Skip to main content
ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
          การบุกเข้าโจมตี กองร้อย ร.15121 ฉก.นราธิวาส ที่บ้านมะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส โดยฝีมือของ กลุ่ม “คอมมานโด” ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต จนทำให้กองทัพต้องสูญเสีย รอ.กฤช คัมภีรญาณ ผบ.ร้อย และลูกน้องอีก 4 คน พร้อมทั้งบาดเจ็บอีก 7 นาย  พร้อมทั้งขนเองอาวุธปืนกว่า 50 กระบอก กระสุนอีกครึ่งหมื่นนัด ในความรู้สึกของคนใน 3 จังหวัดถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย แต่ในความรู้สึกของคนทั้งประเทศ และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกองทัพบก ถือว่าเป็นการ “ช็อค” อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคย “ช็อค” อย่างรุนแรงมาแล้ว เมื่อครั้งที่ มีการปล้นกองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547
 
          ความสูญเสียที่เกิดขึ้นคงไม่ต้องกล่าวถึง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการสูญเสียชีวิตของทหารกล้า และเสียยุทโธปกรณ์  ซึ่งเป็นส่วนสร้างความฮึกเหิมและสร้างเสริมเขี้ยวเล็บให้ขบวนการเท่านั้น แต่หมายถึงกองทัพสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง สูญเสียความเชื่อมั่นที่สังคมมีต่อกองทัพ และสูญเสียความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีคำถามว่า ในเมื่อกองร้อยของตนเอง ยังรักษาไว้ไม่ได้ แล้วจะไปรักษาป้องกัน ชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ได้อย่าไร
 
               
          โดยข้อเท็จจริง ก่อนที่จะเกิดการปล้นปืนและละลาย กองร้อย 15121 ครั้งนี้ มีหน่วยข่าวอย่างน้อยหนึ่งหน่วย ที่พบเห็นความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยมะแซ อุเซ็ง แวอาลี คอปเตอร์ และ อาริส โซ๊ะโก ซึ่งเป็น แกนนำ ระดับเสนาธิการ ของขบวนการ บีอาร์ฯ  ในสถานที่ประกอบพิธีศาสนาแห่งหนึ่งในเมือง รันตูปันยัง ติดกับแม่น้ำสุไหงโก-ลก ชายแดนไทยที่ติดกับมาเลเซียด้านรัฐกลันตัน  แต่ไม่ทราบว่า “ข่าว” ดังกล่าว มีการ “บูรณาการ” ระหว่างหน่วยหรือไม่  รวมทั้งมีการตรวจสอบความ “ลึก”ของข่าวแค่ไหน โดยเฉพาะ ฉก.นราธิวาส และ กองกำลังในพื้นที่การ “สำเหนียก” ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
               
          เพราะการปฏิบัติการ ละลายกองร้อย เพื่อปล้นอาวุธของ ร. 15121 เป็นการปฏิบัติการที่ง่ายดายเกินไป และมีประเด็นที่น่าสงสัย ถึงความ “หละหลวม” ในการป้องกันฐานที่มั่น เช่น ไม่มีแผนเผชิญเหตุที่รัดกุม เมื่อคนร้ายสั่งตัดไฟในฐาน และเปิดฉากโจมตีด้านหน้าฐานด้วยเอ็ม 79 ซึ่งเป็นยุทธวิธีในการหลอกล่อกำลังของเจ้าที่ ที่ติดอาวุธในฐาน ก็พากันวิ่งออกมาหน้าฐานทั้งหมด โดยปล่อยให้พื้นที่หลังกองร้อย “ว่างเปล่า” เพื่อให้กองกำลังของคนร้าย สามารถใช้ไม้พาดลวดหนาม ตลบหลัง จนสามารถยึดฐาน และขนอาวุธไปได้อย่างง่ายงาย
               
          โจรก่อการร้ายโดยการสั่งการและวางแผนของมะแซ อุเซ็ง ใช้แผน “รวมดารา” คือระดม อาร์เคเค ระดับคอมมานโด จากปัตตนี ยะลา และ นราธิวาส ใช้วิธีการแบ่งกำลังเพียง 3 ชุด ชุดหนึ่งหลอกโจมตีด้านหน้า ชุดที่ 2 ตลบหลังบุกโจมตีทางด้านหลังที่ติดกับเชิงเขา โดยมีกำลังชุดที่ 3 ซึ่งเตรียมพร้อมติดตามเข้าไป เพื่อขนปืนและกระสุนจากคลังแสง หลังประสพความสำเร็จในการปฏิบัติการ ก่อนที่จะหลบหนี นำอาวุธไปมอบให้กับกำลังชุดที่ 4  นำอาวุธที่ยึดไปไป ซ่อนไว้ในที่ ซึ่งกำหนดไว้แล้ว
               
          คำถามคือ ร.15121 เป็นกองร้อยที่ค่อนข้างถาวร เพราะที่พักไม่ใช่เป็นเพิง หรืออาศัย วัด และโรงเรียน เป็นที่ตั้ง มีการสร้างบ้าน “น็อคดาวน์” เพื่อเป็นที่ทำการและที่พัก เมื่อมี ผบ.ร้อย ย่อมมีกำลังอย่างน้อย 50 นาย ในคืนที่ถูกฝ่ายตรงข้าม ละลายฐาน ปล้นอาวุธ กำลังส่วนใหญ่ไม่อยู่ในฐาน กำลังเหล่านี้หายไปไหน เพราะถ้าออกไปปฏิบัติหน้าที่ ต้องเบิกอาวุธปืนไปด้วย และหากนอนพักในในฐานหลังจากออกเวร ก็ต้องมีอาวุธปืนประจำกาย เนื่องจาก กองร้อย ร. 15121 เป็นกองร้อยในภาวะสงคราม เป็นภาวะไม่ปกติ ปืนต้องประจำกายของทุกนาย ไม่ต้องนำอาวุธปืนไปเก็บที่ “คลังแสง” เหมือนกองร้อยปกติ ที่ไม่อยู่ในที่สู้รบ การที่มีการเก็บอาวุธปืนกว่า 50 กระบอกไว้ในคลังแสง แสดงว่า กำลังพล ไม่อยู่ในที่ตั้ง
               
          และประเด็นสุดท้าย การป้องกันฐานที่ตั้งหรือกองร้อย หละหลวมหรือไม่ เช่น ทำไมหลังฐานที่ติดกับเชิงเขา จึงไม่มียาม ไม่มี “รังปืน” และนอกรั้วลวดหนาม จึงไม่มีการการวาง “พลุสดุด” หรือระเบิดแบบ “เคโมไมท์” เพื่อให้เป็น “แผงหลัง” ป้องกันอันตราย และแจ้งเหตุให้กำลังในฐาน ต่อสู้รักษาฐานปฏิบัติการไว้อย่างทันท่วงที
               
          จึงกลายเป็น “โจทย์” ที่กองทัพ และ ฉก. นราธิวาส ต้องตอบกับคนทั้งประเทศว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดจากความ “ประมาท” ความ “หละหลวม” หรือความ “อ่อนหัด” ทั้งด้านการข่าว ด้านการป้องกัน เพราะถ้าไม่ใช่ทั้ง 3 ประเด็น เท่ากับกองทัพยอมรับว่า “คอมมานโด” ของขบวนการบีอาร์เอ็น มีขีดความสามารถที่สูง ซึ่งจะตอบโจทย์ได้ชัดเจนว่า ปฏิบัติการทางทหารที่ผ่านมา 7 ปีเต็ม และละลายงบประมาณไปแล้วกว่า 100,000 ล้าน คือความล้มเหลว ที่ต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
               
          และยังเป็นความล้มเหลวของปฏิบัติการทาง “การเมือง” ด้วย เนื่องจากก่อนหน้าที่ มะแซ อุเซ็ง จะสั่งให้ละลายฐาน ร.15121 เพียงไม่กี่วัน มีข้าราชการฝ่ายพลเรือนระดับ 10 นายหนึ่ง เดินทางไปพบปะกับนายนาเซ ฟาตะ ผบ.สูงสุด ของขบวนการพูโล ที่เซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเซีย  โดยให้ขบวนการพูโล ซึ่งเป็นฝ่ายรับผิดชอบทางการเมืองของบวนการแบ่งแยกดินแดน เพื่อหาแนวทางเจรจาทางลับเพื่อลดความรุนแรง แต่เมื่อมะแซ อุเซ็ง ตอบโต้ด้วยการสั่ง ละลายฐาน และ ปล้นปืน ร.15121 แสดงให้เห็นว่า “บีอาร์แอ็น” ไม่สนใจที่จะใช้วิธีการเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐไทย
               
          ดังนั้น สิ่งที่กองทัพและหน่วยงานทุกหน่วย โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องทำคือ ประเมินสถานการณ์จริง หยุดการจินตนาการแบบเข้าข้างตนเอง และปรับวิธีการทั้งยุทธศาสตร์การทหาร และการเมือง ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อที่จะได้ “เหนือกว่า” ยุทธศาสตร์ด้านการทหาร และการเมืองของ บีอาร์เอ็นฯ อย่ารอให้ ฐานปฎิบัติการที่เหลืออยู่ กลายเป็นที่ “ฝึก” ซ้อมตามแผน “รวมดารา” ของฝ่ายตรงข้ามอีกต่อไป