อารีด้า สาเม๊าะ
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ทางสำนักงานการศึกษาเอกชน อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้จัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติ “คอตัมอัลกุรอานิลการีม” ครั้งที่ 1 ปี 2554 ณ หอประชุมอำเภอหนองจิก ลดช่องว่างระหว่างรัฐ-ประชาชนในพื้นที่ ยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ฟื้นฟูจารีตที่เข้มแข็ง เพื่อฟื้นฟูสังคมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้ให้เข้มแข็งและเยาวชนให้มีจิตสำนึก
พิธีเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาร่วมพิธี เด็กๆที่กำลังรอเข้าพิธีนั้นจะได้รับคำภีร์หนึ่งเล่มเพื่อรอประกอบพิธี และเมื่อเวลาอันเป็นสมควรนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เดินขบวนพร้อมคณะต้อนรับที่แต่งกายในชุดมุสลิมอาหรับ พร้อมกับสรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺและศาสดามุฮัมมัดดังกระหึ่มตลิดขบวน มุ่งหน้ามายังอาคารที่ประกอบพิธี ผ่านเยาวชนทั้งสี่ร้อยกว่าชีวิตที่นั่งอย่างเรียบร้อยใต้อาคาร และท่านผู้ว่าฯเปิดพิธีในงาน
ใกล้เวลาเที่ยงเป็นช่วงที่เริ่มพิธีคอตัมตามวิถีทางศาสนา คือโต๊ะครูหรือผู้สอนอัลกุรอานอวุโส อ่านนำในซูเราะห์หรือบทอัลกุรอานในเล่มเล็ก และเด็กอ่านตามจนจบ และมีการอ่านดุอา เพื่อเป็นการขอพนต่อพนะองค์อัลลอฮฺแก่ตัวเด็กซึ่งผู้ใหญ่จะเชื่อถือว่าการที่มีโต๊ะครูที่อวุโสมาสวดขอพรให้เด็กจะมีความบารอกัตหรือความศรัทสิทธิ์
พิธีคอตัม เป็นวิถีปฏิบัติของคนสามจังหวัดชายแดนใต้มายาวนาน เนื่องเป็นพื้นที่ที่มีความเกี่ยวพันกับคัมภีร์และคำสอนจากอัลกุรอานอย่างเข้มแข็ง ในพื้นที่มีแหล่งเรียนรู้อัลกุรอานมากมาย ตั้งแต่เรียนกับผู้ปกครอง คนสอนข้างบ้าน มัสยิด ตาดีกา ปอเนาะและสถาบันสอนกีรออาตีซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนอัลกุรอานแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซีย ด้วยความที่เริ่มเรียนตั้งแต่วัยที่มีความสามารถในการจดจำสูงอย่างวัยเด็ก จึงทำให้คนสามจังหวัดเติบโตมาด้วยเสียงอัลกุรอานและผูกพันธ์เป็นอย่างมาก แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้วิถีเหล่านี้ถูกกลืนหายด้วย ปัญหาสังคมที่ไม่เคยปรากฏในพื้นที่เริ่มส่อแววรุนแรงมากขึ้นเมื่อคนที่นี่เริ่มไม่รู้จักที่จะเรียนรู้สิ่งที่สามารถควบคุมปัญหาเหล่านั้นให้เกิดเลย
นายนิฟูอัด บาสาลาฮา นักวิชาการอิสลามศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชน อำเภอหนองจิก เสนอโครงการนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้วันนี้นั้น ทำให้เยาวชนในพื้นที่อ่อนแอลง ผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญและไม่ส่งเสริมกิจกรรมด้านศาสนา สิ่งที่เราได้เห็นชัดเจน ในวันนี้เมื่อลูกเรียนจบระดับปริญญาตรี พ่อแม่จะเห็นความสำคัญอย่างมาก ยอมเสียเงินเสียทรัพสินอย่างมากนะครับ แต่เมื่อลูกหลานเรียนอัลกุรอานจบเล่มกลับไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก เราจึงจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อฟื้นฟู วัฒนธรรมของชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
“เริ่มเรียนอัลกุรอานตั้งแต่อายุห้าขวบค่ะ เรียนกับบาบอข้างบ้าน อัลกุรอานเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตหนูมาก เพราะเมื่อได้เปิดอ่านสักพัก ความสับสนวุ่นวายในหัวก็จะคลายลง ความเครียดก็จะคลายลง” นางสาวอาซีซะห์ มาตัคสา นักเรียนโรงเรียนศาสน์สามัคคีได้พูดคุยกับเราก่อนพิธีจะมีขึ้น และยังเผยอีกว่าการที่มีการจัดพิธีคอตัมใหญ่ขนาดนี้ตนรู้สึกเป็นเกียรติมาก เพราะเป็นครั้งแรกตั้งแต่เรียนจบมาสองปี
“แรกๆรู้สึกเหมือนถูกบังคับถูกเข็ญยากไงครับตอนแรก เริ่มจากสะกดทีละคำจนเริ่มคล่องก็รู้สึกว่าอ่านได้ และอ่านคล่อง รู้สึกง่ายและรู้สึกชอบ เวลาที่อ่านอัลกุรอานรู้สึกโปร่ง เมื่อมีปัญหาแล้วอ่านอัลกุรอานจะทำให้ดีขึ้น อิทพลอย่างมาก”
“สำหรับงานในวันนี้เป็นวันที่ยิ่งใหญ่อีกวันเลยครับ เพราะทำให้เห็นคุณค่าของอัลกุรอาน ยิ่งทุกวันนี้เยาวชนในพื้นที่ของเราได้ละเลยในส่วนนี้นะครับ เพราะส่วนใหญ่ได้นิยมตามวัฒนธรรมของชาติตะวันตก ทำให้อัลกุรอานในวันนี้ เยาวชนให้คุณค่าน้อยนัก ถ้าเยาวชนของเราในวันนี้ไม่สนใจอัลกุรอาน ในวันข้างหน้าสังคมมุสลิมจะเสื่อมเสียไปมากกว่านี้ครับ” เสียงของนายอับดุลซอมะ เย็มมัน นักเรียนโรงเรียนศาสน์สามัคคี อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนวันนี้คิดเห็นอย่างไรกับอัลกุรอาน
“กิจกรรมในวันนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน กับภาคประชาชนให้เกิดขึ้น เราพยายามทำให้เห็นว่าภาครัฐพร้อมที่ทำงานร่วมกับประชาชนและภาคเอกชน อีกอย่างเราเข้าถึง เพราะเราเข้าใจ เราพยายามส่งเสริมสิ่งที่เขาทำอยู่ เราไม่ได้เปลี่ยนบริบทอะไรของเขา ในขณะเดียวกันเราก็พยายามพัฒนา โดยการอัพเขาขึ้นมา โดยการพยายามปรับในสิ่งที่เขามีอยู่ให้เข้าสู่มาตรฐาน ให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปด้วย” นายซานูซี ผอ.สช.หนองจิกกล่าว
วันนี้ สังคมบ้านเราต้องเริ่มเอาจริงกับการส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาให้ชัด รัฐเองต้องเป็นคนเริ่มต้น ไม่จำเป็นต้องหาสิ่งมใหม่มาเพิ่มเติมเสริมแต่ง แค่นำจุดแข็งในพื้นที่ที่เริ่มอ่อนแอลงมาเสริมสร้างให้เข้มแข็งอย่างที่ควรเป็น โดยเฉพาะอัลกุรอานนั้นเป็นรัฐธรรมนูญหลักที่กำหนดวิถีชีวิตคนสามจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นจุดแข็งของคนที่นี่ เยาวชนมีคลุกคลีกับการอ่านอัลกุรอานและคำสอนตั้งแต่เกิด และกิจวัตรประจำวันของคนสามจังหวัดอ้างอิงหลักการในคัมภีร์ตลอดเวลา การส่งเสริมให้จุดแข็งที่คนที่นี่เชื่อถือและศรัทธา จะสามารถเรียกคืนความเข้มแข็งของสังคมที่มีความเฉพาะอย่าง “มลายู มุสลิม ปัตตานี”กลับคืนมาได้ อย่างเข้าใจ เข้าถึง ไม่สร้างปัญหา.