ผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ การเผาโรงเรียน ทำร้ายครู ส่งผลต่อการเรียนการสอนของเด็ก โรงเรียนต้องหยุดเรียนอย่างต่อเนื่อง การเรียนการสอนเป็นไปอย่างล่าช้า กลุ่มบูหงารายาพุดโครงการศูนย์วิชาการแด่น้องผู้ได้รับผลกระทบ กิจกรรมการสอนเสริมวิชาการสายสามัญแต่ใช้พื้นที่ตาดีกา
เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2547 ทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เรื่อยมา โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านการเรียนการสอน เด็ก เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เห็นได้ชัดคือการลอบเผาโรงเรียน ครูและเด็กมีความหวาดระแวงในการที่จะไปโรงเรียน ในขณะที่ผู้ปกครองไม่กล้าให้บุตรไปโรงเรียน ทำให้เด็กไม่สามารถเล่าเรียนได้อย่างเต็มที่ บางพื้นที่โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนสายและเลิกเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างล่าช้า บางเนื้อหาไม่ได้เรียน การเรียนการสอนเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ นับว่าการศึกษาเป็นปัญหาหนึ่งของเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของเด็กนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตกไปอยู่อันดับท้ายของประเทศ
ไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเท่านั้น ความรุนแรงยังส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์ของเด็กนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่อีกด้วย สถิติจากศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 12 สรุปข้อมูล นักเรียน/นักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ถึง วันที่ 24 ตุลาคม 2553 สรุปว่า นักเรียน นักศึกษา เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บ 162 คน
ทำให้ นางสาวต่วนซอบารียะห์ ลาเตะ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสิทธิเด็กและสตรี กลุ่มบูหงารายา(Bungaraya Group) ประธานโครงการศูนย์วิชาการแด่น้องผู้ได้รับผลกระทบ เริ่มขับเคลื่อนประเด็นการศึกษาโดยการทำกิจกรรมกับเด็กในระดับประถม กล่าวถึงเหตุผลและจุดประสงค์ของโครงการนี้ว่า เพราะว่าเด็กในปัจจุบันไมได้รับการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพเหมือนเด็กในเมือง เราจะสังเกตเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ซึ่งอยู่ในอันดับต่ำที่สุดของประเทศ จุดประสงค์หลักของศูนย์วิชาการแด่น้องผู้สูญเสีย เป็นการส่งเสริมศักยภาพด้านการศึกษา อนุรักษ์ส่งเสริมทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง ลดเงื่อนไขความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นภายในใจของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กมีเวทีทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างเด็กและสตรีในพื้นที่รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่ สามารถทำให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองและสังคม สร้างความเข้าใจอันดี เพื่อนำไปสู่สังคมสันติสุข มีความเคารพและเชื่อมั่นในวิถีของชุมชน
ศูนย์วิชาการฯ เป็นการรวมกลุ่มของเด็กที่ได้รับผลกระทบมาเพิ่มทักษะในการเรียนรู้ เนื่องจากการเรียนการสอนในโรงเรียนในช่วงเวลาปกติไม่เพียงพอ โดยมีเป้าหมายให้เด็กในพื้นที่มีความรู้ ให้สามารถสร้างคนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ มีคุณภาพ กิจกรรมภายใต้โครงการนี้มีการเรียนการสอนเสริมในวิชาสามัญ คือ คณิตศาสตร์ อังกฤษ วิทยาศาสตร์ โดยจะใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในการทำการเรียนการสอน ซึ่งใช้ศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด หรือ TADIKA ตาดีกา เป็นที่เรียน ดำเนินการเรียนการสอนทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 16.00 - 17.30 น ระยะเวลา 6 เดือน และดำเนินโครงการนี้ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บ้านแหร่ อ.ธารโต จ.ยะลา และบ้านคอลอกาปะ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี
ต่วนซอบารียะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนและหลังการเรียนการสอนจะทดสอบนักเรียนเพื่อประเมินระดับสติปัญญาและจัดแผนการสอนให้เหมาะสมกับเด็ก โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กแต่ละคน เด็กเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่า การศึกษาที่ดีย่อมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก การที่จะให้เด็กเป็นผู้ที่มีความคิด ความรู้ ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องจัดหาปัจจัยต่างๆ ที่เอื้ออำนวยที่จะส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสม เป็นระบบ และเกิดความยั่งยืนทางความคิด
ในดำเนินโครงการนี้เรายังได้มีการรับฟังข้อเสนอแนะจากชาวบ้านในพื้นที่ใน 2 พื้นที่เป้าหมายอีกด้วย โดยการจัดเวทีเสวนาชุมชน ซึ่งมีตัวแทนชาวบ้าน ผู้รู้ในศาสนา ผู้นำท้องถิ่น นับว่าเป็นคนในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพูดคุย การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชุมชน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการปฏิบัติจริง ตัวอย่าง ของการแก้ปัญหาในชุมชนบ้านคอลอกาปะ ที่มีผู้ปกครองของเด็กนักเรียนคนหนึ่งลุกขึ้นมาพูดว่าอยากให้ทางตาดีกา มีมาตรการและระเบียบที่ชัดเจนในการเข้าแถวและเข้าเรียนในตอนเช้า เพราะว่าเด็กจะมาสายเนื่องจากติดละครจักรๆวงศ์ๆ และครูผู้สอนเองก็จะมาสายเช่นเดียวกัน จากเหตุการณ์ทำให้เกิดการพูดคุยกันเองของสมาชิกในชุมชนก่อให้เกิดการระเบียบที่มีความชัดเจนและนำไปปฏิบัติได้จริงหลังจากนั้น
ต่วน ได้เล่ากิจกรรมที่ได้ทำกับกลุ่มเด็กๆว่า เรามีเวทีกิจกรรมสร้างสรรค์ในโครงการที่เรียกว่า “อัจฉริยะ เด็กกล้าคิด” นอกจากความรู้ด้านวิชาการแล้วเด็กๆ ควรที่จะมีเวทีในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วย อย่างเช่น การนำเอาวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กได้คิด ออกแบบ จินตนาการอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นการนำทรัพยากรที่ไม่ใช้แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ก่อนนำไปกำจัด เป็นการประยุกต์ความคิดได้อย่างสร้างสรรค์ เวทีนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวนี้ด้วย
เราสังเกตเห็นว่าเด็กในพื้นที่ชอบกิจกรรมที่เราลงไปทำ และครูผู้สอนก็มีความพอใจกับหลักสูตรที่ได้นำเข้าไป ให้เป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการได้ ทำให้เด็กชอบที่จะมาเรียนตาดีกามากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการเรียนวิชาสามัญก็ตาม เนื่องจากภาษาที่ใช้เป็นภาษามลายู ตัวเด็กเองก็มีความคุ้นเคยกับครูผู้สอนตาดีกามากกว่าโรงเรียนของรัฐอยู่แล้ว
การเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กกระตือรือร้นในช่วงตอนเย็น แทนที่จะดูโทรทัศน์ ทำให้เด็กมีเวลาทำในสิ่งที่มีประโยชน์ ทำให้เด็กรู้หน้าที่ของตัวเอง จากการประเมินการเรียนการสอนทำให้รู้ว่าเด็กมีความคิด และคุณลักษณะด้านการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
ผู้ปกครอง มีความเอาใจใส่เด็กเพิ่มมากขึ้น มีการสอบถามเกี่ยวกับการเรียนของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เราเห็นความร่วมมือของชุมชน เหมือนกับกิจกรรมที่ทำ “อัจฉริยะเด็กกล้าคิด” ซึ่งเป็นกิจกรรที่เสริมสร้างให้เด็กรู้จักคิด โดยนำเอาสิ่งรอบตัวมาประดิษฐ์ ซึ่งมีชาวบ้านออกมาดูผลงานที่เด็กประดิษฐ์ เราเห็นการตอบรับจากชาวบ้าน มีความเชื่อใจเรามากขึ้นจากเนื้องานที่เราได้ลงไปทำในพื้นที่
โครงการศูนย์วิชาการแด่น้องผู้ได้รับผลกระทบ ทางกลุ่มบุหงารายาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI) เป็นโครงการที่ทำภายในระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือน ต.ค. 53 – เม.ย. 54
ต่วน ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการได้รับความร่วมมือว่า ปัจจุบันโครงการนี้ได้รับความช่วยเหลืออนุเคราะห์ จาก บริษัท ห้างร้าน และบุคคลที่ให้ความสนใจในโครงการทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น สมุดและนมกล่อง จากไวตามิ้ลค์ เสื้อ จากระทิงแดง ปากกา ดินสอที่ใช้แล้ว กระเป๋า สี หนังสือ ตามที่อยู่ของสำนักงาน/ศูนย์ประสานงาน กลุ่มบูหงารายา 76/7 ถนนหนองจิก ซอย 8 ตำบลสะบารัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
และยังได้รับเงินในจำนวนไม่น้อยสำหรับกิจกรรมนี้ โดยโอนผ่านเข้าบัญชี “พัฒนาการศึกษาเพื่อเด็กและชุมชน จังหวัดชายแดนใต้" เลขที่บัญชี 763-0-11265-3 ธนาคารกรุงไทย สาขาบิ๊กซี ปัตตานี