Skip to main content

คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
Working Group on Justice for Peace

 

แถลงการณ์สามปีตากใบ 
นักต่อสู้ความเป็นธรรมตากใบตกเป็นเป้า
คดีไต่สวนการตายล้าช้า กระบวนการยุติธรรมนิ่งเฉย

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ในเวลาประมาณ 12.00 น. นายมะยูโซ๊ะ สามีของ นางแยนะ สะแลแม ถูกยิงเสียชีวิตในร้านน้ำชาไม่ไกลจากบ้านพักต่อหน้าคนในชุมชน ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส นายมะยูโซ๊ะเป็นชาวบ้านที่ไม่มีบทบาทใดๆ ต่อสาธารณะมากนัก แต่นางแยนะ สะแลแม เป็นหญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้รับจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2550 มีบทบาทโดดเด่นในการเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีตากใบ เมื่อนายมะยูโซ๊ะสามีของนางแยนะมาถูกลอบสังหารในช่วงเวลาที่กำลังจะครบรอบสามปีในกรณีเหตุการณ์ตากใบวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าการสังหารนายมะยูโซะ ผู้สังหารมีเจตนาที่จะคุกคามการทำงานของนางแยนะผู้เป็นภรรยาที่เป็นผู้นำในการเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีตากใบ    

ในระยะเวลาสองเดือนก่อนการเสียชีวิตของนายมะยูโซ๊ะมีข่าวลือในพื้นที่ว่าจะมีการปฏิบัติการต่อเหยื่อกรณีตากใบและผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีอันเกี่ยวกับการประท้วงที่ตากใบหน้าสภอ.ตากใบ หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จนกระทั่งปัจจุบันอย่างน้อยอดีตผู้ต้องหาคดีตากใบถูกยิงเสียชีวิตแล้วอย่างน้อยสองราย  โดยเจ้าหน้าที่ยังไม่มีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษแต่อย่างใด   และมีชาวบ้านอีกอย่างน้อย 7 รายเสียชีวิตด้วยเหตุการณ์ที่น่าสงสัยด้วยพฤติการณ์ที่คล้าย ๆ กัน  จนเป็นข่าวลือว่าเป็นการคุกคามชาวบ้านที่มีส่วนในการประท้วงที่ตากใบเมื่อสามปีก่อน

ในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ประชาชน  ผู้ชุมนุมประท้วงเองและกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยน ได้พยายามแสวงหาความจริงเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ที่มีผู้ชุมนุมประท้วงการจับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังเข้าสลายและจับกุมผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตกว่า 85 คน เพื่อแสวงหาความยุติธรรม ผู้ชุมนุมและญาติได้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นคดีแพ่งทั้งหมด 3 คดี เพื่อเรียกร้องให้รัฐรับชดใช้ค่าเสียหายต่อประชาชนที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ  ต่อมาได้มีการประนีประนอมยอมความกันโดยรัฐยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในคดีเป็นเงินจำนวนหนึ่งที่จะจัดให้มีการรับเงินกันในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.  2550 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส

สำหรับคดีอาญาที่อัยการฟ้องผู้ชุมนุมนั้นเมื่อปลายปี 2549 ได้มีการถอนฟ้องคดีโดยให้เหตุผลว่าการดำเนินคดีต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและจะทำให้เกิดการแบ่งแยกแตกต่างกันมากขึ้น แต่ปัจจุบันนี้ยังมีการดำเนินการอยู่ในชั้นศาลเป็นคดีไต่สวนการตายซึ่งจะพิจารณาว่าใครเป็นผู้เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวและขนย้ายโดยเจ้าหน้าที่ทหารในเย็นวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ศาลจะพิจารณาว่าสาเหตุการเสียชีวิตของชาวบ้านกว่า 78 คนนั้นเกิดได้อย่างไรและใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต

คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพขอร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547   และขอเรียกร้องต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในวาระครบรอบสามปีเหตุการณ์ตากใบดังนี้

1.ขอให้มีสืบสวนสอบสวนถึงการลอบยิงนาย นายมะยูโซ๊ะ สามีของนางยะนะ สะแลแม ผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกรณีตากใบ เพื่อให้ชาวบ้านตากใบตกอยู่ในความหวั่นวิตก ได้รับทราบถึงสาเหตุการลอบสังหารและหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

2. ขอให้เร่งดำเนินการตามกรอบของกระบวนการยุติธรรมในคดีไต่ส่วนการตาย ที่ญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าไปเป็นผู้ร้องเข้าไปในคดีด้วย  ขณะคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานฝ่ายญาติผู้ร้อง     คดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีสำคัญที่สังคมจะทราบตามหลักกระบวนการยุติธรรมว่าประชาชนจำนวน 78 คนนั้น  เสียชีวิตด้วยเหตุใด ใครเป็นผู้ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมากขณะขนย้าย  และเจ้าหน้าที่ที่จะต้องมีหน้าที่นำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ความยุติธรรมเป็นไปโดยเสมอภาคเท่าเทียมกันและโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อกระบวนการยุติธรรม 

เพราะคดีไต่สวนการตายนี้ นอกจากเป็นที่สนใจของนานาชาติ และประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังเป็นปมเงื่อนสำคัญต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

- คลิกเพื่อดาวน์โหลดแถลงการณ์