จิตต์ปภัสสร์ บัตรประโคน
"ลงมาที่นี่ บอกทางบ้านหรือเปล่า"
"บอกค่ะ แต่บอกว่าจะไปชลบุรี"
"ขึ้นรถไฟไม่ทัน ต้องมารถทัวร์ แม่อุตส่าห์ดีใจที่ตกรถไฟแล้วนะเนี่ย" (หัวเราะ)
คำถาม-คำตอบที่แลกเปลี่ยนกันอย่างครื้นเครงเมื่อได้เจอกับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนักศึกษาสู่ชุมชนเยียวยาผู้สูญเสียในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ได้สะท้อนถึงการรับรู้ของคนภายนอกที่มีต่อสถานการณ์อันเต็มไปด้วยความไม่สงบ ความรุนแรง และความตาย ด้วยการรับรู้เช่นนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่นักศึกษา มอ.ปัตตานี จัดโครงการฯ นี้ขึ้นเพื่อพาเพื่อนๆ นิสิตนักศึกษา เกือบร้อยชีวิตล่องใต้มาสัมผัสกับตัวจริง เสียงจริง และเรื่องจริงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ไลลา เจะซู ประธานโครงการฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการครั้งนี้ว่า สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน และการที่สื่อมวลชนยังไม่สามารถเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน มีอีกหลายประเด็นที่สื่อยังไม่เสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง "ความรู้สึก" ของชาวบ้าน ความเจ็บปวด ความเดือดร้อน และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นซึ่งมากเสียยิ่งกว่าจำนวนของสถานการณ์ที่มีการนำเสนอ
"ไม่ใช่จะว่าสื่อไม่ดีทั้งหมด แต่สิ่งที่สื่อนำเสนอเน้นหนักไปเรื่องของความรุนแรง ความเลวร้ายของสถานการณ์ และเป็นพื้นที่ที่มีแต่โจรก่อความไม่สงบ เราต้องการจะเปลี่ยนแปลงความเข้าใจ มุมมองและทัศนคติในเชิงลบเหล่านี้ โดยมีนักศึกษาเป็น ‘กระบอกเสียง' ในการบอกเล่าและส่งผ่านเรื่องราวใหม่ที่เห็นว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความงดงามอยู่"
สำหรับโครงการนักศึกษาสู่ชุมชนเยียวยาผู้สูญเสียที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 สิงหาคมที่ผ่านมา ดำเนินการโดยสภานักศึกษา มอ.ปัตตานี เกิดขึ้นเพื่อจะเป็นทางเลือกในการเรียนรู้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างโอกาสและเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา ทั้งจากภายในและนอกพื้นที่ บนฐานคิดที่ว่า การได้ลงมาพื้นที่ เยี่ยมเยียนผู้สูญเสีย ได้สัมผัสกับข้อเท็จจริงจากประชาชนในพื้นที่โดยตรง จะทำให้เกิดความเข้าใจวิถีชีวิต สภาพและสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติและลดอคติของคนในสังคมที่มีต่อปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างให้เกิดจิตสำนึก และความตระหนักร่วมกันถึงบทบาทของนักศึกษาในการแก้ไขปัญหา
อาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ที่ปรึกษาโครงการฯ นี้ ได้กล่าวต้อนรับนิสิต นักศึกษา ในวันแรกของกิจกรรม มีความว่า นี่นับว่าเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งนักศึกษาจากภายนอกที่เป็นกลุ่มคนรุ่นเดียวกันจะได้เข้ามารับรู้ปัญหา แบ่งปันความรู้สึก และแชร์ความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหา ที่นี่เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ด้วยความหลากหลายที่อยู่ร่วมกันเช่นนี้จะสร้างให้เกิดทางออกในการแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งนี้การมาเรียนรู้และทำความเข้าใจความพิเศษทั้งหลายในพื้นที่ จะช่วยลดและสลายอคติที่มีต่อปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น อันหมายถึงการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เหมาะสมและสอดคล้องกับ "ข้อเท็จจริง" ในดินแดนแห่งนี้
ในโครงการฯ นี้ มีกิจกรรมแน่นเอี๊ยดเริ่มจากการปูพื้นฐานด้านประวัติศาสตร์ของดินแดนแห่งนี้ ภายใต้การเสวนาเรื่อง "ย้อนรอยลังกาสุกะ-ปัตตานีดารุสลาม" และเรื่อง "เรียนรู้อดีต สืบสานปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต"
อาจารย์ครองชัย หัตถา วิทยากรผู้บรรยายกล่าวไว้น่าสนใจว่า "ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการได้รับรู้ความจริงที่ไม่ครบถ้วน การเลือกรับและปกปิดบางเรื่องก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกัน อีกทั้งประวัติศาสตร์คับแคบที่ไม่ให้ความสำคัญกับเมื่องอื่นที่ไม่ใช่เมืองหลวง ถ้าไม่ภักดีต่อสยาม หรือเป็นประเทศราชของสยามแล้ว ก็เป็นกบฏ ได้ละเลยการดำรงอยู่ การพัฒนา ความรุ่งเรืองและความงอกงามของวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิม เหล่านี้ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อ และไม่น่าเรียนรู้"
ช่วงก่อนจะเข้าสู่การเสวนามีการแสดงอนาซีดเพื่อสันติภาพ ซึ่งผู้แสดงมาในชุดพื้นเมือง นุ่งโสร่งที่เขาแนะนำแก่เพื่อนว่า เป็นเครื่องนุ่งห่มที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการก่อการร้าย การก่อความไม่สงบ เขาหวังว่า การได้มาร่วมกันในโครงการฯ นี้ เพื่อนๆ จะรู้ว่า "ไม่ใช่ทุกคนที่ใส่โสร่งเป็นผู้ก่อการร้าย"
เข้าสู่วันที่สอง พอทุกคนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านตัวหนังสือแล้ว ก็ได้เวลาลงไปสัมผัสของจริง ในวันนี้จึงเป็นการเดินทาง "ทัศนาจร" ยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ได้แก่ เมืองโบราณยะรัง (ลังกาสุกะ) กุโบร์พญาอินทิรา โดยด้านมีป้ายเขียนอธิบายแก่นักท่องเที่ยวว่า พญาอินทิรา หรือ สุลต่านอิสมาอิล ซาห์ เป็นเจ้าเมืองปัตตานีคนแรกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ปกครองปัตตานีช่วง พ.ศ.2043-2073 เป็นผู้สถาปนานครปาตานีดารุสลาม ตกเย็นเป็นการเสวนาเรื่อง "มูลเหตุของความขัดแย้ง" โดยมีผู้ร่วมเสวนาในประเด็นและหัวข้อต่างๆ
มูฮัมหมัดอายุป ปาทาน อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา หนึ่งในวิทยากรย้ำถึงความรอบด้านเชิงองค์ความรู้เรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากนักศึกษาขาดข้อมูล ข้อเท็จจริงและไม่มีความรู้จริงเกี่ยวปัญหาที่เกิดขึ้น พลังของนักศึกษาจะหายไป เขากล่าวเตือนใจแก่นักศึกษาว่า จะทำอะไรต้องรู้เรื่องนั้นให้จริง รู้เรื่องนั้นให้ถ่องแท้ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และฐานข้อมูลของตัวเอง ใช้ "ใจ" อย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ "ตีน" เดินไปหาด้วย
"นักศึกษาเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากสังคม ถือเป็นพลังขับเคลื่อนในแนวราบที่จะประสานกับพลังข้างบนคือรัฐบาลในการแก้ปัญหา แต่หากนักศึกษาไม่มีข้อมูล ไม่มีความรอบด้านของความรู้เรื่องนี้แล้ว รัฐบาลก็จะไม่ฟัง ข้อเสนอไม่หนักแน่นพอจนนำไปสู่การแก้ปัญหาได้"
วิทยากรอีกท่านหนึ่งคือ โซรยา จามจุรี กลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสีย เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มนักศึกษาในการทำงานเยียวยาว่า เริ่มต้นเป็นการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่ ปี 2547 โดยช่วงนั้นปรากฏข่าวการหายตัวไป การอุ้มฆ่าชาวบ้าน นักศึกษาเพียงแต่ต้องการลงไปค้นข้อมูล ให้กำลังใจแก่ผู้สูญเสีย
"งานเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจเป็นงานที่นักศึกษาสามารถทำได้เลย อย่างกลุ่มนักศึกษาที่ต่อมาเป็นกลุ่มเยาวชนใจอาสา พวกเขาเลือกแล้วที่ปลูกต้นไม้กลางทะเลทราย ช่วยลดความคับแค้น ความขมขื่นใจของคนที่ยังอยู่ แม่ เมียและลูกๆ ของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร เป็นผู้ก่อการร้าย ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในการกระทำของพ่อ ของสามีเลย เขาเป็นผู้สูญเสียที่ต้องได้รับการเยียวยา"
"ความจริง" จากพื้นที่สีแดง
วันที่สามเป็นการแบ่งกลุ่มนักศึกษาลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนผู้สูญเสียใน 5 พื้นที่ ได้แก่ 1.ตำบลปาเสยาวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี 2.บ้านควนหรัน ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา 3.บ้านคอลอปาแล ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดสงขลา 4.บ้านสันติ ตำบบแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา และ 5.บ้านไอบาตู ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ถูกจัดว่าเป็น "พื้นที่สีแดง" โดยภายหลังเมื่อแต่ละกลุ่มเดินทางกลับมาจากพื้นที่อย่างปลอดภัย และได้มีโอกาสบอกเล่าประสบการณ์ ความรู้สึก ที่เกิดขึ้น ทุกกลุ่มล้วนแต่ยืนยันตรงกันถึง "ความแดง" ของพื้นที่ที่ตนไปประสบมา ตั้งแต่ "แดง" เพราะทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินลูกรังกว่าจะฝ่าฝุ่นดินรุกรังเข้าถึงหมู่บ้าน ทำให้หัวแดง เสื้อแดง และกางเกงแดงเป็นสีสนิมกันถ้วนหน้า บางกลุ่มเจอ "ความแดง" ของผลเงาะที่สุกเต็มต้น เพราะราคาที่ตกต่ำจนเก็บมาขายไม่คุ้ม ต้องปล่อยให้ผลเงาะสุกแดงท่วมต้น แต่ทุกกลุ่มจะต้องเจอ "สีแดง" ของเลือดเนื้อและร่างกายที่ต้องสูญเสียไปในทุกหมู่บ้าน
ที่ไอบาตูเกิดเหตุกระสุนปริศนาคร่าชีวิต นางสาวอาอีซาตา อิบรอฮิม ครูสอนตาดีกามัสยิดอัลตาร์บียะห์ และมีชาวบ้านเสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกันนี้อีกหนึ่งคน ซึ่งข่าวว่า เขาเสียชีวิตเพราะถูกทหารทำร้ายร่างกาย ชาวบ้านกว่าสามสิบคนถูกจับไปควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. ส่วนที่เหลือหนีไปที่อื่น พวกที่อยู่เพราะไม่มีที่ไปต้องจำใจอยู่อย่างหวาดกลัว
คณะของนักศึกษาที่ลงไปเยี่ยมเยียนในพื้นที่นี้ได้รับการต้อนรับจากพี่ชาย และพี่สาวของครูผู้เสียชีวิต นักศึกษาผู้นำกลุ่มย้ำกับคณะนักศึกษาที่มาว่า ห้ามถ่ายรูปและห้ามเขียนบันทึกใดๆ ทั้งสิ้น แล้วคำถามที่จะสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้สูญเสีย เช่น พวกคุณเป็น "โจร" หรือเปล่า ก็ห้ามถามเด็ดขาด เมื่อเจ้าของบ้านถามว่า รู้เรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นกับที่นี่อย่างไร ไม่มีใครตอบ พี่ชายผู้เสียชีวิตเล่าด้วยภาษามลายูท้องถิ่นก่อนที่จะถูกแปลเป็นภาษาไทยให้เข้าใจ
ต่อไปนี้คือสิ่งที่รายงานข่าวสาธารณะไม่มี แต่คณะนักศึกษาได้ยินมาจากญาติผู้เสียชีวิตว่า
วันที่เกิดเหตุ ชาวบ้านออกมารวมตัวกันเพื่อจะพาศพกลับไปทำพิธีที่บ้าน แต่ทหารไม่ทราบมาจากหน่วยไหนขับรถมาเกือบจะเฉี่ยวชนขบวนของชาวบ้าน ต่างคนต่างวิ่งหลบเอาตัวรอดปล่อยทิ้งศพไว้ข้างทาง ทหารยิงปืนขึ้นฟ้า จับชาวบ้านที่วิ่งหนีมัดแขนเหมือนกับกรณีตากใบ เรียกชาวบ้านไปรวมตัวกันที่มัสยิด พวกนี้ย่ำเข้าไปไม่ถอดรองเท้า ทหารคนหนึ่ง พูดใส่ไมค์ว่า "เลี้ยงหมา ดีกว่าเลี้ยงพวกมึง" อีกคนพูดกับชาวบ้านว่า "ถ้าแน่จริงเข้ามา กูรออยู่ที่นี่ อิสลามก็แค่นี้เอง" เวลานั้นทุกคนถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้า ใครกระดุกกระดิกจะถูกทำร้าย มีชายคนหนึ่งชื่อ ฮาซูบูเลาะ แฉะ ลุกขึ้นขัดขืนเพราะเห็นทหารเอาปืนจ่อไปที่เด็กซึ่งเป็นญาติของเขา เขาถูกคุมตัวออกไปข้างนอก ถูกซ้อม เอาหัวโขลกกับขอบอ่างน้ำ และจับหัวกดน้ำจนเสียชีวิต น้ำในอ่างแดงฉานด้วยสีเลือด ทหารปล่อยน้ำ เอาระเบิดยัดใส่มือ ออกข่าวว่าคนตายต่อสู้ จำเป็นต้องวิสามัญฆาตกรรม
เมื่อถามผู้เล่าว่า เห็นด้วยตาตัวเองอย่างนั้นหรือ เขาว่า "ไม่ได้เห็น" แต่ชาวบ้านที่บังเอิญหลบอยู่ในห้องน้ำใกล้กับอ่างน้ำนั้นเป็นคนเห็น ทุกคนที่อยู่ในมัสยิดวันนั้นนอนคว่ำหน้า ใครเงยหน้าจะถูกตบด้วยท้ายปืน แต่ได้ยินเสียงร้องอย่างเจ็บปวดของผู้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถช่วยอะไรได้
ตอนกลางวันไปกินข้าวที่มัสยิดซึ่งเกิดเหตุโศกนาฏกรรมได้พบกับชุดทหารสันติสุขที่ 410 หัวหน้าชุดคือ ร.ท.ทะเนตร์ ร้อยทา กำลังถูกล้อมด้วยเด็กเล็กๆ เกือบ 10 คน วันนี้พวกเขา "พา" น้ำหวาน ขนมถุงมาแจกเด็กๆ ในโรงเรียน นักศึกษาบางคนไปพูดคุยกับทหารถึงการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านแห่งนี้ ร.ท.ทะเนตร์บอกว่า เขาไม่ได้อยู่ในชุดกองกำลังที่ปฏิบัติงานในวันนั้น ได้ยินแต่เสียงทางวิทยุว่า มีเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับผู้ก่อการร้าย เป็นไปได้ว่า ผู้เสียชีวิตอาจจะถูกลูกหลงจากการปะทะ
"ชุดทหารของผมทำงานด้านมวลชน ไม่ใช่ชุดกองกำลังปราบปราม งานหลักคือทำความเข้าใจ ชี้แจง และอธิบายให้ชาวบ้านรับทราบถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ การขอความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสของผู้ก่อความไม่สงบ รับฟังความเดือดร้อน ข้อร้องเรียน และให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา รวมทั้งรักษาความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน"
เมื่อถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เขาว่า สถานการณ์หนักหนายิ่งกว่าสงคราม เพราะในสงครามยังรู้ว่าใครเป็นศัตรู มีการแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายเห็นได้ชัด แต่สงครามครั้งนี้ "โจร" อยู่ในหมู่ประชาชน ทั้งที่ทหารต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบ ก็อาจถูกกล่าวหาว่า ทำร้ายประชาชน ยิงชาวบ้าน มันอาจจะมีความผิดพลาด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ที่นี่มีขบวนการก่อการร้ายแทรกซึมและปฏิบัติการอยู่จริงๆ
"ไม่ใช่แต่ชาวบ้านกลัวทหารเท่านั้น ทหารที่ถือปืนอยู่นี้ก็ "กลัว" ชาวบ้าน เราไม่รู้ว่าใครดีร้ายชัดๆ แต่หากมีสถานการณ์ให้ต้องต่อสู้ ต้องปะทะแล้ว เราต้องสู้เต็มที่"
"ทหารไม่ให้เกียรติคนมุสลิม ทหารเดินย่ำเข้าไปในมัสยิดไม่ถอดรองเท้า ไปบุกบ้านชาวบ้านยามวิกาล ถีบประตูบ้านจนพัง จริงหรือเปล่าคะ" นักศึกษาหญิงมุสลิมคนหนึ่งถามตรงๆ
"นั่นเป็นกรณีที่ตามจับคนร้าย หรือมีสถานการณ์การปะทะ ถ้ามัวแต่ถอดรองเท้า พอดีคนร้ายหนีไปได้แล้ว ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติเราให้เกียรติและเคารพวัฒนธรรมและการปฏิบัติของคนที่นี่ทุกอย่าง"
"รู้ไหมว่า "หิวข้าว ขอกินข้าวหน่อย" ภาษามลายูพูดว่าอย่างไร" นักศึกษาคนเดิมเปลี่ยนคำถามใหม่
"จำไม่ได้แล้ว อะไรนะ" หัวหน้าชุดสันติสุขที่ 410 พยายามนึก
"จำไม่ได้ ก็อดกินข้าวแล้วล่ะ" นักศึกษาบอก
ทุกคนที่อยู่ในวงคุยตรงนั้นก็หัวเราะขึ้นพร้อมๆ กัน ก่อนแยกย้ายกันไป ปล่อยให้ทหารชุดสันติสุขที่ 410 เสี่ยงต่อการ "อดข้าวอดน้ำ" ต่อไป
ความรู้สึก การเรียนรู้ และการแก้ไขปัญหา
ภายหลังจากที่นักศึกษาได้ลงพื้นที่ตามที่แบ่งกันไปใน 5 พื้นที่แล้ว ตอนเย็นวันเดียวกันทุกคน ทุกกลุ่มต้องมาประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กำหนดบทบาท และแนวทางการดำเนินการในการร่วมกันแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องตอบคำถาม 3 คำถามได้แก่ 1.จากการลงพื้นที่รู้สึกอย่างไรบ้าง 2.ได้เรียนรู้อะไร 3. ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และแนวทางการแก้ไข
ทุกกลุ่มรู้สึกเช่นเดียวกันที่เห็นอกเห็นใจชาวบ้าน ชาวบ้านถูกรังแก และไม่ได้รับความเป็นธรรม บางกลุ่มบอกหดหู่ เสียใจแทนผู้สูญเสีย ยิ่งรู้สึกละอายมากที่ตัวเองไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย ชาวบ้านเกลียดและกลัวทหาร ไม่ไว้วางใจ และไม่เชื่อใจ มีกรณีที่บ้านถูกรื้อค้น ทหารยึดเอาทรัพย์สินและของมีค่าไป พอไปขอคืนได้ไม่ครบบ้าง ขาดไปบ้าง หายไปหมดเลยบ้าง
กลุ่มที่ลงพื้นที่สะบ้าย้อยแสดงความห่วงใยชาวบ้าน หลังจากที่นักศึกษาออกมาแล้ว เขาเกรงว่าชาวบ้านจะถูกข่มขู่ คุกคาม และไม่มีความปลอดภัย เขาโยนคำถามให้เพื่อนขบคิดว่า จะทำอย่างไรที่ชาวบ้านจะไม่เดือดร้อนเพราะความห่วงใย ความหวังดีที่จะเข้าไปหาความจริงในหมู่บ้าน "เรามาแล้วก็ไป แต่ชาวบ้านอยู่ที่นั่น"
ขณะที่กลุ่มพื้นที่บันนังสตา เล่าถึงบรรยากาศ "ขวัญหนีดีฝ่อ" ที่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดไว้ไม่ให้เข้าพื้นที่ ซึ่งในที่สุดก็สามารถประสานทำความเข้าใจกัน จนสถานการณ์คลี่คลายได้ในที่สุด แต่ก็มีข้อสงสัยว่า ที่กีดกันเพราะปกปิดอะไรอยู่หรือไม่
สำหรับกลุ่มนี้ได้ตั้งคำถามถึงนโยบายสมานฉันท์ พวกเขาเห็นว่า ตราบเท่าที่เจ้าหน้าที่รัฐยังใช้ความรุนแรง ถืออาวุธ ไม่มีวันที่จะเกิดความสมานฉันท์ได้ พวกเขายังเห็นสิ่งที่น่าสนใจบางประการที่ว่า การที่รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือปัญหาใหญ่ๆ จนละเลยที่จะแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน "มัวแต่แก้ปัญหาใหญ่ๆ แต่ปัญหาเรื่อง "กินไม่ได้นอนไม่หลับ" ของชาวบ้าน ไม่มีใครสนใจ"
ไลลา เจะซู ผู้รวบรวมความรู้สึก การเรียนรู้ และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้สรุปผลจากการร่วมประชุมกลุ่มนักศึกษาภายหลังการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้านครั้งนี้ว่า ประเด็นที่เห็นร่วมกันของทุกกลุ่มคือ ปัญหาการใช้อำนาจโดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ มีการข่มขู่ คุกคาม ทำให้ชาวบ้านเกรงกลัว และหวาดระแวง ทั้งนี้ยังเห็นว่า การประกาศกฎอัยการศึกละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในหลายประเด็น ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและกระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติ เช่น จากเดิมที่ชาวบ้านจะออกจากบ้านไปกรีดยางตอนตีสอง ก็ทำไม่ได้ พอออกสายก็ได้น้ำยางน้อย หรือไม่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อรายได้ ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้วเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก
"อีกประเด็น คือ เรื่องการสมานฉันท์ในพื้นที่ รัฐบาลบอกว่าจะสร้างให้เกิดความสมานฉันท์ จะดำเนินนโยบายสมานฉันท์ แต่มันไม่สามารถเกิดได้จริง เพราะเจ้าหน้าที่ระดับล่าง หรือเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในหมู่บ้านไม่ได้ทำงานด้วยความสมานฉันท์ ชาวบ้านบอกเราว่า ระหว่างโจรกับเจ้าหน้าที่ เขากลัวเจ้าหน้าที่มากกว่า นอกจากนี้เพื่อนๆ ยังเห็นว่า ภาษาเป็นอุปสรรคที่ทำให้เขาเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกของชาวบ้านจริงๆ"
ไลลาดีใจกับสิ่งที่ได้ในครั้งนี้นั่นคือการสร้างเครือข่ายเพื่อนนักศึกษาจากทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นปัญหาความรุนแรงและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น หลายคนบอกว่า เขาได้รับรู้ในสิ่งที่แตกต่างออกไปเมื่อได้ลงพื้นที่จริง ได้เจอชาวบ้านตัวจริง ได้ฟังเสียงและได้รับรู้เหตุการณ์จริงๆ ซึ่งเป็นมุมมองต่างจากที่เขารับรู้ผ่านสื่อ ทำให้เขาเหมารวมเอาว่าที่มีแต่ความรุนแรง และคนมุสลิมที่นี่ก็เป็นพวกนิยมความรุนแรง
"พอได้ลงพื้นที่ เพื่อนนักศึกษาส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกสงสารและเห็นใจชาวบ้าน ชาวบ้านถูกกระทำจากหลายกลุ่ม มีทั้งจากขบวนการก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เขาไม่มีทางไปไหน และไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใคร ต้องอยู่ด้วยความรู้สึกหวาดกลัว"
"ความจริง" ในกลุ่มนักศึกษา
วันสุดท้ายนักศึกษาเปิดแถลงการณ์ต่อสาธารณะถึงผลการดำเนินโครงการและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่ในรายชื่อของกลุ่มนักศึกษาแนบท้ายแถลงการณ์ครั้งนี้ไม่ครบถ้วน มีบางส่วนที่ขาดหายไป การมาเรียนรู้ความจริงในพื้นที่ ยังมี "ความจริง" ที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั่นคือความจริงของความรู้สึก การเรียนรู้ และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีความแตกต่างกันของกลุ่มนักศึกษา
ทัพไท หน่อสุวรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า จากการที่เขาได้ฟังสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ทหารแล้วเกิดความสับสน มีข้อมูลกันคนละชุด คนละแบบ จนเกินสติปัญญาที่จะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีสาเหตุจากอะไร ใครผิดใครถูก การลงไปสัมผัสกับชาวบ้านในพื้นที่เพียงวันเดียวมันน้อยมากที่จะนำมาใช้ตัดสินอะไรได้ อีกทั้งควรจะได้มีการพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะชาวบ้านที่สูญเสีย อย่างกลุ่มทหาร ตำรวจ และชาวบ้านไทยพุทธ เพราะทุกคนล้วนแต่ได้รับผลกระทบ และควรได้รับความเห็นอกเห็นใจด้วยเช่นเดียวกัน
"เราได้ข้อมูลด้านที่รัฐรังแกประชาชน ซึ่งลงไปฟังก็เห็นจริงว่า ชาวบ้านถูกกระทำ แต่ก็อยากจะฟังฝ่ายที่ถูกกล่าวหาด้วย เขาจะว่าอย่างไร เขาจะรับผิดชอบ ช่วยเหลือและเยียวยาอย่างไร แล้วต่อไปจะทำอย่างไรที่ไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้อีก มีประชาชนจำนวนมากที่ต้องการให้มีทหารอยู่เพื่อความปลอดภัย ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเรียกร้องให้ถอนทหารออกไป"
อีกหนึ่งความคิดเห็นเป็นของ สุวิมล จินะมูล เพื่อนนักศึกษามหาลัยเดียวกันบอกว่า ตัวเธอโชคดีที่ฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย นั่นคือผู้สูญเสีย และเจ้าหน้าที่ ได้รับรู้ความรู้สึกฝ่ายผู้สูญเสียหรือชาวบ้านที่อึดอัด ไม่สบายใจ ต้องถูกข่มขู่ คุกคาม ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติและมีความสุขได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีทั้งฝ่ายทำงานมวลชน และฝ่ายการปราบปราม ฝ่ายปราบปรามก็ต้องทำหน้าที่ ต้องกวาดล้างกลุ่มขบวนการ อีกฝ่ายทำความเข้าใจ สร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะมีชาวบ้านถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐจริง ปัญหานี้จะแก้ได้นั่นคือ ทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม จะทำอย่างไรที่ผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนจะต้องได้รับการลงโทษ
"กลัวเพื่อนไม่เข้าใจ กลัวเพื่อนจะคิดว่า เราไม่รู้สึกทุกข์ร่วมไปกับเขา ไม่เห็นว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเป็นเพราะไม่ได้เจอกับตัวเอง ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เลยไม่รู้สึก ไม่เดือดร้อน แต่ช่วงเวลาที่มาเรียนรู้ตรงนี้มันน้อยไป ไม่อยากจะให้อารมณ์เป็นตัวปลุกเร้า เอาอารมณ์มาใช้ในการแก้ไขปัญหา"
"ความจริง" ที่ไปไม่ถึง
เสียงเตือนเบาๆ จาก ลม้าย มานะการ ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครภาคประชาชนและทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่อง ลม้ายเห็นว่า บทบาทของนักศึกษาเป็นการกระทำซ้ำ หรือทำ "สำเนา" การเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ดูจากข้อเสนอในแถลงการณ์ไม่ได้แสดงให้เห็นบทบาทของนักศึกษาที่ "แตกต่าง" จากบทบาทของกลุ่มทางสังคมอื่นๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว นอกจากนี้การเลือกพื้นที่ในการลงไปสัมผัสชาวบ้านที่สูญเสีย ไม่มีพื้นที่ของไทยพุทธ ไม่มีเสียงของผู้ที่สูญเสียซึ่งเป็นไทยพุทธเลย พวกเขาเองก็ถูกมองว่า เป็นพวกใช้ความรุนแรง พวกเขาอยากได้ปืนไว้ป้องกัน พวกเขาอยากจะมีทหารอยู่ในพื้นที่เพื่อรักษาความปลอดภัย คนเหล่านี้ก็เป็นผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งควรที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจและเยียวยาด้วย
"ผู้จัดโครงการฯ น่าจะระวังเรื่องนี้ ความแตกต่างหลากหลายในทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มนั้นจะเป็นผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำ ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ในเมื่อการมาที่นี่ก็เพื่อสัมผัสความจริง ก็ควรได้ความจริงในทุกด้าน การจัดกิจกรรมที่ทำให้นักศึกษาจากภายนอกรับรู้ความจริงในพื้นที่เพียงด้านเดียว จากมุมของผู้สูญเสียที่เป็นมุสลิมแล้ว ไม่คิดว่านี่เป็นการเอาเปรียบเพื่อนนักศึกษาที่ทำให้เขามองไม่เห็นมุมอื่นๆ หรือ เราเรียกร้อง "ความเป็นกลาง" ต่อการมองปัญหาที่เกิดขึ้น แต่นักศึกษามี "ความเป็นกลาง" ในการจัดงานนี้อย่างไร"
ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติวิธี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า กิจกรรมของนักศึกษาบรรลุเป้าหมายในแง่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมอง ทัศนคติและความเข้าใจในเชิงลบต่อคนมุสลิมในพื้นที่ แต่หากมองในแง่ของการนำสันติวิธีมาใช้ในการมองปัญหาและแก้ไขปัญหา ยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ดูได้จากกิจกรรมในโครงการฯ ซึ่งไม่มีส่วนการเรียนรู้เรื่องสันติวิธี เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง และการนำไปใช้ในการคลี่คลายความขัดแย้ง ทั้งนี้เรื่องสันติวิธีอาจจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของโครงการฯ นักศึกษาเพียงต้องการเปลี่ยนมุมมอง ความรู้สึก และความเข้าใจของคนภายนอกที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดร.เอกพันธุ์มองว่า ความจริงที่ได้มาสัมผัสในพื้นที่ไม่ใช่ "ความจริง" ทั้งหมด เป็นเพียง "ข้อเท็จจริง" อีกอันหนึ่งที่ต่างออกไปจาก "ข้อเท็จจริง" ที่มีเป็นทุนเดิมซึ่งแต่ละคนมีอยู่ไม่เท่ากัน โดยมีที่มาของ "ข้อเท็จจริง" ต่างๆ กันด้วย เช่น บางคนรับทราบจากสื่อมวลชน จากการอ่านหนังสือ การติดตามเรื่องราวผ่านบุคคล ดังนั้น "ข้อเท็จจริง" ที่ได้มาอาจเป็นเพียง 1 ใน 500 หรือ 1 ใน 5,000 ของข้อเท็จจริงทั้งหมดก็ได้ คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึง "ข้อเท็จจริง" ทั้งหมด
"สิ่งที่ได้มาจากการไปคุยกับชาวบ้าน การลงไปสัมผัสชีวิตจริงๆ เป็น "ข้อเท็จจริง" หนึ่ง ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะนำข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ มาพิจารณาบนพื้นฐานของการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างมีเหตุมีผล โดยสิ่งที่ควรระวังนั้นคือการนำเสนอ "ข้อเท็จจริง" ต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะการยัดเยียดให้เชื่อฟัง ปราศจากการวิเคราะห์ เป็นเพียงเปลี่ยนถ่าย "ข้อเท็จจริง" จากด้านหนึ่งมาอีกด้านหนึ่งเท่านั้น"
บนฐานความเชื่อที่ว่า "ความจริง" เป็น "ข้อเท็จจริง" หรือ "ส่วนเสี้ยว" หนึ่งของความจริงทั้งหมด ซึ่งต้องแสวงหา "ส่วนเสี้ยว" อื่นๆ ที่จะปะชุนให้ "ความจริง" ต่อเรื่องนั้นสมบูรณ์ ดังนั้นการอ้างถึง "ความจริง" ทั้งจากมุมมองของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำที่สร้างให้ "คนอื่น" เป็น "ปีศาจ" ต้องปราบปรามด้วยความรุนแรง กระทั่ง "สมควรตาย" หากได้รับโอกาสในการสัมผัสกับตัวจริง เสียงจริง และเรื่องราวอีกฝ่าย ย่อมจะช่วยลดและสลาย "อคติ" ที่มีต่อกันและกัน สามารถมองเห็น "ความเป็นมนุษย์" ทุกๆ ฝ่าย แม้แต่ "ศัตรู" ของเราเอง