เผยแพร่ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ส่งรายงานสถานการณ์สิทธิฯ
ให้คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ
มุ่งหวังความร่วมมือกับทุกฝ่ายตรวจตราการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกันเขียนรายงานประกอบการพิจารณาการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR)[1] ของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ ด้วยความหวังว่าข้อเท็จจริงจากการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในพื้นที่ที่สะท้อนสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานความมั่นคงและนโยบายของรัฐบาลในการระงับและปราบปรามกับการก่อความไม่สงบ
แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายปรับเปลี่ยนวิธีการ ยุทธศาสตร์ทั้งทางด้านการทหาร การเมืองและการปกครอง การทุ่มงบประมาณด้านการพัฒนาไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา ทั้งนี้ความรุนแรงจากการก่อเหตุของหลายกลุ่มหลายฝ่ายก็ยังมีผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนทุกกลุ่มในพื้นที่ฯอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดีตลอดระยะเวลา 7 ปี จนกระทั่งปัจจุบันยังคงปรากฎข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ยังส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายเช่น กรณีการซ้อมทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ การฆ่านอกระบบกฎหมาย การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น ทั้งนี้บางกรณีเป็นสาเหตุจากกฎหมาย กฎระเบียบหรือข้อบังคับต่าง ๆที่อาจเปิดช่องให้มีการปฏิบัติที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือบางกรณีเป็นแนวทางหรือวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติที่ขาดการกำกับดูแลและตรวจสอบจนอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นระบบและไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข เป็นต้น
โดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เขียนรายงานสรุปสถานการณ์และข้อเสนอแนะเป็นภาษาไทยจำนวน 13 หน้า และได้สรุปย่อเพื่อส่งให้คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติเป็นรายงานจำนวน 5 หน้าตามหลักเกณฑ์เป็นภาษาอังกฤษ โดยได้นำเสนอสภาพปัญหาและข้อเสนอในการปรับปรุง ยกเลิก หรือแก้ไขทั้งกฎหมายและการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ระบบการคุ้มครอง ปกป้องสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหมายว่าทุกฝ่ายจะฟันฝ่าอุปสรรครวมทั้งอคติและความเชื่อของตน กลุ่มตน สถาบันของตนและมีความกล้าหาญในการร่วมมือกันตรวจตราสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและการปฎิบัติตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยและตามหลักกติกาสากล กฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี นั้นจะทำให้การแก้ไขปัญหาโครงสร้างด้านกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย นำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบยุติธรรมเพื่อแก้รากฐานของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ได้
รายละเอียดรายงานและข้อเสนอแนะจำนวน 13 หน้า สามารถ Downloadจากเวบไซด์ www.macmuslim.org รายละเอียดรายงานคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ Download จากเวบไซด์http://www.ohchr.org/en/hrbodies/upr/pages/uprmain.aspx และhttp://www.upr-info.org/
[1] การจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) โดยประเทศไทยจะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) รัฐบาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศจะสามารถส่งรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ โดยในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ที่กรุงเจนีวา โดยจะมีประเทศสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าร่วมรับฟังและสอบถามรัฐบาลไทยในแนวทางการแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์สิทธิฯ วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 จะมีสรุปข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ