Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร

สนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เที่ยวนี้คึกคักและถูกจับตามองมากเป็นพิเศษขึ้นมาทันทีภายหลังการเปิดตัวลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคเพื่อแผ่นดินของ "หมอแว" น.พ.แวมาฮาดี แวดาโอะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตจำเลยคดีเจไอ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดนกกระจอกไม่ทันกินน้ำ ที่กวาดคะแนนเสียงจากชาวบางนราได้เหยียบแสน ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดของภาคใต้

บทบาทของ น.พ.แวมาฮาดี ในพรรคเพื่อแผ่นดิน ไม่ใช่แค่การนำ "กลุ่มสัจจานุภาพ" ของเขาเข้าสังกัดเพื่อแจ้งเกิดในดินแดนด้ามขวานเท่านั้น แต่ หมอแว ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นถึงรองหัวหน้าพรรค ได้โควต้ารองโฆษกพรรค 1 คน และจัดทีมผู้สมัครทั้ง 2 ระบบใน 12 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานีลงมา

          ขณะที่พรรคเพื่อแผ่นดินในภาพการเมืองระดับประเทศกำลังโตวันโตคืนจนพรรคอื่นๆ ต้องเหลียวมองด้วยความประหวั่นพรั่นพรึง การประกาศนโยบายของ หมอแว เพื่อขอคะแนนจากพี่น้องชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็น่าตื่นตะลึงในความรู้สึกไม่แพ้กัน

          และทั้งหมดนี้คือนโยบายที่น่าจะเรียกว่า "ประชานิยมฉบับหมอแว"

ทุ่ม 6 พัน ล. ตั้งหน่วยพิทักษ์ชุมชน

          นโยบายของพรรคเพื่อแผ่นดินสำหรับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งออกเป็น 9 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.อยู่ดีกินดี 2.ความรู้ดี 3.ศักดิ์ศรีดี 4.สุขภาพดี 5.สิ่งแวดล้อมดี 6.ครอบครัวดี 7.สังคมดี 8.ราคาพืชผลดี และ 9.สามัคคีสมานฉันท์

โดยในแต่ละนโยบายยังแยกย่อยออกเป็นโครงการต่างๆ อีกถึง 43 โครงการ ซึ่ง น.พ.แวมาฮาดี เรียกว่า "43 แรงบันดาลใจของสัจจานุภาพ"

          อย่างไรก็ดี หมอแว ได้สรุปนโยบายทั้งหมดในแบบที่เข้าใจง่ายๆ ว่า แบ่งออกเป็น 4 ด้านสำคัญ คือ

1.ลดการก่อเหตุรุนแรง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนดูแลตัวเอง เช่น จัดตั้ง "หน่วยพิทักษ์ชุมชน" โดยให้ประชาชนเป็นผู้จัดตั้งกันเอง

หน่วยพิทักษ์ชุมชนจะใช้ราษฎรหน่วยละ 30 คน เพื่อจัดเวรยามเต็มรูปแบบและให้รัฐบาลสนับสนุนเงินเดือนให้เดือนละ 7,000-8,000 บาทต่อคน พร้อมสวัสดิการ

ทั้งนี้ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีชุมชนราวๆ 2,000 ชุมชน ก็ต้องจ้างคน 60,000 คน ใช้งบประมาณปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้แม้จะดูเยอะ แต่ก็ยังน้อยกว่างบประมาณที่กองทัพใช้ถึงหมื่นกว่าล้านในการส่งกำลังทหารลงมาดูแลรักษาความปลอดภัย

          2.แก้ปัญหาความอยุติธรรม ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการจัดตั้ง "ศูนย์ผดุงความยุติธรรม" เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างบุคคลกับบุคคล, บุคคลกับองค์กรภาคเอกชน และบุคคลกับหน่วยงานของรัฐ

ศูนย์ผดุงความยุติธรรมดังกล่าวนี้ จะมีทนายความ นักกฎหมาย และผู้ช่วยทนายความซึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่ผ่านการอบรมมาเป็นอย่างดี คอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้เสียหายหรือญาติในทางคดี เพื่อลดเงื่อนไขในพื่นที่ความรุนแรง

ตั้ง รพ.ตำบล-ขยายสนามบินนราฯ

น.พ.แวมาฮาดี กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายหลักด้านที่ 3 คือ โหมการพัฒนา ซึ่งจะเดินหน้าไปพร้อมกันทั้งด้านความรู้ รายได้ และสาธารณสุข เพราะเป็นปัญหาพื้นฐานของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน

"ในด้านสาธารณสุข เราจะสร้างโรงพยาบาลตำบลทุกตำบล ให้มีแพทย์ลงไปประจำโรงพยาบาลตำบลทุกแห่ง และมีพยาบาลอย่างพอเพียง"

ในด้านการศึกษา ต้องแยก ม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ให้เป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ สนับสนุนให้ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนด้าน "จีนศีกษา" ขณะที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นศูนย์กลางด้าน "อังกฤษศึกษา" จ.ยะลา เป็นศูนย์กลางด้าน "ครูศึกษา" จ.นราธิวาส เป็นศูนย์กลาง "แพทย์ศึกษา" และ จ.ปัตตานีให้เป็น "อาหรับศึกษา" พร้อมพัฒนาโรงเรียนแบบ 2 ระบบ 3 ภาษา

ในเรื่องรายได้ ต้องเปิดโอกาสให้บัณฑิตจากโลกอาหรับได้ทำงานเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยการคัดเลือกคนเหล่านี้ไปเป็นทูตพาณิชย์ ทำหน้าที่ติดต่อค้าขายกับโลกอาหรับ และนำบัณฑิตกลุ่มดังกล่าวไปเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเอกชน สอดรับกับนโยบาย เมดิคอล ฮับ (Medical Hub) หรือการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เนื่องจากชาวอาหรับเข้ามารักษาตัวและพักฟื้นในโรงพยาบาลของไทยเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นยังควรผลักดันให้เกิด ฮาลาล เฮลธ์ รีสอร์ท หรือศูนย์ดูแลสุขภาพที่บริการด้วยอาหารฮาลาล เพิ่มความสะดวกในการจัดทำใบอนุญาตทำงาน หรือเวิร์คเพอร์มิต แก่พี่น้องมุสลิมที่จะข้ามไปทำงานในฝั่งมาเลเซีย พร้อมขยายสนามบินนราธิวาส ให้เป็น ฮัจญ์ แอร์พอร์ต สร้างรายได้ 150 ล้านบาทต่อปี

แบ่งภาษีก๊าซเจดีเอให้ท้องถิ่น

น.พ.แวมาฮาดี กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ คือการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ซึ่งต้องกระจายให้คนในท้องถิ่น จึงต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่า เช่น ตั้งศูนย์อัญมณีและเครื่องประดับที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ตั้งศูนย์ปลาสวยงามที่วันนี้ถูกนายทุนไต้หวันมากว้านซื้อตัวละ 4 บาท แล้วส่งกลับมาขายที่เมืองไทยราคาตัวละ 30 บาท

ตั้งศูนย์ลองกองโลกที่ ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพราะลองกองต้นแรกของโลกอยู่ที่บ้านซีโปร์ ต.ตันหยงมัส พร้อมขยายตลาดลองกองไปต่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีให้เก็บไว้ได้ 7 วัน และขนส่งผ่านทางสนามบินนราธิวาส เช่นเดียวกับเงาะที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่มีสวนอยู่มากมาย ก็ต้องสนับสนุนให้ตั้งโรงงานทำเงาะกระป๋อง

ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งเปิดสะพานบูเก๊ะตา ที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เพื่อเพิ่มช่องทางในการขนส่งสินค้า พัฒนาธนาคารอิสลาม และโรงจำนำอิสลาม

"สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐต้องเร่งดำเนินการ คือจัดสรรเงินรายได้ที่ได้จากการขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเจดีเอ (โครงการขุดและส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย) ให้กับคนในท้องถิ่น ในลักษณะภาษีท้องถิ่น 5% เพราะเป็นทรัพยากรธรรมชาติจากภาคใต้ตอนล่างซึ่งคนในพื้นที่สมควรได้รับผลประโยชน์ด้วย"

ดับไฟใต้บนโต๊ะเจรจา

            กับปัญหาความไม่สงบที่บ่อนเซาะทำลายจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน น.พ.แวมาฮาดี บอกว่า เป็นนโยบายหลักด้านที่ 4 ของพรรคเพื่อแผ่นดินคือ ดับไฟใต้บนโต๊ะเจรจา

"ปัญหาภาคใต้ส่วนหนึ่งมาจากการกระทำของกลุ่มขบวนการ กับอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชนไม่ไว้ใจรัฐ และขบวนการใช้ความไม่พอใจรัฐนั้นเองเป็นแรงหนุนในการเคลื่อนไหว ฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาให้ประชาชนอยู่ดีกินดี สุขภาพดี สังคมดี มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม มั่นใจในการพัฒนา ประชาชนก็จะหันมาเป็นพวกเดียวกับรัฐ และเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐในที่สุด"

"เมื่อถึงวันนั้น รัฐก็จะสามารถเปิดเจรจากับกลุ่มขบวนการได้เพื่อหาข้อยุติเรื่องการสู้รบ ผมขอย้ำว่า ข้อยุติของปัญหาภาคใต้ไม่ได้อยู่ในสนามรบ แต่ทุกอย่างจบได้ที่โต๊ะเจรจา และถ้าใครยังพูดว่าไม่รู้จะเจรจากับใคร ก็ต้องไปตัดงบประมาณของหน่วยข่าวกรองทิ้ง เพราะใช้เงินไปมากมายแต่กลับยังไม่รู้ว่าจะต้องเจรจากับใคร"

กับนโยบายทั้งหมดที่คาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่าหมื่นล้านบาท น.พ.แวมาฮาดี กล่าวว่า นโยบายที่ประกาศออกไปแม้จะดูเยอะ แต่ทุกอย่างเป็นจริงได้ เพราะพรรคเพื่อแผ่นดินจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดหน้าอย่างแน่นอน

"เรามาอย่างเงียบๆ แต่โตอย่างรวดเร็ว ผมมั่นใจว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน กลุ่มสัจจานุภาพจะได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุด เราไม่ใช่นอมินีทหาร ไม่ใช่นอมินีอำนาจเก่า แต่เป็นนอมินีประชาชน"