Skip to main content
แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง
 
 
10 โมงเช้าวันที่ 13 กุมภา 2554 ญาติจากยะลาคนหนึ่งโทรถึงแม่ด้วยความตกใจ “เกิดคาร์บอมที่แถวบ้านเช่าของแม่เมื่อ 10 นาทีที่ผ่านมา”
 
ตอนแรกฉันไม่ได้ตกใจมากนัก คาร์บอมหรือการวางระเบิดโดยรถยนต์เริ่มเป็นคำคุ้นเคยใกล้ตัวกับครอบครัวของเรามาสัก 4-5 ปีแล้วกระมัง ก็คงตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในยะลาบ้านเกิดของครอบครัวเรา
 
เพียงแต่วันนี้ไม่เหมือนเวลาที่เราฟังข่าวเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงส่งผลกระทบกับเราโดยตรง เพราะรถที่วางระเบิดมาจอดที่หน้าบ้านเก่าของครอบครัว บ้านหลังที่สองของอาม่า บ้านที่ลุง ป้า แม่ และน้าๆ ของฉันเติบโต
 
บ้านหลังนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ประวัติศาสตร์ของครอบครัวเรา แต่บ้าน 12 หลังที่ถูกเผาไหม้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองยะลา
 
เมื่อก่อนยะลาไม่ได้อยู่ที่นี่ คนดั้งเดิมยะลาส่วนใหญ่เข้าใจว่าชุมชนที่น่าจะเป็นต้นกำเนิดของเทศบาลเมืองยะลาคือบ้านท่าสาปและหน้าถ้ำซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งด้านเหนือของแม่น้ำปัตตานี ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 2460 ผู้คนเริ่มเคลื่อนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ “นิบง” ซึ่งเป็นพื้นที่ฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำปัตตานีห่างจากแม่น้ำประมาณ 2–3 กิโลเมตร นิบงเป็นคำภาษามลายูแปลว่า ต้นหลาวชะโอน พื้นที่นิบงเดิมเป็นป่าต้นหลาวชะโอน คนในท้องถิ่นจึงเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “นิบง”
 
ย่านสายกลางเป็นย่านตลาดแห่งแรกของเมืองยะลาตั้งอยู่ใกล้กับทางรถไฟ ขนานไปกับย่านสายกลาง คือถนนพังงาซึ่งสองข้างถนนก็เป็นที่ตั้งของบ้านไม้ห้องแถวไปตลอดถนนเช่นกัน ถนนพังงาจะเป็นร้านรับซื้อขายยางเป็นส่วนใหญ่ ปะปนด้วยร้านขายของชำ สุดสายกลางและถนนพังงาจะเป็นตลาดแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในยะลาคือตลาดรัฐกิจ ตลาดขายอาหารสด    รอบๆ ตลาดรัฐกิจเป็นเรือนไม้ห้องแถวรับซื้อขายยางพารา ขายของชำ และเบ็ดเตล็ด ตลาดและบ้านเรือนแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนน ณ นคร ในปัจจุบัน และบ้านเรือนไม้เก่า 12 หลังที่ถูกระเบิดก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมาของเรา
 
เมื่อมีการสร้างบ้านเรือนขึ้นใกล้กับทางรถไฟ ผู้คนจึงเริ่มอพยพเข้ามาจับจองที่ดินหรือเช่าบ้าน เพื่อทำการค้า และเป็นที่อยู่อาศัย ตลาดรัฐกิจเป็นตลาดแห่งแรกของยะลา เมื่อพระรัฐกิจสร้างตลาดขึ้นมานั้น ในยะลายังมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก ตลาดของพระรัฐกิจจึงไม่มีคนมาขายและจับจ่ายมากนัก พระรัฐกิจไปชักชวนคนตามหมู่บ้านต่างๆ ให้นำสินค้ามาขาย โดยการจัดตลาดนัดไปตามที่ต่างๆ เข้าไปพบผู้นำของหมู่บ้านทั้งมุสลิม ไทย และจีน แล้วจึงป่าวประกาศเชิญชวนให้ผู้คนตามท้องที่ต่างๆ นำพืชผัก หรือของพื้นเมือง สินค้าต่างๆ ที่มีมาขายที่ตลาดของพระรัฐกิจ    
 
ท่าน (พระรัฐกิจ) คิดกุศโลบายเรียกคนเข้าเมือง โดยการจัดตลาดนัดไปตามท้องถิ่นต่างๆ เข้าหาผู้ใหญ่ทางไทยอิสลาม ผู้ใหญ่ชนเชื้อสายจีน ผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ สมณะชีพราหมณ์ พระรัฐกิจวิจารณ์เป็นผู้ที่ชอบเดินป่า ท่านเอารถยนต์เข้าทุกพื้นที่ บางที่รถยนต์เข้าไม่ได้ ท่านก็เดินเข้าไปหาถึงบ้าน ถึงตำบล ตามหุบเขา ตามป่า ตามตะเข็บชายแดน ทุกพื้นที่ท่านป่าวประกาศให้ได้ยินไปทั่ว ขอพบ ขอนัด เชิญชวน ท่านมาดีอย่างมิตร มาอย่างญาติ มาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสิ่งที่ขาดแคลน เชิญชวนให้นำสินค้าหรือนำของพื้นที่บ้าน ออกมาขายพืชผักและผลไม้ คนละเล็กละน้อยตามสภาพที่มี สิ่งที่ขาดแคลนท่านจะนำมาช่วย ขอให้ออกมาร่วมใจกันเป็นการชักนำให้ผู้คนออกมาพบปะสังสรรค์ เมื่อทุกคนเข้าใจต่างตื่นตัวมากขึ้นโดยเฉพาะไทยอิสลาม ชนพื้นเมือง ชนพื้นเมืองเชื้อสายจีน ตามถิ่นทุรกันดาร ชนหน้าถ้ำ ..... (ประวัติพระรัฐกิจวิจารณ์ สวาสดิ์ ณ นคร)
 
ผู้คนเริ่มตื่นตัวออกมาพบปะกัน หันหน้าเข้าหากัน ปรึกษาหารือกัน ช่วยเหลือกัน รักกันเหมือนพี่น้อง เหมือนญาติสนิทมิตรสหาย ก่อนจะออกจากบ้านหรือตำบลที่อยู่ตามป่าเขาที่กว้างใหญ่ก็จะกู่กันให้รู้ว่าบ้านนี้ หมู่บ้านนี้จะไปแล้ว อีกหมู่บ้านหนึ่งได้ยินก็จะตอบเสียงดังเป็นทอดๆ ตามแนวหมู่ป่าหมู่บ้านหรือชุมชนเล็กๆ (ประวัติพระรัฐกิจวิจารณ์ สวาสดิ์ ณ นคร)
 
เมื่อทุกคนเข้าใจเจตนาดีของท่าน ทุกคนต่างตื่นตัวกันมาก ต่างนำสิ่งของเท่าที่มีตามท้องถิ่นทุรกันดาร มีผลหมากรากไม้ตามพื้นบ้าน ตามป่าเขา ข้าวปลาอาหาร คนละสิ่งสองสิ่ง ต่างนำมาขายตามมีตามเกิด บ้างก็นำสินค้าออกมาแลกเปลี่ยน บ้างก็เอาพืชผักตามป่าไปใส่กระจาดบ้าง ชะลอมบ้าง กระเดียดเข้าเอว คนเชื้อสายอิสลามจะทูนสินค้าต่างๆ ไว้บนหัว และสามารถเดินได้เร็วมาก โดยไม่ต้องจับของที่วางไว้บนหัวเลย ชนเชื้อสายจีนจะใส่คานหาบขนสินค้าด้วยเกวียน จากตำบล หมู่บ้านต่างๆ เดินตามกันเป็นทิวแถวอย่างคึกคัก เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของคนในท้องถิ่นและตำบลใกล้เคียง (ประวัติพระรัฐกิจวิจารณ์ สวาสดิ์ ณ นคร)
 
          พ่อค้าแม่ค้าในย่านตลาดยะลาคือชาวจีนซึ่งส่วนมากเป็นชาวจีนอพยพจากเมืองจีน เล่ากันว่าเมื่อจะติดประกาศใดในตลาด เจ้าของตลาดต้องมาขอให้ชาวจีนที่รู้ภาษาไทยช่วยเขียนประกาศเป็นภาษาจีนให้ ชาวจีนในตลาดเมื่อสื่อสารกันระหว่างชาวจีนจะพูดภาษาจีน คนที่เช่าแผงขายของในตลาดรัฐกิจเป็นคนจีนเกือบทั้งหมด ส่วนพ่อค้าแม่ค้าที่วางสินค้าขายอยู่รอบนอกของตลาดบนทางเท้าเป็นชาวมลายูมุสลิมจากหมู่บ้านอื่นๆ สินค้าของชาวมลายูมุสลิมเป็นที่นิยมมากกว่าสินค้าในแผงเพราะราคาถูกกว่า
 
......พระรัฐกิจวิจารณ์ท่านได้ยืนบนร้างสูงกลางตลาดนัด ท่านพูดด้วยภาษาท้องถิ่นและให้ผู้ช่วยของท่านแปลเป็นภาษายาวี แปลเป็นภาษาจีน ภาษาท้องถิ่น ขอบใจลูกหลาน พี่น้อง ญาติสนิท มิตรสหาย และท่านผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าทุกเชื้อชาติทุกศาสนา ที่มาตามคำเชิญของท่าน เมื่อความฝันของท่านเป็นจริง ตลาดนัดของท่านก็ค่อยเคลื่อนเข้าสู่หมู่บ้านนิบง คนเชื้อสายจีน และชนเชื้อสายอิสลามเริ่มเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนิบง ซื้อห้องแถวของท่านบ้าง เช่าห้องแถวของท่านบ้าง ท่านเลยได้เพื่อนได้มิตรติดตามมาอยู่ หมู่บ้านนิบงเลยเป็นชุมชนใหญ่……” (ประวัติพระรัฐกิจวิจารณ์ สวาสดิ์ ณ นคร)
 
ต่อมาราวต้นทศวรรษที่ 2500   การรถไฟได้จัดสร้างตลาดรถไฟและเปิดประมูลที่ดินให้เอกชนสร้างตึกแถวเพื่อใช้ในการทำธุรกิจการค้าขึ้นมา เมื่อตลาดสร้างเสร็จปรากฎว่าไม่มีพ่อค้าแม่ค้าไปขายของที่ตลาดของการรถไฟ เทศบาลและการรถไฟพยายามผลักดันให้คนขายของในตลาดรัฐกิจไปจับจองแผงค้าขายที่ตลาด ในที่สุดตลาดสดได้ย้ายไป ตั้งอยู่ที่ตลาดของการรถไฟจนกระทั่งปัจจุบัน ตลาดรัฐกิจจึงเลิกไป ถนน ณ นคร จึงเงียบเหงาไปโดยปริยาย
 
วันนี้แม้ว่าตลาดรัฐกิจไม่มีอยู่แล้ว หากแต่ย่านการค้าเก่าแก่นี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของคนนิบงหรือยะลามากว่าครึ่งศตวรรษ 
 
สำหรับครอบครัวของเรา บ้านเลขที่ 31 ถ.ณ นคร เป็น “บ้านเก่า” ที่อาม่าสร้างขึ้น หลังจากตัดสินใจย้ายบ้านจาก “ย่านสายกลาง” ลูก 11 คนของอาม่าจึงมีความทรงจำกับบ้านนี้มากมาย
 
วันที่ 13 กุมภา 2554 หลังจากยืนยันอย่างแน่นอนแล้วว่า บ้านเก่าของอาม่าไฟไหม้หมดแล้ว ลุง ป้า น้า แม่ ของฉันต่างโทรศัพท์หากันวุ่นวาย ต่างเล่าความรัก ความหลัง ความทรงจำที่มีต่อบ้านหลังนี้ ปะติดปะต่อเป็นภาพครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่อยู่ร่วมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง   
 
แก๊สปุ๊กลุกสีส้มที่เป็นส่วนประกอบของวัตถุระเบิดในวันนั้นเผาได้เพียงแค่บ้านเก่าของครอบครัวเรา แต่มันไม่อาจเผาความทรงจำที่งดงามของครอบครัวเราไปได้
 
หากแต่แก๊สปุ๊กลุกถังเดียวกันนั้นจุดระเบิดเผาบ้านของคน 12 ครอบครัว จนไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีร้านค้าซึ่งเป็นรายได้ของครอบครัว และบางคนได้รับบาดเจ็บ เปลวไฟเปลวเดียวกันนี้ทั้งทำลายหัวจิตหัวใจและสร้างความทรงจำที่เจ็บปวดของทั้ง 12 ครอบครัวอย่างไม่มีวันที่จะลบเลือนได้
 
แก็สปุ๊กลุกถังเดียวกันได้นำพาภาพไฟไหม้ใหญ่ที่ย่านสายกลางในเดือนกุมภาเมื่อ 34 ปีก่อนกลับมาผุดพรายในความทรงจำของคนยะลาอีกครั้ง ต่างกันตรงที่ครั้งนั้นเป็นอุบัติเหตุ หากครั้งนี้เป็นการก่อเหตุ รอยไหม้ในหัวใจของคนยะลาจึงแตกต่างออกไป
 
ความทรงจำของเรามีหลายแบบ เหตุการณ์เดียวกัน สถานที่เดียวกันรื้อฟื้นความหลังหรือสร้างความทรงจำแตกต่างกันไป
 
7 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงได้สร้างความทรงจำอันเจ็บปวดให้คน 3 จังหวัดอย่างถ้วนหน้า ถึงวันนี้แทบจะไม่เหลือใครที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนี้แล้ว ฉันได้แต่หวังว่าไฟในครั้งนี้จะเผาเพียงบ้านเรือนของผู้คน อย่าได้เผาความทรงจำดีๆ ที่คนจีน พุทธ มุสลิม เคยมีร่วมกันมา อย่าได้ผลาญความสัมพันธ์ของคนยะลาให้มอดไหม้ไปกว่าที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้เลย
 
หากมีแต่ความหลังอันเจ็บปวด ประวัติศาสตร์ที่มีแต่รอยแผล แล้วเราจะก้าวเดินร่วมกันต่อไปได้อย่างไร