สถานการณ์ทั่วไป
เกี่ยวกับปัญหาการติดเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
จัดทำโดย โครงการศึกษาเชิงปฏิบัติการเรื่องเกม ร้านเกม การเล่นเกม และแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการดูแลเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
สนับสนุนโดย แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สสย.)
ความสำคัญของปัญหาการเล่นเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
หากกล่าวถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายท่านคงนึกถึงแต่ปัญหาการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งเดือนมกราคม 2547-ปัจจุบัน (ณ เดือนมีนาคม 2554) โดยปัญหาดังกล่าวกลายเป็นวาระของสังคมเรื่อยมาก แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปกว่าปรากฏการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ จะพบว่าพื้นที่ดังกล่าวก็มีปัญหาอื่นที่แทบไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่น
แม้ปัญหาทางสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เด็กและเยาวชนในพื้นที่จะได้รับความสนใจจากสังคม แต่ก็เกิดขึ้นเฉพาะในบางวาระเท่านั้น โดยปัญหาการเล่นเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นหนึ่งที่หลายหน่วยงานอาจยังไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น หากมีการศึกษาลงลึกไปในระดับครอบครัว และโรงเรียนแล้ว จะพบว่าการติดเกมของเด็กและเยาวชนกลายเป็นประเด็นหนักใจของผู้ปกครอง คุณครูและอาจารย์ที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวโดยตรง
การติดเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อาจมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหาของเด็กและเยาวชนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่การติดเกมกลับเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของหน่วยทางสังคมหลายส่วน ตั้งแต่ครอบครัว ตัวเด็ก เยาวชน โรงเรียน ผู้ประกอบการร้านเกมและอินเทอร์เน็ต หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นการติดเกมจึงไม่ได้เป็นปัญหาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะแก้ปัญหาโดยลำพัง แต่ต้องร่วมมือกัน ซึ่งแน่นอนว่า ครอบครัวจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่ภาคส่วนอื่นๆ ต้องร่วมกันขจัดปัจจัยส่งเสริมที่ชักนำเด็กและเยาวชนไปสู่การติดเกม
การศึกษาปัญหาการติดเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โครงการศึกษาเชิงปฏิบัติการเรื่องเกม ร้านเกม การเล่นเกม และแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการดูแลเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีดำเนินการจัดเวทีบอกเล่าสถานการณ์การติดเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553-กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเวทีดังกล่าว ประกอบด้วย
• สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด
• สถานีตำรวจภูธร
• องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
• สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
• สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
• สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
• โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี นราธิวาส และเทศบาลนครยะลา
• ตัวแทนจากเครือข่ายเด็กและเยาวชนประจำจังหวัด
• ตัวแทนผู้ปกครองที่มีลูกติดเกม
• ตัวแทนผู้ประกอบการร้านเกมและอินเทอร์เน็ต
นักวิจัยยังได้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาการติดเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกเด็กและเยาวชนที่ติดเกม ครูในโรงเรียน และการจัดเวทีอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและครูในโรงเรียน โดยร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ ทีเคปาร์ค จังหวัดยะลา ซึ่งการศึกษาดังกล่าวทำให้เห็นสถานการณ์ปัญหาการติดเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สถานการณ์การติดเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอนำเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้ จำนวนร้านเกม จำนวนชั่วโมงการเล่นเกม เสียงสะท้อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกมของเด็กและเยาวชน นวัตกรรมที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนติดเกม แนวโน้มสถานการณ์การติดเกมของเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. จำนวนร้านเกมในเทศบาลเมืองปัตตานี เทศบาลนครยะลา และเทศบาลเมืองนราธิวาส
ข้อมูลของร้าน/ผู้ประกอบการที่ให้บริการเกมในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี (รวมถนนเจริญประดิษฐ์ ด้านหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่อยู่ในเขต อบต.รูสะมิแล) เทศบาลนครยะลา และเทศบาลเมืองนราธิวาสใช้วิธีการสำรวจโดยการลงสำรวจพื้นที่เป้าหมาย แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบข้อมูลจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ร้านเกม/ผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนไว้ สามารถสรุปได้ดังนี้
• จำนวนร้านเกมในเทศบาลเมืองปัตตานี
ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีมีจำนวนร้านเกม ทั้งหมด 41 ร้าน ในจำนวนนี้มีร้านที่จดทะเบียนกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี จำนวน 31 ร้าน และไม่ได้จดทะเบียน จำนวน 10 ร้าน เป็นร้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานศึกษา จำนวน 26 ร้าน ลักษณะการกระจายตัวของร้านเกมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มร้านเกมที่เปิดให้บริการบนถนนเจริญประดิษฐ์ ตั้งแต่บริเวณโรงเรียนเทศบาล 5 ถึงหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นรอยต่อของเทศบาลเมืองปัตตานีกับ อบต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 2. กลุ่มร้านเกมที่เปิดให้บริการบนถนนนาเกลือต่อเนื่องจนถึงเขต อบต.บานา 3. กลุ่มร้านเกมที่เปิดให้บริการบนถนนหนองจิก ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียนเดชะปัตตานยานุกูล และโรงเรียนวรคามินอนุสรณ์
• จำนวนร้านเกมในเทศบาลนครยะลา
ในเขตเทศบาลนครยะลามีร้านเกมทั้งหมด 39 ร้าน เป็นร้านที่จดทะเบียนกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลาทั้งหมด เป็นร้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานศึกษา จำนวน 14 ร้าน ลักษณะการกระจายตัวของร้านเกมจะมีมากที่สุดบริเวณถนนสิโรรส ถนนผังเมือง 4 ถนนผังเมือง 3 นอกจากนั้นร้านเกมจะตั้งกระจายตามถนนต่างๆ เช่น ถนนเวฬุวัน ถนนพงษ์เจริญ ถนนอนุสรณ์มหาราช ถนนพิพิธภักดี ถนนธนวิถี ถนนเทศบาล 1 ถนนผังเมือง 5 เป็นต้น
• จำนวนร้านเกมในเทศบาลเมืองนราธิวาส
ข้อมูลจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส พบว่า มีจำนวนร้านเกม/อินเทอร์เน็จที่ยื่นคำขออนุญาต จำนวน 53 ร้าน ลักษณะการกระจายตัวของร้านเกมมีมากที่สุดบนถนนระแงะมรรคา ถนนวิจิตรไชยบูลย์ ถนนพนาสณฑ์ ถนนพิชิตบำรุง นอกจากนั้นกระจายตามถนนโคกเคียน จาตุรงค์รัศมี ถนนไตรภพ เป็นต้น
• ข้อสังเกตจากการสำรวจร้านเกม
จากการสำรวจ พบว่า ลักษณะร้านเกมที่เปิดให้บริการนั้น มีทั้งที่ตั้งอยู่ในบนถนนสายหลัก ซึ่งมักเป็นร้านที่สังเกตเห็นได้ง่าย เพราะมีการตกแต่งร้านที่สวยงาม สีสันสดใส มีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีร้านเกมอีกจำนวนหนึ่งที่เปิดให้บริการบริเวณซอยย่อยต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้จะดัดแปลงห้องแถวที่พักอาศัยเปิดให้บริการร้านเกม และอินเทอร์เน็ต มักติดฟิล์มทึบ ไม่สามารถมองเห็นภายในร้านได้ชัดเจน ร้านลักษณะนี้มักได้รับการร้องเรียนเรื่องการเปิดให้บริการแก่เด็กและเยาวชนในช่วงที่กฎหมายห้ามเข้าใช้บริการ
การให้บริการร้านเกมมีความแตกต่างกันออกไป บางแห่งให้บริการร้านเกมประเภทออฟไลน์เพียงอย่างเดียว บางแห่งให้บริการร้านอินเทอร์เน็ตและเกมออนไลน์ บางแห่งเปิดให้ใช้เฉพาะอินเทอร์เน็ตหรือให้บริการใช้คอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่ผู้เข้ามาใช้บริการสามารถนำโปรแกรมเกมมาลงในเครื่องคอมพิวเตอร์เองก็มี
สำหรับผู้ดูแลร้านเกมส่วนใหญ่มักให้ลูกจ้างเป็นผู้ดูแลการให้บริการภายในร้าน ขณะที่เจ้าของที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดประกอบอาชีพอื่นอยู่ ส่วนหนึ่งมีเจ้าของเป็นผู้ให้บริการดูแลภายในร้านเอง นอกจากนี้ยังพบว่า ร้านเกมบางแห่งมีการให้บริการทางด้านอาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนม น้ำอัดลง และอาหารจานเดียวแก่ลูกค้าด้วย
2. จำนวนชั่วโมงการเล่นเกมของเด็กและเยาวชน
จำนวนชั่วโมงการเล่นเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เบื้องต้นพบว่า ระยะเวลาการเล่นเกมในภาพรวมของประเทศ เฉลี่ยอยู่ที่ จำนวน 9.20 ชั่วโมง/สัปดาห์[1] ขณะที่ระยะเวลาการเล่นเกมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉลี่ยอยู่ที่ จำนวน 13.23 ชั่วโมง/สัปดาห์ [2]
แต่หากแบ่งระยะเวลาการเล่นเกมของเด็กและเยาวชนเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จะพบว่าระยะเวลาการเล่นเกมมีค่าเฉลี่ยที่แตกต่างกันออกไป คือ ระดับประถมศึกษา มีระยะเวลาการเล่นเกมเฉลี่ยที่ 9.09 ชั่วโมง/สัปดาห์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีระยะเวลาการเล่นเกมเฉลี่ยที่ 18.09 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้เวลาเล่นเกมสูงที่สุดเฉลี่ยวันละมากกว่า 2 ชั่วโมง/วัน มีโอกาสสูงที่เด็กและเยาวชนจะอยู่ในภาวการณ์ติดเกม ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีระยะเวลาการเล่นเกมเฉลี่ยที่ 10.09 ชั่วโมง/สัปดาห์[3]
สอดคล้องกับผลการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนที่มีลูกติดเกม และครู อาจารย์ในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา ต่างระบุว่า เด็กและเยาวชนที่ติดเกมมักอยู่ในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่วัยรุ่น ผู้ปกครองบางคนที่มีลูกติดเกมและถูกให้ออกจากโรงเรียนมีลูกเล่นเกมตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลายเป็นเด็กติดเกมจนหนีโรงเรียนบ่อยครั้ง ในที่สุดโรงเรียนให้ออกขณะศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปัจจุบันเด็กคนดังกล่าวเล่นและติดเกมอยู่ที่บ้าน
ส่วนครู อาจารย์ในโรงเรียนให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า ช่วงชั้นที่มีนักเรียนติดเกมมากที่สุดคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แต่นักเรียนมักจะเริ่มรู้จักเกมมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เมื่อรู้จักเพื่อนมากขึ้น จึงมีการชวนกันเล่นเกมจนทำให้ติดเกม หนีโรงเรียน บางคนมาโรงเรียน แต่ไปไม่ถึง แวะร้านเกมที่อยู่ตามตรอกซอยต่างๆ ที่มักกระทำผิดกฎหมายมากกว่าร้านเกมที่อยู่ตามถนนสายหลัก เพราะสามารถหลบการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ได้
ขณะที่กลุ่มเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น ให้สัมภาษณ์ว่า พฤติกรรมติดเกมมาจากการชวนของเพื่อน เมื่อเล่นแล้วรู้สึกสนุกก็ชอบเล่นมากขึ้น นักเรียนเหล่านี้มักมีเพื่อนเล่นเกมกันทั้งกลุ่ม
3. เสียงสะท้อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเล่นเกมของเด็กและเยาวชน
• กลุ่มครู อาจารย์ในสถานศึกษา
ครู อาจารย์ในสถานศึกษา เห็นร่วมกันว่า การติดเกมของนักเรียนที่ตนเองรับผิดชอบอยู่เป็นปัญหารุนแรง ที่ยากจะได้รับการแก้ไข หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดูแลอย่างจริงจัง โดยกลุ่มที่มีปัญหาการติดเกมมากที่สุด อยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รองลงมาเป็นมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประถมศึกษา กลุ่มครูอาจารย์ที่เข้าร่วมเสวนาเกือบทั้งหมดมีประสบการณ์ในการพยายามแก้ไขปัญหาของนักเรียนที่ตนเองดูแลอยู่ ทั้งในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ประจำรายวิชา และอาจารย์ฝ่ายปกครอง ส่วนใหญ่เคยไปตามนักเรียนที่หนีเรียนไปร้านเกม เพื่อให้นักเรียนกลับมาโรงเรียน
ครู อาจารย์เกือบทั้งหมด ให้ข้อมูลว่า ร้านเกมที่มักเปิดให้บริการแก่นักเรียนในช่วงที่กฎหมายห้ามนั้น มักเป็นร้านเกมที่อยู่ภายในซอยลึกเข้าไปจากถนนสายหลัก เพราะสามารถหลบเลี่ยงสายตาเจ้าหน้าที่ได้ นักเรียนที่หนีเรียนจึงมักจะไม่เข้าไปเล่นร้านเกมที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลัก ร้านเกมที่กระทำผิดกฎหมายมักเป็นร้านที่มีปัญหาเป็นประจำ จนเอือมระอา
นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนที่มีปัญหาติดเกมมักมีกลุ่มเพื่อนที่เล่นเกมหรือติดเกมด้วย และมักจะพากันหนีเรียนไปเป็นกลุ่ม โรงเรียนบางแห่งเคยให้นักเรียนออกจากโรงเรียน เนื่องจากนักเรียนขาดเรียนบ่อย ผลการเรียนตกต่ำ และไม่สามารถแก้ปัญหานักเรียนติดเกมได้ ซึ่งเมื่อนักเรียนถูกให้ออกจากโรงเรียนแล้ว ผู้ปกครองมักจะนำลูกไปสมัครเข้าเรียนที่อื่นอีก แต่ก็พบว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาการติดเกมได้
ครู อาจารย์ที่เคยออกไปตามนักเรียนที่ร้านเกมยอมรับว่า รู้สึกกังวลถึงความปลอดภัยของตนเองที่ต้องแก้ปัญหาการติดเกมของนักเรียนโดยลำพัง โดยเฉพาะการไปเผชิญหน้ากับเจ้าของหรือผู้ดูแลร้านเกม ขณะที่ตนเองออกไปตามนักเรียนกลับโรงเรียนที่ร้านเกม แต่จำเป็นต้องทำเพราะต้องนำนักเรียนกลับมาให้ได้ก่อน กลุ่มตัวอย่างดังกล่าว ยังสะท้อนว่า ผู้ปกครองนักเรียนที่มีปัญหาการติดเกมมักจะโยนการแก้ปัญหาให้กับโรงเรียน และไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาของตนเอง
ครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ยอมรับว่า นักเรียนของตนเองรู้จักยาเสพติดจากเพื่อนที่เล่นเกมในร้านเกมด้วยกัน ซึ่งทั้ง 3 จังหวัดให้ข้อมูลตรงกันว่า ยาเสพติดที่กำลังระบาดมากในหมู่นักเรียน คือ ยา “อัลปราโซแลม” หรือ “ยาเสียตัว” ซึ่งเคยเป็นข่าวว่าใช้ผสมเครื่องดื่มให้ผู้หญิงดื่ม เพื่อให้เกิดอาการง่วงซึมในหมู่นักเที่ยว แต่ยาชนิดดังกล่าวระบาดในหมู่วัยรุ่นมากขึ้น เพราะสามารถทำให้เป็นยาเสพติดได้ ฤทธิ์ของยาทำให้มีอาการง่วงซึม หากรับประทานยา เกินขนาดจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนมาก สับสน Coma การตอบสนองของร่างกายลดลง และอาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ นักเรียนคนหนึ่งของคุณครูดังกล่าวกินเกินขนาด จนทำให้มีผลต่อสมอง ปัจจุบันหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายยาหรือร้านเภสัชกรทั่วไป ทั้งที่เป็นยาควบคุม คือ ผู้ซื้อต้องมีคำสั่งแพทย์และเภสัชกร ต้องมีการรายงานให้สาธารสุขจังหวัดทุกเดือนว่าใครกับใคร ปริมาณเท่าไหร่ ต้องมีหลักฐานประกอบการจ่ายยาแต่ซื้อง่ายตามร้านเภสัชกรที่ขาดจรรยาบรรณวิชาชีพ การซื้อยาชนิดนี้ผู้ซื้อกับเจ้าของร้านอาจมีรหัสเรียกที่รู้จักกันเป็นการเฉพาะ แต่อาจสังเกตได้ เช่น เด็กที่มาซื้อยา ตัวซีด มองซ้ายมองขวา ปากแห้ง เป็นต้น
นักเรียนที่ติดเกมบางแห่งมักขาดเรียนติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะนักเรียนที่มาจากต่างอำเภอ ที่นั่งรถมาโรงเรียนตอนเช้าและกลับตอนเย็น นักเรียนที่ติดเกมกลุ่มนี้จะไม่เข้าโรงเรียน แต่จะแวะเล่นเกมที่ร้านเกม ส่วนบางคนที่ผู้ปกครองมาส่งที่บริเวณหน้าโรงเรียนก็มักจะไม่เข้าเรียน แอบออกไปเล่นเกม เพราะเมื่อผู้ปกครองมาส่งลูกที่หน้าโรงเรียนแล้วมักจะออกรถไปทันที ไม่ได้ดูลูกของตนเองว่า เข้าไปโรงเรียนแล้วหรือยัง
ปัญหาการติดเกมของนักเรียนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะโรงเรียนสามัญของรัฐเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาด้วย โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล และมีนักเรียนจำนวนมาก ครูบางคนเคยออกไปตามนักเรียนในร้านเกมที่ตั้งอยู่ในซอยใกล้โรงเรียนด้วย ขณะที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่อยู่นอกเมืองออกไป จะมีปัญหาการติดเกมค่อนข้างน้อย เพราะไม่ค่อยมีร้านเกม ครูดูแลใกล้ชิด
อย่างไรก็ตามครูอาจารย์ในโรงเรียนต่างๆ เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการติดเกมของนักเรียนมากขึ้น บางแห่งมีกิจกรรมที่แก้ไขปัญหาพฤติกรรมการติดเกมของนักเรียนตนเองด้วย เช่น การคัดแยกเด็กออกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแล ติดตามพฤติกรรมเป็นพิเศษ การสอดแทรกปัญหาการติดเกมเข้าไปในกิจกรรมนักเรียน การเชิญวิทยากรมาอบรม เป็นต้น แต่กิจกรรมที่ยังขาดอยู่คือ การพูดคุยกับผู้ปกครองของนักเรียนให้ตระหนักถึงปัญหาการติดเกมอย่างจริงจัง
• กลุ่มหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มตัวอย่างจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสะท้อนปัญหาการติดเกมของเด็กและเยาวชนแตกต่างกัน คือ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี มีปัญหาอยู่ในระดับรุนแรง รองลงมา คือ เทศบาลนครยะลา และเทศบาลเมืองนราธิวาสมีปัญหาการติดเกมของเด็กและเยาวชนไม่มาก
กลุ่มตัวอย่างจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด มีข้อคิดเห็นว่า เป้าประสงค์เบื้องต้นของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 คือ การมองผู้ประกอบการร้านเกมและอินเทอร์เน็ตเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้แหล่งการศึกษา การบังคับหรือควบคุมจึงไม่เข้มงวด ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีหน้าที่เพียงการรับจดทะเบียนและยกเลิกการจดทะเบียนร้านที่กระทำผิดกฎหมาย
ขณะที่การตรวจจับนั้น ไม่สามารถดำเนินการโดยลำพัง ต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองและวัฒนธรรมจังหวัด ดำเนินการร่วมกัน 3 ฝ่าย จึงทำให้เกิดอุปสรรคในการดูแลอย่างทั่วถึง เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจึงมองว่า “ตนเองเป็นผู้ถือกฎหมายในมือ แต่ต้องยืมดาบคนอื่นใช้” ในการควบคุมดูแลผู้ประกอบการที่กระผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว
หน่วยงานราชการท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ยังสะท้อนว่า การดูแลผู้ประกอบการร้านเกมและอินเทอร์เน็ตให้อยู่ในกรอบของกฎหมายเป็นเรื่องยาก เพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการอะลุ้มอล่วยกันมาก จนแทบจะเปิดได้อย่างเสรี เนื่องจากมีปัญหาอื่น เป็นปัญหาใหญ่กว่า เช่น การเปิดร้านเกมใกล้สถานศึกษา โดยสามัญสำนึกแล้ว ไม่ควรที่จะให้ใบอนุญาต แต่ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะตามกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ จำเป็นต้องอนุญาตภายใน 60 วัน หลังจากผู้ประกอบการยื่นคำขอ จะเข้มงวดก็เกรงว่าจะเกิดปัญหาในทางเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว
สำหรับการยกเลิกการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการร้านเกมนั้น อยู่ระหว่าง 1-5 ร้าน/ปีในแต่ละจังหวัด โดยร้านเกมที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยกเลิกนั้น มักได้รับการร้องเรียนบ่อยครั้ง กระทำผิดกฎหมาย เช่น การอนุญาตให้เด็กและเยาวชนใช้ในช่วงเวลาที่กฎหมายห้าม เป็นต้น พร้อมทั้งให้โอกาสในการปรับปรุงร้านก่อน
หน่วยงานราชการในท้องถิ่นยังเห็นว่า ตามที่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดช่วงเวลาเข้าใช้บริการของเด็กและเยาวชนนั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่กำหนดเวลาเปิดปิดร้าน สามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมง เพียงแต่มีการกำหนดอายุผู้เล่นในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่โรงเรียนเลิกเรียน คือ
เงื่อนไขของร้านวีดิทัศน์ที่ให้บริการร้านเกมเกี่ยวกับเวลาและช่วงอายุผู้ใช้บริการ มีดังนี้
- วันจันทร์-ศุกร์
o เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 14.00-20.00 น.
o เด็กอายุตั้งแต่15 ปี แต่ไม่เกิน18 ปี เข้าใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา14.00-22.00 น.
จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า ช่วงเวลา 14.00 น. นั้นยังอยู่ในช่วงเวลาเรียน คือ เวลา 08.00-15.30 น. จึงทำให้มีนักเรียนหนีไปเล่นเกมตามร้านต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมองว่า ควรกำหนดช่วงเวลาให้เข้าใช้บริการในร้านเกมให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่โรงเรียนเลิก คือ อนุญาตให้เข้าใช้บริการตั้งแต่เวลา 15.30 น. เป็นต้นไป และควรกำหนดเวลาเปิด-ปิดของร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ตด้วย
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า ร้านเกมได้ขยายจากเขตเทศบาลเมือง เข้าไปตั้งในชุมชนตามชนบทมากขึ้น โดยเป็นร้านขนาดเล็ก มีเครื่องคอมพิวเตอร์ 2-5 เครื่อง ให้บริการเกมออฟไลน์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเล็กจนถึงระดับประถมศึกษาในชนบทติดเกมมากขึ้น
ส่วนการคัดเลือกร้านเกมสีขาวของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนั้นมีการดำเนินการตามนโยบายของรัฐที่พบว่า ร้านเกมที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นร้านเกมสีขาวมักเป็นร้านเกมที่ไม่มีปัญหาในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเด็กมักไม่ชอบเข้าใช้บริการร้านเกมเหล่านี้ เพราะหากต้องการเล่นเกมในช่วงที่กฎหมายห้าม เด็กก็มักจะเข้าไปใช้บริการในร้านเกมที่กระทำผิดกฎหมายมากกว่า
• กลุ่มเด็กและเยาวชน
เด็กและเยาวชนสะท้อนปัญหาการติดเกมว่า ปัญหาการติดเกมของเด็กและเยาวชนอยู่ในขั้นรุนแรง คือ มีทั้งการติดเกมออฟไลน์ การติดเกมออนไลน์ และการติดเกมที่พ่วงมากับอินเทอร์เน็ต เช่น เกมจากเวปไซต์ facebook เป็นต้น
กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ติดเกม ระบุว่า สาเหตุที่ตนเองติดเกม เพราะเกมทำให้สนุกสนาน คลายเครียด โดยกลุ่มที่ติดเกมมักมีเพื่อนชวนหรือแนะนำให้เล่นเกม จึงชอบเล่น และติดเกมในที่สุด พ่อและแม่บางคนกลัวว่าการติดเกมหรือเล่นเกมของลูกจะเกิดอันตรายเมื่อออกไปเล่นเกมนอกบ้าน จึงซื้อคอมพิวเตอร์ให้เล่นเกมภายในบ้านแทน กลายเป็นว่าลูกมีเวลาเล่นเกมมากขึ้น และติดเกมรุนแรงขึ้น
กลุ่มตัวอย่างดังกล่าว ยังเห็นว่า ปัจจุบันร้านเกมไม่ได้อยู่แต่ในเขตเทศบาลเท่านั้น แต่ได้กระจายไปยังชุมชนชนบทมากขึ้น โดยเป็นคนในชุมชนที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ทำธุรกิจให้บริการร้านเกม ทำให้เด็กในชุมชนมีร้านเกมอยู่หน้าบ้าน เดินเข้าออกได้ตลอดเวลา เด็กบางคนยังเล่นไม่เป็น แต่เข้าไปดูเพื่อนหรือรุ่นพี่เล่นเกม เมื่อสนุกก็อยากลองเล่นดูบ้าง จนกลายเป็นเด็กติดเกม ขณะเดียวกับพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่มีเวลาในการเลี้ยงดูลูก เด็กไม่มีเพื่อนเล่นก็หันไปเล่นเกมแทน
นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กและเยาวชนที่ติดเกมบางคนมักเข้าไปเล่นเกมในร้านเกมก่อนโรงเรียนจะเข้าเรียน หรือบางคนนำชุดอยู่บ้านใส่กระเป๋านักเรียน นำมาเปลี่ยนจากชุดนักเรียนด้วย
• กลุ่มผู้ประกอบการร้านเกม
กลุ่มผู้ประกอบการร้านเกมที่เข้าร่วมการเสวนา เปิดเผยข้อมูลว่า ปัญหาการติดเกมของเด็กและเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ลำบากใจของผู้ประกอบการร้านเกมเหมือนกัน เนื่องจากผู้ประกอบการร้านเกมมีหลายลักษณะ คือ บางร้านก็ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด บางร้านก็ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลย เช่น ร้านเกมที่ปฏิบัติตามกฎหมายมักห้ามเด็กเข้าใช้ช่วงก่อนเวลา 14.00 น. เด็กก็สามารถไปใช้ในร้านอื่นที่ยอมให้เด็กเข้าเล่นได้ ต่อไปเด็กเหล่านี้ก็จะไม่ไปใช้ร้านเกมที่กระทำถูกกฎหมายร้านนั้นอีก แต่จะไปใช้ในร้านที่เอื้อประโยชน์ให้แก่เด็กมากกว่า ซึ่งร้านเกมแต่ละแห่งไม่ได้ร่วมมือกันในการป้องกันอย่างจริงจัง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องสอดส่องดูแลอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อให้ร้านเกมปฏิบัติตามกฎหมาย
ผู้ประกอบการร้านเกมรายหนึ่งในจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการป้องกันการติดเกมของลูกเป็นอย่างมาก พ่อแม่บางคนเลี้ยงลูกผิดวิธี เช่น บางคนนำลูกไปฝากไว้ที่ร้านเกม พอเลิกงานตอนเย็นค่อยมารับกลับบ้าน กลายเป็นว่าให้ร้านเกมเป็นคนเลี้ยงลูก ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กติดเกมได้
• กลุ่มผู้ปกครอง
กลุ่มผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรมเสวนายอมรับว่า การติดเกมของลูกเป็นปัญหาหนักของครอบครัว และมีข้อมูลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวน้อยมาก จึงยังไม่ทราบว่าทางออกที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างไร บางครอบครัวยอมรับว่า การติดเกมทำให้ลูกต้องออกจากโรงเรียน นอกจากนี้กลุ่มผู้ปกครองยังได้ให้ข้อมูล สามารถประมวลได้ดังนี้
ผู้ปกครองที่มีลูกติดเกมส่วนหนึ่งยอมรับว่า ตนเองไม่มีเวลาในการเลี้ยงลูกมากนัก ทำงานทั้งพ่อและแม่ จึงทำให้ลูกหากิจกรรมทำ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวคือการเล่นเกม ลูกมีพฤติกรรมหนีเรียนไปเล่นเกม ในที่สุดก็ต้องออกจากโรงเรียน
ผู้ปกครองที่มีลูกติดเกม สะท้อนว่า พฤติกรรมของลูกตนเองเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น หมกมุ่น รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา มีเพื่อนน้อยลง นอนดึก มีผลการเรียนลดลง แต่บางคนมีทักษะเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น มีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษมากขึ้น
การติดเกมของลูกทำให้บรรยากาศภายในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป คือ ทำให้พ่อกับแม่ทะเลาะกันเกี่ยวกับการติดเกมของลูก พ่อเข้มงวดบังคับไม่ให้ลูกเล่นเกม แต่แม่กลับสงสารใจอ่อนกับลูก แอบช่วยให้ลูกได้เล่นเกม จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการเล่นเกมของลูกได้
ผู้ปกครองหลายคนยอมรับตนเองไม่เท่าทันเทคโนโลยี ไม่ค่อยสนใจเกี่ยวกับเกมที่ลูกเล่น ไม่รู้ว่าเกมที่ลูกเล่นเป็นเกมอะไร เนื้อหาเป็นอย่างไร เล่นแล้วจะเกิดปัญหาระยะยาวอย่างไรบ้าง บางคนลูกฝากซื้อบัตรเติมเงินเล่นเกม แต่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทราบเลยว่าสิ่งที่ตนเองซื้อมาให้ลูกนั้นเป็นอะไร
ผู้ปกครองบางคนแก้ปัญหาการเล่นเกมในร้านเกมของลูก โดยการซื้อ Notebook หรือComputer มาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของลูก แต่กลับทำให้ลูกติดเกมมากขึ้น
4. นวัตกรรมที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนติดเกม
ปัจจุบันลักษณะการเล่นเกมนั้น ไม่ได้เป็นพฤติกรรมของเด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเล่นเกมเพียงอย่างเดียว แต่มีการพัฒนาลูกเล่น เทคนิค วิธีการ และการมีส่วนร่วมของผู้เล่นมากขึ้น เพื่อให้ผู้เล่นเกมสามารถจับต้องหรือเข้าถึงได้ นับเป็นนวัตกรรมของผู้สร้างสรรค์เกมที่เอื้อให้ผู้เล่น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนติดเกมได้ไม่ยาก ประกอบด้วย
• อุปกรณ์เสริมในการเล่น
มีส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มีพฤติกรรมติดเกม อุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ คือ เกมคอมโซล และเกมคอมพิวเตอร์ โดยเกมคอนโซลนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ต้องต่อพ่วงกับโทรทัศน์ มีเครื่องควบคุมทิศทางในการเล่น แต่เกมที่ใช้เล่นกับเกมคอนโซลมีไม่มากนัก และมีความน่าสนใจน้อย ทำให้ไม่ได้รับความนิยม ขณะที่เกมคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมมากว่า เพราะคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้หลากหลาย ทั้งการใช้งานเพื่อการค้นคว้าหาความรู้ และความบันเทิง รวมทั้งการเล่นเกม
คอมพิวเตอร์ยังสามารถแสดงภาพกราฟิกที่สวยงาม เสมือนจริง ดึงดูดความสนใจของเด็ก ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ มีระบบเสียงที่มีคุณภาพ สมจริง และมีเสียงเอฟเฟ็คประกอบ ซึ่งนักออกแบบเกมสามารถสร้างสรรค์เสียงที่หลากหลาย ทำให้เกมมีความน่าสนใจอย่างมากขึ้น
ขณะเดียวกันผู้สร้างเกมก็พยายามสร้างให้ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ในเกมมากขึ้น ในการโต้ตอบต่อการใช้งานที่หลากหลาย ยิ่งทำให้ผู้เล่นเหมือนตกอยู่ในสถานการณ์ในเกมจริงๆ เทคโนโลยีในคอมพิวเตอร์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ติดเกม เด็กยังสามารถเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กก้าวเข้าสู่การเป็นผู้เล่นเกมต่อไป ดังนั้นอาจารย์ และคุณครูผู้สอนควรปลูกฝังเรื่องความรู้เท่าทันสื่อให้แก่เด็กตั้งแต่เล็กๆ สอนให้ใช้คอมพิวเตอร์อย่างถูกวิธี และรู้จักการแบ่งเวลา
นอกจากนี้เด็กยังเรียนรู้คอมพิวเตอร์ได้ที่บ้าน ผู้ปกครองจึงควรควบคุมการใช้งานและสอนให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ คอมพิวเตอร์ควรเป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนในบ้านใช้งานได้ไม่ควรให้เด็กแสดงความเป็นเจ้าของ หรือใช้เพียงผู้เดียว หากเด็กยังไม่มีความรับผิดชอบที่เพียงพอไม่ควรซื้อคอมพิวเตอร์ให้เป็นสมบัติส่วนตัวของเด็ก
• อินเทอร์เน็ต
เกมออนไลน์เป็นเกมที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในเล่นเกม จากผลการสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติ ในปี 2552 มีจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทั้งสิ้นประมาณ 61.3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 17.9 ล้านคน (ร้อยละ 29.3) และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 12.3 ล้านคน (ร้อยละ 20.1) ซึ่งถือได้ว่าได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเป็นผลให้แนวโน้มของผู้เล่นเล่นเกมออนไลน์มีจำนวนสูงขึ้นไปด้วย กลายเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมเกมออนไลน์เติบโต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่เด็กและเยาวชน ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่ใช้อินเทอร์เน็ต เพราะกลุ่มดังกล่าวมักกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ
อีกปัจจัยหนึ่งที่เอื้อต่อการติดเกมออนไลน์ คือ การเติบโตและการแข่งขันด้านความรวดเร็วระหว่างธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ที่มีการพัฒนาการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ตอบสนองกระแสความแรงของเกมออนไลน์ เช่น เกมประเภท MMORPG (Massively Multiplayer Online Role-Playing Games) ซึ่งต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง ดังนั้นผู้ให้บริการธุรกิจบรอดแบนด์ จึงพัฒนาประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ตให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้อยู่เสมอ
5. ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา
• การเห็นร่วมกัน 3 ฝ่ายว่าการติดเกมเป็นปัญหา
การแก้ปัญหาสำหรับเด็กที่ติดเกม ควรมีการดำเนินการควบคู่กันระหว่างการแก้ปัญหาที่ตัวเด็ก ครูอาจารย์ และผู้ปกครองของเด็ก ที่ต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหา จากการจัดเวทีเสวนา พบว่า ผู้ปกครองมักไม่เห็นว่าการติดเกมของเด็กเป็นปัญหา ขณะที่บางครอบครัวเห็นว่าเป็นปัญหา แต่ไม่มีเวลาในการดูแลลูกให้ใกล้ชิด แต่โยนภาระให้เป็นหน้าที่ของครูอาจารย์กับเด็กเพียงลำพัง ส่วนโรงเรียนควรจัดกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ที่มีปัญหาแตกต่างกัน เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาของแต่ละคนได้ตรงจุด พร้อมกันนี้ก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการติดเกมของลูกด้วย เช่น การอบรมผู้ปกครองให้รู้เท่าทันเกม วิธีการดูแลแก้ไขปัญหาลูกติดเกม การเฝ้าระวังลูกติดเกม ฯลฯ
• พ่อแม่เห็นร่วมกันว่าการติดเกมของลูกเป็นปัญหา
จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง พบว่า หลายกรณีที่พ่อและแม่มีความเห็นไม่ตรงกัน คือในขณะที่พ่อมองว่าการติดเกมของลูกเป็นปัญหา แต่แม่มองว่าไม่เป็นปัญหาหรือปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวผ่านไปโดยไม่ได้ให้ความสำคัญ
ขณะเดียวกันจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการร้านเกม พบว่า พ่อและแม่บางรายนำลูกไปส่งไว้ที่ร้านเกมแล้วให้เงินลูกส่วนตนเองก็ไปทำธุระ ซึ่งผู้ประกอบการให้ข้อมูลว่าเด็กบางคนอยู่ในร้านทั้งวันโดยที่ผู้ปกครองนำมาส่งไว้ ดังนั้น การแก้ปัญหาเด็กติดเกมพ่อและแม่ต้องมีความเห็นตรงกันว่าการติดเกมของลูกเป็นปัญหาเพื่อสามารถหาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมต่อไป
คำแนะนำในการแก้ปัญหาลูกติดเกม เช่น คอมพิวเตอร์ที่บ้านต้องเป็นของส่วนรวม (พ่อ แม่ น้อง พี่ ต้องร่วมใช้ได้) เนื่องจากคนอื่นๆ จะได้ไปร่วมแบ่งปันเวลาในการใช้คอมพิวเตอร์ของลูกและสามารถกำหนดกติกาในการใช้คอมพิวเตอร์ได้ ให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัวในทุกวัน และให้ลูกเข้าร่วมค่าย Summer หรือค่ายอื่นๆ ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้ลูกได้ใช้เวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ทดทานการเล่นเกม ฯลฯ
• หน่วยงานท้องถิ่นมีความเข้มงวด สม่ำเสมอในการดูแลร้านเกมให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย โดยเฉพาะการอนุญาตให้เด็กเล่นเกมในช่วงที่กฎหมายห้าม
• ควรมีการแก้ไขพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดช่วงเวลาเข้าใช้บริการของเด็กและเยาวชนนั้น ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการเลิกเรียนของนักเรียน คือ อนุญาตให้เล่นเกมได้หลังเลิกเรียน คือ หลังเวลา 15.30 น.
ข้อมูลอ้างอิง
[1] ข้อมูลจากสำนักส่งเสริมและพิทักษ์เด็ก สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ ด้อยโอกาส
คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
[2, 3] ข้อมูลจากโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน หรือ Child Watch
ติดต่อสอบถามรายละเอียดและปรึกษาการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนติดเกม
ในครอบครัว และโรงเรียน ได้ที่
โครงการศึกษาเชิงปฏิบัติการเรื่องเกม ร้านเกม การเล่นเกม และแนวทางที่เหมาะสม
สำหรับการดูแลเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ถนนเจริญประดิษฐ์ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
94000
นักวิจัยประจำโครงการ
อาจารย์ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา
อาจารย์ดุษฎี เพ็ชรมงคล
คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
อาจารย์วรภาคย์ ไมตรีพันธ์
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผู้ประสานงาน
คุณนภดล หมัดเลียด หมายเลขโทรศัพท์ 080 540 3978