นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
เหรียญมี 2 ด้านเสมอ มีทั้งด้านหัวด้านก้อย นั่นหมายความว่ามีทั้งด้านบวกและด้านลบ กรณีการผลิตพยาบาล 3,000 คนให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังจะจบการศึกษามาปฏิบัติงานในพื้นที่ในเดือนเมษายน 2554 นี้แล้วก็เช่นเดียวกัน
๐ ย้อนอดีต ที่ไปที่มา “พยาบาล 3,000 คน”
เมื่อปี 2549 หลังจากที่รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้สถานการณ์ไฟใต้ที่รุนแรง กระทรวงสาธารณสุขภายใต้การนำของ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้ผลักดันนโยบายสำคัญในการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว โดยมีนโยบายให้ผลิตพยาบาลเพิ่มจำนวน 3,000 คนในปีเดียว โดยรับนักเรียนจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอชายแดนของสงขลา มาเรียนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต 4 ปี จบแล้วกลับไปทำงานในพื้นที่ เพื่อดูแลประชาชน โดยทางรัฐบาลในสมัยนั้นรับปากที่จะบรรจุให้เป็นข้าราชการ
การรับนักเรียนที่มีวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาเรียนพยาบาลพร้อมกัน 3,000 คนเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้วัยรุ่นผู้หญิงในพื้นที่ เข้ามาสู่ระบบการศึกษาพร้อมกันจำนวนมาก คำถามสำคัญคือทำไมรับสมัครรวดเดียวตั้ง 3,000 คน ทำไมไม่เติมปีละ 300 คนเป็นเวลา 10 ปี คำตอบก็ชัดเจนว่า เป็นปริมาณที่มากพอที่จะเกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในหลายประการ มากพอที่จะเกิดความรู้สึกที่เป็นความหวังของพ่อแม่ผู้ปกครองและญาติๆ รวมแล้วหลายหมื่นคนในพื้นที่ที่มีความหวังเพิ่มขึ้นต่ออนาคตของลูกที่จะได้เป็นพยาบาลและข้าราชการ มากพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณของพยาบาลในพื้นที่ที่ขาดแคลนยาวนาน ทำให้มีบุคลากรมากขึ้นเท่าตัวอย่างที่ไม่ปรากฏมาก่อน และอาจจะมากพอในเชิงจิตวิทยามวลชนที่จะทำให้ผู้คนในพื้นที่มีความภักดีต่อรัฐไทยในยามที่รัฐไทยอ่อนแอ
ตามนโยบายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ดำเนินการโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้มีการคัดเลือกบุคลากรในพื้นที่เข้าโครงการ จำนวน 3,000 คน เพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ (4 ปี) ในวิทยาลัยพยาบาลสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 25 แห่งทั่วประเทศ และได้เข้าศึกษา ตามหลักสูตร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 และจะจบการศึกษากลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่ในเดือนมีนาคมปี 2554 ปัจจุบัน นักศึกษาตามโครงการดังกล่าว เรียนจบการศึกษาในเวลา 4 ปีเกือบทั้งหมด
ด้วยจำนวนนักศึกษาจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการกระจายการเรียนการสอนไปยังวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีทั่วประเทศ ตามศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมจากจำนวนเดิมที่รับในแต่ละปี ดังนี้
ลำดับที่
|
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี
|
จำนวนนักศึกษา
|
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
|
จังหวัดนนทบุรี
กรุงเทพ
สระบุรี
จักรีรัช
สุพรรณบุรี
พระพุทธบาท
ชัยนาท
พระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี
พระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
ชลบุรี
สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์
พุทธชินราช
นครลำปาง
พะเยา
เชียงใหม่
สุราษฎร์ธานี
ยะลา
นครศรีธรรมราช
สงขลา
ตรัง
นครราชสีมา
อุดรธานี
ศรีมหาสารคาม
สุรินทร์
ขอนแก่น
|
200
160
115
95
85
65
60
55
200
115
210
130
200
80
70
200
155
75
70
50
200
140
135
95
40
|
รวมทั้งสิ้น
|
3,000 คน
|
ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีวิทยาลัยพยาบาลเพียง 2 แห่งคือที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดยะลา ซึ่งสามารถรับนักศึกษาได้เพียง 225 คน หรือเพียง 7.5% ของนักศึกษาทั้งหมดเท่านั้น การกระจายให้นักศึกษาจากชายแดนภาคใต้ ได้ไปเรียนรู้วัฒนธรรมต่างพื้นที่ มีเพื่อนต่างถิ่น ได้ทำงานฝึกงานในบริบทชุมชนวัฒนธรรมที่ไกลบ้าน ได้รับการเคี่ยวเข็ญจากครูพยาบาลที่เป็นคนไทยพุทธที่ทุ่มเทสอนทั้งในและนอกเวลาราชการ ใส่ใจดูแลทั้งด้านวิชาการในการปรับฐานความรู้และด้านการใช้ชีวิตเป็นเวลา 4 ปี น่าจะมีส่วนอย่างยิ่งในการหล่อหลอมมุมมองที่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้คนโดยไม่แยกแยะเชื้อชาติ ศาสนา และอุดมการณ์ได้เป็นอย่างดี
๐ ความหวังและการจัดการ
การเตรียมการรองรับพยาบาลที่จะสำเร็จการศึกษาและกลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่นั้นมีหลายด้าน อาทิ
1. ด้านการจัดสรรสถานที่ปฏิบัติงานให้เหมาะสม
ในปัจจุบัน จำนวนพยาบาลที่ปฏิบัติงานทุกสถานบริการตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนมีจำนวนพยาบาลประมาณ 3,100 คนเศษ และมีพยาบาลประจำสถานีอนามัยจำนวนประมาณ 350 คนเศษ ดังนั้นการจบมาของพยาบาลในครั้งเดียวเกือบ 3,000 คนลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่ แทบจะทำให้กำลังคนด้านการพยาบาลเพิ่มขึ้นเท่าตัว
แม้ว่าจะมีพยาบาลจบมารวดเดียว 3,000 คน แต่ความต้องการพยาบาลไปทำงานในสถานบริการต่างๆกลับมามีมากกว่า 3,000 อัตราอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้ด้วยวิธีคิดที่เห็นว่า ได้คนมาเพิ่มโดยไม่ต้องภาระด้านเงินเดือน จึงทำให้เกิดความต้องการที่เกินจริง
จากข้อมูลจำนวนพยาบาล 3,000 คนตามโควตาจังหวัดที่ไปเรียน และจำนวนสถานบริการในพื้นที่ ดังแสดงในตาราง
ดังนั้นการกระจายพยาบาล 3,000 คนอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด ก็เป็นโจทย์อีกโจทย์ที่สำคัญที่จะนำไปสู่การวางคนเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างเหมาะสม
2. การบรรจุเป็นข้าราชการ
การบรรจุเป็นข้าราชการเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่สุดในการทำให้มีนักเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ในระยะแรกสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ตำแหน่งเท่าที่มีในกระทรวงจัดสรรเจียดมาให้พยาบาลในกลุ่มนี้ แต่เพราะยังมีบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพอีกกว่า 30,000 ตำแหน่งทั่วประเทศที่ยังไม่ได้บรรจุ แต่ด้วยแรงกดดันต่างๆ ในที่สุดทาง กพ.ก็ได้อนุมัติให้เพิ่มจำนวนข้าราชการสำหรับพยาบาล 3,000 คน โดยไม่ไปใช้ตำแหน่งที่มีเหลือของกระทรวงสาธารณสุข
3. ด้านงบประมาณโดยเฉพาะเงินเดือนซึ่งระดับพื้นที่ต้องรับภาระมากขึ้น
โจทย์เรื่องเงินเดือนสำหรับพยาบาลทั้ง 3,000 คนนั้นจะเอามาจากไหน แน่นอนว่าเมื่อได้บรรจุเป็นข้าราชการก็จะได้เงินเดือนจากกระทรวงการคลัง แต่ระบบการบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้รวมเอาเงินเดือนไปอยู่ในงบรายหัวที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยจะได้รับเข้าไปด้วย ทำให้แท้จริงแล้ว เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายความว่างบดำเนินการจะลดลง เพราะงบรายหัวประชาการตามงบประกันสุขภาพนั้นยังเท่าเดิม หากคิดง่ายๆว่า พยาบาลคนหนึ่งจบมาได้เงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นๆ รวมประมาณ 12,000 บาท คูณจำนวน 3,000 คน ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนกว่า 36 ล้านบาทต่อเดือน หรือเท่ากับเกือบ 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินจำนวนที่มาก หากไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินเดือนเพิ่มเติมมา เชื่อได้ว่าคุณภาพบริการด้านอื่นๆ จะลดลงอย่างแน่นอน ทั้งด้านยา เครื่องมือแพทย์ สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงพยาบาล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ในปีแรกๆจะมีการสนับสนุนงบเงินเดือนมาเป็นกรณีพิเศษ แต่ในที่สุดก็ต้องเข้าสู่ระบบปกติเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ทั้งประเทศ งบเงินเดือนในพื้นที่จะโป่งจนทำให้งบดำเนินการมีน้อยอย่างน่าเป็นห่วง นี่คืออีกผลข้างเคียงในอนาคต แต่แน่นอนว่าจะสงผลดีต่อเศรษฐกิจในพื้นที่พอสมควรเพราะจะมีการเพิ่มการใช้จ่ายเงินในพื้นที่อีกหลายร้อยล้านบาทต่อปี
4. การจัดเตรียมด้านที่พัก และสวัสดิการต่างๆ
การที่มีบุคลากรเข้ามาทำงานจำนวนมาก งานการพยาบาลมีลักษณะเป็นกะ เช้าบ่ายดึก ทำให้มีความจำเป็นด้านการจัดหาที่พักในโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยให้แก่บุคลากรทุกวิชาชีพ แม้ว่าในปัจจุบัน แฟลตพักพยาบาลหลายแห่งกำลังเริ่มก่อสร้าง แต่การเช่าบ้านที่สะดวกอยู่ใกล้โรงพยาบาลไว้เป็นที่พัก ก็เป็นทางออกที่เป็นไปได้ดีที่สุดในบางพื้นที่ และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการสร้างแฟลตอย่างมาก สอดคล้องกับแนวคิดการบริหารยุคใหม่ที่เช่าเหมาบริการมากกว่าสร้างเอง
5. การพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงานจริง
การฝึกทักษะเพิ่มเติมให้พยาบาลจบใหม่มีความสามารถในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับสภาพการทำงานจริงในพื้นที่ ทั้งในระดับโรงพยาบาลและในชุมชน มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เรียนมาทางวิชาการอาจทำหัตถการได้ไม่เก่งไม่ชำนาญ ซึ่งต้องการระบบการมีพี่เลี้ยงและการมีระบบการศึกษาต่อเนื่องรองรับต่อไป
6. การประเมินผล
โครงการการผลิตพยาบาล 3,000 คนนั้น มีความน่าสนใจมากว่า จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด ส่วนในการช่วยสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่หรือไม่เพียงใด ซึ่งการมีการประเมินผลอย่างเป็นระบบนั้น ควรจะผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไป และจะเป็นต้นแบบการประเมินผลกระทบเชิงนโยบายที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งที่ผ่านมาแทบไม่มีการประเมินผลกระทบจากนโยบายต่างๆ อย่างเป็นระบบ
๐ ผลข้างเคียงที่ไม่ควรมองข้าม
ผลข้างเคียงที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันคือ การที่ยังมีนักเรียนทุนทุกวิชาชีพที่ยังไม่บรรจุเป็นข้าราชการอีกกว่า 30,000 คนจากทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นลูกจ้างชั่วคราวและรอการบรรจุมาหลายปี กลับรู้สึกเหมือนคนที่รอมานานแล้ว และถูกแซงคิวโดยเด็กเส้นอะไรทำนองนี้ สร้างความเจ็บใจและความหดหู่ใจต่อระบบราชการ รวมทั้งทำลายขวัญกำลังใจที่ได้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ไปมากน้อยก็ แล้วแต่บุคลิกและความคาดหวังของแต่ละคน
นักเรียนทุนในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ เขาก็อาจจะพอเข้าใจได้ว่า พื้นที่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความรุนแรง ให้เขาก่อนก็พอจะอธิบายได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ นักเรียนทุนที่เป็นรุ่นพี่และปฏิบัติงานจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังมีอีกมากที่ยังไม่ได้บรรจุ แต่กลับมีคนมาแซงคิวบรรจุ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม เพราะเขาก็ทำงานในพื้นที่เสี่ยง ทำงานมาก่อน รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขก็ปลอบใจมาตลอดว่าจะจัดการตำแหน่งข้าราชการให้เร็วที่สุด
ตารางข้างล่างนี้[1] แสดงจำนวนนักเรียนทุนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ที่ยังรอการบรรจุเป็นข้าราชการแยกตามปีที่จบการศึกษามาปฏิบัติงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว เพื่อรอการบรรจุเป็นข้าราชการ
นักเรียนทุนที่ยังรอบรรจุ
|
ปี พ.ศ.
|
รวม
|
|||||
2548
|
2549
|
2550
|
2551
|
2552
|
2553
|
||
จำนวน (ราย)
|
1
|
14
|
99
|
259
|
376
|
285
|
1,034
|
จากตารางจะเห็นได้ว่า มีนักเรียนทุนของกระทรวงสาธารณสุขเองอีกกว่า 1 พันคนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รอการบรรจุอยู่ นี่คืออีกความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่
และเนื่องจากสภาพการขาดแคลนกำลังคนในหลายวิชาชีพ แต่ละโรงพยาบาลและสถานีอนามัยก็มีการจ้างบุคลากรวิชาชีพสุขภาพที่ไม่ใช่นักเรียนทุน คือคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยด้วยทุนของตนเอง ไม่ได้มีทุนผูกพันกับกระทรวงสาธารณสุขมาปฏิบัติงานด้วย เช่น พยาบาล นักกายภาพบำบัด เภสัชกร นักวิชาการสาธารณสุข คนกลุ่มนี้มีจำนวนพอสมควรที่รอการบรรจุเป็นพนักงานราชการ จำนวน 255 คน ดังข้อมูลในตาราง
จังหวัด
|
จำนวนนักเรียนทุนทุกวิชาชีพที่ยังไม่ได้บรรจุ (ไม่รวมพยาบาล 3,000 คน) (คน)
|
จำนวนบุคลากรวิชาชีพสุขภาพที่ไม่ใช่นักเรียนทุน ที่ยังไม่ได้บรรจุ (คน)
|
รวมทั้ง 2 กลุ่ม
|
สงขลา
|
226
|
73
|
303
|
ปัตตานี
|
349
|
68
|
417
|
ยะลา
|
108
|
45
|
153
|
นราธิวาส
|
260
|
34
|
294
|
สตูล
|
91
|
35
|
126
|
รวม
|
1,034
|
255
|
1,289
|
อย่างไรก็ตาม หากคิดรวมวิชาชีพสุขภาพที่มีการจ้างในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มที่เป็นนักเรียนที่มีกว่า 1,034 คนที่ยังไม่บรรจุ และจำนวนวิชาชีพสุขภาพที่ไม่ใช่นักเรียนทุน แต่มีการจ้างเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลและสถานีอนามัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่บรรจุ คือรอการบรรจุเป็นพนักงานราชการ อีก 255 คน ดังนั้นทางราชการจึงควรต้องมีการจัดการตำแหน่งให้ได้อีก1,289 ตำแหน่งในระยะเวลาอันใกล้ ทั้งนี้ยังไม่รวมนักเรียนทุนในปี 2554 ที่กำลังจบออกมาปฏิบัติงานในพื้นที่อีกหลายร้อยคน
๐ พยาบาล 3,000 คน ความหวังและผลข้างเคียง
โครงการผลิตพยาบาล 3,000 คน เป็นโครงการฝ่ายพลเรือนที่ได้รับการกล่าวขานอย่างชื่นชมและเป็นที่รู้จักของชาวบ้านมากที่สุดโครงการหนึ่งของ ศอบต. ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลา 4 ปีแห่งความหวังของพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรของพยาบาลทั้ง 3,000 คน ที่จะมีลูกหลานทำหน้าที่เป็นพยาบาลในชุดสีขาวอยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านกำลังจะเป็นจริงแล้ว ความหวังสีขาวกำลังสว่างไสวอย่างภาคภูมิใจ
ในท่ามกลางความดีใจของคนกลุ่มหนึ่ง คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นพยาบาลนักเรียนทุนรุ่นพี่และรุ่นเดียวกันที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ 3,000 คนนี้ และนักเรียนทุนวิชาชีพอื่น รวมทั้งบุคลากรวิชาชีพอื่นๆ ที่เป็นลูกจ้างอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่ใช่นักเรียนทุน ซึ่งทุกคนล้วนมีความหวังในการได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการหรือพนักงานราชการในเร็ววัน แต่ความหวังนั้นยังต้องรอต่อไป และรอต่อไปอย่างอดทน ซ่อนเอาความรู้สึกไม่เป็นธรรมไว้ นี่เป็นผลข้างเคียงสีหม่นที่กำลังระอุอยู่ในพื้นที่ แต่กระนั้นด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพก็ต้องมุ่งทำงานทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต่อไปอย่างเต็มความสามารถ
การแก้ปัญหากำลังคนภาคสาธารณสุขของรัฐบาลด้วยนโยบาย zero growth ที่ทาง กพ.ได้ยึดถืออย่างเข้มงวดนั้น ได้สร้างปัญหามากมาย การทำงานด้านสุขภาพไม่สามารถใช้เครื่อง ATM แทนได้เหมือนการทำงานของธนาคาร ประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น นโยบายเร่งรัดงานมากมายมากขึ้น แต่กลับไม่ให้คนเพิ่ม จำกัดจำนวนข้าราชการ อีกทั้งสำนักงบประมาณก็ยังดำเนินการตัดงบรายหัวหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ขอไป ตัดแล้วตัดอีก แม้จะไม่มีตำแหน่งข้าราชการให้ แต่หากมีงบมากพอที่จะจ้างเขาในราคาตลาดหรือในราคาที่จูงใจให้อยู่ในชนบทในพื้นที่เสี่ยงภัยก็พอจะจัดการปัญหาได้ แต่นี่ตำแหน่งราชการก็ไม่ให้ เงินงบประมาณก็น้อยนิด เช่นนี้แล้วจะให้ภาคสาธารณสุขบริการประชาชนได้อย่างประทับใจและตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร
บทเรียนการจัดการตำแหน่งของพยาบาล 3,000 คนนี้ สะท้อนปัญหากำลังในระบบสุขภาพ ที่อาจต้องมีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ด้วยวิธีคิดนอกกรอบ การใช้วิธีคิดแบบการจ้างเหมาเอกชนให้ทำหน้าที่แทน ซึ่งเหมาะกับสังคมเมืองแต่ไม่ลงตัวในสังคมชนบท หรืออาจคิดแก้ปัญหาแบบขอออกจากระบบการดูแลกำลังคนของ กพ. แยกตัวออกไปเป็น กสธ.หรือคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข ก็เป็นโจทย์ใหญ่ในระบบกำลังคนด้านสุขภาพที่ต้องให้ความสำคัญในการขบคิดต่อไป
[1] ข้อมูลจาก website ของกระทรวงสาธารณสุข http://hr.moph.go.th/person/indexhome.htm ณ กุมภาพันธ์ 2554