Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร

          พูดถึงพื้นที่การเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงไม่อาจมองข้ามกลุ่มนักการเมืองมุสลิมที่มีบทบาทและอิทธิพลในดินแดนแห่งนี้มายาวนานอย่าง "กลุ่มวาดะห์" ได้ แม้หลายคนจะมองว่าวาดะห์จบไปแล้วตั้งแต่การพ่ายแพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างหมดรูปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2548

          ครั้งนั้นที่นั่ง ส.ส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 11 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์กวาดไป 10 เก้าอี้ พรรคชาติไทยเบียดเข้าป้ายได้ 1 เก้าอี้ ส่วนวาดะห์ตกเรียบ !

          ภายหลังความพ่ายแพ้ สถานการณ์ของกลุ่มวาดะห์ใกล้เคียงกับคำว่า "กลุ่มแตก" แต่ด้วยคะแนนตีตื้นกลับมาในการเลือกตั้งครั้งปัญหาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตไม่ส่งผู้สมัคร และยังนั่งยิ้มอย่างพึงใจกับผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 เพราะหลายเขตคะแนน "ไม่รับร่าง" สูงถึงกว่า 30%

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ในการเลือกตั้งใหญ่ปลายปีนี้ กลุ่มวาดะห์จึงกลับมารวมตัวกันอีกครั้งแบบ  "ครบทีม" ที่พรรคพลังประชาชน บ้านใหม่ของอดีต ส.ส.ไทยรักไทย ทั้งๆ ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขาจะกลับมาจับมือกันได้อีก และชื่อ "ไทยรักไทย" ก็เคยทำให้พวกเขาต้องน้ำตาตกมาแล้วเมื่อปี 2548

ชูผลงานเก่าฟื้นศรัทธา

            ซูการ์โน มะทา น้องชายของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำคนสำคัญของกลุ่มวาดะห์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขตเดียวของจังหวัดยะลา เปิดใจกับ "กรุงเทพธุรกิจ" โดยยอมรับว่า เพิ่งได้ข้อสรุปว่าวาดะห์จะกลับมาร่วมงานการเมืองกันเหมือนเดิมเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง

          อย่างไรก็ดี แม้จะเพิ่งรวมตัวและมีเวลาหาเสียงไม่มากนัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาหนักใจ เพราะวิเคราะห์แล้วว่าการเลือกตั้งหนนี้ประชาชนยังยึดตัวบุคคลเป็นหลัก

"เมื่อปี 2548 วาดะห์แยกเป็น 2 ขั้ว คือขั้วของคุณเด่น โต๊ะมีนา กับขั้วของพี่ชายผม (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) ทำให้แพ้หมดทุกเขต เรียกว่า แพ้เพราะแตกแยก' แต่ปีนี้เราได้เปรียบ เพราะใน 3 จังหวัดกระแสพรรคการเมืองไม่แรง และไม่ใช่กระแสชี้ขาด แต่พื้นที่นี้ยังยึดตัวบุคคลเป็นหลัก จึงมั่นใจว่าศักยภาพและผลงานของกลุ่มวาดะห์ในอดีตจะช่วยให้กลุ่มวาดะห์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้" ซูการ์โน กล่าว

ผลงานเก่าๆ ของกลุ่มวาดะห์ที่ ซูการ์โน พูดถึง อาทิเช่น การเรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้ชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คลุมฮีญาบได้ตามความเชื่อทางศาสนา, การจัดตั้งธนาคารอิสลาม, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา ซึ่งวาดะห์เชื่อว่าผลงานของพวกเขาใน 3 จังหวัดมีไม่แพ้พรรคประชาธิปัตย์

"ดูง่ายๆ ก็แล้วกัน อย่างเขตติดต่อระหว่าง อ.กาบัง จ.ยะลา กับ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ในกาบังซึ่งเป็นฐานเสียงของเราไม่มีถนนลูกรังแล้วนะครับ แต่สะบ้าย้อยซึ่งเป็นพื้นที่ของประชาธิปัตย์ยังมีถนนลูกรังอยู่เยอะ" ซูการ์โน ระบุ

ดูแลรากหญ้า-สานต่อประชานิยม

            อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงนโยบายหาเสียงที่พรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่นำเสนอแนวทางดับไฟใต้กันอย่างครึกโครม แต่สำหรับกลุ่มวาดะห์ที่สวมเสื้อพรรคพลังประชาชนลงสู้ศึกครั้งนี้ กลับไม่ได้ชูนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากนัก เพราะพวกเขามองว่าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องใช้ความเข้าใจเป็นพื้นฐาน

          และกลุ่มวาดะห์ก็เป็นกลุ่มการเมืองที่เข้าใจพื้นที่ เข้าใจประชาชนมากที่สุด

          "กลุ่มวาดะห์เป็นมุสลิมที่ยึดหลักศาสนา ถือสัจจะเป็นที่ตั้ง พูดแล้วต้องทำได้ ฉะนั้นเราจะไม่พูดในสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ ที่สำคัญการแก้ปัญหาความไม่สงบต้องใช้เวลา และเชื่อว่าทุกอย่างจะแก้ไขได้ในที่สุดด้วยความเข้าใจ" ซูการ์โน กล่าว พร้อมขยายความว่า

            "นโยบายของเราจะเน้นพัฒนารากหญ้าและชุมชนที่อยู่ห่างไกล ทั้งในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพราะคุณภาพเด็กในชนบทยังด้อยมาก ต้องเร่งพัฒนาให้เท่าทันเด็กในภาคอื่นๆ"

          "ส่วนนโยบายในภาพกว้าง พรรคพลังประชาชนจะสานต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และจะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ด้วยโครงการกองทุนหมู่บ้าน กับเอสเอ็มเอล ที่เป็นการอัดฉีดเงินให้ชาวบ้านได้มีอิสระในการคิดและวางแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง"

"เราต้องการให้ชุมชนเข้มแข็ง เพราะปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ต้องเป็นคนพื้นที่แก้เอง ผลที่ออกมาถึงจะดีที่สุด และตรงตามแนวพระราชดำรัสเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

ขาดวาดะห์ชาวบ้านไร้ที่พึ่ง

ซูการ์โน มองว่า แท้ที่จริงแล้วสนามการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กลุ่มวาดะห์ไม่มีคู่แข่ง เพราะที่ผ่านมาล้วนเป็นการแข่งขันกับตัวเองทั้งสิ้น

"อย่างการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 เราก็แข่งกับตัวเอง สู้กับกติกา 20% (บทบัญญัติตามกฎหมายเลือกตั้งฉบับปี 2541 ที่กำหนดให้เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว ต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งนั้น) แต่ผมกลับได้คะแนนถึง 20,000 คะแนน ทั้งๆ ที่ลงเลือกตั้งสนามใหญ่เป็นครั้งแรก"

"ส่วนความพ่ายแพ้ทุกเขตของวาดะห์เมื่อปี 2548 เราต้องมองย้อนกลับไปว่า สาเหตุที่เราพ่ายแพ้เป็นเพราะกระแสกรือเซะกับตากใบ เนื่องจากมีการสร้างความเข้าใจผิดๆ ในพื้นที่ว่าเกิดจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ 2 ปีที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ไม่ได้ดีขึ้นเลย กลับรุนแรงยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ ความแตกแยกระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมเข้าขั้นวิกฤติ และมีประชาชนมากมายจากทั้ง 2 ศาสนาเสียชีวิตโดยไม่รู้สาเหตุ"

"ถึงวันนี้ประชาชนรู้แล้วว่าเมื่อใดที่ไม่มี ส.ส.วาดะห์ ก็จะไม่มีที่พึ่งเลย ฉะนั้นเราจึงมั่นใจว่าจะได้รับกระแสตอบรับจากประชาชน และประชาชนเองก็มั่นใจได้ว่าเมื่อเลือกวาดะห์แล้วจะไม่ถูกทอดทิ้ง เพราะแม้แต่ในช่วง 1 ปีที่บ้านเข้าสู่บรรยากาศการรัฐประหาร วาดะห์ก็ไม่เคยทิ้งงานการเมือง ประชาชนมีปัญหาก็ยังวิ่งหาเราอยู่ทุกวัน"  ซูการ์โน ย้ำ

น้องชายของวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประเมินด้วยว่า พรรคการเมืองที่มีโอกาสต่อกรกับวาดะห์ได้ในการเลือกตั้งเที่ยวนี้ ยังคงเป็นประชาธิปัตย์เช่นเดิม เพราะตลอดมาก็ชิงกันแค่ 2 พรรค ส่วนกลุ่มการเมืองอื่นๆ เชื่อว่ายังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนเพียงพอ

          "ผมอยากบอกประชาชนว่า ขอให้เลือกวาดะห์ยกทีมทุกเขตในสามจังหวัด เพื่อให้แนวทางการแก้ไขปัญหาชัดเจน เป็นเอกภาพ และปฏิบัติได้จริง เพราะชื่อวาดะห์ก็แปลว่าเอกภาพอยู่แล้ว"

          และนั่นได้นำมาซึ่งความมั่นใจของกลุ่มวาดะห์ในสีเสื้อพรรคพลังประชาชนว่า พวกเขาจะได้รับความไว้วางใจไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งจากเก้าอี้ ส.ส.12 ที่นั่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ !