ปกรณ์ พึ่งเนตร
การตอบคำถามของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรายการ "นายกฯ พบสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาล" ครั้งที่ 9 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8ต.ค.50) ระบุว่า ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น
หลังจากนั้น ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ก็ออกมารับลูก แถลงผลงานการเปิดยุทธการซึ่งเน้นการปิดล้อมตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้สถิติการก่อเหตุลดลงมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ
โดย พ.อ.ธนาธิป ส่วางแสง โฆษก กอ.รมน. อธิบายสาเหตุที่สถิติลดลง เพราะได้แยกการทำงานเป็น 2 ส่วน คือ การเมืองกับยุทธการ โดยเป้าหมายการเมือง คือ งานมวลชนและพัฒนาได้ผล ส่วนงานยุทธการที่ปิดล้อมตรวจค้น งานด้านการข่าวมีการบูรณาการมากขึ้น ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหารมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น รวมถึงคำสารภาพของผู้ก่อความไม่สงบที่ควบคุมตัวได้จากการปิดล้อมตรวจค้น ทำให้พบข้อมูลมากขึ้น นำมาสู่การระงับเหตุรายวันได้
"เราเก็บสถิติแบ่งเป็น 3 ห้วงเวลา คือ ห้วงแรกเดือน ต.ค.2549 ถึงเดือน ม.ค. 2550 เหตุลอบยิง 447 ครั้ง ลอบวางระเบิด 150 ครั้ง วางเพลิง 91 ครั้ง ห้วงที่สองเดือน ก.พ. ถึง พ.ค.2550 ลอบยิงจำนวน 414 ครั้ง ลอบวางระเบิด 133 ครั้ง วางเพลิง 113 ครั้ง และห้วงที่ 3 คือ มิ.ย.ถึง ก.ย.2550 ลอบยิง 395 ครั้ง ลอบวางระเบิด 116 ครั้ง วางเพลิง 106 ครั้ง ซึ่งพบว่าปลายปี 2550 สถิติทุกอย่างจะลดลงมาตามลำดับ" โฆษก กอ.รมน.ระบุ
อย่างไรก็ดี ได้เกิดคำถามว่า สถิติที่นำมาอ้าง เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน !
หรือการที่นายกฯ จำต้องการันตีว่า สถานการณ์ดีขึ้น ก็เพื่อให้เป็นผลงานของรัฐบาลในห้วงสุดท้ายของการทำงานก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปลายปีนี้ ?
เพราะเมื่อหันไปดูข้อมูลจากการเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ Violence-related Injury Surveillance (VIS) ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่า ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2550 สถานการณ์ความรุนแรงไม่ได้ดีขึ้นดังที่ภาครัฐกล่าวอ้าง
รายงานการเฝ้าระวังของเครือข่ายสาธารณสุขซึ่งเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาชี้ชัดว่า เหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมดที่เก็บข้อมูลได้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สถานการณ์โดยภาพรวมยังไม่ดีขึ้น จำนวนเหตุการณ์ที่เกิดเหตุความไม่สงบยังเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง และเป็นทิศทางขาขึ้นที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง
รายงานยังระบุว่า ในระยะครึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงได้ใช้ยุทธวิธีในลักษณะการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และเชิญตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบถามข้อมูล โดยเรียกปฏิบัติการในแต่ละครั้งว่า "ยุทธการ..." หมายความว่าหากปฏิบัติการในตำบลใด ก็จะใช้ชื่อตำบลนั้นต่อท้าย เช่น ยุทธการปะแต เป็นต้น
"ฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้นั้นควบคุมได้และมีสภาพดีขึ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงคำประกาศที่หวังผลจากจิตวิทยามวลชนที่ขัดแย้งกับข้อมูลความเป็นจริง และขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่" เนื้อหาในรายงานระบุ
ล่าสุด เครือข่ายสาธารณสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลของรัฐ 47 แห่งใน 5 จังหวัด ยังได้รายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงประจำเดือนสิงหาคม 2550 ซึ่งพบว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด 111 ครั้ง มีจำนวนผู้บาดเจ็บ 194 ราย เสียชีวิต 65 คน
เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจาก 100 ครั้ง เป็น 111 ครั้ง มีจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจาก 165 รายเป็น 194 ราย
เรียกว่าแค่เทียบเดือนต่อเดือนในปีเดียวกัน เหตุรุนแรงยังเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน!
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตตามกลุ่มอาชีพ ยังพบว่า ในเดือนสิงหาคมมีความเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเดิมซึ่งเป็นกลุ่มทหาร มาเป็น "กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม" และมีข้อสังเกตคือในกลุ่มเกษตรกรรมนอกจากจะมีอัตราการบาดเจ็บและตายสูงแล้ว ยังมีระดับอัตราส่วนการบาดเจ็บและเสียชีวิตในระดับที่ใกล้เคียงกันด้วย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมดังกล่าว แสดงถึงความแม่นยำในการสังหารเป้าหมายมีมากขึ้น
น.พ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา แกนนำเครือข่ายสาธารณสุข และศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า หากพิจารณาสถิติการเกิดเหตุรุนแรง พบว่าจำนวนครั้งที่เกิดเหตุแล้วมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตลดลงจริง แต่จำนวนครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงในภาพรวม (คือรวมเหตุการณ์ที่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตด้วย) กลับเพิ่มขึ้น ที่สำคัญจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ไม่ได้ลดลง เพียงแต่เปลี่ยนกลุ่มจากตำรวจ ทหาร เป็นชาวบ้านธรรมดา
ที่สำคัญ สถิติเปรียบเทียบปีต่อปีนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา อัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บมีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด
"เข้าใจว่ารัฐบาลคงดูในภาพรวมและคิดว่าดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นเป้าความรุนแรงน้อยลง เนื่องจากคุมพื้นที่ได้มากกว่าเดิม แต่ชาวบ้านกลับตกเป็นเหยื่อมากกว่า ฉะนั้นถ้าถามชาวบ้าน คงไม่มีใครรู้สึกว่าดีขึ้น" น.พ.สุภัทร ระบุ
ยิ่งไปกว่านั้น "หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ" ยังได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับอดีตผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ (ผบ.ฉก.) ในพื้นที่ ซึ่งระบุว่า สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดไม่ได้ดีขึ้นเลย ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วเกือบเท่าตัว คือจาก 300 กว่าราย เป็น 704 ราย (ข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนกันยายน) แต่สาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ดูเหมือนดีขึ้น เพราะสื่อมวลชนไม่ค่อยลงข่าว และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่
และทั้งหมดนี้คือคำถามที่ย้อนกลับไปยังนายกรัฐมนตรีว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นจริงหรือ ทั้งยังต้องถามต่อไปถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้รับผิดชอบคนใหม่ว่า เมื่อเห็นตัวเลขที่แท้จริงเช่นนี้แล้ว ท่านจะทำอย่างไรต่อไป ?
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- VIS รายงานสถานการณ์ใต้ ส.ค. 50 ชี้ "ความรุนแรงเพิ่ม-ประชาชนตกเป็นเป้า"
- ข้อมูลเชิงประจักษ์ภาคประชาสังคม สถานการณ์ชายแดนใต้ "ดีขึ้น" จริงหรือ?