ปกรณ์ พึ่งเนตร |
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปิดยุทธการพิทักษ์แดนใต้ที่มีกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) เป็นองค์กรขับเคลื่อน ด้วยการเปิดยุทธการย่อย "ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม" ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบไล่เรียงไปตามพื้นที่สีแดงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา พร้อมทั้งเรียกขานชื่อยุทธการไปตามชื่ออำเภอ เช่น ยุทธการพิชิตบันนังสตา หรือ ยุทธการพิทักษ์ปาดี นั้น ส่งผลให้เหตุการณ์รุนแรงรายวันเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด
ฝ่ายความมั่นคงเชื่อมั่นว่า นี่คือความสำเร็จ และมั่นใจยิ่งขึ้นไปอีกว่า กำลังเดินถูกทางแล้ว!
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ดูเหมือนฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบจะเริ่มจับทางได้ และหันมาก่อความรุนแรงโต้กลับ โดยใช้ "ความรุนแรงยิ่งกว่า" กับเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ไร้ทางสู้ ทั้งฆ่าตัดคอชาวบ้านวัยไม้ใกล้ฝั่ง ยิงเจ้าหน้าที่อนามัย และสังหารครู โดยเลือกเฉพาะพื้นที่ปัตตานีซึ่งฝ่ายความมั่นคงกำลังตะลุยเปิดยุทธการอยู่ในขณะนี้
ความรุนแรงที่เข้าขั้น "เลวร้าย" ทำให้แนวร่วมของรัฐที่กำลังเริ่มก่อตัวชักจะรวนเร เสียงจากแกนนำครูปอเนาะคนหนึ่งที่กล่าวภายหลังรู้ข่าวครูโรงเรียนสอนศาสนาถูกยิงถึงหน้าโรงเรียนว่า "หากรัฐยังปล่อยให้เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป จะไม่มีใครสนับสนุนยุทธการของเจ้าหน้าที่ เพราะโอกาสตกเป็นเหยื่อมีสูงยิ่งกว่าเก่า" นั้น ดูจะเป็นคำกล่าวที่ตรงใจใครอีกหลายคน พร้อมๆ กับคำถามที่ตามมาว่า ยุทธการพิทักษ์แดนใต้ประสบความสำเร็จจริงหรือ?
ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่ในมุมมองของอดีตผู้นำทางทหาร เจ้าของฉายา "ขงเบ้งแห่งกองทัพ" อย่าง "บิ๊กจิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ยังสรุปยังแข็งกร้าวว่า นี่ไม่ใช่ความสำเร็จ!
"เราจะดูว่าความสำเร็จในการปฏิบัติงานอยู่ตรงไหน เราต้องดูที่ยุทธศาสตร์ หรือความคิดใหญ่ อย่าไปดูเรื่องเล็กๆ เพราะนั่นคือยุทธวิธี" พล.อ.ชวลิต เริ่มอธิบายในหลักการ และว่า
"อย่างเช่นวันนี้ล้อมจับได้ 3 คน วันนั้นได้อีก 50 คน แล้วบอกว่านั่นคือความสำเร็จ...มันไม่ใช่ แต่ต้องถามว่ายุทธศาสตร์ที่ใช้คืออะไร รูปแบบไหน แล้วยุทธวิธีมันถึงจะสนองตอบได้ ถ้าเราไปจับเอายุทธวิธี แล้วมองเอาแพ้เอาชนะ เหตุการณ์จะดีหรือไม่ดีเพราะเราล้อมปราบได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้ นั่นจะเป็นอันตรายอย่างที่สุด" พล.อ.ชวลิต กล่าว
ก่อนจะสรุปกรอบความคิดที่เป็นดั่งคัมภีร์ของการจัดการ "ความขัดแย้ง" ว่า ในสงครามที่เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ที่เราเรียกว่าการก่อการร้าย ไม่มีทางที่จะได้ชัยชนะด้วยการใช้ปฏิบัติการทางทหาร แต่จะต้องใช้ปฏิบัติการทางการเมือง เพราะการเอาชนะทางการเมืองคือชัยชนะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
"เมื่อไหร่ที่บอกว่าชนะแล้ว เพราะล้อมปราบได้ 150 คน อันนี้ถือว่าอันตรายอย่างที่สุด" ขงเบ้งจิ๋ว ย้ำ
พล.อ.ชวลิต ยังเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือการเอาชนะทางความคิดว่า มีอยู่ 3 ทฤษฎีใหญ่ๆ คือ
1.ทฤษฎีดอกไม้หลากสี หมายถึง การทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้แม้จะมีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม เพราะสังคมของคนสามจังหวัดภาคใต้ในอดีต คือสังคมของความเป็นมิตร ความปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม ซึ่งวันนี้ต้องเรียกกลับมาให้ได้
2.ทฤษฎีถอยคนละสามก้าว หมายถึง ต้องมีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้เสียสละ และตัดสินว่าจะไม่อยู่ร่วมในกระบวนการแห่งความขัดแย้ง ซึ่งความจริงไม่จำเป็นต้องถอยทั้งสองฝ่าย แค่ถอยเพียงฝ่ายเดียวก็ได้ผลแล้ว เพราะจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งตีไม่ถึง
และ 3.ทฤษฎีนครปัตตานี หมายถึงการให้อำนาจคนในพื้นที่ได้ปกครองและดูแลตัวเอง ในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
"เรารู้แล้วว่าการจะลดความขัดแย้ง และสร้างสมานฉันท์ได้ดีที่สุด คือการสร้างสังคมแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่าต้องให้อำนาจกับประชาชน ซึ่งการให้อำนาจนั้นมีหลายรูปแบบ แต่บ้านเมืองเรามีตัวบทกฎหมาย ฉะนั้นต้องให้ในแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" พล.อ.ชวลิต กล่าว พร้อมขยายความว่า
"นครรัฐปัตตานีก็คือการให้อำนาจการปกครองและดูแลตัวเอง เพราะไม่มีประเทศไหนหรอกที่มีชนกลุ่มน้อยอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนแล้วจะไม่ให้อำนาจในการดูแลตัวเอง แม้กระทั่งประเทศที่มีการปกครองในระบอบเผด็จการ ยังให้มากกว่านี้เลย คือ ให้เป็นเขตปกครองพิเศษด้วยซ้ำไป"
อดีตขงเบ้งแห่งกองทัพ ยังบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในทางยุทธวิธีก็คือ หลักการทีเรียกว่า "หงอี้จ่างเสี้ยน" นั่นคือหลักแนวร่วม ทำอย่างไรถึงจะกำหนดให้ศัตรูเล็กที่สุด และมีมิตรมากที่สุด เราถึงเอาชนะได้
"ถ้าใช้วิธีอย่างนี้ 6 เดือนจบ คนที่บอกว่าอีก 1 ปีจบ หรืออีกชาติหนึ่งจบนั้น แพ้แล้วตั้งแต่ที่พูด" พล.อ.ชวลิต กล่าว
อย่างไรก็ดี พล.อ.ชวลิต ซึ่งเคยรับหน้าที่ดูแลปัญหาภาคใต้ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกตัวว่า วิธีการที่เสนอนั้น น่าจะประกาศใช้ตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ที่ไม่ได้ประกาศ เพราะผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ
"ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 (ช่วงเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน) เราใช้เวลา 2-3 เดือนจึงวิเคราะห์ออกมาได้ว่า หัวใจของปัญหา ทั้งยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และเป้าหมายของเราอยู่ที่ไหน วันนั้นเราได้ของบประมาณรัฐบาล 12 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาในเชิงความคิดของลูกหลานเราในพื้นที่ แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ผู้รับผิดชอบไม่ได้ศึกษาเรื่องพวกนี้อย่างละเอียด ไปมองแต่ว่าเป็นการใช้งบประมาณในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ก็เลยบอกว่าเอาไปล้านเดียวก็แล้วกัน"
พล.อ.ชวลิต กล่าวทิ้งท้ายว่า จากความไม่เข้าใจในวันนั้น ทำให้วันนี้เราต้องใช้งบประมาณถึงปีละ 40,000 ล้านในการแก้ไขปัญหา และมีคนตายปีละเกือบพันคน !