Skip to main content

สมัชชา นิลปัทม์
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 

          ใน "เวทีบทความและงานวิจัยด้านสันติศึกษา" ของ มหกรรมสันติวิธี ครั้งที่ 2 ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา การนำเสนอบทความเรื่อง "สันติวิธีในงานเยียวยา : มุมมองจากผู้หญิงทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย อาจารย์อลิสา หาสาเมาะ แห่งแผนกพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปัตตานี) ได้กล่าวถึงการเยียวยาที่น่าสนใจคือ "การโอบกอดเพื่อการเยียวยา"

 

           อลิสาได้นำเสนอผ่านบทบาทของผู้หญิง 2 สองคนที่มีบทบาทในการทำงานด้านเยียวยาในพื้นที่ คือ ลม้าย มานะการ' เอ็นจีโอ ซึ่งทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานในพื้นที่ และ โซรยา จามจุรี' นักวิชาการศึกษา แห่ง มอ.ปัตตานี ที่ต้องหันมาจับงานด้านการเยียวยาึ่งไม่ใช่เรื่องที่ตนเคยคุ้นเคย ประเด็นสำคัญที่ถูกถอดบทเรียนออกมาจากทั้งสองคนพบว่า การสื่อสารด้วยภาษากายอย่างการ กอด' มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ยังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้        
 

 

          ในบทความระบุว่า ทั้ง ลม้าย' และ โซรยา' ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการเยียวยามาก่อน และมีคุณสมบัติพื้นฐานที่แตกต่างกัน นั่นคือ ลม้าย' นับถือศาสนาพุทธและพูดภาษามลายูถิ่นไม่ได้เลย ส่วน โซรายา' นับถือศาสนาอิสลามและสามารถพูดภาษามลายูถิ่นได้

ขณะที่ ลม้าย' ใช้ฐานการทำงานเยียวยาจากการทำงานด้านการพัฒนาเกี่ยวกับสิ่งแวด ล้อมมาเกือบ 16 ปี แต่ โซรยา' มีฐานการทำงานอีกแบบ แต่ทั้งสองคนกลับใช้คุณสมบัติพื้นฐานที่แตกต่างกันนี้เอง ประสานและร่วมมือ เสริมจุดแข็งปรับปรุงจุดอ่อนของซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายคือ ความทุกข์' ความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิงและเด็กที่กำลังตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตและอยู่รอดให้ได้ระหว่าง เขาควาย' นั้นคือระหว่างกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ก่อให้เกิดความไม่สงบและนโยบายของรัฐที่การเน้นการปราบปราบและควบคุมเพื่อให้สถานการณ์ความไม่สงบยุติ

          การลงพื้นที่เพื่อเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งสองคนได้เห็นความเป็นไปจากประสบ การณ์จริงที่เป็นแหล่งข้อมูลจากฐานรากและกลับพบว่า ภาษากายง่ายๆ ที่ติดตัวเรามา อย่างการ กอด' นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ใกล้ชิดเหยื่อผู้ได้รับความรุนแรง

          สิ่งที่ ลม้าย' เรียกว่า โอบกอดสีชมพู' คือ นิยามของการเยียวยาจากความเป็นผู้หญิงอันสำคัญที่เธอได้สัมผัสและรับรู้มาว่า การโอบกอดทำให้สามารถเข้าถึงตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าคนทำงานเยียวยาที่เป็นผู้ชาย เพราะการใช้การสัมผัสและการโอบกอดเพื่อให้กำลังใจนี้เป็นสิ่งที่ผู้ชายทำไม่ได้ อีกทั้งการที่เป็นผู้หญิงที่ต่างศาสนาแตกต่างทำให้ พี่ม้าย' สามารถโอบกอดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

นอกจากนี้การที่เธอนับถือศาสนาที่แตกต่าง ทำให้ผู้ชายมุสลิมในชุมชนยอมรับการทำงานของเธอมากกว่าผู้หญิงที่นับถือศาสนาเดียวกันและไม่ถูกกีดกัน อย่างไรก็ตามลักษณะของการปฏิบัติตัวในเชิงวัฒนธรรมจะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก เช่น หากชาวบ้านต้องการสลาม เธอก็จะสลาม เมื่อชาวบ้านต้องการยกมือไหว้ ก็จะไหว้ตอบ โดยปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันเมื่อทำงานเยียวยามากขึ้น พบชาวบ้านมากขึ้น ชาวบ้านก็จะให้ สลามมากขึ้น แต่ที่สำคัญเหนือความเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย หรือ ความเป็นคนต่างศาสนา คือจะต้องประกอบไปด้วยความสามารถในการทำงาน บุคลิกภาพเฉพาะส่วนบุคคลและการมีฐานในการทำงานชุมชนมายาวนาน

สิ่งที่สำคัญอันหนึ่งที่จะละเลยเสียไม่ได้ของความเป็นผู้หญิงที่ทำงานเยียวยาในทัศนะของ ลม้าย' ก็คือจะต้องให้เกียรติผู้ชาย โดยเฉพาะในสังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งเธอยกย่องบทบาทของผู้ชายบางเรื่องที่ผู้ชายสามารถทำได้ดีกว่า เช่น การมีสติท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต เป็นต้น

          ขณะที่ โซรยา' นั้นถือว่า การโอบกอด' คือ เทคนิคการทำงานเยียวยาที่การเรียนรู้มาจากคุณโสภณ สุภาพงษ์ อดีต สว.กทม. นอกเหนือจากการเข้าไปเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอและใช้ความจริงใจเป็นหลัก ซึ่งแต่เดิมทีไม่รู้สึกว่า การโอบกอดผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างไร แต่เมื่อหลังจากได้มาทำงานเยียวยาและเยี่ยมเยียนผู้ที่ได้รับผลกระทบ จึงเริ่มเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบรู้สึกดีและมีกำลังใจขึ้น

เธอแจงประสบการณ์ให้ฟังว่า หากผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นพุทธ ก็จะมีความรู้สึกโกรธเกลียดมุสลิม ส่วนหากผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นมุสลิมก็จะมีความรู้สึกโกรธเกลียดเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นเธอจะพยายามเข้าไปเยี่ยมเยียนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เป็นพุทธด้วย ถึงแม้ว่าในหลายกรณีจะมีอุปสรรคเรื่องให้ความยอมรับและไม่สามารถเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เป็นพุทธก็ตามและในส่วนนี้เองเธอก็จะมอบบทบาทในการเยียวยาให้กับ ลม้าย' และปรับบทบาทของการเยียวยาในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนการศึกษา ที่มอบให้กับทั้งครอบครัวพุทธและมุสลิม

อย่างไรก็ดีเธอก็ได้ใช้ความพยายามและความจริงใจเป็นหลัก เช่น กรณีของ ยายเคลื่อน' ปราชญ์ชาวบ้านไทยพุทธที่สูญเสียลูกชายหลังจากไปส่งยายเคลื่อนขึ้นรถประจำทางเพื่อไปขายผักและต่อมาสามีถูกฆ่าตัดศรีษะและเผาบ้าน เมื่อได้เข้าไปสวมกอดก็พบว่า ยายเคลื่อนรู้สึกดี และมีท่าทีตอบสนองไปในทางบวกมากขึ้น

การทำงานเยียวยาในความหมายของของผู้หญิงทั้งสองคนนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้ความหมายของเยียวยาไว้ 2 ระดับ ในระดับแรกคือ งานที่ทำเพื่อให้คนที่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจคลายความทุกข์ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และในระดับที่สอง คือ การลดความขมขื่น ความรู้สึกอยากตอบโต้แก้แค้นที่เกิดขึ้นในภายหลังจากสูญเสียบุคคลใกล้ชิดไป อุปมาการทำงานเยียวยาว่าคล้ายดั่งงานกู้ทุ่นระเบิด ที่จะทำให้ระเบิดที่กู้ขึ้นมานั้น "ด้าน" ซึ่งผู้หญิงทั้งสองคนนี้เห็นว่า ณ ปัจจุบันมีอยู่จนเกือบเต็มพื้นที่ เพียงแต่กำลังเฝ้ารอเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปะทุขึ้นมาในอนาคตเท่านั้น

อสิสายังได้สรุปว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ก็คือผลจากความรุนแรงที่มีอยู่ในอดีต แต่ไม่เคยได้รับการเยียวยาและถูกปล่อยปละละเลยมาตลอด หากพิจารณาตัวเลขของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ก็ดูเหมือนว่าทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด รวมทั้งบรรยากาศที่มีแต่ความหวาดกลัว ทำให้ผู้คนถูกปล่อยร้างให้โดดเดี่ยวและถูกตัดขาดความสัมพันธ์จากสังคมรอบข้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้นบทบาทของผู้หญิงที่ทำงานด้านเยียวยา อีกนัยหนึ่ง ก็คือ งานสร้างเพื่อน เพื่อไม่ไห้เกิดความรู้สึกว่าตนเองต้องถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว ด้วยการกระโจนเข้าไป รับรู้ รับฟังปัญหาและไม่ปล่อยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องเผชิญกับความทุกข์อยู่เพียงลำพัง เพราะอย่างน้อยการเปิดโอกาสให้เพื่อนได้มีที่ระบายความทุกข์ และเพียงการมีใครสักคนที่อยู่เคียงข้าง สัมผัส - โอบกอด คอยให้คำปรึกษา หาช่องทาง แนะทางออก และแสดงให้เห็นว่ายังไม่ถึงทางตัน จะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเกิดความรู้สึก "หนักแน่น" และ "สภาวะสันติขึ้นภายใน "จิตใจ" นอกจากนี้ยังจะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบรู้สึกว่า ในสังคมนี้ยังมีคนดี ๆ ที่พร้อมจะคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ แม้จะเป็นบางคนที่ไม่เคยได้รู้จักหน้าค่าตากันมาก่อนเลยก็ตาม

การสัมผัสร่างกายกัน เช่น การกอด การบีบมือ การนวด จึงเป็นภาษาของการเยียวยาอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบ สามารถระบายความทุกข์ออกมาได้ แต่ก็ต้องอาศัยความไว้วางใจสูง ด้วยตัวตนและความเป็นเพศหญิง ทำให้ผู้หญิงสามารถใช้สัมผัสกันและการโอบกอดกันได้ง่ายและจากประเด็นนี้เองจึงทำให้เธอทั้งสองมองว่า งานเยียวยาผู้หญิงน่าจะทำได้ดีกว่า ขณะที่การโอบกอดและสัมผัสนี้อาจกลายเป็นข้อจำกัดของผู้ชายเพราะวัฒนธรรมของพื้นที่ๆ การสัมผัสระหว่างเพศโดยเฉพาะมุสลิมไม่สามารถกระทำได้และเมื่อผู้ที่ได้ผลกระทบส่วนใหญ่มักจะเหลือแต่เด็กและผู้หญิง แต่เมื่อได้สวมกอดและกัน พลังจากทั้งผู้สูญเสียและผู้เยียวยาเหมือนได้ไหลเวียนถ่ายเทระหว่างกัน ช่วยให้ฟื้นฟูพลังงานชีวิตให้กลับคืนอีกครั้ง 

มีตัวอย่างในกรณีของคอลีเยาะ' ที่ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อบุคคลในครอบครัวเสียชีวิต ก็เกิดความรู้สึกอยากแก้แค้น แต่เมื่อได้มาเจอคนทำงานเยียวยา มีการปลอบประโลม และดูแลทางด้านจิตใจ ก็ทำให้ความรู้สึกอยากแก้แค้นเริ่มจางหายไป จากก่อนหน้านี้ที่รู้สึกว่าตนเองตกเป็น "ผู้ถูกกระทำ" จนนำไปสู่การมีทัศนะคติที่มองโลกในแง่ร้ายว่า โลกนี้ช่างดูโหดร้าย ทารุณและไม่มีเหตุผล เกิดความรู้สึกโกรธเกลียดและนำไปสู่ความรู้สึกอยากแก้แค้น แต่ทว่าการเยียวยาที่เริ่มจากการเข้าไปเยี่ยมเยียน เป็นการแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยยังมีกลุ่มในสังคมที่ไม่ได้เห็นด้วยกับผู้ก่อการที่กระทำความรุนแรงไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม ได้เปิดมุมในการมองโลกเสียใหม่ว่า สถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีแต่แง่ร้ายเสมอ อย่างน้อยเป็นการแบ่งปันความรู้สึกให้ผู้ถูกกระทำที่ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย รับรู้ถึงความเอื้ออาทรของผู้มาเยี่ยมเยียน จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่หันเหไปในทิศทางที่ปฏิเสธความสงบและสันติ

รายงานดังกล่าวได้วิเคราะห์ของจุดแข็งของการเป็น ผู้หญิง' ที่ทำงานด้านการเยียวยาว่าวิธีการอย่างง่ายที่สุดเริ่มจากการไปเยี่ยมเยียน เพื่อแสดงให้เห็นว่ายังมีกลุ่มในสังคมที่ไม่ได้เห็นด้วยกับผู้ก่อการที่กระทำความรุนแรง การที่ผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จึงทำให้ผู้ที่เหลืออยู่คือ เด็กและผู้หญิง' ดังนั้นผู้หญิงที่เข้ามาทำงานเยียวยาจึงใช้ฐานการปฏิบัติการภาคสนามที่ออกมาจากความรู้สึกของความเป็นเพศแม่ที่จะเข้าถึงความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า

อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพราะสำหรับผู้ชายบางคนในสายตาของผู้หญิงทำงานสองคนนี้ ก็มีความเป็นเพศแม่อยู่ในตัวและพร้อมที่จะแสดงความอ่อนโยนด้วยความเมตตาปราณี ห่วงหาอาทรต่อผู้อื่น ดังนั้นผู้ชายบางคนก็สามารถทำงานเยียวยาได้ดี ไม่แพ้ผู้หญิงเช่นเดียวกัน

แต่เนื่องจากทั้งสองจุดเริ่มต้นการทำงานด้วยความเป็นผู้หญิงและเชื่อว่าความเป็นผู้หญิงนี่เองที่จะเป็นจุดแข็งให้ทำงานได้ดี แม้ว่าแต่ละคนจะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน อาศัยเพียงการกระโจนลงไปในพื้นที่เสี่ยงซึ่งแม้ว่าจะไร้กระบวนท่าที่จบลงอันสวยงาม แต่สิ่งที่สำคัญกลับเป็นการนิยามคำว่า "สันติภาพ" ว่าไม่ใช่คำใหญ่ไปกว่า "หัวใจ" นี่จึงเป็นคำจำกัดความสั้น ๆ อันสวยงามของผู้หญิงทำงานเยียวยาสองคนนี้

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ‘ลม้าย มานะการ' : ผู้เยียวยากลางดงไฟ...สักวันหนึ่งเราก็ต้องไป 


(ซ้าย) โซรยา จามจุรี' (ขวา) ลม้าย มานะการ'