พ
|
2
|
ลังชีวิตธรรมาธิปไตย กลางใจตน(ผู้เขียน) นับเป็นหัวใจสำคัญของการสืบสานพลังชีวิตธรรมาธิปไตยชุมชน เพราะพลังชีวิตธรรมาธิปไตยชุมชนจะเกิดขึ้นได้ต้องมีธรรมาธิปไตยกลางใจตนของทุกคน คือต้องมีหลักธรรมในการบริหารตัวเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยการยึดถือความถูกต้อง ความดีงาม ความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจ อยู่บนหลักการด้วยมีเหตุ มีผล มีจิตใจที่มั่นคง ซื่อตรง และซื่อสัตย์ เพราะกระบวนการว่าด้วยการเกิดธรรมาธิปไตยกลางใจตน(ผู้เขียน) นั้นจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีจิตวิญญาณที่นิ่งสงบ ดังคำพูดของดีพัก โชปรา ที่บอกว่า...ท่ามกลางความวุ่นวายและสับสน จงรักษาใจตนให้นิ่งสงบ…โดยอธิบายว่า ความจริงเนื้อแท้ของมนุษย์คือจิตสำนึก (Consciousness) ซึ่งทุกคนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ถ้าเราอยากให้โลกสงบสุข วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การหาความสงบให้ตัวเอง หรือการไม่ตัดสินคนอื่น ให้อภัย ไม่โกรธแค้น ฯลฯเพราะเขามองว่า เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หรืออีกคำพูดอันทรงพลังของท่านที่บอกว่า… “เมื่อใดก็ตามที่คุณตระหนักถึงจิตวิญญาณที่นิ่ง อะไรบางอย่างที่อยู่ในสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวท่าน ไม่ว่าจะมองดอกไม้ คุณก็จะมองเห็นความงดงามล้ำค่าของมัน เมื่อมองโทรศัพท์สักเครื่อง โต๊ะสักตัว รองเท้าสักข้าง แล้วมองเห็นความไม่สิ้นสุดของมัน เมื่อนั้นความเป็นนิรันดร์จะปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง… คุณก็จะเห็นโลกทั้งใบที่สร้างขึ้นจากมือ ของตัวเอง…”
การอยู่บนหลักความเป็นจริง และความถูกต้อง ที่ผ่านจากการกำหนดสภาวะความดีหนึ่งเดียว (ผู้เขียน) ที่อาศัยด้วยการทำด้วยปัญญา และคุมสติให้อยู่ด้วยการเคารพข้อบังคับกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่ไปทำลายมนุษย์ ธรรมชาติ จักรวาล แต่มุ่งเน้นในการทำความดีงามคือการมีแต่ให้ และไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตน ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม นับว่าหายากในสภาวะที่สังคมมีความทุกข์ทับซ้อน ดังเวลามีการอบรมบ่มนิสัยในทุกครั้ง ของพลโท กิตติพันธ์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ประธานอำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาธรรมาธิปไตย มักกล่าวประโยคหนึ่งเสมอๆ ที่ชวนให้ผู้เขียนตระหนักรู้ว่า...“การที่มนุษย์จะบรรลุความต้องการสูงสุดในการครองตน ( Self actualization ) ได้นั้นมนุษย์ต้องใช้เวลาในการสืบค้นและค้นหาตามแต่ศักยภาพของตน…” ประโยคอันน่าขบคิดที่ชี้ชวนให้ผู้เขียนต้องอดหลับอดนอนอีกครั้งหนึ่งของชีวิตความเป็นนักวิจัยบ้านนอก เพื่อเดินหาความสุขที่แท้และสันติภาพอีกครั้ง
ผสานกับประโยคอันหนักแน่นในคำพูดของผู้มากประสบการณ์ชีวิตในการสืบสานพลังชีวิตธรรมาธิปไตย ของอาจารย์บงกช นพวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาธรรมาธิปไตย ที่กล่าวว่า “…รากฐานสำคัญแห่งความมั่นคงของชาติ มิติสังคม และความมั่นคงของมนุษย์นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความสุขแท้ ของชีวิต…” เช่นกัน
ความอยู่จริงนั้นทั้งอาจารย์บงกช ท่านพลโท กิตติพันธ์ นพวงศ์ ณ อยุธยา และคณะ ต่างได้น้อมนำศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ รวมถึงสืบสานธรรมาธิปไตยมหาบารมีบรมธรรม (รัฐประศาสนศาสตร์มหาบารมีบรมธรรม) ภายใต้องค์กรบูรณาการคือ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาธรรมาธิปไตย ”เป็นเวลาอย่างน้อย ๖ ปีเต็ม ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ เพื่อแสวงหาแนวทางดำเนินชีวิตแก่พลเมืองไทย และมวลมนุษยชาติเพื่อหาแสงสว่างของชีวิต ..สืบเนื่องนิรันดร์ ..นับเป็นกระบวนทัศน์ที่สำคัญใหญ่ยิ่งที่ทำให้ผู้เขียนจึงอยากทำหน้าที่อันมีคุณค่านี้ในการร้อยเรียงและทำความเข้าใจของคำว่า “ธรรมาธิปไตย” ที่แท้เพียงคำถามในใจตน (ผู้เขียน) อยู่ว่า แล้วที่ไหนคือพื้นที่ ที่ผู้เขียนจะได้ศึกษาพื้นที่อันบริสุทธิ์ สงบ สันติที่แท้…? เช่นนั้น
ความจริงผู้เขียนเองมีความตระหนักภายในตนเสมอว่า การไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ธรรมชาติ จักรวาล นับว่าเป็นความสมบูรณ์พร้อมทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ผู้เขียนตระหนักคิดเสมออีกเช่นกันว่า การสร้างความตระหนักในกฎเบื้องต้นนั้น ต้องมีธรรมาธิปไตยในใจตน เป็นอย่างน้อย ทำให้ผู้เขียนตั้งมั่นและกำหนดเจตจำนงอิสระแห่งชีวิต เพื่อแสวงหาและเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติเหล่านั้น ทว่าสภาวะแห่งการค้นหาความสุขแท้ และสันติภาพ อาจเป็นจุดคลิกที่ทำให้ผู้เขียนตระหนักในจิตวิญญาณของความเป็นพลเมืองในการสร้างสุขของมนุษย์ อันเป็นกฎมาตรฐานไปแล้วตามแนวคิดของมาสโลฮ์ คำถามกลางใจว่า แล้วที่ไหนคืนพื้นที่แสงสุข สงบ สันติ ธรรมาธิปไตย…? แบบนั้น
เมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ ผู้เขียนและคณะทำงานได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาเรียนรู้กระบวนการสืบสานพลังชีวิตธรรมาธิปไตยชุมชนที่เกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร ดินแดนที่แรกเห็น คือ สภาพทั่วไปดูเสมือนไม่ต่างไปจากแผ่นดิน ผืนน้ำ อื่นๆในประเทศไทยผู้คนที่เดินทางมาถึงครั้งแรกจะมีคำถาม ว่า ....
“ เขาให้เรามาดูอะไรที่เกาะพิทักษ์ ”
“ อะไรคือความต่างในความคล้ายคลึง ” และ ....
“ จริงหรือที่เกาะพิทักษ์ เป็นดินแดนแห่งความสุขที่เมื่อใครก็ตามมาได้มาเรียนรู้แล้วจะมีความสุข....ในดินแดน ผืนน้ำ ภายใต้แผ่นฟ้าเดียวกัน ที่ดูเหมือนธรรมดา ....แต่ไม่ธรรมดา มากด้วยคุณค่าธรรมาธิปไตย มิติองค์รวม ( รูปธรรม นามธรรม เชิงซ้อน ) ”
หลากหลายภาพที่สะท้อนถึงความสมบูรณ์พร้อมทางจิตวิญญาณของคนเกาะพิทักษ์ ดังเช่นคำพูดของนายอำพล ธานีครุฑ (ผู้ใหญ่หรั่ง)และชาวบ้านในชุมชนเกาะพิทักษ์บอกว่า การที่บนเกาะพิทักษ์มีความสะอาด น่าอยู่ เป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นเกิดจากความร่วมมือของชุมชนกันเอง โดยเฉพาะความร่วมมือที่เกิดจากการที่เรามีการจัดใน ๖ จัด คือ “จัดใจ จัดชุมชน จัดข้อมูล จัดขยะ จัดทะเล จัดเงิน-กองทุน” เช่น การจัดใจด้วยการระเบิดจากข้างในของชุมชนกันเอง เช่น ระเบิดที่ตัวเราเอง คือตัวชาวบ้านเอง โดยการไม่ทิ้งขยะเจอแล้วเก็บ การจัดชุมชนคือการที่คนในชุมชนร่วมกันปรึกษาหารือในทุกกิจกรรม ด้วยการมีกรรมการชุมชนในทุกชุมชน โดยให้แต่ละบ้านมีประธานชุมชนมีกรรมการกลางในการร่วมกันวางแผน ร่วมกันหาทางออกในทุกปัญหา ซึ่งผลที่เกิดคือความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมบนเกาะพิทักษ์ และเกิดพลังบริสุทธิ์ที่จะร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนเกาะพิทักษ์ด้วยคนเกาะพิทักษ์ ส่วนหนึ่งจากคำพูดของผู้ใหญ่หรั่ง และชาวบ้านในชุมชนเกาะพิทักษ์อันลึกซึ้งแห่งจิตสำนึกสาธารณะ อันเป็นต้นทุนใหญ่ยิ่งของการบูรณาการแห่งการสืบสานพลังชีวิตธรรมาธิปไตยชุมชน
หากมองภาพสภาวะแห่งความสุข สงบ ที่แท้แห่งเกาะพิทักษ์ หากเชื่อและเข้าใจว่าเป็นกระบวนการ “การบูรณาการพลังชีวิตธรรมาธิปไตย” และแนวทาง “การสืบสานพลังชีวิตธรรมาธิปไตยชุมชน” ที่เริ่มต้นจากการเสริมสร้างพลังอำนาจที่เป็นธรรมที่เรียกว่า การสร้างพลังอำนาจแห่งธรรมที่ตัวเองโดยการรับรู้เกี่ยวกับตนเองนับเป็นสภาวะที่จะต้องทำความเข้าใจเสมอ เพราะผู้เขียนเองพยายามที่จะหนี้กับดักความบ่อยครั้งที่คนไทยเลือกหยิบหรือเรียนรู้เฉพาะรูปแบบ แต่ไม่ได้เรียนรู้ในสภาวะที่มีความละเอียด หลากหลายลึกซึ้งที่มีมากกว่านั้น ผู้เขียนตั้งคำถามเสมอว่า “…เพราะความรู้ไม่ใช่แค่รู้ เรารู้ก็ไม่ใช่แค่ใครรู้ เพราะทุกความรู้คือการแสวงหา หาก็ไม่ใช่เพียงหาว่าเจออย่างนั้น และมองอย่างนั้น และบอกว่าใช่อย่างนั้น…” (ผู้เขียน) เพราะการรับรู้นั้นมันหาใช่สิ่งที่เห็นเสมอไป มันอาจเสมือนเห็นก็เป็นได้ เพราะท่ามกลางในสถานการณ์ที่เราอาจอยู่ใกล้เหตุการณ์จนเกินไปนั้น ย่อมหลีกเลี่ยงการที่เราจะตัดสินใจเข้าข้างตนเองไปไม่พ้น ซึ่งการสร้างระยะห่างจากเหตุการณ์ของตัวเราอย่างเหมาะสมนั้น ย่อมที่จะช่วยให้เราตัดสินหรือแยกถูกผิดได้มากกว่า หากได้เข้าใจในฐานคิดที่ว่า ตัวตนอาจไม่ตัดขาดจากตัวตน หรือปัจจุบันไม่อาจตัดขาดแยกจากอดีต ของความรู้แบบ Baconian ถือว่า ความรู้ถอดแบบจากการทำงานสามลักษณ์ในจิตมนุษย์ คือ ความทรงจำ เหตุผล และจินตนาการ โดยเฉพาะความทรงจำนั้นเป็นการทำงานทางจิตใจของมนุษย์เพื่อไม่ให้ถูกกับดักแห่งความทรงจำ และจินตนาการที่ผูกกับมายาคติ ที่แอบแฝงซ้อนเงื่อนแห่งความเชื่อ กับความทรงจำนั้นจำเป็นต้องมองพรมแดนแห่งความอยู่จริง เป็นเพราะ คงปฏิเสธการหยั่งรู้แห่งความอยู่จริงที่พร้อมสรรพที่จะอธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้นอย่างใจ ว่างเปล่าที่ปราศจากเขตแดนแห่งสภาพความเป็นตัวตนไม่ขาดจึงเป็นปัญหา เพราะการหยั่งรู้ ที่ว่างเปล่ามันเป็นสิ่งที่ยากลำบากในการอรรถาธิบายถึงปรากฏการณ์ความอยู่จริง ที่ปราศจากการครอบงำ (ผู้เขียน) ฉะนั้นการอาศัยการรับรู้เกี่ยวกับตนเองนั้นจำเป็นต้องแสวงหา ในการ จะทำอย่างไรให้รู้จักตนเองมากที่สุดจึงเป็นสิ่งยากลำบาก เพราะมหาตมะคาน กล่าวว่า “…บันไดขั้นแรกในการควบคุมตนเองก็คือการควบคุมความคิด…” (จำนง อดิวัฒนสิทธิ์, ๒๕๕๐ : ๘๓) ฉะนั้นจึงให้ความสำคัญมากในเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง
การรับรู้เกี่ยวกับตนเองเป็นสิ่งที่บุคคลจะต้องทำการรู้จักตนเองก่อน วิธีที่บุคคลจะรู้จักตนเองได้ชัดเจนคือ การสำรวจตนเอง ทำให้บุคคลสามารถมองตนเองอย่างชัดเจนทั้งในแง่บวกแง่ลบ ทั้งในส่วนที่ดีและส่วนที่ต้องปรับปรุง รวมไปถึงความสามารถในการสำรวจตนเองว่าตนเองมีบุคลิกภาพส่วนใดจะต้องพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นและการที่บุคคลจะรู้จักตัวเองได้นั้น
กันยา สุวรรณแสง(๒๕๓๓:๓๒๒-๓๒๖)อธิบายโดยสรุปว่าบุคคลจะต้องรู้จักตนเองอย่างน้อยใน ๓ ลักษณะคือ อันดับแรกได้แก่อุปนิสัยของตนเอง เราต้องวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนว่าตนเองมีอุปนิสัยอย่างไร อุปนิสัยใดดีก็ควรส่งเสริมไว้อุปนิสัยอะไรไม่ดีก็ควรแก้ไขอาจจะใช้เวลานานแต่ถ้าเรามีความตั้งใจจริงก็สามารถทำได้ ประการที่สองคือ ลักษณะส่วนรวมของตนลักษณะนี้คงต้องอาศัยจากผู้อื่นช่วยบอกบางครั้งเราไม่ต้องการฟังคำวิจารณ์เพราะอาจจะทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดแต่เราจงอดทนฟังคำวิจารณ์ เพราะคำทวงติงจากมิตรดีและคนที่มีความจริงใจแล้วเรานำมาไตร่ตรองบางครั้งคำวิจารณ์ คำทวงติงเหล่านั้นอาจมีข้อคิดที่ดีมากมาย และประการสุดท้ายคือบทบาทของตน เราแต่ละคนมีสถานภาพ (Status) จึงต้องแสดงบทบาท(Role) เราจึงต้องแสดงตนตามบทบาทที่เราได้รับให้สมบูรณ์ นอกจากนี้ในเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง เราทุกคนก็สามารถกระทำได้โดยการที่เราสามารถทำความเข้าใจในตนเองได้ทุกแง่ทุกมุมทั้งมุมกว้างและมุมลึก ทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ยังต้องพัฒนา โดยเราต้องพยายามทำใจให้เป็นกลาง อย่าเข้าข้างตนเองมากเกินไปจนมองตนไม่ออก นั่นก็เท่ากับว่าท่านไม่สามารถวิเคราะห์ตนเองได้ และสุดท้ายของการรับรู้ตนเองคือความสามารถเปิดใจกว้างในการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเพื่อนำมาพัฒนาตน
สำหรับการรับรู้ตนเองตามแนวคิดของคาร์ล โรเจอร์ ( Carl Rogers ) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยากลุ่มมนุษย์นิยมเขามีความสนใจเรื่องมนุษย์ เขามองมนุษย์ในแง่ดีและเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ดีงามและมนุษย์ยังเป็นผู้ที่ได้รับการขัดเกลามาแล้ว รักความก้าวหน้า พูดจริง ทำจริง รวมทั้งมีความสามารถหลายๆ อย่างแนวคิดที่สำคัญคือ เขาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเอง หรือ มีแนวความคิดของตนเอง (Self Concept ) อาจจะกล่าวสรุปว่ามนุษย์มีภาพของตนจากตาที่มองเห็นสิ่งต่างๆ และภาพของตนจากใจในการนึกคิดภาพต่างๆ ที่เกิดเป็นมโนภาพทางจิตของตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณสมบัติ รูปสมบัติและทรัพย์สมบัติ ตัวตนตามแนวคิดของคาร์ล โรเจอร์ จึงประกอบไปด้วยตัวตน ๓ ประเภทคือ
๑) ตัวตนที่เป็นจริง ( real self )
๒) ตัวตนที่คิดว่าเราเป็น ( perceived self )
๓) ตัวตนที่เราต้องการจะเป็น ( ideal self )
ดังนั้น ตัวตนที่อยู่กับตัวเรา จะประกอบด้วยภาพภายในใจของเราตามที่เราคิดและจะต้องอยู่กับเราอย่างสมดุลและสอดคล้องกัน ส่วนภาพภายในใจของเรากับตัวตนจริงๆของเรา จะไม่ทำให้เราเกิดความคับข้องใจเมื่อภาพทั้งภายในและภาพทั้งภายนอกสมดุลกัน บุคคลก็จะเกิดการรับรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างถูกต้องการรับรู้เกี่ยวกับตัวเองตามแนวคิดนี้จึงเน้นที่รับรู้ตัวตนทั้งภายในและภายนอกอย่างสอดคล้องกัน สำหรับเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับตัวเองนั้นสิ่งที่บุคคลควรจะพิจารณาเป็นเรื่องต้นๆ ๓ เรื่องคือ เรื่องตนเองซึ่งประกอบไปด้วยลักษณะทางกายและลักษณะทางจิตและเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ตนอยู่ตั้งแต่สังคม วัฒนธรรมรวมไปจนถึงอิทธิพลของสื่อต่างๆ ที่บุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังจะอธิบายแยกเป็นข้อๆ คือ
๑) การรับรู้เกี่ยวกับตนเองทางด้านลักษณะทางกาย ได้แก่การที่บุคคลต้องรู้จักตนเองในส่วนของสรีระทางกายว่าตนเองมีรูปร่างหน้าตา หน้าตาเป็นอย่างไร ขนาดของร่างกาย ทรวดทรงและสัดส่วนของร่างกายการทรงตัวกิริยาท่าทางอิริยาบถต่างๆผิวพรรณ และรวมไปถึงสุขภาพของร่างกาย และมีสติปัญญารู้คิดรู้พิจารณาในเรื่องต่างๆ ได้ มีความรู้ความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ลักษณะทางกายเป็นเรื่องของพันธุกรรมเราคงกำหนดมากไม่ได้นัก แต่เราอาจดูแลรักษาให้ร่างกายสะอาดเป็นอย่างธรรมชาติที่กำหนดและงดงามตามธรรมชาติหรือปรุงแต่งให้ดูดีตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า ลักษณะทางกายของเราอาจบอกบุคลิกภาพของบุคคลได้
๒) การรับรู้เกี่ยวกับตนเองทางด้านลักษณะทางจิต เป็นการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอารมณ์ ความสนใจ ความถนัด แต่ถ้าจะกล่าวให้ชัดลงไปคือการรับรู้ในเรื่องลักษณะนิสัยของตนเองในความเป็นบุคคลนิสัยของบุคคลจะเริ่มจากการที่บุคคลมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยการผ่านกระบวนการเรียนรู้ พอบุคคลโตขึ้นมาหน่อยเด็กที่เริ่มเรียนรู้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าหลายๆอย่างเด็กเกิดการโต้ตอบต่อสิ่งเร้าต่างๆ และเกิดการผสมผสานอย่างเป็นระบบขึ้น ในส่วนนี้เราเรียกว่าเกิดลักษณะนิสัย ดังนั้นนิสัยจึงเป็นระบบที่ถูกผสมผสานให้เกิดการโต้ตอบต่อสิ่งต่างๆที่เข้ามาเร้า สิ่งเร้าอาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของหรือเป็นสถานการณ์ก็ได้ พอเด็กเริ่มเข้าโรงเรียนจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเริ่มเรียนรู้ เริ่มสะสมสิ่งต่างๆ เข้ามาในชีวิต เด็กเริ่มมีระบบผสมผสานนิสัยต่างๆมากขึ้นมีการรวมเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งที่โรงเรียน วัด สื่อรูปแบบต่างๆเช่นวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต กลุ่มสังคมใกล้เคียงที่อาศัย ทำให้เด็กพัฒนาเจตคติ คุณธรรมและความสนใจเข้าไว้ด้วยกัน จากนิสัยก็กลายเป็นลักษณะนิสัย และลักษณะนิสัยต่างๆ ถูกจัดระบบให้อยู่ในระบบใหญ่ที่เรียกว่า “ตัวของตัวเอง”หรือ “Self”แต่สามารถมีตัวของตัวเองได้มากกว่าหนึ่ง เช่น เป็นลูกที่น่ารักของแม่ เป็นเด็กดีของคุณครู เป็นนักว่ายน้ำ เป็นคนสนุกในหมู่เพื่อนๆ ตัวของตัวเองจึงมีลักษณะต่างกันไป ซึ่งการผสมผสานระบบต่างๆในขั้นสุดท้ายจึงเกิดเป็นบุคลิกภาพ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่จะสะท้อนให้เห็นบุคลิกภาพได้ดีเท่า “ลักษณะนิสัย”หรือ”อุปนิสัย”
อุปนิสัยมีความหมายกว้างกว่านิสัยเพราะอุปนิสัยเชื่อมโยงและรวมเอานิสัยต่างๆตั้งแต่สองอย่างเข้าไว้ด้วยกัน อุปนิสัยจะเป็นการตอบสนองในสภาพการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น คนที่มีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อก็จะมีนิสัยหลายๆอย่างรวมกันเช่น เป็นคนใจดี เสียสละ เป็นคนมีเมตตากรุณา เป็นคนโอบอ้อมอารี ชอบสังคม มีความเป็นมิตรกับทุกคนเป็นต้น
นอกจากนี้แล้วอุปนิสัยหรือลักษณะนิสัยยังทำหน้าที่ประเมินค่าเมื่อมันทำงานร่วมกับเจตคติโดยเจตคติจะใช้ประเมินความรู้สึกโดยจะแสดงออกในเรื่องจะยอมรับได้หรือไม่สามารถยอมรับในสิ่งต่างๆ หรือเรื่องต่างๆ เจตคติเป็นความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีอย่างเฉพาะเจาะจงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนับเป็นการเชื่อมโยงความรู้สึกกับบางสิ่งบางอย่างโดยเฉพาะ แต่อุปนิสัยครอบคลุมไปยังลักษณะทั่วไป ส่วนเจตคติมีระดับความมากน้อยแตกต่างกันอาจอยู่ในระดับต่ำสุด ปานกลาง สูงสุด แต่อุปนิสัยมีเพียงระดับปกติ โดยอุปนิสัยทำหน้าที่ชี้นำหรือกำหนดพฤติกรรมต่างๆของบุคคลและทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรม อุปนิสัยบางอย่างทำหน้าที่เป็นสิ่งเร้า หรือแรงจูงใจ ให้บุคคลแสดงพฤติกรรมต่างๆ โดยสิ่งเร้าต่างๆ จะกระตุ้นให้อุปนิสัยทำหน้าที่ตามบทบาทต่างๆของตนเองอย่างเหมาะสม
๓) การรับรู้เกี่ยวกับตนเองทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้น เมื่อบุคคลเกิดมาทุกชีวิตต้องสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระบบครอบครัวไปจนถึงระบบสังคมใหญ่ สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อบุคคลมากเป็นตัวกำหนดบุคลิกภาพ บุคคลต้องเรียนรู้ว่าตนเองอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างไร และประเมินบรรทัดฐานทางสังคมได้ว่าตัวเราพึงปฏิบัติตนอย่างไรจึงสามารถเข้าใจเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับตนเองมากยิ่งขึ้น(บงกช นพวงศ์ ณ อยุธยาและคณะ, ๒๕๕๓ : ๒๑ – ๒๔ )
การรับรู้ตนเองถือเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างพลังอำนาจแห่งธรรม ด้วย เพราะการรับรู้ตนเองสามารถสร้างความสว่างในใจตนแห่งจิตวิญญาณ ที่สามารถควบคุมเหนือความคิด ยิ่งหากมนุษย์ได้ผ่านการหล่อหลอมทางจิตวิญญาณด้วยการสร้างพลังอำนาจ แห่งธรรมตามศานธรรมของตนด้วยการรักษาธรรมาธิปไตยในใจตนให้เจริญงอกงามยั่งยืนได้ ซึ่งในทางพุทธศาสนาบอกว่า ใครก็ตามสามารถรับรู้ตนเอง เช่น รับรู้ “ฉันทะ” คือรับรู้ความพึ่งพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ หรือในสิ่งที่ค้นหาและค้นพบ รับรู้ใน “วิริยะ” คือรับรู้ในความเพียร ที่จะปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงาม ในสิ่งที่ค้นพบ รับรู้ตนต่อ “จิตตะ” คือ รับรู้ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะรักษาสิ่งดีงามนั้นให้ยั่งยืนนาน และแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดต่อไป และรับรู้ต่อ “วิมังสา” คือรับรู้ตนในการเข้าใจ การเข้าถึง และการพัฒนา ให้ธรรมาธิปไตยในใจตนบังเกิดขึ้น และวัฒนาสถาพรให้สืบเนื่องยาวนานยั่งยืน(กิตติพันธ์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ) ก็จะสามารถเหนี่ยวนำตนเองเข้าสู่สุนทรียะภาวะในการครองตนที่ดีงามสมบูรณ์ พร้อมๆ กับการทบทวนพลังชีวิตธรรมาธิปไตยในตนเอง ด้วยการเพิ่มองค์ความรู้และเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติตั้งแต่ชุมชน ครอบครัว หมู่บ้านตนเอง และออกไปสู่สังคมรอบข้าง ก็นับเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน ก็จะสมบูรณ์แห่งจิตวิญญาณแห่งตน เกิดพลังธรรมาธิปไตยในใจตน เป็นเพราะเมื่อมีธรรมาธิปไตยในตนเอง ชุมชน สังคมแล้ว ธรรมาธิปไตยกลางใจตน (ปัจเจกตน) ของทุกคนก็จะเกิดขึ้นตามมาดังนี้
๑. เกิดคุณธรรม คือ มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยันหมั่นเพียร มีความอดทน ต่ออุปสรรคและ ประกอบสมาอาชีพสุจริต
๒. เกิดความโปร่งใส คือ มีพฤติกรรมและการปฏิบัติเป็นที่เปิดเผย มีกระบวนการที่ทำให้สังคมไว้วางใจและตรวจสอบได้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
๓. เกิดความรับผิดชอบ คือ การตระหนักในหน้าที่การงาน ใส่ใจต่อปัญหา กระตือรือร้นในตนเองในปัญหาที่เกิดขึ้น กล้าได้กล้าเสียในสิ่งที่ถูกต้อง
๔. เกิดการมีส่วนร่วม คือ เปิดโอกาสให้แก่ทุกคนแสดงความคิดเห็น เสนอแนะตลอดจนการปฏิบัติงานในรูปแบบประชาสังคม โดยเน้นการปฏิบัติงานตามเสียงส่วนใหญ่ ปราศจากอคติ และเอาความคิดส่วนตนมาเป็นใหญ่
ด้วยสมมติฐานที่ว่า คนเราทุกคนมีความต้องการที่ตรงกันคือต้องการธรรมะ ต้องการความถูกต้อง ความดีงาม ต้องการความชอบธรรม ต้องการความเป็นธรรม ต้องการประโยชน์และความสุขต่อตนเอง / สังคม การอยู่ร่วมกันมีความสงบสุข สมัครสมานสามัคคี ปรองดองกัน มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน นับเป็นความต้องการ และความสุขแท้ในฐานะความเป็นมนุษย์ ดังวจนะของมหาตมะคานธีว่า … “วัตถุประสงค์ที่สำคัญของชีวิตก็คือการดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง คิดอย่างถูกต้อง และทำอย่างถูกต้อง จิตวิญญาณจะสูญสลายไปเมื่อเรามัวแต่ครุ่นคิดถึงแต่ร่างกายอย่างเดียว…” ผู้เขียนเองก็มองศรอีกเช่นกันว่า ถ้าคนเรา มีธรรมาธิปไตยในตัว จะไม่สร้างปัญหาให้แก่คนอื่น จะไม่ถือพรรคถือพวก ถือกลุ่ม และไม่ยึดถือประโยชน์ส่วนตัว พวกพ้อง หรือญาติตระกูล มาเป็นแนวทางปฏิบัติ/บริหาร แต่จะมุ่งหาแสงสว่าง มุ่งหาพลังธรรมาธิปไตยในการครองตน เพื่อนำหลักธรรมเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจ และแก้ไขปัญหารอบๆ ตัวเอง และสังคม สู่ความสันติสุข แบบยั่งยืนหรือที่เรียกว่า การสร้าง“สภาวะแห่งธรรมที่แท้ สูงสุด บริสุทธิ์” สังคมไทยก็จะมีแต่ความสุข สงบ สันติถาวร
การสร้างสภาวะแห่งธรรมที่แท้สูงสูด บริสุทธิ์ หรืออำนาจสูงสุดที่เป็นธรรมาธิปไตย ที่แท้จริงนั้น มีความเชื่ออยู่ว่าจะดำเนินการได้ต้องมีองค์ประกอบในสภาวะ ๒ รูปแบบด้วยกัน คือ ๑. การเรียนรู้ / การค้นหา ๒. การฝึก / การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ถ้าคนเราไม่มีการเรียนรู้หรือการค้นหาแหล่งธรรมาธิปไตยในตัวเองให้เจอแล้ว คนนั้นจะไม่มีการปฏิบัติหรือวางใจในทางที่ถูกต้อง ไม่มีคุณธรรม ไม่รับผิดชอบ และชอบธรรมไม่ใส่ใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนไม่ใส่ใจต่อผลกระทบที่จะตามมาเอาความดีใส่ตัว โยงความเลว/ความผิดให้คนอื่น ไม่มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ถึงมีการเรียนรู้และค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการสู่ธรรมาธิปไตย ถ้าไม่มีการฝึกและปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอแล้วก็มิอาจนำธรรมาธิปไตยมาใช้ในการบริหารตนเองได้หรือจะคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ในสังคมอย่างสมบูรณ์และเป็นธรรม “ นำสันติธรรม สู่สันติภาพ นำหลักธรรมสู่ความรู้ นำความรู้สู่ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ” เพราะองค์ประกอบในทางมิติเชิงซ้อนทางสังคมมนุษย์มองว่า
แท้จริง / มนุษย์ : เชิงแปรเปลี่ยน มนุษย์ส่วนใหญ่ในกลุ่มใหญ่เชื่อในสิ่งที่มองเห็น สัมผัสได้ พิสูจน์ได้ มีรูปสังขาร ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเคลื่อนที่หรืออยู่กับที่ ไม่แยกส่วนของความเชื่อ มนุษย์กลุ่มนี้อยากได้รับการยอมรับและยกย่องในสังคม (อยากเด่น อยากดัง อยากรวย อยากหรู มีหน้ามีตา มีเกียรติ และ มีศักดิ์ศรี) หลากหลายสาขา หลากหลายอาชีพ ปะปนอยู่ ในสังคมมายา เปิดเผยต่อสาธารณะ (ยึดติด เกาะติด ติดตาม รับช่วง ยอมรับ รับใช้) เพราะสรรพสิ่งในโลกที่มีสังขารและไม่มีสังขารย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปตามสภาพตามกาลเวลา ตามอายุไข ตามสถานะของสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ สัจธรรมของสรรพสัตว์ / สรรพสิ่งในโลกมีเกิด มีดับ มีอุบัติ และมีมลาย การมีวิวัฒนาการเจริญรุ่งเรือง การกลายสภาพจนถึงการล่มสลาย ( ทางธรรมชาติ : การเกิดสึนามิ พายุ ไฟป่า น้ำป่า หรือ ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น / ทางน้ำมือของมนุษย์: ตึกถล่ม สะพานยุบ ไฟไหม้ หรือ รถไฟตกราง เป็นต้น)
เท็จจริง / มนุษย์ : เชิงปริศนา มนุษย์กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เชื่อในสิ่งที่มองเห็นด้วยตา และสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส และสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นบางสิ่งบางอย่าง มีสังขาร / ไม่มีสังขาร เคลื่อนไหว / อยู่กับที่ แยกส่วนของความเชื่อ เปิดเผยตนต่อสาธารณะบ้างบางโอกาสหรือไม่เปิดเผยตนในบางเรื่อง บางเรื่องสาธารณชนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา / ไม่ธรรมดาดังนั้นเท็จจริงมนุษย์ต้องพบกับความปริศนาต่อการค้นหาคำตอบ การค้นหา ความจริง การหาทางพิสูจน์ ด้วยการอาศัยระยะเวลาเป็นที่ตั้ง โดยเชื่อว่าไม่วันใดวันหนึ่ง เวลาใดเวลาหนึ่งจะมาถึงซึ่งคำตอบ
ที่จริง / มนุษย์ : เชิงประจักษ์ มนุษย์กลุ่มสุดท้ายอาจมีจำนวยน้อยมากที่เชื่อ ในสิ่งที่มองไม่เห็นและเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นมีอิทธิพลเป็นพลังเหนือธรรมชาติ เหนือคำบรรยาย การสัมผัสเกิดขึ้นเฉพาะคนที่เรียกว่ามีญาณวิเศษหรือการหยั่งรู้ ( Sensitive) มีความเชื่อความศรัทธา มุ่งมั่นต่อการปฏิบัติเพื่อให้เกิดมรรคผล มีคำตอบและตอบสนองต่อประสาทสัมผัส ทั้งห้าเชิงประจักษ์ด้วยปรากฏการณ์ กลุ่มนี้มัก ไม่ค่อยเปิดเผยตนหรือน้อยคน ที่ให้การยอมรับโดยไม่ต่อต้านและขัดแย้งเป็นคำตอบสุดท้ายที่ได้ผ่านกระบวนการ เชื่อ ศรัทธา ปฏิบัติ มีผลตอบสนองต่อการสัมผัสในมิติองค์รวมด้วยปรากฏการณ์ หรือปฏิบัติอย่างไรได้อย่างนั้น ผลตอบสนองอาจช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับวิธี / วิถีและกระแสบุญกรรมของแต่ละบุคคล