Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร

          แม้นักวิชาการที่ร่วมเวทีเสวนาในวาระ 1 ปีรัฐประหาร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา จะสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลงานดับไฟใต้ของรัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ค่อนข้างล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงก็ตาม

          แต่ดูเหมือนว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า จะไม่ได้คิดเช่นนั้น

          โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากคำกล่าวของ พล.อ.สนธิ เอง ในวาระแถลงผลงานของกองทัพบกในห้วงเวลา 1 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ก.ย. ซึ่งได้ยืนยันถึงความสำเร็จอย่างชัดเจนในการจัดการปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเขาใช้คำว่า "สัมฤทธิ์ผล" และสรุปภาพรวมว่า เป็นชัยชนะทั้งในแง่ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเหนือกลุ่มก่อความไม่สงบเลยทีเดียว

          คำถามก็คือ ความจริงในพื้นที่เป็นอย่างที่ พล.อ.สนธิ พูดหรือไม่ เพราะแม้แต่ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์จากรั้วจามจุรี ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทหารก็ยังชี้ว่า บริบทของประชาธิปไตยไทยในอนาคตจะมีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์ประกอบ เพราะปัญหาความรุนแรงไม่ได้ยุติไปพร้อมกับรัฐบาลชุดที่แล้ว!


 

ค่ำคืนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549   (ภาพ : ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์)

 

 

ชนะยุทธศาสตร์...พ่ายยุทธวิธี

          ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงต้นของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 นั้น ทุกฝ่ายพร้อมใจกันตั้งความหวังกับภารกิจดับไฟใต้ เพราะบุคลากรในระดับนโยบายเข้าขั้น "ดรีมทีม" ทั้งตัว พล.อ.สุรยุทธ์ เอง , นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีมุสลิมที่นั่งว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึง พล.อ.สนธิ ผบ.ทบ.เลือดมุสลิม

          ยิ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ ยอมเอ่ยปาก "ขอโทษ" กับพี่น้อง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในความผิดพลาดทางนโยบายของรัฐบาลชุดแล้ว พร้อมประกาศเดินหน้านโยบาย "สมานฉันท์" เป็นธงนำเพื่อสร้างสันติสุข ตามด้วยการฟื้นหน่วยงาน "ยาวิเศษ" ที่ชื่อ "ศอ.บต." ขึ้นมาใหม่ ยิ่งสร้างความมั่นใจในวงกว้างว่า ไฟใต้เห็นทีจะมอดลงในรัฐบาลชุดนี้

          และนั่นคือที่มาของชัยชนะทางยุทธศาสตร์ที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ เพราะสามารถคลี่คลายแรงกดดันจากทั้งประชาชนในพื้นที่เอง และชาติมุสลิมจากทั่วโลกที่เฝ้ามองปัญหาอยู่ โดยเฉพาะองค์การการประชุมชาติอิสลาม หรือ  OIC

          แต่สิ่งที่ถูกตั้งคำถามกลับกลายเป็นการสู้รบทางยุทธวิธีในความรับผิดชอบของ พล.อ.สนธิ ที่ดูจะไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย ถึงขั้นที่ว่า 2 ไตรมาสแรกของปี 2550 สถานการณ์ในพื้นที่เข้าขั้นโคม่า เกือบจะเกิด "สงครามกลางเมือง" อยู่รอมร่อ ม็อบปิดหน้าผุดขึ้นทั่วทั้งสามจังหวัด การไล่ยิงไล่ฆ่าเพื่อกดดันขับไล่ชาวไทยพุทธดำเนินไปอย่างดุเดือด ขณะเดียวกันก็เกิดเหตุรุนแรงปริศนา ทั้งปาระเบิด ยิงถล่มมัสยิด แทบจะรายวัน สร้างบรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างคนสองศาสนาอย่างน่ากลัว

          อีกด้านหนึ่งครูก็ถูกยิงราวใบไม้ร่วง กลุ่มผู้ไม่หวังดีออกข่มขู่คุกคามพี่น้องประชาชนไม่ให้ส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนในพื้นที่สีแดงอย่าง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้นานนับเดือน ขณะที่ข้าราชการฝ่ายปกครองระดับนายอำเภอยังต้องสังเวยชีวิตที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี

          ช่วงนั้น พล.อ.สนธิ ต้องลงพื้นที่ถี่ยิบ และยอมรับว่าเอาชนะได้เพียงยุทธศาสตร์ แต่ด้านยุทธวิธียังต้องพยายามกันต่อไป...

          การที่แม่ทัพดับไฟใต้พูดแบบนี้ แม้จะไม่ได้หมายความว่าแพ้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าชนะ!

ยุทธการทหารถูกโต้กลับ

          เมื่อย้อนไปพิจารณาคำแถลงผลงานของ พล.อ.สนธิ จะพบว่า ประเด็นที่ ผบ.ทบ.ยืนยันว่าประสบความสำเร็จ คือการใช้ยุทธการทางทหารปูพรมปิดล้อม ตรวจค้น กระทั่งสามารถจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ พร้อมยึดของกลางเป็นอาวุธสงครามได้เป็นจำนวนมาก การชุมนุมกดดันเจ้าหน้าที่หดหาย และได้ข้อมูลเบาะแสจากชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น

          แทบไม่ต้องถอดรหัสจากคำแถลง ก็พอจะทราบว่า สิ่งที่ พล.อ.สนธิ เรียกว่าความสำเร็จก็คือ "ยุทธการพิทักษ์แดนใต้" ที่เริ่มเปิดปฏิบัติการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปักษ์หลังของเดือนมิถุนายน โดยใช้ชื่อ "แผนพิชิตบันนังสตา" กับ "แผนพิทักษ์ปาดี" ในพื้นที่สีแดง 2 อำเภอสำคัญ ก่อนจะขยายแผนไปยังพื้นที่สีแดงอำเภออื่นๆ จนสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัย แนวร่วม รวมไปถึงแกนนำผู้ก่อความไม่สงบระดับหัวหน้า และครูสอนประกอบระเบิดได้มากมาย จากหลักสิบ ขยับเป็นหลักร้อย และหลายร้อย

          สุ้มเสียงจากฝ่ายความมั่นคงยืนยันตรงกันว่า การกวาดจับผู้ต้องสงสัยจำนวนมากไปสอบปากคำ และกันบางส่วนไปดำเนินคดี ขณะที่อีกบางส่วนเข้าคอร์สฝึกอาชีพ ทำให้สถานการณ์รุนแรงรายวันลดลงอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นต้องถือว่า "เรามาถูกทางแล้ว"

          อย่างไรก็ตาม หากหันไปดูข้อมูลจากภาคประชาสังคม อาทิเช่น ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ หรือเครือข่ายสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งเก็บข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดน หรือ Violence-related Injury Surveillance (VIS) จะพบข้อมูลเชิงสถิติที่ชัดเจนว่า แม้สถานการณ์ในบางพื้นที่จะดีขึ้นจริง ทว่าความรุนแรงรายวันในภาพรวมกลับไม่ได้ลดจำนวนลงดังที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวอ้าง

          มิหนำซ้ำในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา (ตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.) ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเริ่มเจาะเข้าไปเปิดยุทธการใน จ.ปัตตานี ก็ปรากฏความรุนแรงในลักษณะตีโต้จากฝ่ายก่อความไม่สงบอย่างน่าตกใจ...

          8 ส.ค. คนร้ายบุกยิงเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านบราโอ ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 ราย และเป็น 2 รายแรกที่คนสาธารณสุขต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

          1 ก.ย. นายปิยะพงศ์ เพชรเงิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถูกประกบยิงเสียชีวิตในท้องที่ อ.ยะรัง เช่นกัน

          4 ก.ย. นางนิภาภรณ์ นาคทอง อายุ 59 ปี พัฒนากร อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ถูกคนร้ายจ่อยิงในพื้นที่ที่เธอทำงานในวัยใกล้เกษียณ ฯลฯ

          มิหนำซ้ำ ช่วงตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. ถึงกลางเดือน ก.ย. มีครูถูกยิงถึง 6 คน โดยบางช่วงถี่ยิบถึงระดับ 3 คนใน 7 วัน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 4 คน และมี 1 คนที่ถูกฆ่าเผาอย่างทารุณ ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมผู้ใหญ่บ้านและนักการเมืองท้องถิ่นที่ถูกยิงเป็นว่าเล่นในช่วงปักษ์หลังของเดือนกันยายน ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้านหญิงที่ชื่อ มาเรียน สะนอ จากหมู่ 4 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา รวมอยู่ด้วย

          ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการใช้ "สงครามนอกแบบ" ตอบโต้ยุทธการทางทหาร และส่งผลให้ฝ่ายความมั่นคงมิอาจกุมสภาพพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้จะทุ่มเทสรรพกำลังลงไปทุกด้านแล้วก็ตาม

เอาชนะทางความคิดคือคำตอบ

          ไม่เฉพาะนักวิชาการและผู้รู้ในบ้านเมืองเท่านั้นที่พยายามกระตุ้นเตือนว่า การกวาดจับผู้ต้องสงสัยจำนวนมากไม่ใช่ความสำเร็จในสงครามสามจังหวัดใต้ แต่อดีตผู้นำทางทหารเองอย่าง พล..ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เห็นไปในทำนองเดียวกัน โดยเขาบอกว่า "แค่เริ่มคิดว่าชนะก็ผิดแล้ว"

          ขณะที่ พล..นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร มองว่า ยุทธการพิทักษ์แดนใต้ทำให้รัฐรับรู้ถึง "แก่นของปัญหา" และโครงสร้างองค์กรของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เปรียบเสมือน "เม็ดเงาะ" โดยมีสถานการณ์ความรุนแรง กลไกการปลูกฝังความเชื่อแบบผิดๆ และแนวร่วม เป็นดั่ง "เนื้อเงาะ" และ "เปลือกเงาะ" ที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก

          อย่างไรก็ดี ทั้ง พล..ชวลิต และ พล..นิพัทธ์ ก็เห็นพ้องกันว่า การจะเอาชนะในสงครามครั้งนี้ได้อย่างเด็ดขาด รัฐต้อง "เอาชนะทางความคิด" ให้ได้เท่านั้น เพราะไม่ว่าจะกวาดจับผู้ต้องสงสัยไปมากเท่าใด แต่หาก "หัวเชื้อทางความคิด" ยังไม่ถูกจัดการ ก็จะมีนักรบรุ่นใหม่คนเล่าคนเล่าถูกฝึกให้เป็น "กองโจรขนาดเล็ก" ออกมาก่อความรุนแรงเรื่อยไป

          วิธีการเอาชนะทางความคิดนั้น ด้านหนึ่งต้องขจัด "ความไม่เป็นธรรม" ที่เป็นดั่งหนามยอกใจของผู้คนให้หมดสิ้นไปจากดินแดนด้ามขวาน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องจัดการ "ถอนแกนความคิด" ด้วยการหาตัวแกนนำระดับ "อุลามะ" (ผู้นำทางความคิด) ให้ได้ พร้อมๆ กับการวางรากฐานการศึกษาเชิงคุณภาพให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่

           แต่งานในมิติดังกล่าวนี้ดูจะยังถูกละเลยและไม่เห็นผลในเชิงรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม หรือแม้แต่ ศอ.บต.ก็ตาม

          ทั้งหมดจึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า สังคมไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป เพราะการต่อสู้ทางความคิดอันเป็นสมรภูมิที่แท้จริงยังไม่ได้เริ่มต้นเลยด้วยซ้ำ !