Skip to main content

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน กลางปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดี บารัค อุสเซ็น โอบามา ของสหรัฐฯ ได้ปลด พล.อ. สแตนเลย์ แมคคริสตัล (General Stanley McCrystal) ออกจากการตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน เนื่องจากเขาวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร โรลลิ่งสโตน และรวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีโอบามาเกี่ยวกับนโยบายการทำสงครามอัฟกานิสถานด้วย 

แม้ว่า สมรภูมิอัฟกานิสถานผู้ปฎิบัติการทางด้านการทหารจะเป็นคนที่รู้เรื่องและทราบการทำงานในสมรภูมิมากที่สุดก็ตาม จะอ้างว่าตนเองรู้ดีที่สุดก็คงใช่ แต่แนวทางการทำสงครามก็ย่อมอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐ ภายใต้การบริหารดูแลของรัฐบาล ถึงแม้ว่ากองทัพสหรัฐฯจะรู้ดีแค่ไหนก็ตาม ก็ต้องเคารพกฎ ระบบ กติกา ทางด้านการเมืองภายระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องเคารพหลักการร่วมกัน และจะต้องรับฟังและปฎิการตามแนวทางของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากประชาชน    

ประเด็นข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นถึง หลักการที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันสำคัญประการหนึ่งก็คือ หลักการที่ฝ่ายทหารต้องยอมรับอำนาจบริหารประเทศของฝ่ายพลเรือน และด้วยหลักการข้างต้น นักการเมือง อย่าง ประธานาธิบดี โอบามา ก็ย่อมมี ความชอบธรรม (legitimacy) ในการตัดสินใจ ปลดก็คือ เพราะนักการเมืองอย่าง ประธานาธิบดีโอบามา ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน (Peoples Mandate) เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ผู้ที่ใช้อำนาจนั้นแทนย่อมมีอำนาจที่จะบริหาร ข้าราชการทหารและพลเรือนที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งมา และเป็นฝ่ายปฎิบัติตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งสภาพดังกล่าว อันเป็นหลักการที่สำคัญของประชาธิปไตยของสหรัฐ และเป็นการเคารพตัวแทนของประชาชน

สำหรับ สมรภูมิปาตานี ของเหล่าทหาร แม่ทัพ นายกอง ของกองทัพไทย ภายใต้การนำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ต้องเผชิญปฎิบัติการความรุนแรงเชิงคุณภาพ ตั้งแต่ ปล้นฐานทหารพระองค์ดำ จังหวัดนราธิวาส คาร์บอมบ์ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ ย่านเศรษฐกิจอย่างในเมืองจังหวัดยะลา ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายและสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวทำงานทางด้านหน่วยข่าวของกองทัพ จนทำให้ชาวบ้าน ประชาชนในพื้นที่ตั้งคำถามกับการทำงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการบริหารแก้ไขปัญหาในพื้นที่ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลที่แล้วมา ทั้งๆที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ได้มอบบัตรโหวตการเลือกตั้งให้แก่พรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ก็เพื่อที่จะหวังว่ารัฐบาลพลเรือนที่พวกเขาเลือกไป จะได้กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  

จนกระทั่งมาถึง การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานต่อกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง ที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ ของกลุ่ม สส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานในพื้นที่และเสนอการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในกองทัพ หากพิจารณาแล้ว การทำหน้าที่ของเหล่า สส. พรรคประชาธิปัตย์ ก็ย่อมถือว่าเป็นเสียงของตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความ ล้มเหลวของการทำงานภายใต้การรับผิดชอบของรัฐบาลที่มอบหมายให้กองทัพดูแลประชาชนในพื้นที่ 

 ทำให้เกิดปฎิกิริยาจากเหล่าทหารในนามของ ยังเติร์ก ของกองทัพ ได้ออกมาปกป้องเกียรติของกองทัพ แต่ไม่ได้ออกมาตอบคำถามที่สำคัญ ว่าเหตุไฉนจึงมีความรุนแรงและไม่สามารถทำงานตามหน้าที่ภายใต้การมอบหมายงานของรัฐบาล ทำให้กลุ่มทหารที่ออกมา จึงเป็นได้เพียงแค่ภาพ กบปกป้องนายแบบชายชาติทหารไทย

 และตามมาด้วยผู้จัดการรัฐบาล อย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องออกมากระชับพื้นที่ สส.ภายใต้สังกัด ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ควรพูดเล่น เพื่อความสนุกและหาก สส.จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้ปลดผู้บัญชาการทหารบกจริง ก็ควรปลดตนออกจากตำแหน่งก่อนด้วย

ซึ่งหากย้อนไป กรกฎาคม ศกก่อน เหล่ากลุ่มนายทหาร เสนอให้นายกฯอภิสิทธิ์ ปลด นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จนกระทั่งนายกษิต รัฐมนตรีต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีมีกลุ่มนายทหารเสนอนายกฯควรให้ออกจากตำแหน่งว่า ไม่รู้ว่านายทหารเหล่านั้นเป็นใคร และไม่รู้หนังสือพิมพ์ไปเอาข่าวมาจากไหน ตนไม่มีอำนาจอะไรไปกลั่นแกล้งหรือโยกย้ายทหาร ดังนั้นไม่ต้องกลัวการเปิดเผยตัว ถ้ากล้าพูด แล้วเป็นลูกผู้ชายก็ต้องกล้าแสดงตัวด้วย จะกลัวอะไร "ถ้ากล้าพูด แล้วเป็นลูกผู้ชายก็ต้องกล้าแสดงตัวด้วย จะกลัวอะไร และบอกด้วยว่ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับตัวผม ทำไมมาเก่งกับผม …”  ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1247324009&grpid=00&catid=01

                ปรากฎการณ์อันแปลกประหลาดทางด้านความสัมพันธ์ของอำนาจทางการเมืองไทยระหว่างกองทัพและรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยตามข้อตกลงของหลักการ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ได้สะท้อนให้เห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ค่ายทหารที่ผ่านมาและพฤติกรรมที่ต้องอาศัยกิน นอนในค่ายทหารที่ผ่านมา ก็คงต้องเข้าข่ายที่ว่า รัฐบาลพลเรือนอยู่ใต้ทหารจนกระทั่งถึงวันยุบสภาเลือกตั้งใหม่กลางปีนี้ เว้นแต่ทว่าจะมีการทัดท้านจากบางกลุ่มที่ไม่ต้องการให้ยุบสภา และไม่ต้องการเห็น ทหารอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน