชาวมุสลิม 85 คน เสียชีวิตที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
 
          จากเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมนี้เลขาธิการ OIC คนปัจจุบันได้ออกแถลงการณ์ อย่างแข็งกร้าวโดยเลขาธิการ OIC ได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย
 
          OIC จึงเชิญรัฐบาลไทยร่วมกับตัวแทนของ OIC ปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2005
 
          รัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนนำโดยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายนิสสัยเวชชาชีวะ และที่ปรึกษารัฐมนตรีต่างประเทศและอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำมาเลเซียและคณะ (ประกอบด้วย ผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ นายมหดี วิมานะอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอิสลามแห่งอีหร่านและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศเข้าพบกับเลขาธิการ OIC ศาสตราจารย์วเอ็กมิเล็ดดีน อิห์ซาโนกลู ณสำนักงานใหญ่ของ OIC ที่นครญิดดะฮ์ (Jiddah) ประเทศซาอุดีอาระเบีย)
 
          ฝ่ายไทยในฐานะประเทศสังเกตการณ์ของOIC ได้แสดงถึงความพร้อมในความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับ OIC ต่อการค้นหาวิธีการและแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการกับความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่มุสลิมกำลังเผชิญอยู่
 
          หัวหน้าของคณะผู้แทนไทยได้สรุปถึงมาตรการและวิธีการของคณะกรรมการไต่สวนอิสระ (The Independent Investigation Commission) ที่มีต่อการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
 
          รวมทั้งข้อแนะนำต่างๆ นอกเหนือไปจากการพัฒนาโปรแกรมเพื่อนำไปปฏิบัติจนเกิดประโยชน์แก่มุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
          คณะผู้แทนไทยตอบรับแนวคิดของเลขาธิการ OIC ในการส่งคณะตัวแทนสันถวไมตรี (Good Office Committee) มาเยือนไทย เพื่อรับทราบถึงสาเหตุของปัญหาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมในพื้นที่ดังกล่าว
 
          เลขาธิการ OIC ได้แสดงความห่วงใยอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์ และเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ตรวจสอบเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรง ติดตามผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างถึงที่สุดและถ่ายทอดข้อมูล รวมทั้งหลักฐานของการตรวจสอบเหตุการณ์ให้กับเลขาธิการ OIC รับทราบ
 
          ศาสตราจารย์เอ็กมิเล็ดดีน อิห์ซาโนกลูเรียกร้องคณะผู้แทนไทยให้นำเรียนประเด็นที่ปรึกษาหารือร่วมกันให้รัฐบาลไทยรับทราบว่า OIC ให้ความสำคัญกับการเจรจาแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ด้วยสันติเพื่อแก้ไขปัญหาที่มุสลิมในพื้นที่กำลังเผชิญอยู่
 
          ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงการปกป้องสิทธิรวมทั้งสร้างความมั่นใจให้เห็นว่าคนเหล่านั้นจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับประชาชนในภูมิภาคอื่นของไทย
 
          ที่สำคัญ รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของชาวมุสลิมในพื้นที่ให้ทัดเทียมกับพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย
 
          นอกจากนี้ เลขาธิการ OIC ยังได้เน้นย้ำถึงการเคารพอำนาจอธิปไตยของไทยว่า OIC ไม่ได้ให้การสนับสนุนใดๆ ต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหรือกลุ่มลัทธิใดๆ ซึ่งกระทำการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยปราศจากความศรัทธาในศาสนา
 
          ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวนอิสระโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาผู้รับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมในพื้นที่
 
          และระบุถึงความสำคัญที่รัฐบาลไทยควรปฏิบัติตามผลสรุปท้ายสุด ซึ่งคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้แนะนำไว้
 
          นอกจากนี้เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลอย่างละเอียด รัฐบาลไทยจึงเชิญคณะผู้แทนระดับสูงของ OIC เยือนไทย ในวันที่ 2-13 เดือนมิถุนายน ค.ศ.2005
 
          เลขาธิการ OIC ศาสตราจารย์เอ็กมิเล็ดดีนอิห์ซาโนกลู มอบหมายให้คณะผู้แทนนำโดยเอกอัครราชทูต ซัยยิด กาซิม อัล-มัสริ (Syed Qasim Al-Masri) อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ OIC และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
 
          และคณะผู้แทนซึ่งประกอบไปด้วย ดร.อุมัรญาห์ (Qumar Jah) ที่ปรึกษาเลขาธิการ OIC เอกอัครราชทูต อับดุลลอฮ์ คัรบัช (Abdullah Kharbash) ผู้อำนวยการสำนักชุมชนมุสลิมและมุสลิมส่วนน้อยในประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกOIC (Department of Muslim Community and Minorities in NON-OIC Member States) นายฏอฮิร เชอีฟ (Taher Seif) ผู้อำนวยการสำนักมุสลิมส่วนน้อยและชุมชนมุสลิมส่วนน้อย ณ สำนักเลขาธิการ OIC (Department of Muslim Minorities and Communities at the General Secretariat)และนายอะห์มัด อิบรอฮีม (Ahmad Ibrahim)ผู้สื่อข่าวและช่างภาพของสำนักข่าวอิสลามระหว่างประเทศ (IINA)
 
          การเยือนในครั้งนี้ก็เพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางและวิธีการลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการเจรจา เพื่อให้ชาวไทยมุสลิมได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองอย่างเหมาะสมมากขึ้น และคณะผู้แทนมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงยุติการกระทำที่รุนแรง และการคุกคามต่อชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนความพยายามในการนำสันติและเสถียรภาพกลับคืนสู่พื้นที่ภายใต้กรอบของการเคารพในอำนาจอธิปไตยและเอกภาพแห่งดินแดนไทย
 
          เอกอัครราชทูต อัล-มัสริ ได้กล่าวถึงภารกิจของคณะผู้แทนในความจำเป็นของการนำมาตรการมาใช้ในการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น รวมถึงการชดเชยความสูญเสียให้กับผู้เคราะห์ร้ายที่ตกเป็นเหยื่อ และป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นมาได้อีกรวมทั้งการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง (OIC Press Release, June, 2005)
 
          อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเยือนชุมชนมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยคณะผู้แทน OIC สิ้นสุดลงสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
          ศาสตราจารย์เอ็กมิเล็ดดีน อิห์ซาโนกลูเลขาธิการ OIC ออกมาแสดงความห่วงใยอย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์ความรุนแรงของชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงต้องเผชิญรวมถึงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ ส่งผลให้ประชาชนในบางหมู่บ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่ (Ibid.,October, 2005)
 
          เลขาธิการ OIC เห็นว่าแนวทางการลดกระแสความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรประสานความร่วมมือกันทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับประชาชาติมุสลิมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนภายในและภายนอกประเทศ พร้อมกับการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยผ่านการเจรจาบนพื้นฐานความต้องการที่ถูกต้องตามกฎหมายของรัฐบาลไทย
 
          ทั้งนี้ เลขาธิการ OIC มีความเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากมุมมองเฉพาะด้านความมั่นคง อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้และความเลวร้ายของสถานการณ์จะมีมากยิ่งขึ้น
 
         นอกจากนี้ เลขาธิการ OIC ยังกล่าวย้ำถึงการแก้ไขปัญหาด้วยสันติที่วางอยู่บนความเข้าใจในสาเหตุของปัญหา และความพยายามปลดเงื่อนความรุนแรง โดยผ่านการเจรจาและการใช้มาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมและสำคัญ
 
          แนวทางที่กล่าวมาข้างต้นอาจช่วยให้ประชาชนในพื้นที่สามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน และสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนอื่นในท้องถิ่นภายใต้การรับรองสิทธิมนุษยชนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ค.ศ.1997)
 
          นายอิห์ซาโนกลูกล่าวว่า เขาได้ "ติดต่ออย่างจริงจังกับรัฐบาลไทยและผู้นำมุสลิมที่ทรงคุณวุฒิ เพื่อหาหนทางไปสู่ความสันติสุขและเจรจาหาทางออกให้กับปัญหาของชาวมุสลิมในภาคใต้ของไทย" (Achara Ashayaga chat, “OIC : Thai attitude constructive”, Bangkok Post, May 16, 2007, p.2 Section 1)เขากล่าวต่อไปว่าเขาสนับสนุนผู้นำรัฐบาลให้ส่งเสริมกระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ให้มีความโปร่งใส เพื่อเป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่การสร้างความมั่นใจในหมู่ประชาชนชาวมุสลิมและมอบความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ให้แก่พวกเขาในกิจการของพวกเขาเอง ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ
 
          ทั้งนี้ เขามีความหวังว่าทัศนคติที่สร้างสรรค์และมีความหวังในอนาคตนี้ จะเป็นตัวอย่างให้กับประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมด้วยในที่สุด
 
          เลขาธิการ OIC นายอิห์ซาโนกลูอ้างในที่ประชุม OIC ที่กรุงดามัสกัสเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2009 ว่าเขาได้เสนอแนะแง่มุมต่างๆ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาในฟิลิปปินส์ พม่าและประเทศไทย นอกเหนือไปจากปัญหาอื่น เพื่อให้เข้าถึงชาวมุสลิมและอัตลักษณ์ที่เป็นความจำเป็นของพวกเขา
 
          เขาบอกว่าสิ่งที่ผู้นำมุสลิมกำลังมองหาก็คือการแสดงออกอย่างเต็มที่ของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน
 
          ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่1 พฤษภาคม ค.ศ.2007 นายเอ็กมิเล็ดดีนอิห์ซาโนกลู ได้มีสารถึงชาวไทยมุสลิมไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมค.ศ.2007 มีใจความดังนี้
 
"สารจากข้าพเจ้าถึงชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมในภาคใต้ของไทยที่กำลังประสบกับความเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งเป็นสารแห่งสันติภาพ และสารแห่งภราดรภาพของอิสลามอันที่จริง ข้าพเจ้าได้มาอยู่ตรงนี้ พร้อมกับความรู้สึกแห่งความเป็นพี่น้องแห่งอิสลามมนุษยธรรมและเต็มไปด้วยความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์อันเศร้าโศก ที่พี่น้องมุสลิมกำลังประสบอยู่ในประเทศอันเป็นที่รักของท่านข้าพเจ้าได้รับคำเชิญจากรัฐบาลใหม่ของไทยเพื่อรับทราบถึงสถานการณ์จากแหล่งของปัญหา
 
หลังจากที่ข้าพเจ้าได้รับทราบถึงแนวทางสร้างสรรค์ที่ทางรัฐบาลใหม่กำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า ไม่ใช่แค่เพียงแต่แก้ไขปัญหาที่ภายนอก ซึ่งรัฐบาลไทยได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม(holistic) รวมถึงการให้โอกาสแก่ประชาชนในภาคใต้ได้มีส่วนในการบริหารกิจการภายในท้องถิ่นด้วยตัวเอง ซึ่งจะสามารถดำเนินชีวิตในกรอบวัฒนธรรมและภาษาของตนเอง รวมทั้งบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเศรษฐกิจ และเดินหน้าพัฒนาในด้านต่างๆอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
 
มีการนำพาความสงบสุข ความมั่นคง ความรักใคร่และสันติภาพระหว่างพี่น้องร่วมชาติไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนาดังที่ท่านทั้งหลายทราบดีว่า สารแห่งอิสลามได้ส่งเสริมสันติภาพความรักใคร่และปฏิบัติตนที่ดีต่อคนรอบข้าง
 
พระองค์อัลลอฮ์ได้ตรัสในพระมหาคัมภีร์กุรอาน ความว่า "แท้จริงเราได้สร้างประชาชาติและเผ่าพันธุ์ทั้งหลายเพื่อทำความรู้จักซึ่งกันและกัน"
 
          และอัลกุรอานได้ห้ามการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างเด็ดขาด พระองค์ทรงกล่าวความว่า "ใครฆ่าบุคคลคนหนึ่ง และสร้างความเสียหายบนพื้นโลก เปรียบเสมือนการฆ่ามนุษย์ทั้งมวล" โดยการฆ่าบุคคลหนึ่งคนเปรียบเสมือนการล้างเผ่าพันธุ์ ในความหมายปัจจุบันนั่นเอง
 
"ชาวมุสลิมได้อยู่อาศัยในสังคมที่มีความหลากหลาย อย่างสันติและสามัคคีและให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันมาเป็นเวลายาวนานมีชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในโลกนี้จำนวนหนึ่งในสาม และเป็นชุมชนมุสลิมที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคมของตนเอง
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วทุกหนแห่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่ได้เข้ามาแทรกแซงความคิดของอิสลาม และกระทบต่อขนบธรรมเนียมที่ดีของชาวมุสลิม
 
ข้าพเจ้าขอให้ท่านสบายใจ และขอสัญญาว่า เราจะให้การสนับสนุน และจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องตามที่ได้ตกลงกันไว้ในวันนี้ เพื่อบรรลุถึงความหวังของท่านทั้งหลายในอันที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีเกียรติ ท่ามกลางความสงบสุขความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ
 
ข้าพเจ้าขอพรจากเอกองค์อัลลอฮ์ (ศุบห์) เพื่อทรงดลบันดาลให้ทุกย่างก้าวของเราประสบผลสำเร็จ"
 
(ดู มุสลิมนิวส์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 60 วันที่ 15 พฤษภาคม-15 มิถุนายน 2550, หน้า 2-3)
 
          ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้เลขาธิการ OIC ยังให้สัมภาษณ์สำนักข่าว อัล-ญะซีเราะฮ์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวของประเทศกาตาร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตะวันออกกลางอีกว่า
 
          ตัวเขาเองเคยได้รับเชิญมาเยือนประเทศไทยแล้ว2 ครั้ง แต่ครั้งที่ผ่านมาช่วงเวลาไม่เหมาะสม ในครั้งนี้ได้ตัดสินใจมาเยือนประเทศไทยเพราะมีความชื่นชมในนโยบายแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการที่รัฐบาลได้กล่าวขอโทษ และยอมรับว่ามีความผิดพลาดในนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน
 
          ในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.สนธิบุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการ OIC รู้สึกได้ถึงความตั้งใจจริงและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ OIC สนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลไทย ถึงแม้ว่าประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะยังคงมีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม และการไม่นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ก็เชื่อว่าสามารถคลี่คลายปัญหาได้
 
          การนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาล โดยOIC เห็นว่าข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ และ OIC สนับสนุนการพูดคุยระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
 
          OIC เห็นว่าอธิปไตยและบูรณภาพของไทยต้องได้รับการเคารพควบคู่ไปกับกระบวนการกระจายอำนาจ และการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นและจัดการทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลไทยกำลังดำเนินนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
 
          OIC ได้แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบถึงความเห็นและความรู้สึกของ OIC ต่อสถานการณ์แล้ว ซึ่ง OIC เห็นว่าการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องของศาสนา
 
          ศาสนาอิสลามเพียงถูกนำมาสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอิสลามเป็นต้นเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น คำสอนและหลักการของศาสนาอิสลามไม่เคยสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
 
          (สารจากเลขาธิการ OIC ถึงชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อามานดามัย, ปีที่ 2 ฉบับที่ 9 ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม-15 พฤษภาคม พ.ศ.2550)
 
ท่าทีของไทยต่อ OIC
 
          พนิช วิกิตเศรษฐ์ (Panich Vikitsreth) อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศและเป็นตัวแทนของไทยที่เข้าประชุม OIC ที่กรุงดามัสกัสกล่าวว่าต้องขอบคุณมิตรประเทศ อย่างเช่น อินโดนีเซียบังกลาเทศ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และปากีสถาน ที่ทำให้ประเทศไทยล้มเลิกความพยายามของ PULO ได้ชั่วคราว
 
          นายพนิชยังได้ย้ำอีกว่า ฝ่ายบริหารของนายอภิสิทธิ์จะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งตัวแทนอันชอบธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดสภาพที่ดีขึ้น และจะให้ความสำคัญอย่างที่สุดกับการอำนวยความยุติธรรมด้วยการเข้าไปผูกพันกับประชาสังคมหรือองค์การต่างๆ เพื่อยืนยันถึงความยุติธรรมที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
 
          ตัวแทนของประเทศไทยแสดงความชัดเจนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับ OIC และอุมมะฮ์อิสลามโดยรวมจะไม่ได้วางอยู่เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์อันกว้างขวางทางเศรษฐกิจ
 
          กระนั้นก็ตาม ในเรื่องความสัมพันธ์กับ OIC นี้ดูเหมือนว่าประเทศไทยและ OIC ยังคงพูดด้วยน้ำเสียงที่ต่างกัน
 
          ในขณะที่สำนักเลขาธิการ OIC ที่นครญิดดะฮ์ประเทศซาอุดีอาระเบียกลับมีความเห็นว่าประเทศไทย ไม่มีความตั้งใจที่จะสื่อสารกับ OIC อย่างเปิดเผย
 
          นายฏอฮิร อะห์มัด ซาอีฟ (Taher Ahmad Saif)ผู้อำนวยการสาขาชุมชนมุสลิมและชนกลุ่มน้อย(Director in Department of Muslim Communities and Minorities) กล่าวว่า หากประเทศไทยต้องการที่จะลงทุน และทำการค้ากับโลกมุสลิม ประเทศไทยก็จำเป็นต้องแก้ไขความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องและโปร่งใสก่อน
 
          นายฏอฮิร ยังกล่าวต่อไปอีกว่า หาก OIC ยังรู้สึกว่าไม่มีความก้าวหน้าในความพยายามที่จะพัฒนาสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจในภาคใต้ตอนล่างของไทยแล้ว พวกเขาก็จะยังคงแขวนการแยกมติของประเทศไทยเอาไว้ต่างหากในการประชุมที่ทาจิกิสถานในปี 2010 ต่อไป
 
          ประเทศไทยควรจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุดจากการมีสถานะสังเกตการณ์ เพราะว่าOIC ได้ให้สถานะของไทยไปแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น อินเดีย และฟิลิปปินส์ ยังต้องรอการมีสถานะสังเกตการณ์อยู่ (สัมภาษณ์ฏอฮิรอะห์มัด ซาอีฟ (Taher Ahmad Saif) ผู้อำนวยการสาขาชุมชนมุสลิมและชนกลุ่มน้อย (Director in Department of Muslim Communities and Minorities) และคณะ ณ สำนักเลขาธิการ องค์การการประชุมอิสลาม (OIC) นครญิดดะฮ์ (Jeddah)ประเทศซาอุดีอาระเบีย วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.2009)
 
          เป็นที่เข้าใจกันว่ามุสลิมอุมมะฮ์ จับตาปัญหาภาคใต้จากระยะไกล จึงเป็นการยากที่พวกเขาจะทำความเข้าใจได้ด้วยความเห็นใจ ในจุดยืนของประเทศไทย เหนืออื่นใด เหตุการณ์ก็ดูเหมือนว่ายังไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นมา สำหรับชาวมุสลิมที่อยู่ภาคใต้ตอนล่างสุดแต่อย่างใด
 
          (Achara Ashayagachat, “Thailand and the OIC : Finding it hard to explain southern unrest abroad”, Bangkok Post, June 5, 2009, p.9)
 
          ในระดับระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อจะอธิบายถึงเหตุการณ์ในภาคใต้และบรรเทาความกังวลของชนชั้นนำในโลกมุสลิม เมื่อประเด็นภาคใต้ของไทยถูกยกขึ้นมากล่าวถึงในการประชุมขององค์การการประชุมอิสลามหรือ OIC
 
          การประชุมที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 23-25 พฤษภาคม ค.ศ.2009 ประเทศไทยได้รับความสำเร็จในการหยุดยั้งความพยายามขององค์การเอกภาพเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี(Pattani United Liberation Organization) หรือPULO ที่จะผลักดันให้ OIC แยกประเด็นปัญหาภาคใต้ของไทยออกมาเป็นการประชุมเฉพาะเรื่อง
 
          หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อไม่ให้มีมติ รายงานสรุปและคำประกาศที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับภาคใต้ของไทยออกมาในช่วงท้ายของการประชุม เพื่อที่ว่าจะได้ไม่มีการตีความอย่างผิดๆ ว่าประเทศไทยอาจสูญเสียอธิปไตยไป อันเนื่องมาจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้
 
          มีการบ้านอยู่มากให้ประเทศไทยได้ทำในรอบสองปี เมื่อ "ฝ่ายตรงข้าม" พยายามจะยกปัญหาความไม่สงบในประเทศไทยให้ไปถึงระดับที่ว่าสมควรที่จะแยกแถลงการณ์ออกไปต่างหาก แทนที่จะเข้าไปรวมอยู่กับประเด็นอื่นๆ ในมติที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม
 
          การประชุมของ OIC เมื่อวันที่ 23-25 พฤษภาคม ในกรุงดามัสกัสซึ่งเป็นเมืองหลวงของซีเรีย ได้มีการตัดสินใจให้เลื่อนการพิจารณาร่างมติที่เกี่ยวกับสภาพการณ์ของชุมชนมุสลิมในภาคใต้ของไทยออกไปก่อน จนกว่าจะมีการประชุมครั้งต่อไป
 
          อย่างไรก็ตาม OIC จะไม่ยกเลิกการติดตามประเด็นเกี่ยวกับภาคใต้ของไทย ทั้งนี้ OIC ยังคงจะติดตามเรื่องของประเทศไทยตามที่รัฐบาลก่อนได้สัญญาและรายงานต่อ OIC เอาไว้
 
          รัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ทำอะไรมากนักที่จะหาช่องทางที่ สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีประเทศของไทย ได้ปูทางเอาไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1998 เมื่อเขานำเอาประเทศไทยเข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์การที่มีสมาชิก 57 ประเทศ
 
          อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประชุมที่กรุงดูชานเบประเทศทาจิกิถานมาถึง การแยกมติของประเทศไทยเอาไว้ต่างหากก็มิได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด