Skip to main content
ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
“นี่คือสงครามชัดๆ” คำกล่าวประโยคนี้คือคำพูดของผู้คนในเขตเทศบาลนครยะลา ที่พูดถึงเหตุคาร์บอมบ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อก่อนเที่ยงวันที่ 13 ก.พ. ที่ถนน 4 แยกไชยจรัส ตัดกับ ถนน ณ นคร ย่านการค้าเก่า ซึ่งเป็นบ้านเรือนที่มีอายุกว่า 30 ปี และเป็นย่าน “พหุวัฒนธรรม” เนื่องจากเป็นที่อยู่ของชาวไทยพุทธ มุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีนในตัวเมืองยะลา
 
ผลจากระเบิด “คาร์บอมบ์” ครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้รับรับบาดเจ็บ  ทั้งสาหัสและเล็กน้อยร่วม 20 กว่าคน จริงอยู่ที่ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ทะเลเพลิงที่เกิดจาก “คาร์บอบ์” ซึ่งเผาผลาญบ้านเรือนเก่าแก่ไปกว่า  12 คูหา  รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เสียหายไปอีกจำนวนหนึ่ง ภาพของเปลวไฟที่ลูกโชติช่วงกลางย่านชุมชน จึงเพียงพอที่จะให้ชาวบ้าน ร้านตลาด  ต่างแตกตื่นตกใจ และกล่าวว่าทั้งหมดคือ “สงคราม” คือการสะท้อนข้อเท็จจริง อย่างตรงประเด็นที่สุด
 
สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับว่าปะทะถึง “ขีดสุด” นับตั้งแต่การละลายฐานและปล้นปืนของกองร้อยพระองค์ดำที่ อ.ระแงะ ต่อด้วยการฆ่าชาวไทยพุทธอย่างต่อเนื่อง 20 กว่าศพ ภายในเวลาเพียง 10 กว่าวัน และเหตุการณ์ฆ่ารายวัน ระเบิดรายวันที่มีเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือนเป็นเป้าหมาย คือการแสดงให้เห็นว่า “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” ต้องการยกระดับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้  และเป็นความรุนแรงภายใต้การควบคุมดีแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
มีการให้เหตุผลถึงปฏิบัติการของ “บีอาร์เอ็นฯ” อย่างรุนแรงว่า มาจากการต้องการยกระดับของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่โต๊ะการเจราจา ในการประชุมองค์กรมุสลิมโลก หรือ”โอไอซี” ที่จะมีขึ้นในประเทศอิยิปต์ ในระหว่างกลางเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ เพื่อให้ที่ประชุมเห็นถึงความขัดแย้งอย่างรุนแรงในจังหวัดชายแดนแดนภาคใต้ เพื่อให้ “โอไอซี” นำเอาปัญหาที่เกิดขึ้นสู่โต๊ะของการประชุม ซึ่งในการประชุมของ “โอไอซี” ทุกครั้งที่ผ่านมา ขบวนการแบ่งแยกดินแดน จะนำปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่การประชุมทุกครั้ง แต่กระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคงของไทย ก็สามารถใช้เหตุผล ข้อเท็จจริงและ “คอนเน็คชั่น” ที่มีกับประเทศมุสลิมหลายประเทศ ชี้แจงกับ “โอไอซี” จนสิ่งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนำเสนอตกไปทุกครั้ง
 
นอกจากเหตุผลความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะต้องการให้ “โอไอซี” นำเข้าพิจารณา ในที่ประชุมแล้ว กองทัพยังให้เหตุผลว่า ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องและโหดเหี้ยมของ “อาร์เคเค” และ “คอมมานโด” สังกัด “บีอาร์เอ็นฯ” เป็นการตอบโต้ ต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการ จับกุม และวิสามัญคนร้าย ได้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งการรุกทาง “การเมือง” ด้วยการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ม.21 เพื่อให้ “แนวร่วม” ที่ต้องการกลับใจเข้ารายงานตัวต่อรัฐ โดยจะไม่เอาผิด  ทำให้ “บีอาร์เอ็นฯ” ต้อง “เอาคืน” เพื่อสร้างขวัญให้สมาชิกและ “ข่มขวัญ” บรรดาแนวร่วมที่คิดกลับใจ
 
ทั้ง 2 เหตุผลที่กองทัพยกมาอ้าง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “เงื่อนไข”สงครามเท่านั้น แต่ไม่ใช้ทั้งหมด เพราะสิ่งที่ “ใช่” อย่างแน่นอนคือ “บีอาร็เอ็นฯ” ต้องการคือยกระดับความรุนแรง เพื่อให้บรรลุถึงความต้องการที่ตั้ง “ธง”เอาไว้ นั่นคือ “การแบ่งแยกดินแดน” ปฏิบัติการของ “บีอาร์เอ็นฯ”  จะเกิดขึ้นทุกสถานที่ ทุกเวลา ที่มี “ช่องว่าง” ให้ปฏิบัติการได้ ทั้งในเขตเมือง และพื้นที่ชนบท ถ้าพื้นที่ไหน ทหาร ตำรวจ “หลวม” หรือ “ประมาท” พื้นที่ตรงนั้น คือ พื้นที่ปฏิบัติการ
 
เช่นการละลายฐานและปล้นปืน กองร้อยพระองค์ดำ “แนวร่วม” เกาะติด สถานการณ์ จนพบ “ช่องว่าง” และ “จุดอ่อน” ของเจ้าหน้าที่ ก่อนลงมือปฏิบัติการ เช่นเดียวกับ “คาร์บอมบ์” ครั้งนี้ ถนนสายดังกล่าวเป็นพื้นที่ ซึ่ง “ทหาร ขับรถเข้ามาซื้อสิ่งของเป็นประจำ โดยเมื่อปี 2552 พื้นที่ตรงนี้ เคยถูกวางระเบิดแสวงเครื่อง จนเกิดความสูญเสียมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่วิธีการป้องกันจากเจ้าหน้าที่ยังคงเป็นไปแบบเดิมๆ ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่า พื้นที่บริเวณไหน ที่เป็นที่ๆ ทหาร ตำรวจ เข้าไปจอดรถ นั่งพัก และซื้อของ คือ พื้นที่ “อันตราย”
 
ในขณะที่ เจ้าหน้าที่ ยัง “ล้าหลัง” ก้าวตามหลัง “แนวร่วม” ทั้งทาง “ทหาร” และ “ทางการเมือง” ฝ่ายแนวร่วม กลับมีการพัฒนาไปข้างหน้า เช่น การประกอบ “คาร์บอมบ์” ครั้งล่าสุด รถยนต์ที่ใช้ประกอบระเบิดถูกตัดต่อ เอาตัวเลขคัชซี และเลขเครื่องยนต์ออกหมด เพื่อป้องกันการสืบสวนถึงที่มาของรถยนต์ที่ใช้ในการทำผิด รวมทั้งการประกอบระเบิด ที่ “ซับซ้อน” ขึ้น เช่นครั้งนี้ นอกจากระเบิดที่บรรจุกในถังแก๊ส 4 ถัง แล้ว ยังมีการนำเอาน้ำมันเบนซิน บรรจุใส่ “แกลลอน” ไว้ในรถยนต์ เพื่อส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือน ในจุดที่เกิด “คารบอมบ์” ซึ่งในครั้งต่อไป ถ้า “แนวร่วม” ใช้วิธีการนี้ จะส่งผลให้ความสูญเสียจาก “คาร์บอมบ์” มากขึ้น และเป้าหมายคือ “พลเรือน” นั่นเอง
 
ในขณะที่กองทัพ วางน้ำหนักในการ “วิเคราะห์” สถานการณ์ที่เลวร้ายลงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามาจากการประชุม “โอไอซี” และการ “ตอบโต้” ของ”บีอาร์เอ็นฯ” ที่สูญเสีย “แนวร่วม” จากปฏิบัติการทาง “ทหาร”ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่กองทัพกลับไม่ได้มองถึงปัญหาที่เกิดจากเรื่อง “ภายใน” เช่น ขบวนการค้ายาเสพติดนั้นเถื่อน กลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งไปพอใจนโยบายการปราบปรามอิทธิพลยาเสพติด และธุรกิจเถื่อนของแม่ทัพภาคที่ 4  และจับมือกับใคร “บางคน” เพื่อสร้างสถานการณ์ให้ “เลวร้าย”ลง เพื่อการเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
 
หรือปรากฎการณ์การเจรจากันระหว่างตัวแทนฝ่ายปกครองที่เป็นตัวแทนฝ่ายการเมืองกับตัวแทนขบวนการพูโล ภาคพื้นยุโรป ตั้งแต่ลางเดือน ธ.ค. 53 ถึง กลางเดิอน ม.ค. 54 เพื่อยุติการก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตาม “เงื่อนไข” ที่ตัวแทนพูโลนำเสนอ  เพราะ “พูโล” อาจจะเป็นตัวแทนของ “บีอาร์เอ็นฯ” ในการเดินเกมเจรจาเพื่อรุก “ทางการเมือง” ในขณะที่ “บีอาร์เอ็นฯ” มีหน้าที่ในการปฏิบัติการทาง “ทหาร” และการก่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่องครั้งนี้ เพื่อ “บีบฝ่ายการเมือง”.ให้เป็นไปตาม “เงื่อนไข” ของการเจรจาให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการโดยเร็ว
 
ทั้งหมดคือ “โจทย์” ของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่การแก้ปัญหาหลายส่วนอาจต้องใช้เวลา แต่ปัญหาบางอย่าง ต้องทำในทันที นั่นคือ แผนการป้องกันชีวิต ทรัพย์สิน ของประชาชน จะต้องไม่สูญเสีย เพราะการออกมาใช้เงิน “เยียวยา” ก็ดี การออกมากล่าวคำว่า “เสียใจ” ก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า แผนรักษาความสงบและคุ้มครองประชาชนของ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ยังไม่มีประสิทธิภาพที่จะสร้างขวัญ และกำลังใจ ให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง และนี่คือสิ่งที่กองทัพต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด