Skip to main content

ธนก บังผล
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

 

          แทบทุกครั้งที่เสียงปืน เสียงระเบิด ดังขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นอกจากจะสร้างความหวาดกลัวแล้ว หากไม่ใครคนใดคนหนึ่งในบางครอบครัวต้องได้รับข่าวร้าย เสียงมัจจุราชนั้นก็อาจทำลายทรัพย์สินบ้านเรือนหรือโรงเรียน จนอาจเรียกได้ว่า 3 ปีกว่าที่ผ่านมา สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ได้สร้างความเสียหายจนไม่สามารถประเมินค่าได้

และหากความเสียหายนั้นเป็นเรื่องของชีวิตคน ความบอบช้ำทางจิตใจที่เกิดภายหลังความสูญเสียได้ถูกกระหน่ำยัดเยียดให้กับผู้อยู่ข้างหลังอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธ

วันนี้ ความสูญเสียได้ขยายวงกว้างไปหลายร้อยหลายพันหลังคาเรือน ทั้งคนในพื้นที่เองและครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องลงมาปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งไม่มีท่าว่าจะยุติเพียงเท่านี้


( "ลม้าย มานะการ" ผู้ประสานงานศูนย์อาสาสมัครเพื่อประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ )

           หลายปีมาแล้ว ที่ น.ส.ลม้าย มานะการ หรือ

"พี่ลม้าย" ของเด็กๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ พกพาหัวใจเดินทางไปทุกหมู่บ้านเพื่อเยี่ยมเยียนและเยียวยา ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์อาสาสมัครเพื่อประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ หรือ "เอ็นจีโอ" คนหนึ่ง นับตั้งแต่จบจากรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี)

พี่ลม้าย เป็นเอ็นจีโอ ที่ทำหน้าที่เยียวยาผู้สูญเสียมาตลอดชีวิต แม้จะเป็นคน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยกำเนิด แต่เธอก็เลือกที่จะขับรถกระบะเดินทางเข้าพื้นที่ทั่ว 3 จังหวัด แทนการอาศัยอยู่ในเมืองแห่งแสงสีและความเจริญ

ใบหน้าที่พร้อมจะยิ้มเสมอ ความจริงใจที่นำติดตัวไปทุกครั้ง จนถึงปัจจุบันที่เหตุการณ์ทำท่าจะลุกลามบานปลาย เนื่องจากผู้สูญเสียที่เคยมีเพียงไม่กี่สิบครอบครัว กลับเพิ่มขึ้นมากมายจนไม่สามารถดูแลได้อย่างเต็มกำลังนัก ทำให้รอยยิ้มของเธอ อาจจะมีไม่บ่อยเหมือนเดิม

"พี่เริ่มกลัวแล้ว" คือคำพูดหนึ่งที่ทำให้หลายคนสะเทือนใจยิ่งนัก "คนทำงานเริ่มถูกทำร้ายมากขึ้น โดยเป้าหมายกลายเป็นคนไทยพุทธที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไทยมุสลิม ที่เห็นชัดคือเจ้าหน้าที่พยาบาล"

พี่ลม้าย บอกว่า ประเทศที่อยู่ในสงคราม มีกฎกติกาวางไว้ชัดเจนว่าจะไม่ทำกลุ่มคนที่ทำงานช่วยเหลือประชาชน แต่บ้านเรากลับถูกทำร้าย

"มันสะเปะสะปะ พี่ว่าตอนนี้ไม่มีใครปลอดภัยอีกแล้วใน 3 จังหวัด อยู่ที่ว่าใครจะกลัวแค่ไหน แล้วจัดการตัวเองแค่ไหน ทีแรกพี่ไม่เชื่อ แต่วันนี้นักศึกษาโดน พัฒนากรโดน เจ้าหน้าที่อนามัยโดน เราเองต้องเยียวยากันเอง คนใกล้ชิดโดนเท่าไร แสดงว่าความถี่มันมากขึ้น พี่บอกตรงๆ ว่า หากพี่จะต้องเข้าหมู่บ้าน พี่ไม่กล้าพาใครเข้าไปด้วยแล้ว"

ทั้งนี้สาเหตุมาจาก เด็กนักศึกษาคนหนึ่งที่เข้ามาช่วยพี่ลม้ายทำงาน ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อไม่นานที่ผ่านมา นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นบาดแผลลึกกรีดใจกลุ่มเยียวยาอย่างไม่อาจลบเลือน

"น้องปิยะพงษ์ เพชรเงิน เริ่มเข้ามาเป็นคนช่วยเราเก็บข้อมูลในบางเรื่อง ลูกศิษย์ตายเราเสียใจอยู่แล้ว พี่มารู้ทีหลังว่าน้องเขาไปธุระส่วนตัว นี่ถ้าวันนั้นไปทำงานให้เรา พี่จะเสียใจไปตลอดชีวิต"

การสูญเสียน้องร่วมงานในวันนั้น ทำให้พี่ลม้ายต้องเก็บตัวนั่งอยู่เฉยๆ 1 วันเต็มเพื่อทำใจ

"แต่เราจำเป็นต้องมีภารกิจบางอย่าง ในสภาวะที่พร้อม ภารกิจนัดหมายประจำพี่ยังไปอยู่เสมอ แต่หากจะพาน้องๆ นักข่าวที่อยากจะเข้าไปเยี่ยมเยียน พี่ต้องคิดหนักมากขึ้น หากจำเป็นต้องไป ต้องตกลงกันก่อนว่าจะเรารับผิดชอบร่วมกัน แต่วันนี้ ส่วนหนึ่งในการพาลงไปตรงนี้ขอหยุดพักไว้ก่อน"

นั่นคือการทบทวนบางสิ่งบางอย่างหลังเกิดเรื่องราวไม่คาดฝันในใจพี่ลม้าย แต่อย่างไรก็ตาม พี่ลม้าย ยืนยันว่า ชาวบ้านผู้สูญเสียนั้นต้องการเพื่อน หากวันหนึ่งกลุ่มเยียวยาเป็นอะไรขึ้นมา จะทำให้วงการสะเทือนแน่นอน

"เรื่องที่เกิดขึ้นมากับสถานการณ์ความรุนแรงในวันนี้ ทำให้พี่ต้องหยุดคิดอะไรบางอย่างให้ชัดเจน คือต้องบอกให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง ภายในหมู่บ้านต้องดูแลกันให้มาก เพราะกลุ่มเยียวยาอาจเข้าพื้นที่ไม่ได้มาก ทั้งนี้ก็มาจากเรื่องความปลอดภัย ไม่สามารถไปพื้นที่ได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นปัจจัยภายในต้องให้ชาวบ้านดูแลกันเอง ผู้มาเยียวยา สักวันหนึ่งก็ต้องไป"

ด้วยหน้าที่การงานที่ทุ่มเททั้งกายและใจ ทำให้พ่อแม่พี่น้องของพี่ลม้ายหนักใจไม่น้อย

"พี่มีบาปมาก ทำผิดที่ทำให้ครอบครัวไม่สบายใจ ครอบครัวอยากให้กลับไปอยู่ จ.สงขลาแล้ว ทุกครั้งที่ลงพื้นที่พี่จะโทรบอกที่บ้าน บอกพ่อทุกครั้งว่าพี่กำลังจะไปไหน ให้ที่บ้านรู้พิกัด เพราะฉะนั้นเวลาที่พี่ไม่อยู่ 3 จังหวัด ที่บ้านจะแฮปปี้มาก แต่ก็เป็นห้วงเวลาสั้นๆ ที่ทำให้พ่อสบายใจ เขาบอกแต่เพียงว่ามันเป็นทางที่เธอเลือก แล้วเราเองก็มีเพื่อนพี่น้องอยู่ที่นี่ จะทิ้งเพื่อนพี่น้องตอนนี้ได้อย่างไร"

แต่กระนั้น หากพี่ลม้ายจะต้องกลับหาดใหญ่ขึ้นมาสักวันหนึ่ง ก็มีเหตุผลว่า เหตุความรุนแรงจะทำให้ผู้ใหญ่เครียดมากเกินไป

"ตัวพี่เองคงไม่ไปแน่ เพราะพี่เป็นผลผลิตของ มอ.ปัตตานี แล้วไปตอนเพื่อนทุกข์ ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เราจะไป ถ้าเหตุแรง ก็ฝืนชะตาไม่ได้ แต่พี่ยังไม่อยากไป"

ในอนาคตข้างหน้า พี่ลม้ายตั้งความหวังไว้ว่า จะเร่งให้ชาวบ้านหันกลับมาดูทรัพยากรในชุมชนมากขึ้น

"ก็มาดูว่าทรัพยากรในชุมชนของตัวเองอยู่ในสภาพใด หากต้องฟื้นฟูก็ต้องเร่งทำ อย่างคลองหรือนาข้าว คลองยังดีอยู่ ส่วนนาข้าวถ้าไม่ไปปลูกไปทำอะไรดินก็จะเสีย จริงๆพื้นฐานทางเกษตรกรรม มีทรัพยากรที่ดีมาก สายน้ำลำธารทำให้มีอยู่มีกิน ลดการพึ่งพาภายนอกให้ได้ ไม่ต้องเดินทาง เพราะที่คนตายมากเนื่องจากออกไปตลาด บางทีไปซื้อตะไคร้แค่ 5 ต้น"

โดยส่วนหนึ่งนั้น อยากให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับฐานทรัพยากร เนื่องจากใน 3 จังหวัดภาคใต้ มีทรัพยากรที่ดี มีทุนมหาศาล ที่หล่อเลี้ยงคนในพื้นที่ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ด้วยความพอเพียง

"แกนกลางระหว่างการทำงานสังคมคือชุมชน ร้อยรักความสัมพันธ์ ร่วมทุกข์ร่วมสุข คนไทยพุทธเองก็ต้องมีสติ เป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ เป็นเป้าใหญ่กว่าพี่น้องไทยมุสลิม อย่าคิดอะไรเหมารวม อย่าคิดว่าเป็นสีเทาทั้งหมด ต้องหาสีขาวให้ได้ เมื่อหาได้แล้วเราต้องสัมพันธ์รักษาพื้นที่สีขาวระหว่างเรากับเขาให้ได้"

ทุกวันนี้การทำงานของกลุ่มเยียวยา กลับต้องหันมาเยียวยากันเองมากขึ้น พี่ลม้ายบอกว่า ความทุกข์ที่มีร่วมกัน ทำให้เรามีพลัง ช่วยเหลือกันมากขึ้น

"พี่เป็นเอ็นจีโอ ก็อ่อนไหว ถึงแม้ว่าจะไม่อ่อนไหวถึงขั้นศิลปิน แต่พี่ก็แตกง่าย ทุกวันนี้ทำให้พี่ต้องหันกลับมาอ่านหนังสือธรรมะ เพื่อเยียวยาตัวเอง"

ก็อย่างที่พี่ลม้ายตั้งความหวังไว้ อยากให้ชาวบ้านพึ่งพาทรัพยากรที่มีในชุมชน เพื่อดูแลตัวเองได้ อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสี่ยงกับการออกไปหาซื้อผักปลา

เพราะ คำว่า "ผู้มาเยียวยา สักวันหนึ่งก็ต้องไป" ถ่ายทอดความรู้สึกของ "พี่ลม้าย" ได้มากมายร้อยพัน