Skip to main content
จะมีปาฏิหาริย์แห่งความรักมนุษย์ด้วยกันในวันวาเลนไทน์  เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดบ้างไหม   
 

                เมื่อ 10 วันที่แล้ว ฉันเพิ่งเดินผ่านหน้าบ้าน ที่เราเรียกว่า"บ้านเก่า" ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกที่ฉันอยู่  วันนี้ บ้านหลังนี้ถูกไฟไหม้หมดแล้ว จากเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ยะลา เมื่อวานนี้ วันที่ 13 กพ. 54   

 

                ตอนสายๆ ของวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภา พี่ฉันโทรมาบอกว่า มีเสียงระเบิดใกล้บ้าน  และมีควันดำเต็มไปหมด  น่าจะเป็นประทัดระเบิดที่ร้านขายประทัด ซักพัก น้องโทรมาบอกว่า ไฟไหม้บ้านเก่าหมดแล้ว จากคาร์บอมบ์    

 

                ฉันตกใจ เกิดความรู้สึกโหวงในใจ รู้สึกเหมือนว่ามีอะไรหายไป เป็นการตกใจมากที่สุดครั้งแรก ตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น เพราะเกิดขึ้นใกล้ตัวที่สุดแล้ว ...ฟังดูเหมือนมีว่าถ้าไม่เกิดกับตัว  ก็จะไม่เกิดความรู้สึกร่วม  ฉันยอมรับว่า เป็นเช่นนั้นจริง  จะว่าไปแล้ว มนุษย์ปุถุชนก็เป็นเช่นนี้  ยังมีตัวกู ของกูอยู่สูง  ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นกับเรา  ก็ย่อมจะไม่ประจักษ์ถึงสิ่งเดียวกันที่เกิดกับคนอื่น... 

 

                ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่บ้านหลังนี้แล้วก็ตาม  แต่ความที่เป็น"บ้านเก่า" บ้านหลังแรกที่เติบโตขึ้น จึงมีความหลัง ความทรงจำสมัยเด็กๆ  ที่รู้สึกว่า มันเด่นชัดขึ้น เมื่อบ้านหายไป  ซึ่งแน่นอนว่า ความทรงจำสมัยเด็กงดงามกว่าความทรงจำตอนโต เมื่อเรารู้อะไรๆ มากขึ้น

 

                เท่าที่ฉันจำได้  บ้านหลังนี้  มีบ่อน้ำบาดาลกลางบ้าน  ที่ต้องโยนถังที่ผูกกับเชือกลงไปในบ่อแล้วดึงถังที่ตักน้ำนั้นขึ้นมาใช้  เมื่อโตขึ้น  เมื่อฉันโตขึ้น ฉันก็"เล่น"ตักน้ำด้วยวิธีนี้   เหนือบ่อน้ำขึ้นไป  เป็นช่องโล่ง เพื่อเปิดให้มีแสง มีอากาศ เข้ามา  ตรงกันข้ามกับบ่อน้ำ เป็นบันได ที่มีห้องใต้บันไดเอาไว้เก็บของ  เมื่อเดินผ่านโต๊ะกินข้าว  ก็จะเป็นครัวด้านหนึ่ง  เป็นห้องน้ำอีกด้านหนึ่ง   เปิดประตูหลังบ้านออกไป  ก็จะเป็นพื้นที่ว่างเล็กๆ มีคูน้ำเล็กๆ ต่อเชื่อมกับหลังบ้านบ้านอื่นๆ สามารถเดินถึงกันทางหลังบ้านได้   ชั้น 2 ของบ้าน เป็นไม้ทั้งชั้น มีระเบียง--ที่อยู่เหนือ ระหว่างบ่อน้ำและบันได--เชื่อมต่อห้องนอนหน้าบ้านและหลังบ้าน  แต่ชั้น 2 มีกี่ห้อง  ฉันจำไม่ได้ 

 

               ... รูปหน้าต่างไม้ ที่เห็นไฟไหม้ลามด้านใน ตามภาพข่าวต่างๆ  น่าจะเป็นหน้าต่างไม้ชั้น 2 ของบ้านเก่าฉันเอง  ...ภาพสวย แต่น่ากลัว  ไฟ..ไม่ได้เผาไหมแค่บ้าน แต่ไฟ..เผาไหม้จิตใจของคนไปด้วย...  

 

               ...ไฟในใจของคนกลุ่มหนึ่ง  คุโชนและร้อนแรงมากจนกระทั่ง ลามออกมาลุกเป็นไฟเผาไหม้คนอื่นๆ สิ่งอื่นๆ ให้มอดไหม้ไปตามกัน...  

 

               หลังจากย้ายไปบ้านใหม่ บ้านนี้ก็ให้เช่า เปิดเป็นร้านขายของบ้าง  เปิดเป็นหอพักบ้าง  เพื่อนของฉันคนหนึ่ง --เอียด-- บอกว่า พี่สาวเธอ--พี่แอ๊ะ-- ก็เคยอยู่บ้านนี้เมื่อตอนที่เปิดเป็นหอพัก  มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ไม่มีคนเช่า  ฉันขอ  ยาย --ที่ฉันเรียกว่าอาม่า--ใช้เป็นที่จัดงานเลี้ยงของห้อง ตอน ม. 4         

 

               ฉันจำบรรยากาศนอกบ้านได้ดีกว่า   บ้านแถบนั้นทั้งแถบ มีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับฉันอยู่เกือบทุกบ้าน  เป็นเพื่อนรุ่นแรกของฉันเลยทีเดียว  ปิง ผึ้ง ฝน หมู เล็ก เราออกมาวิ่งเล่น เดินเล่น  เล่นเกมส์สมัยเด็กๆ  ทุกคืน   บ้านติดกันทั้ง 2 ข้าง เป็นร้ายถ่ายรูป  บ้านหนึ่งเป็นร้านสยาม  เป็นบ้านของปิง  ที่ก็คือ ร้านเฮนเบอเกอรี่   ฉันเข้าไปเล่นในบ้านปิงบ่อยๆ  และเคยเรียนพิเศษที่บ้านปิงด้วย  บ้านปิงด้านที่ติดกับบ้านฉัน มีตรอกเล็กๆ  ที่มีประตูเล็กๆ เปิดออกมาทางหน้าบ้านได้  ตรอกเล็กๆ นั้น  มีขี้ค้างคาว  แต่สมัยเด็กๆ ที่เราไม่ค่อยรู้อะไร  เราชอบเข้าไปเล่นในตรอกเล็กๆ นั้นเป็นประจำ   ถัดจากบ้านฉันอีกด้านหนึ่ง เป็นร้าน 07  บ้านของผึ้ง ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์ถ่ายภาพครบวงจรของยะลา   และยังมีบ้านของฝน ที่ขายมอเตอร์ไซค์ อยู่ถัดไป    

 

                ฝั่งตรงข้ามบ้าน มีธนาคารนครหลวงไทยอยู่หัวมุม ถัดจากธนาคารเป็นตรอกเล็กๆ ที่สามารถเดินทะลุไปอีกถนนหนึ่ง  ตรอกนี้มีร้านขายกล้วยทอดร้านดังร้านหนึ่งเลยทีเดียว  เป็นร้านยายเป้า ยายของเล็ก   และมีร้านขายของที่สมัยนี้ เรียกว่ากิฟต์ช็อป  ร้าน"ชุนกวง" ขายขนม และธูปเทียน  ซึ่งต่อมา พี่ไก่ --ลูกสะไภ้ของร้านชุนกวง--  ก็ออกมาเปิดร้านเฮนเบเกอรี่ และเช่าบ้านเก่าฉัน เป็นที่ทำขนม เป้าหมายคาร์บอมบ์เมื่อวานนี้  จากหน้าบ้านเดินไป 2 ถนน เป็นโรงหนังสยาม  มีร้านอาหารที่ขายตอนกลางคืนในละแวกนั้นมากมาย

        

               เมื่อฉันยังอยู่ที่บ้านเก่า  ตอนกลางคืน ฉันชอบเดินไปร้านไฮ้พั้งซื้อน้ำส้มกรีนสปอร์ตกินอยู่บ่อยๆ ฉันชอบเพราะเป็นน้ำส้มที่ไม่ซ่า   จากบ้านฉันเดินไปทางขวา  เลี้ยวขวาที่หัวมุมถนน และเดินไปอีกหน่อย ก็ถึงที่ร้าน  ตอนนี้ร้านนี้ก็ยังอยู่  แต่อาโกคนขาย ไม่อยู่แล้ว  มีลูกสาวอาโกขายขนมปัง-กาแฟ ตอนเช้าแทน  แม่เล่าว่า ฉันเดินไปซื้อน้ำให้ป้าที่อยู่ข้างๆบ้านด้วย  ระหว่างทางฉันก็เดินดูดน้ำมาเรื่อยๆ  จนเหลือน้ำครึ่งถุงเมื่อส่งให้ป้า
 
               "บ้านเก่า" อยู่ด้านหนึ่งของพื้นที่ 4 เหลี่ยมที่ฉันจะพาเดินให้ครบรอบ  จาก ถนน ณ นคร บ้านเก่าฉัน   ฉันเดินตามอาม่าไปบ้านป้าแท้ๆ--ตั่วอี๋--  เส้นทางเดียวกับที่เดินไปร้านขายน้ำ ที่อยู่บนถนนไชยจรัส  ผ่านร้านอี่เซี่ยะ หมอฟันสุคนธ์  เป็นบ้าน 3 หลังที่ทะลุถึงกันด้านหลัง  มี 2 คน ที่ฉันจำได้ในบ้านนี้ คือ พี่รอง กับ ชมพู่  หนึ่งในบ้าน 3 หลังนี้ เคยเปิดร้านอาหารครัวนิจ  ตอนนี้ขายข้าวเหนี่ยวแก้วชื่อดัง แต่ไม่รู้ว่ายังขายลูกหยีและมังคุดกวน อีกหรือเปล่า   ติดกันคือโรงแรมศรียะลา  ที่วันหนึ่ง มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งเข้ามากัดแขนฉันด้วยความหมั่นเขี้ยว  จนทำให้ฉันกลัวที่จะเดินผ่านโรงแรมศรียะลาไปช่วงหนึ่ง  ...ถ้าเป็นฉันตอนนี้  ฉันคงกัดเด็กนั่นกลับไปแล้ว 2 ครั้ง  โทษฐานเป็นเด็กผู้ชายที่มามากัดเด็กผู้หญิง...  ติดกับโรงแรมศรียะลาเป็นบ้านของญาติผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง ที่ฉันเรียกว่า กิ่มโป๋ แม่ของน้าอี๊ด ที่มีลูกสะไภ้ คือ น้าน้อย--อาจารย์รัชนี เคยสอนภาษาไทย โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง--  ร้านทำผมที่หัวมุมสุดถนนไชยจรัส  ชื่อร้านยินดี  มีลูกรุ่นราวคราวเดียวกับฉัน ชื่อโอม  แต่โอมสนิทกับน้องอีกคนของฉันมากกว่า  เมื่อเลี้ยวขวาอีกครั้ง  ก็ถึงบ้านป้า ตอนนี้เราอยู่บนถนนพุทธภูมิ   ถ้าเดินผ่านบ้านป้าไป  ก็เป็นบ้านเพื่อนที่มาจากอำเภอรามัน ชื่อ ห่อง หรือ เม่ย  ซึ่งเป็นญาติกับ เสิ่น  เดินต่อไป ผ่านร้านขายไอศครีมศาลา 75  ที่ฉันกับน้องชอบสั่งไอติมราดซุบข้าวโพด  ซึ่งเราจะไปกินกัน เมื่อลุงจากหาดใหญ่มาเยี่ยมอาม่า  และให้เงินหลานๆ คนละ 10 บาท  บ้านตรงหัวมุมก่อนที่จะเลี้ยวขวาไปถนนสิโรรส  เป็นร้านขายผ้า บ้านของอี่ติ๊ก ซึ่งเป็นน้าของเหล่ง บ้านเหล่งอยู่ถัดไป   เดินต่อไปเรื่อยๆ  ฝั่งตรงข้าม  ก่อนถึงแขวงการทาง  ก็จะผ่านบ้านของเสาร์กับเมย์  ถัดจากแขวง เป็นร้านขายยาบุญบุญ  บ้านของพี่ผิ่น   ตอนนี้เรามาถึงหัวมุมที่จะเลี้ยวขวา  เพื่อกลับมาบ้านเก่าแล้ว  เมื่อเลี้ยวขวา ก็จะผ่านร้านเฟอร์นิเจอร์  ซึ่งก็เป็นบ้านของหนึ่ง กมลวรรณ  บ้านที่ไม่ถูกไฟไหม้ในครั้งนี้      

 

               เมื่อฉันย้ายไปอยู่บ้านใหม่  ก็ยังขี่จักรยานผ่านบ้านเก่าอยู่บ่อยๆ   สมัยนั้น ช่วงเวลา  2 ทุ่ม 3  ทุ่ม  เรายังเปิดบ้าน นั่งกันอยู่หน้าบ้าน มีเพื่อนพ่อแม่มาคุย   ฉันเดินไปหาเพื่อน  ขี่จักรยานเล่นไปนู่นไปนี่ได้    ทุกวันนี้  เวลา 6 โมงเย็น  ก็แทบจะไม่มีใครอออกจากบ้าน 1 ทุ่ม บ้านเกือบทุกหลังก็ปิดประตูกันหมดแล้ว

 

               ฉันคุ้นเคยกับคนจีน  เพราะเพื่อนบ้านสมัยเด็กล้วนเป็นคนจีน  พูดภาษากลาง และจีนอื่นๆ เช่น  แต้จิ๋ว กว้างตุ้ง ไหหลำ  จีนแคะบ้านฉันพูดภาษาฮกเกี้ยน    นอกจากภาษาจีน 2 ภาษา และภาษาไทย แล้ว  ผู้ใหญ่ที่บ้านฉันก็ยังพูดภาษามลายูได้เหมือนกัน เรามี “เจ๊ะซอ”  ที่เป็นคนมุสลิมที่ดูแลสวนให้  เอาผลไม้จากสวนมาที่บ้านบ่อยๆ    มี “กะนิ”  ที่เดินขายไก่กอและ  ไข่มดแดง  ข้าวหลาม  ผ่านหน้าบ้าน  หรือ แม้แต่ “กะนิ" ที่มาขายเครื่องประดับให้ถึงบ้าน  มีแม่ชีสุธรรม ที่เข้ามาคุยกับอาม่าเสมอๆ   ที่บ้านฉันมีคนเข้ามาบ้านมากมาย  และเราต้อนรับทุกคน ไม่แตกต่างกัน 

 

                เมื่อขึ้นชั้นประถม  ฉันเรียนโรงเรียนจีน  มีเพื่อนเป็นลูกหลานคนจีน เรามีชื่อภาษาจีน ชื่อเล่นเพื่อนๆ ก็มาจากภาษาจีน เช่น ชุ่ยหลิน ปิงปิง  รี่รี่  เซี่ยะ  หลำ เคี้ยง จิน  เมื่อขึ้นมัธยม  ฉันมีเพื่อนหลากหลายขึ้น ทั้งเพื่อนคนไทย และเพื่อนคนมุสลิม   เราเรียนห้องเดียวกัน เล่นด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน ไม่เคยเกิดความรู้สึกแตกต่างกันแต่อย่างไร  เพียงแต่เพื่อนมุสลิมไม่กินหมู และต้องละหมาด ก็แค่นั้นเอง นอกนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนคนไทย หรือ เพื่อนคนจีน    สมัยนั้น  นักเรียนยังไม่ต้องมีผ้าคลุมผม  เพื่อนมุสลิมบางคน เช่น จุ๋ม อัญชลี  เพื่อนที่เรียนด้วยกันตอน ม.4  หน้าของเธอออกจะคล้ายคนจีนด้วยซ้ำ            

 

              เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ  ปี 2547  หน้าที่การทำงาน ทำให้ฉันได้กลับไปบ้านบ่อยขึ้น เพราะเป็นที่ที่ไม่มีใครอยากไป ถ้าไม่จำเป็น  ที่ที่ใครหลายคนยอมลาออก ถ้าต้องมาทำงานที่นี่    การทำงานในเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่เหมือนกับการทำงานในสถานการณ์ปกติ  เพราะต้องมีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทุกเรื่อง  ที่น่าแปลกใจ คือ ถ้าโครงการใดที่ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  กอ.สสส.จชต. คือ ตัวย่อ ของ กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสมัยนั้น จะเป็นผู้ที่อนุมัติโครงการที่ได้รับอนุมัติมาแล้วอีกครั้ง   ครั้งหนึ่ง ฉันและหัวหน้าของฉันต้องเข้าไปชี้แจงกับทหาร ที่ไม่รู้เรื่องโครงการของเราซักนิดเดียว  แต่ต้องมาเป็นผู้อนุมัติโครงการ    ฉันไม่เคยทำงานกับทหารมาก่อน  ไม่รู้ว่าต้องเรียกทหารว่าอย่างไร  นายร้อย นายพัน นายพล หรือ เสธ   ฉันจึงเรียกไปว่า "คุณทหาร"  เมื่อต้องเรียกตรงๆ  และ "พี่ทหาร" เป็นคำเรียกทหารที่เป็นบุคคลที่สาม  เมื่อพูดกับพลเรือนคนอื่น และมีบุคคลที่สามนั้นอยู่ข้างๆ ระหว่างการพูดคุยด้วย  
       
 
 
              ความรู้สึกอย่างหนึ่งของคนในพื้นที่ คือ ไม่อยากเข้าใกล้ทหาร   เพราะเข้าใจว่าทหารเป็นเป้า  และจะนำอันตรายมาถึงตัว   ร้านอาหารบางร้าน ไม่อยากให้ทหารเข้าร้าน  เพราะหมายถึง ลูกค้าพลเรือนจะไม่เข้ามากินที่ร้านด้วย   แม่ฉันถึงกับบอกว่า  อย่าให้ทหารมาส่งหน้าบ้าน 
 

               ทุกครั้งที่ฉันกลับไปยะลา  ฉันจะเดินไปตลาดตอนเช้า  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากตลาดที่อื่น คือ  มีทหารสะพายปืนเอ็ม 16  จ่ายตลาด  เหมือนผู้คนทั่วไป   มือข้างหนึ่งถือปืน  อีกข้างหนึ่งถือถุงที่ใส่ของที่ซื้อ   มีทหารยืนคุมรถที่มาซื้ออาหาร  ยืนอยู่ปากทางเข้าตลาด  ท่ามกลางผู้คนที่จับจ่ายซื้อของตามปกติ   อีกสิ่งหนึ่งที่แปลกตา คือ  ถนนย่านการค้าในเมือง จะมีรถทหาร วิ่งลาดตระเวนไปมาเป็นประจำจนเป็นเรื่องธรรมดา   ถ้าไปธนาคารโดยเฉพาะตอนต้นเดือน  ก็จะมีทหาร ยืนหน้าธนาคาร ไม่ทราบผู้คนจะเกิดความอุ่นใจ หรือความหวั่นใจ  ถ้าใครหลงเข้ามา  คงสงสัยว่า เกิดภาวะสงครามหรืออย่างไร  เหตุใดประชาชนยังใช้ชีวิตตามปกติ

 

               สำหรับฉัน  ฉันไม่รู้สึกว่าทหารน่ากลัว  อาจจะเป็นเพราะว่าทหารที่ฉันเจอ ไม่น่ากลัว   ทหารที่ฉันเจอที่ร้านพี่ไก่ เมื่อ 10 วันก่อน  ยังเป็นทหารเด็กๆ เข้ามาซื้อขนม ซื้อช็อคโกแลต ยังยืนเลือกระหว่างกล่องช็อคโกแลตสีแดงกับสีเขียว อยู่เลย       

 

                ฉันเคยอาศัยรถทหารจากหาดใหญ่ไปยะลา  และจากยะลาไปหาดใหญ่  ดูเหมือนว่า การเดินทางกับทหารจะปลอดภัยเพราะมีผู้คุ้มกันนั่งมาด้วย 2 คน  และทหารก็ไม่ได้ใส่ชุดทหาร  แต่มีลักษณะบางอย่างบอกให้รู้ว่าเป็นทหาร  ฉันได้รับคำชมแกมหวาดเสียวเมื่อเล่าให้ใครๆ ฟังว่า นั่งรถกลับมากับทหาร  ว่า กล้ามาก  เก่งมากที่รอดชีวิตมาได้  

               

                ฉันเคยได้ยินเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งว่า  ที่ร้านขายส้มที่ยะลาร้านหนึ่ง  มีทหารระดับใหญ่คนหนึ่งมาซื้อส้ม  เนื่องจากเป็นการซื้อส้มของทหารใหญ่ กระบวนการซื้อจึงยิ่งใหญ่ตามไปด้วย คือ  รถทหารจอดกลางถนน  มีทหารเล็กกว่า เดินเป็นกำแพงห้อมล้อมทหารใหญ่ ระหว่างเดินออกจากรถไปซื้อส้ม และเดินกลับไปรถ   

 

                ฟังดูน่าขำ  แต่เป็นเรื่องจริงคงขำไม่ออก  สำหรับฝ่ายทหาร ก็คงขำไม่ออก เพราะทหารเป็นคนต่างพื้นที่ คงรู้สึกกลัว  ดูข่าว ฟังข่าว  รู้ข้อมูลมากก็ย่อมกลัวมาก  ยิ่งอยู่ในเครื่องแบบ บอกยศ บอกตำแหน่ง  ยศยิ่งสูง ก็ยิ่งน่ากลัว  จึงไม่แปลกหากมีการรักษาความปลอดภัยให้ทหารระดับสูงอย่างสูงเช่นนี้    คณะนักเรียน วปอ.  เคยมาทัศนศึกษาที่จังหวัดยะลา  วันนั้น ฉันก็อยู่ยะลา  จึงได้เห็นขบวน ผู้คนระดับสูงของประเทศในรถบัส  มีรถถัง รถตำรวจ  รถทหารวิ่งนำ ปิดหน้า ปิดหลัง มากมายหลายคัน  บอกให้รู้ว่า ไม่ใช่คนธรรมดา  ถ้าฉันเป็นคนที่ทางการบอกว่า เป็นฝ่ายตรงกันข้าม  เป็นผู้ก่อความไม่สงบ  ฉันก็คงนึกหมั่นไส้ว่า ทำไมจะไปจะมาต้องบอกให้คนรู้  หรือ ถ้ากลัว ต้องคุ้มกันขนาดนี้ แล้วจะมาทำไม 

 

                นับตั้งแต่ปี 2547  ผู้คนในยะลาก็อยู่ด้วยกันด้วยความไม่ไว้วางใจที่เพิ่มขึ้น  อยู่ด้วยกันกับทหารต่างถิ่นที่ผลัดหน้ากันเข้ามา  อยู่ภาตใต้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  อยู่กันมา 8 ปีแล้ว  และก็คงจะยังอยู่กันแบบนี้ต่อไป  เมื่อมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่า เมื่อไร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสงบสุขเสียที

 

                ท่ามกลางเปลวเพลิงที่เผาไหม้บ้านเก่า   สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกดี คือ การที่แม่ทัพภาค 4 ออกมาขอโทษประชาชน  และกล่าวว่าเป็นความผิดพลาดของกองทัพ  ทั้งที่ทราบข้อมูลก่อนหน้าแล้วว่า จะมีการวางระเบิด  แต่ไม่สามารถป้องกันได้   ...ไม่ค่อยบ่อยนัก ที่เจ้าหน้าที่ระดับ"สูง"  จะเอ่ยปากขอโทษประชาชน  แม้ทุกคน จะรู้ว่าเป็นเรื่องยาก ที่จะรู้อย่างแน่นอนว่า จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นที่ไหน เวลาใด  เพราะเป็นเรื่องของคนที่ก่อการในที่ลับ  กับคนที่ป้องกันในที่แจ้ง   แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ยังเห็นการออกมาขอโทษของผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ ขอโทษประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ประชาชนที่เสียภาษีเพื่อเป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเบี้ยเลี้ยง  เบี้ยเสี่ยงภัย งบลับ  อื่นๆ อีกมากมาย  ให้กับเจ้าหน้าที่ หรือ ผู้มีหน้าที่ ป้องกัน ปราบปราม บำบัดทุกข์ บำรุงสุข  ให้ความปลอดภัย  ให้ความรู้สึกมั่นคง ให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ประเทศไทยที่เป็นบ้านของเขา  อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนในประเทศ พึงได้รับ   
 
  

 

                บ้านที่ถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว  สามารถสร้างขึ้นใหม่เป็น “บ้าน” ที่จะอยู่อาศัย และค้าขายได้เหมือนเดิม แม้จะแตกต่างจากบ้านเดิมในรูปแบบโครงสร้าง วัสดุ เพราะต่างยุคต่างสมัยกัน           

 

                ขณะที่  ความรู้สึกของความไม่แตกต่างระหว่างคนต่างชาติพันธุ์และภาษาใน 3 จังหวัด  ถูกทำลายลงไป ใกล้หมดสิ้นแล้วเช่นกัน  เกิด “ความเป็นฉัน” “ความเป็นเธอ” มากขึ้นถึงขีดสุด  ขณะที่ “ความเป็นเรา” น้อยลงจนแทบจะไม่เหลือ

 

 

                จะมีอะไรบ้างไหม  ที่ทำให้ ”ความเป็นเรา” กลับมาได้เหมือนเดิม  
 
                จะมีอะไรบ้างไหม  ที่ทำให้เรามี "บ้านเรา" เหมือนวันก่อนเก่า
               
                จะมีปาฏิหาริย์แห่งความรักมนุษย์ด้วยกันในวันวาเลนท์ไทน์  เกิดขึ้นใน 3 จังหวัด  บ้างไหม  
 
 

 

รูปจากเพื่อนแพร ที่ชื่อพี่โด่ง

รูปจากเพื่อนแพร ที่ชื่อพี่โด่ง