ปกรณ์ พึ่งเนตร
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ประเมินสนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ว่า เงื่อนไขในพื้นที่ยังไม่เปลี่ยน หากดูข้อมูลย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2549 ที่มีปัญหา จะพบว่าฐานเสียงคนพุทธในเมือง และคนพุทธที่เป็นข้าราชการระดับต่างๆ จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ถึง 98%
ขณะเดียวกัน ทางฝั่งมุสลิมที่เป็นข้าราชการ คนมีการศึกษา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนใหญ่ก็จะเลือกประชาธิปัตย์
"เท่าที่ผมติดตามดูและเก็บข้อมูลมาตลอด พบว่าฐานเสียงของประชาธิปัตย์ไม่ขยับ คือมีจำนวนที่แน่นอน ไม่ลดลง หากกระแสดีก็จะเพิ่มขึ้น แม้แต่พี่น้องชาวไทยมุสลิมกลุ่มที่มีการศึกษาก็จะเลือกประชาธิปัตย์ ฉะนั้นกลุ่มการเมืองอื่นๆ จะแย่งคะแนนกันในฐานของชาวไทยมุสลิมที่เหลือ เพราะฉะนั้นผมคาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาธิปัตย์ต้องได้ที่นั่ง ส.ส.เกินครึ่ง คือได้ 6 คนขึ้นไปจาก 12 คน"
ผศ.ดร.ศรีสมภพ อธิบายต่อว่า สาเหตุที่เขาฟันธงเช่นนั้น เพราะประชาธิปัตย์สร้างฐานในพื้นที่มายาวนาน และช่วงที่เป็นรัฐบาลก็ดูแลกลุ่มข้าราชการซึ่งเป็นฐานเสียงของตัวเองเป็นอย่างดี รวมทั้งมีผลงานในพื้นที่พอสมควร
"เรื่องนี้เป็นข้อมูลวิจัยของผมที่ติดตามมากว่า 10 ปี ชี้ชัดว่าฐานเสียงของประชาธิปัตย์ค่อนข้างแน่นอน โดยประชาชนกลุ่มนี้จะเลือกพรรค ไม่สนเรื่องตัวผู้สมัครว่าพรรคส่งใครลง ส่วนทางกลุ่มผู้นำศาสนาที่มีบทบาทชี้นำคนไทยมุสลิมในพื้นที่นั้นจะแย่งคะแนนกันเอง"
"ผมยังคิดว่าถ้ากระแสของหมอแว (น.พ.แวมาฮาดี แวดาโอะ รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน คาดว่าลงสมัคร ส.ส.เขต 1 นราธิวาส) มาแรงจริงๆ จะเป็นการช่วยประชาธิปัตย์ทางอ้อมด้วยซ้ำ เพราะฐานเสียงที่เขาเจาะได้ก็เป็นฐานเสียงเดียวกับกลุ่มวาดะห์ (พรรคพลังประชาชน) คือกลุ่มผู้นำศาสนาและคนไทยมุสลิมที่มีอายุ ฉะนั้นกระแสของหมอแวจะไปตัดคะแนนวาดะห์ และผมก็ไม่คิดว่าหมอแวจะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายเหมือนช่วงที่ลงสมัคร ส.ว.ด้วย"
นักวิชาการจาก ม.อ.ปัตตานี ยังมองว่า ขณะนี้เริ่มมีการปล่อยข่าวในพื้นที่เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองกันแล้ว ซึ่งก็เป็นเกมถนัดของประชาธิปัตย์อีก อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์โดดเด่นเป็นพิเศษในการเลือกตั้งเที่ยวนี้ คือการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนราษฎรอย่างต่อเนื่องของ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรี
"การเข้าถึงพื้นที่ของคุณชวนน่าจะเป็นจุดเปลี่ยน และครั้งนี้ประชาธิปัตย์ยังปรับตัวด้วยการชูนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจนในการแก้ไขปัญหา คือยึดแนวทางแบบ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เน้นความประนีประนอม ส่วนซีกวาดะห์กับหมอแวจะเล่นกับกระแสชาตินิยมมลายู"
กับนโยบายประชานิยมของ น.พ.แวมาฮาดี และพรรคเพื่อแผ่นดิน โดยเฉพาะการจ้างประชาชนจำนวนมากเป็นหน่วยพิทักษ์ชุมชน มีการตั้งเงินเดือนให้ถึง 7,000 บาทนั้น ผศ.ดร.ศรีสมภพ มองว่า นโยบายลักษณะนี้คนพุทธไม่เอา และข้าราชการที่เป็นมุสลิมเองก็ไม่ยอมรับ เพราะไม่ได้ผลประโยชน์อะไร
ที่สำคัญด้วยระยะเวลาการหาเสียงที่สั้นมาก ทำให้น้ำหนักของนโยบายมีน้อยกว่าตัวบุคคล สอดคล้องกับวิถีของสังคมมลายูที่ยึดตัวบุคคล และความสัมพันธ์ดั้งเดิมในลักษณะเครือญาติเป็นหลักในการตัดสินใจลงคะแนน
"ตรงจุดนี้หากเทียบระหว่างหมอแวกับวาดะห์ ผมคิดว่าวาดะห์ยังได้เปรียบกว่าหมอแว" ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุ
กระนั้นก็ตาม นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า ปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรในห้วงเวลาที่เหลือ ก็คือฐานเสียงในเขตสีแดงว่าจะเล่นกับใคร
"คะแนนในกลุ่มนี้ไม่น้อยเลย ดูได้จากผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีบัตรเสียถึง 5% และหลายเขตก็มีคะแนนไม่รับร่าง 20-30% แสดงให้เห็นว่ากลุ่มใต้ดินมีน้ำหนักพอสมควร ซึ่งก็ต้องรอดูว่ากลุ่มนี้จะเทคะแนนให้ใคร ต้องยอมรับว่าพื้นที่สามจังหวัดนั้น ผู้สมัครต้องเล่นกับกลุ่มใต้ดินด้วยเหมือนกัน" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวทิ้งท้าย